มุมมองแฟนสอยคิว

10 ม.ค. 60

สำหรับแฟนๆ ผู้ที่ติดตามการแข่งขันรายการเก็บคะแนนสะสมสนุกเกอร์ของ World Snooker มาโดยตลอดคงจะทราบดีนะครับว่า นักสอยคิวจากไทยของเราห่างหายการชูโทรฟี่จากรายการเก็บคะแนนสะสม หรือรายการทัวร์นาเมนต์ชิงเงินรางวัลใหญ่ๆ มาหลายสิบปีแล้วสำหรับสนุกเกอร์ 15 แดง คำถามเดียวที่เกิดขึ้นกับแฟนๆ ที่เพิ่งติดตามหรือติดตามมานานแล้วมีพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายคือ มันเกิดอะไรขึ้นกับนักสอยคิวจากไทยแลนด์แดนสยาม ที่ไม่ประสบความสำเร็จให้ชุ่มชื่นหัวใจกันสักที เหมือนครั้งที่ขวัญใจตลอดกาล ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยทำเอาไว้จนพุ่งทะยานไปครองอันดับสามของโลก ถ้าพิจารณาจากการเล่นถึงรายการล่าสุดในปีนี้นั้นพบว่า ปัญหาที่ไปไม่ถึงแชมป์เสียทีนั้นเกิดจากสิ่งเดิมๆ ที่เป็นมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขแล้วไม่หายสักที

ในการเล่นของนักสอยคิวชาวไทย รูปแบบการเล่นจะคล้ายคลึงกันทั้งหมดสำหรับคนที่ไปเล่นอาชีพ คือ แทงค่อนข้างเร็ว แม่นยำ ดังที่เคยได้รับฉายาจากสื่อว่า ไทยทอร์นาโด คือมาทีกวาดเกลี้ยงโต๊ะ แต่ลูกป้องกันและลูกแก้ไขนั้นยังเป็นของแสลงสำหรับเรา บางจังหวะเราอาจจะกันได้ดี แต่มันไม่ดีพอในระดับอาชีพ เพราะนักสนุกเกอร์มือต้นๆ ของโลกนั้น การเข้าเบรก ลูกแม่น ไม้เดียวหมดโต๊ะ มีโอกาสครั้งเดียวปิดเกมทันที สามารถทำได้เหมือนๆ กัน แต่สิ่งที่เค้าเหนือกว่าเราอยู่ค่อนข้างเยอะนี่คือลูกป้องกัน ลูกแก้ไขต่างๆ ในกรณีแดงกระจายเต็มโต๊ะ ต้องแก้ไขปิดทางหนีทีไล่ให้หมด ในช่วงเวลาบีบหัวใจในเฟรมตัดสินนี่แหละ ที่จะคอยบีบรูปเกมให้เราพลาดและเก็บจังหวะสองได้ตลอด ยังไม่รวมถึงปัญหาการโดนนำก่อนแล้วออกอาการเป๋ยังเห็นได้ชัด เช่นนำอยู่หลายเฟรมขอแค่เฟรมเดียวก็จะปิดเกมแล้วเป็นผู้ชนะ แต่พอโดนไล่มาทีละเฟรมแล้วลูกง่ายที่เคยแม่นกลับไม่มา ลูกเบสิกตั้งๆ กลางโต๊ะ วางอีตัวกินสีก็กลายเป็นกิ๊กกั๊ก เล่นสีอื่นได้ง่ายก็กลายเป็นลำบาก ต้องแทงติดชิ่งบ้าง ลูกยาวยากๆ บ้าง พอเข้าเบรกยากก็พลาดเองจนออกทะเลเป๋ไปเลย จนในที่สุดก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เข้าใจครับว่ากีฬาสนุกเกอร์ผู้เล่นที่ไม่ได้ออกคิวเลยนานๆ นั้น พอได้มาออกคิวอีกครั้งมันจะแข็งไปเอง เพราะไม่ได้แทงต่อเนื่องเหมือนกับผู้เล่นที่ออกคิวตลอด ดังนั้นพอมีโอกาสเราต้องทำให้ได้ ต้องฝึกฝนและพัฒนาการเล่น การเข้าเบรกภายใต้เงื่อนไขนี้ ไปให้สุดเหมือนที่พวกมือระดับท็อปทำได้ สังเกตไหมครับว่าในหลายๆ ทัวร์นาเมนต์ เราถูกปล้นเฟรมทั้งๆ ที่นำไปก่อนตั้งเยอะ ก็แบบนี้ แต่พอเรามีโอกาสกลับทำไม่ได้เอง ในการที่จะพลิกเกมที่ต้องการกลับมาคว้าชัยชนะ

ปัญหาอีกอย่างที่น่าจะสำคัญที่สุด เป็นกำแพงใหญ่ขวางหน้าเราที่ไม่อาจก้าวข้ามไปคว้าแชมป์ได้นั้นก็คือ แบบแผนในการเล่นเพื่อชัยชนะ นักสนุกเกอร์ที่จะประสบความสำเร็จนั้น ทุกคนจะมีรูปเกมและสไตล์การเล่นเป็นของตัวเองอยู่แล้วเช่น “เดอะร็อคเก็ต” รอนนี่ โอซุลลิแวน แทงเร็ว ไหลลื่น แม่นยำ ป้องกันเยี่ยม น้ำหนักขาวสุดยอด มาร์ค “เดอะชาร์ค” เซลบี้ แทงช้า ก่อนแทงคิดนาน เน้นทุกลูก ไม่ชัวร์ไม่เสี่ยง เล่นแน่นอนไม่ผลีผลาม แต่เมื่อปะทะกับคู่ต่อสู้ที่วันนั้นแทงได้ดีแต่เขาแทงไม่ดีเลย นักสนุกเกอร์เหล่านี้จะมีลูกพลิกแพลง ปรับแผนการเล่นระหว่างเกม ในกรณีที่เล่นตามรูปเกมและสไตล์การเล่นของตัวเองไม่ได้ ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำให้กลับมาได้เปรียบและชนะไปในที่สุด แทคติคต่างๆ จะถูกนำมาใช้ ลูกที่มั่นใจให้สู้จะเปลี่ยนมากันรอเก็บจังหวะสอง ลูกยากไม่ชัวร์ไม่เล่นจะไปเล่นลูกง่ายกว่า เพื่อเอาแต้มชัวร์แล้วค่อยวางสนุ้กในไม้ต่อไป อาจจะพลิกมาชนะแน่นอนแต่จะช้าหน่อย ซึ่งแบบแผนและรูปแบบการเล่นแบบนี้ นักสนุกเกอร์ชาวไทยจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน เพื่อก้าวข้ามกำแพงของมือระดับโลกที่ขวางอยู่ข้างหน้าให้จงได้ โดยที่แฟนๆ ชาวไทยนั้นรอได้ ในวันที่แชมป์ชาวไทยคว้าถ้วยกลับมาในเวลาที่ห่างไปหลายสิบปี

โดย รีสตาร์ท

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 410)