คิวทองของสนุกเกอร์ไทย

12 ม.ค. 61

เมื่อเอ่ยถึงหนังสือกีฬาสนุกเกอร์แล้ว แฟน ๆ สนุกเกอร์ชาวไทยก็ต้องบอกว่ามีอยู่เจ้าเดียวที่ตีพิมพ์มานานนมแล้ว คือหนังสือที่ชื่อว่า คิวทอง โดยอยู่คู่ชาวสอยคิวมาแล้วมากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ยังเป็นดาวรุ่งจนกลายมาเป็นซีเนียร์ในขณะนี้ เป็นศูนย์รวมข่าวสารของวงการสนุกเกอร์ไทยในยุคก่อน ที่ยังไม่มีสื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลในการติดต่อสื่อสารเหมือนอย่างในตอนนี้ โต๊ะ ร้านรวงที่ไหนดี มีคนมาเล่นเยอะ ก็ได้หนังสือเล่มนี้แหล่ะรายงานสถานการณ์ให้ทราบ ซึ่งมันไม่มีไฮไลต์การแข่งขันให้ดู ถ้าอยากเห็นก็ต้องบุกไปให้ถึงที่ ให้เห็นกับตา ไม่ว่าจะเป็นลีลาการแทงของดาวดังสมัยนั้น ว่าลีลาการออกคิวดุเด็ดเผ็ดมันแค่ไหน หรือลงคิวปะทะกับคู่ต่อสู้แล้วออกอาการเป๋ให้เห็นหรือเปล่า ถ้าเจอพลพรรคแฟนเฉพาะกิจที่มาจากทุกสารทิศยืนล้อมรอบโต๊ะ

ส่วนใครที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สะดวกเข้ามาชมเกมที่ได้ลงบรรยายไว้ในคิวทอง ก็ต้องอ่านแล้วก็ต้องจินตนาการตามเองว่า ไอ้หมอนี่ ฉายานี้ ฉายานั้น ต้องแทงแบบนี้ บรรยากาศโต๊ะที่เล่นก็คงเป็นแบบนี้ เป็นคุ้งเป็นแคว เมื่อเทียบกับโต๊ะแถวบ้านเรา เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของแฟน ๆ สนุกเกอร์ครั้งกระโน้น เมื่ออ่านจบก็รอดูการถ่ายทอดสดของพี่ต๋อง หรือน้องต๋อง ศิษย์ฉ่อย บรรเลงเพลงคิวให้เห็นเป็นขวัญตา ให้สมกับฉายา “ไทย ทอร์นาโด” ช่วงกลางดึก แล้วเอาตัวอย่างการแทงในคืนนั้นเป็นแบบอย่างของวันรุ่งขึ้น

เทคนิคการเล่นที่ตอนนั้นยังไม่มียูทูป หรือตำราการเล่นที่แปลมาจากต่างประเทศ ก็อาศัยรูปภาพหรือบางคอลัมน์ของคิวทองนี่แหละเป็นคัมภีร์ในการเล่นและศึกษา เชื่อหรือไม่ครับว่าเด็ก ๆ บางคนในตอนนั้น ที่เล่นสนุกเกอร์เป็นก็เพราะหนังสือเล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้สนใจกีฬาประเภทนี้เลย แต่พยายามซื้อหาจับจองมาเป็นเจ้าของ เพราะหน้าปกคือนักสนุกเกอร์คนดังระดับโลกในขณะนั้น แล้วก็อ่านเนื้อหาด้านในจนติดใจ จึงหัดเล่นกีฬาแม่นรูนี้

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่ยุคที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่ายยิ่งกว่าหาซื้อเสื้อผ้า การอ่านหนังสือหรือติดตามข่าวสารของแฟน ๆ สนุกเกอร์ชาวไทยก็เปลี่ยนไป เมื่อมีโปรแกรมติดต่อสื่อสาร เพจต่าง ๆ ที่คอยอัปเดตข่าวสารให้แบบนาทีต่อนาที ไฮไลต์การแข่งขันมาแบบเต็มที่ จึงไม่แปลกที่นิตยสารที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับกีฬา เช่นข่าวสารต่าง ๆ ค่อย ๆ เลือนหายไปจากแผงหนังสือใกล้บ้านของพวกเรา เพราะผลกระทบที่คล้ายคลึงกันคือ เมื่อคนติดตามอ่านน้อยลง ผลกระทบมันก็ออกมาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพิมพ์ คนแปลอักษร สายส่งหนังสือที่งานจะลดน้อยถอยลงไป เพราะหนังสือมันมีน้อยเล่มเพราะคนอ่านน้อยลง แล้วคนที่ทำงานระหว่างทางก็ย่อมมีงานน้อยลงไปตามสัดส่วน ซึ่งก็เท่ากับว่ารายรับที่เคยได้ในแต่ละเดือนถูกปันส่วนลงไป ไม่เว้นแม้กระทั่งเถ้าแก่ยันคนขับรถส่งหนังสือ ที่เก๊กซิมไปตาม ๆ กัน

รวมถึงหนังสือสนุกเกอร์เล่มเดียวของประเทศไทยที่จะต้องถูกผลกระทบอย่างช่วยไม่ได้ เพราะเมื่อคนอ่านหน้ากระดาษหนังสือน้อยลง แต่ไปอ่านหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์มากขึ้น ก็ย่อมมีส่วนที่ผลพลอยได้จากการวางจำหน่ายนั้นน้อยลงไปจากเดิม ที่เคยเต็มร้อยก็กลายเป็นแปดสิบ ร้านรวงบางร้านก็รับหนังสือน้อยลงเพราะจำหน่ายไม่ได้มากเหมือนเดิม สาเหตุจากคอนเทนต์บางส่วนที่ติดตามจากหน้าจอแทนหน้ากระดาษไปนั้นมันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สาเหตุที่หนังสือนั้นยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะแฟนพันธุ์แท้ของคิวทอง ที่ยังคงติดตามมานานจนกลายเป็นกิจวัตร ว่าต้นเดือนต้องเดินไปที่ร้านหรือแผงหนังสือร้านประจำแล้วบอกว่า “เฮียครับ คิวทองเล่มใหม่มาแล้วหรือยัง?” พร้อมควักเงิน 30 บาท หนีบคิวทองกลับมาอ่านสบายใจ เพราะบางอย่างในหน้าหนังสือที่บรรจุอยู่นั้นมันไม่สามารถ Search หาได้ในโลกดิจิตอล อีกทั้งโต๊ะสนุกเกอร์บางที่ก็ต้องมีคิวทองไว้เป็นมือรับแขกให้กับขาประจำ ที่แวะเวียนกันมาประลองยุทธ์ โดยเฉพาะต่างจังหวัดนั้น ร้านนึงซื้ออย่างน้อยสองสามเล่มก็มี เพราะถ้าแขกมาพร้อมกันแล้วแย่งกันอ่านก็มี

แต่เบื้องหลังของหนังสือหัวนี้นั้นเกิดจากความรักในกีฬาชนิดนี้ของ “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ อดีตคอลัมน์นิสต์กีฬามือดีของเมืองไทย ที่รังสรรค์นิตยสารนี้ออกมาให้เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายได้ติดตามกัน ซึ่งในตอนที่เริ่มต้นนั้นถ้าคุณศักดาหรือลุงศักดา ท้อแท้กับเสียงติฉินนินทาจากสังคมภายนอกที่แอนตี้กีฬาประเภทนี้ ว่าเป็นกีฬาของนักเลง หรือโต๊ะสนุกเกอร์เป็นแหล่งของพวกผู้มีอิทธิพลแล้วนั้น หนังสือเล่มนี้ก็คงจอดป้ายไปตั้งแต่ครานั้นแล้ว คงไม่มีหนังสือสนุกเกอร์ของไทยออกมาวางจำหน่ายอีก

ทว่าสิ่งที่ผู้ปลุกปั้นหนังสือในปัจจุบันนี้ต้องแบกรับนั้นคือต้นทุนในการตีพิมพ์ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นรายจ่ายตายตัว แต่รายรับมันไม่มาตายตัวเหมือนกันนี่นะสิ เป็นเรื่องใหญ่ที่คนทำหนังสือทุกคนทราบดี และต้องแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าอาจจะต้องควักทุนรอนที่มีของตัวเองหมุนเวียนออกไปให้เกิดสภาพคล่องในการจัดทำและตีพิมพ์ แต่เมื่อนานวันเข้าก็เป็นน้ำซึมบ่อทราย ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มเสียที เพราะต้นทุนต่าง ๆ มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับรายรับของการจำหน่ายในแต่ละเดือน บางที่สายป่านยาวก็มีผลกระทบน้อยหน่อย บางที่ทุนรอนน้อยก็วิ่งหาค่าใช้จ่ายกันขาขวิดเลยทีเดียว

จึงไม่แปลกที่มีข่าวว่าหนังสือหัวต่าง ๆ ที่เคยดังมาก ๆ ในอดีตถึงปัจจุบันที่ยังขายได้นั้น ต้องจอดป้ายภายในปีนี้หลายเล่มด้วยกัน เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า การบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ก็เปลี่ยนไปด้วย แต่มนต์เสน่ห์ของหนังสือกระดาษนั้น หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถทดแทนได้ ที่จะพลิกไปมาแต่ละหน้าและเสพข่าวที่ตัวเองต้องการ เป็นความคลาสสิกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ดี ก็ได้แต่หวังว่าสปอนเซอร์หรือผู้เกี่ยวข้องที่มีใจรักสนุกเกอร์และมีทุนรอน ได้ตระหนักและเล็งเห็นที่จะเข้ามาอุดหนุนผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้โลดแล่นต่อไป รวมถึงหนังสือคิวทองที่เกี่ยวกับวงการสนุกเกอร์ไทย ให้อยู่ยืนยงคู่กับวงการสอยคิวไทยและแฟน ๆ สนุกเกอร์ชาวไทย สมกับฉายา นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรกและฉบับเดียวในประเทศไทย ไปอีกนานแสนนาน

 

รีสตาร์ท

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 422)