อนาคตสนุกเกอร์ไทย...ไปต่อยังไงดี?

24 มี.ค. 60

นับตั้งแต่ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” รัชพล ภู่โอบอ้อม คว้าแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลกปี 1988 ก่อนจะผ่านร้อนผ่านหนาว บนสังเวียนผ้าสักหลาดโลกเกือบ 30 ปี วงการสอยคิวไทยมีทั้งช่วงพีกสุดๆ ไปจนถึงเงียบเป็นเป่าสาก เป็นวัฎจักรของทุกสรรพสิ่ง เกิดขึ้น...และหายไปเป็นธรรมดา

แต่สิ่งที่สำคัญคือการไม่หยุดเคลื่อนไหว ไทยได้แชมป์สมัครเล่นโลกอีกถึง 6 ครั้งถึงปัจจุบัน นับรวม 7 แชมป์โลก ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับสองเท่ากับ เวลส์ และรองจากอังกฤษ ที่ได้แชมป์มากกว่า 1 ครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่าเราไม่เป็นสองรองใครในกีฬาแขนงนี้

แม้ในระดับอาชีพจะยังไม่มีใครเดินไปรับไม้ผลัดจาก ต๋อง ที่เคยขึ้นไปยืนถึงมืออันดับ 3 ของโลก แต่ก็มีนักกีฬารุ่นต่อรุ่นเข้ามาสานต่อการฝ่าฟันในเวทีสอยคิวโลกไม่ขาดสาย

ต้องบอกว่า การมี “ศูนย์พัฒนากีฬาบิลเลียดแห่งเอเซีย” หรือ WPBS-Asian Academy ที่แฟนสอยคิวรู้จักกันในชื่อ “ศูนย์ฝึก” ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือส่วนประกอบสำคัญของการปั้นนักสนุกเกอร์รุ่นใหม่ ไล่รุ่นตั้งแต่ “เอฟ นครนายก”, “อิศ จันท์” ตามมาทั้ง “แมน นครปฐม”, “หมู ปากน้ำ” และอีกมากมาย ต่างมีการฝึกซ้อมที่ถูกต้องและหนักหน่วง ภายใต้การนำทีมของ “ต่าย พิจิตร” ยอดโค้ชเบอร์หนึ่งสนุกเกอร์ไทย

ต้องยอมรับว่าสมัยก่อน นักกีฬาส่วนใหญ่ไม่ได้มีโค้ชแนะนำการออกคิวอย่างถูกต้องมากเช่นทุกวันนี้ กว่าจะก้าวขึ้นมาเก่งกาจได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือนำ

แต่ปัจจุบันผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย บวกกับความต่อเนื่องกันของเวทีการแข่งขัน ทั้งรายการแรงกิ้งที่จัดอยู่, แสงโสม 6 แดง ที่เดินสายไปทั่วภูธร, รวมถึงการเกิดขึ้นของคลับสนุกเกอร์ที่พร้อมปั้นนักกีฬาฝีมือดี ก็ทำให้เห็นผลผลิตรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ได้เรื่อยๆ

ดังนั้นหากย้อนถามกลับไป...อนาคตสนุกเกอร์ไทย ไปต่อยังไงดี? แนวทางที่วงการสนุกเกอร์ไทยทำมาคือสิ่งที่ถูกพิสูจน์แล้วว่า เราไม่ได้หลงทาง

สำคัญไม่แพ้กัน...คือเมื่อนักสอยคิวไทยไปคว้าแชมป์รายการของ IBSF กลับมา อันเป็นการการันตี “โควตา” ไปเล่นเมนทัวร์ยังประเทศอังกฤษ หลายคนขาด “สปอนเซอร์” ไม่ว่าจากทั้งภาครัฐหรือเอกชน

เพราะการได้ตั๋ว 2 ปี ต้องใช้เงินปีละหลายๆ ล้าน..และสนุกเกอร์ไม่ใช่กีฬาที่สร้างรายได้มหาศาลเหมือนกอล์ฟ หรือเทนนิส หากมีผู้ใหญ่ใจดีมาช่วยผลักดัน นักสนุกเกอร์ไทยคงกลายเป็นเสือติดปีกได้ไม่ยาก

ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องตัวนักกีฬา, โค้ชที่จะได้รับการผลักดันเสริมสร้างความรู้ในอนาคต, การแข่งขันอย่างต่อเนื่อง หรือการสนับสนุนจากทุกภาคฝ่ายเมื่อได้โอกาสไปเล่นระดับอาชีพ

ทุกอย่างคือองค์ประกอบทำให้กีฬา “สอยคิว” ก้าวไกลไปในทิศทางที่ควรจะเป็นในวันข้างหน้า ไม่ใช่ว่าแค่ไม่เป็นรอง แต่เมื่อถึงวันนั้นเราจะพูดได้เต็มปากว่า “ไทย” คือประเทศที่มีนักสนุกเกอร์ชั้นนำของโลก

รอดูได้เลย...!!!

 

ธนิตชัย ฉิมเชิด

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 412)