สถิติและข้อมูลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนักกีฬาสนุกเกอร์ได้อย่างไร

24 ก.ค. 60

ในโลกของการบริหารจัดการองค์กร เรามีแนวคิดกระแสหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรอยู่ 3 แนวคิดหลัก ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วยแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กรด้วย “กฎระเบียบ” แนวคิดที่สอง คือ “หลักความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ” และแนวคิดที่สาม คือ “หลักการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร” ซึ่งในทางปฏิบัติ ทั้งสามแนวคิดในแต่ละองค์กรต้องนำมาใช้งานอย่างเกื้อกูลผสมผสานกัน โดยจะไม่ใช้งานเพียงแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เพียงแต่การมุ่งเน้น (Focus) ในแต่ละองค์กรอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ถ้าในภาครัฐ “กฎระเบียบ” ก็ถือเป็นหัวใจที่สำคัญเพราะมีความเกี่ยวพันกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ขณะที่ในภาคเอกชน ก็ถือว่า “ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ” เป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้น้ำหนักมากกว่า เพราะมุ่งเน้นไปที่ผลกำไรจากผลประกอบการเพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น

ในที่นี้ผมขอ Select & Focus (เลือกและมุ่งเน้น) ไปที่แนวคิด “ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ” ก่อนนะครับ สิ่งที่ผมอยากนำเสนอเป็นเพียงมุมมองเล็ก ๆ ที่เราอาจจะนำมาปรับใช้กับตัวนักกีฬาสนุกเกอร์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะพื้นฐานของการขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิดนี้ แท้จริงแล้ว ก็คือ “การจัดสรรทรัพยากรทางการบริหาร” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อองค์กรนั่นเอง โดยคำว่า “ทรัพยากรทางการบริหาร” นั้น เพื่อให้จำง่าย ๆ ก็จะประกอบด้วย 3M (เงิน คน สิ่งของ) 1I (คือ Intelligence ซึ่งหมายความรวมถึง ความรู้ เทคโนโลยี สถิติและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง) และ 1T (คือ Time หรือเวลา) เช่นเคย ผมขอ Select & Focus ไปที่ทรัพยากรที่เป็น Intelligence ที่จะมุ่งเน้นในเรื่องของ “สถิติและข้อมูล” อย่างเดียวก่อนครับ

มองในภาพของการบริหารองค์กรสมัยใหม่ “สถิติและข้อมูล” ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก หากองค์กรใดไม่มีการจัดเก็บ รวบรวม ไปจนถึงการประมวลข้อมูลเก็บเอาไว้ ก็อาจจะทำให้องค์กรนั้นสูญเสียอำนาจในการบริหารองค์กรไปได้ เพราะข้อมูลที่องค์กรได้เก็บไว้นั้นสามารถที่จะนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อใช้มองภาพรวมขององค์กร มองหาแนวโน้ม-ทิศทาง รวมถึงการนำมาวิเคราะห์เพื่อหาและแก้ไขจุดอ่อน หรือการเสริมจุดแข็งขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ท่านที่เคยดูกีฬาถ่ายทอดสดน่าจะต้องเคยผ่านตากันมาไม่น้อย เวลาที่ผู้บรรยายนำสถิติข้อมูลพื้นฐานของคู่แข่งขันสองฝ่ายขึ้นมาเปรียบเทียบให้เราได้เห็น เช่น อเมริกันฟุตบอล NFL (ข้อมูลทีมรับ ทีมรุก ทีมพิเศษ ตัวรุกกี้ เป็นต้น) หรือบาสเกตบอล เทนนิส กอล์ฟ ฯลฯ ข้อมูลที่เราได้เห็นบางครั้งถึงขนาดที่เราพอจะคาดเดาได้เลยว่า ใครมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชนะหรือเป็นแชมเปี้ยนได้ ผมแนะนำให้ชมภาพยนตร์เรื่อง Draft Day (2014) นำแสดงโดย เควิน คอสต์เนอร์ ดูกันครับ เราจะได้เห็นถึงเหตุผลข้อมูลที่เป็นที่มาของการตัดสินใจ กฎกติกาที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและยืดหยุ่นบางประเด็น เพื่อสร้างพลังการต่อรอง การคัดตัวนักกีฬาที่เป็นรุกกี้จากลีกระดับมหาวิทยาลัย (NCAA) การนำสถิติและข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อต่อรองกัน ดูแล้วไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นมหาอำนาจในทุก ๆ ด้าน นั่นก็เพราะความเป็นเลิศในงานด้านการข่าว (สถิติและข้อมูล) ที่ฝังรากลึกในตัวบุคลากรทุกระดับของเขานั่นเอง

 

 

ในมุมมองผม “สถิติและข้อมูล” ก็คือ วิถีของการนำ “เทคนิคทางด้านวิทยาศาสตร์ทางการกีฬา” มาใช้งานที่ดีมาก และที่สำคัญสถิติข้อมูลจะเป็นตัวที่นำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ให้กับตัวเรา ซึ่งในที่นี้ผมขอใช้ผ่านการตั้งคำถามที่ฟังดูง่าย ๆ แต่ตอบยากทีเดียวครับ

คำถามแรกก็คือ “เราจะวางเป้าหมายแต่ละฤดูกาลอย่างไรและมีขนาดแค่ไหน” หากข้อมูลในที่นี้ คือ “เงินรางวัล” เราก็จำเป็นต้องรู้ว่าเงินรางวัลปีที่แล้วเราทำได้เท่าไร ในรอบ 3 ปี หรือ 5 ปี ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยเราทำได้เท่าไร เราอยู่อันดับที่เท่าไรของผู้ได้เงินรางวัลการแข่งขันตลอดฤดูกาล ร้อยละเท่าไรของเงินรางวัลรวมที่เราทำได้ แล้วปีนี้เราต้องวางเป้าหมายไว้ที่ร้อยละเท่าไร เราถึงจะอยู่ได้ หรือแสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้น ฯลฯ การใช้เงินรางวัลเป็นเป้าหมายถือเป็นการ “ประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างง่าย” ของตัวเรา ว่าเราดีขึ้นหรือแย่ลง ถ้าเราแย่ลง นั่นมีสาเหตุมาจากอะไร หากเราทำได้ดีขึ้น อะไรคือปัจจัยที่หนุนให้เราทำได้ในครั้งนั้น แล้วถ้าเราจะทำให้ดีขึ้น อะไรคือสิ่งที่เราจะต้องทำบ้าง และอะไรคือสิ่งที่เราจะต้องไม่ทำ

คำถามที่สอง “เราต้องวางแผนการฝึกซ้อมให้กับตัวเราอย่างไรจึงจะเหมาะสม” หากในที่นี้เราใช้ข้อมูล คือ “อายุ” ของตัวนักกีฬา เราก็จำเป็นต้องดูว่าอายุตัวเราอยู่ในช่วงไหน เราต้องวางแผนการซ้อมอย่างไรให้สอดคล้องกับวัยของตัวเรา เราควรจะซ้อมยาวนานเพียงไร ควรมุ่งเน้นการซ้อมเชิงเทคนิคหรือซ้อมแบบแข่งขันเป็นเกม เราจำเป็นต้องวางแผนฝึกฝนสภาพร่างกายให้แข็งแรงแค่ไหน เราต้องเข้าห้องฟิตเนสหรือไม่ (เพราะหากร่างกายเราไม่แข็งแรง เราก็จะยืนระยะในการแข่งขันได้ไม่นานพอ) ฯลฯ

คำถามสุดท้าย “เราจะวางแผนการแข่งขันแต่ละรายการอย่างไร” สมมติว่าเราใช้ข้อมูล “คู่แข่ง” เราก็จำเป็นต้องรู้ว่าตลอดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันเราจะต้องเจอใครบ้าง ในบางครั้งเราอาจจะคิดว่า คิดเป็นแมตช์ ๆ ก็พอ แต่ในความเป็นจริงเราต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของคู่แข่งขันทุกคนก่อน เพราะหากเรามองไม่เห็นภาพรวม เราก็จะมองไม่เห็นเป้าหมายสุดท้ายที่เราจะต้องบรรลุ อธิบายอย่างง่าย คือ อย่างน้อยเราต้องมีสถิติข้อมูลของคู่แข่งทุกคนมาวิเคราะห์อย่างกว้าง ๆ เพื่อวางกลยุทธ์ในการรับมือได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องรอให้ชนะผ่านการแข่งขันแต่ละรอบก่อนจึงค่อยนำมาคิด

กล่าวโดยสรุปจากคำถามอย่างง่ายทั้งสาม หากเราได้มีการฝึกฝนที่จะเก็บสถิติและข้อมูลเพื่อใช้ในการตอบคำถามข้างต้น ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นมืออาชีพ” ของตัวเรา และจะเป็นการยกระดับประสิทธิผลและประสิทธิภาพด้านกีฬาสนุกเกอร์ของตัวเราต่อไปในอนาคตครับ

 

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 416)