สุดยอดนักสู้แห่งวงการสนุกเกอร์โลก “พอล ฮันเตอร์”

20 เม.ย. 61

ถ้าในวงการลูกหนังในยุคโมเดิร์น ที่มีผู้เล่นหน้าตาหล่อเหลา ฝีเท้าการเล่นฉกาจฉกรรจ์คือ เดวิด เบ็คแฮม เป็นไอดอลของชาวอังกฤษแล้วละก็ พอล ฮันเตอร์ ก็คือ เดวิด เบ็คแฮมของวงการสนุกเกอร์โลกเช่นกัน ที่เขาไม่ได้โด่งดังจากหน้าตาที่หล่อเหลา ผมสีบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้า หรือสไตล์การแต่งตัวสุดเท่ที่อยู่นอกสังเวียนแต่อย่างใด แต่มาจากฝีมือการเล่นสนุกเกอร์ที่แจ่มแจ๋วไม่แพ้ใคร การคว้าแชมป์เดอะมาสเตอร์สได้ถึง 3 ครั้ง เวลช์โอเพ่น 2 ครั้ง 114 เซ็นจูรี่เบรก ทั้ง ๆ ที่เล่นอาชีพได้แค่สิบปีก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น นักสนุกเกอร์อาชีพบางคนที่เล่นอยู่ในวงการเกินสิบปีมากมาย ไม่สามารถทำได้เทียบเคียงแบบเขา

พอลเกิดวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1978 ที่เมืองลีดส์ประเทศอังกฤษ ในยุคที่การถ่ายทอดสดสนุกเกอร์ทางทีวีกำลังเป็นที่เฟื่องฟู ได้รับความนิยมถึงขีดสุด เขาได้ฝึกฝนฝีมือสนุกเกอร์จาก Northern Snooker Center ที่ปลูกฝังแนวคิดการเล่นสนุกเกอร์ที่ถูกต้องตั้งแต่เป็นระดับเยาวชน ในขณะที่อายุได้ 9 ขวบ พอลได้รับรางวัลนักสนุกเกอร์รุ่นเยาว์ที่ดีที่สุด ประกอบกับได้รับแรงเชียร์และกำลังใจรวมถึงการสนับสนุนจากครอบครัว ทำให้เค้าทุ่มเทในการฝึกฝนสนุกเกอร์โดยใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงไปในการอยู่ในศูนย์ฝึก อีกทั้งยังเดินทางไปฝึกแทงกับอดีตแชมป์โลกอย่าง “บิ๊กโจ” โจ จอห์นสัน อีกด้วย

ในที่สุดด้วยวัยเพียง 16 ปี พอลก็ก้าวเข้าสู่โลกของวงการสนุกเกอร์อาชีพ โดยปีแรกของการเล่นระดับอาชีพก็สร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น เมื่อผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เวลช์โอเพ่น ในปีนั้น และฤดูกาลต่อมาก็จัดการบด “มิสเตอร์ แม็กซิมั่ม” วิลลี่ ธอร์น ไปแบบแหลกละเอียด 9-0 เฟรม ในรายการยูเคแชมเปี้ยนชิพ ซึ่งเมื่อจบฤดูกาลเค้าสามารถไต่เต้าจากมือวางอันดับ 78 ของโลกขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 ซึ่งถือว่าเร็วมาก และเขาก็สถาปนาตัวเองในการเป็นมืออันตรายที่ไม่ใช่แค่มือรองบ่อนอีกต่อไป มือระดับท็อปก็ต้องระมัดระวังตัวอย่างมากเมื่อโคจรมาจ๊ะเอ๋กับไอ้หน้าหล่อคนนี้

ในปี 1998 พอลในวัย 19 ปี ยัดเยียดความปราชัยให้กับมือวางในท็อป 16 ของโลกได้ถึงห้าคน โดยหนึ่งในนั้นคือ “พ่อมดวิสกี้” จอห์น ฮิกกินส์ ในรอบชิงชนะเลิศรายการเวลช์โอเพ่น และเป็นรายการเก็บคะแนนสะสมรายการแรกของเจ้าตัวอีกด้วย ต่อจากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคปี 2000 พอลก็เริ่มแสดงให้แฟน ๆ สนุกเกอร์เห็นว่าเค้าคือเจ้าพ่อของรายการเดอะมาสเตอร์ส เมื่อแซงเอาชนะ เฟอร์กัล โอไบรอัน ไปแบบฉิวเฉียด 10-9 เฟรม ทั้ง ๆ ที่ตามหลังอยู่ 7-3 เฟรม ซึ่งมีข่าวว่าในระหว่างการพักการแข่งขันเค้าไปเข้าโรงแรมกับแฟนสาวเพื่อทำภารกิจเพิ่มพลังชาย ก่อนกลับมาเอาชนะไปได้ โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นกลยุทธ์ Plan B ที่จะเอาชนะ ต่อมาในปี 2002 ในรายการเดียวกันนี้รอบชิงชนะเลิศ เขาโคจรมาเจอกับอดีตแชมป์โลกปี 2000 “จรวดทางเรียบ” มาร์ค เจ วิลเลียมส์ ที่ฟอร์มกำลังสดจากไร่ ชนิดที่ว่าถ้าอีซ้ายของเขาได้วางมือถนัดถนี่แล้วละก็ ขาวอยู่ตรงไหนก็ไม่เหลือซาก จัดได้หมดไม่ว่าจะดวลกับใคร โดยมาร์คออกนำไปก่อนไกลสุดกู่ 0-5 เฟรม แต่พอลก็ค่อย ๆ ไล่เก็บไล่มาทีละเฟรมจนมาเสมอที่ 5-5 เฟรม แต่มาร์คก็ไว้ลายแชมป์โลกฉีกหนีไปอีกเป็น 7-5 เฟรม พอลก็ฮึดไล่มาที่ 7-7 เฟรม ก่อนจะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนต้องเล่นเฟรมตัดสินเฟรมที่สิบ ก่อนที่ “David Beckham of Baize” จะเอาชนะไปได้ 10-9 เฟรมอย่างสนุกตื่นเต้น และในปี 2004 พอลก็ได้ชูโทรฟี่รายการเดอะมาสเตอร์สนี้ได้เป็นครั้งที่สามในรอบสี่ปี เมื่อเอาชนะตัวพ่อแห่งยุค อย่าง “เดอะ ร็อกเกต” รอนนี่ โอซุลลิแวน ที่กำลังติสท์สุดขีดในตอนนั้น ไว้ทรงผมยาวสลวยสวยเก๋ คาดที่คาดผม ลงดวลเพลงคิวโชว์แฟน ๆ สนุกเกอร์และสาว ๆ ที่คอยเชียร์การแข่งขันเกมนี้ ชนิดที่ไม่รู้ว่ากรี๊ดใครมากกว่ากัน โดยที่ในเกมการแข่งขันนั้น รอนนี่ทะยานนำไปก่อน 3-7 เฟรมแบบที่ว่าสมราคามือหนึ่งของโลกในขณะนั้น แต่ทว่าเดอะมาสเตอร์สเป็นรายการที่ถูกโฉลกกับพอลอย่างแท้จริง เมื่อเร่งเครื่องบดกับรอนนี่เพื่อนซี้นอกสังเวียนของเขาอย่างเมามัน ชนิดใครดีห้ามกระพริบตา จนสกอร์มาหยุดอยู่ที่ 9-9 เฟรม ต้องเล่นเฟรมตัดสิน เป็นครั้งที่สามในชีวิตของพอลที่ต้องเล่นเฟรมตัดสินในรอบชิงชนะเลิศรายการนี้ และเป็นสุดหล่อผมทองที่เอาชนะไปได้ 63-15 แต้ม เข้าป้ายเอาชนะเดอะร็อกเกตไปได้เด็ดขาด 10-9 เฟรม ทำให้พอลคว้าแชมป์เดอะมาสเตอร์สได้ 3 ครั้ง และเป็นสกอร์เดียวกันทั้งหมดอีกด้วย น่าเหลือเชื่ออย่างมาก

ในปี 2005 พอลป่วยจากการเป็นเนื้องอกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นเคสที่ยังหาสาเหตุการเกิดไม่ได้ โดยในปีนั้นเค้าได้เข้ารับการรักษาตัว เพื่อน ๆ และแฟน ๆ สนุกเกอร์ทั่วโลกต่างก็ให้กำลังใจในการที่จะให้เค้าต่อสู้กับโรคดังกล่าว โดยในปีถัดมาเค้าก็สามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ในปีนี้เอง ลินซีย์ แฟนสาวของเขาก็ได้ให้ของขวัญที่พิเศษสุดในชีวิตเมื่อให้กำเนิดลูกสาวชื่อ อีฟวี่ โรส (Evie Rose) และรายการสุดท้ายที่เค้าลงเล่นคือรายการชิงแชมป์โลกรอบแรก กับ “จิงโจ้อันตราย” นีล โรเบิร์ตสัน พ่ายไป 5-10 เฟรม จากการเป็นโรครุมเร้าผลการแข่งขันและฟอร์มการเล่นของเขาไม่เหมือนเดิม อันดับโลกจึงค่อย ๆ ถอยลงมาจากที่ 5 ของโลกมาอยู่ที่อันดับ 34 ของโลก ต่อมาเขาต้องเข้ารับการรักษาตัวอีกครั้งเนื่องจากเกิดการกำเริบของโรค และอาการทรุดหนักลงจากที่ผ่านมา และเค้าคอนเฟิร์มว่าเกิดการปวดอยู่ตลอดเวลา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2006 ทางสมาคมสนุกเกอร์โลกให้ทางสมาชิกที่เป็นนักสนุกเกอร์ระดับอาชีพร่วมโหวตว่าจะอนุญาตให้พอล ฮันเตอร์ หยุดเล่นเพื่อเข้ารับการรักษาตัวในฤดูกาล 2006/2007 โดยที่อันดับโลกของเค้าจะยังอยู่ที่ 34 ของโลกไม่เปลี่ยนแปลง จนกว่าเค้าจะกลับมาลงแข่งขันอีกครั้งภายหลังรักษาแล้วเสร็จ พอลตั้งใจว่าจะอุทิศเวลาในปีดังกล่าวเพื่อให้เข้ารับการรักษาโรคนี้ที่ลุกลามกลายเป็นมะเร็ง

 

พอล ฮันเตอร์เสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 2006 ก่อนวันคล้ายวันเกิดของเขาเพียง 5 วัน โดยการแข่งขันสนุกเกอร์ในอีก 3 วันต่อมาในรายการ สนุกเกอร์พรีเมียร์ลีก รอนนี่ โอซุลลิแวน, จิมมี่ ไวท์, เคน โดเฮอร์ตี้, ติง จุ้นฮุย และผู้ตัดสินได้มีการยืนไว้อาลัยเพื่อเป็นการรำลึกถึงพอลด้วย เพื่อน ๆ ในวงการสนุกเกอร์อาชีพทำการเรียกขานชื่อโทรฟี่รายการเดอะมาสเตอร์สใหม่ให้เป็น พอล ฮันเตอร์ เมมโมรี่ แทนชื่อเดิมคือ เดอะ มาสเตอร์ โทรฟี่ รายการแข่งขันเยอรมัน โอเพ่น ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น พอล ฮันเตอร์ คลาสสิก เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ตัวเขา

ภายหลังจากเขาได้เสียชีวิตลง ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิพอลฮันเตอร์ขึ้นมา เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสที่จะฝึกฝนสนุกเกอร์ ในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพในอนาคต ภาพที่แฟน ๆ สนุกเกอร์หลั่งน้ำตาเมื่อเห็นภาพคัตซีนก่อนการถ่ายทอดสดการแข่งขันเดอะมาสเตอร์สในปีนั้น เป็นที่สะเทือนใจแก่ผู้ชมทั่วโลก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าผู้เล่นที่เป็นขวัญใจชาวอังกฤษอีกคนหนึ่ง ที่สื่อมวลชนอังกฤษมั่นใจว่าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรอนนี่ โอซุลลิแวน หรือมือดีในขณะนั้นไปอีกหลายสิบปี ในการครองมือวางอันดับหนึ่งของโลก ต้องมาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร แต่การจากไปของเขาได้สร้างคุณูปการหลายอย่างต่อวงการสนุกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็น สปิริตในการโหวตให้อันดับโลกของเขาอยู่กับที่ไม่หล่นไปไหน จนกว่าจะรักษาตัวจนกลับมาแข่งได้ แรงบันดาลใจในการเล่นสนุกเกอร์ของเยาวชนที่อยากจะเป็นอย่างเขา ที่ไม่ได้มีดีที่หน้าตาอย่างเดียว และความอดทนเด็ดเดี่ยว ในการกัดฟันต่อสู้กับความเจ็บปวดต่อโรคมะเร็งและจะต้องลงแข่งขันสนุกเกอร์ ซึ่งเขาเล่นเต็มที่ทุกครั้งไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เป็นนักสู้ตัวจริงที่วงการสนุกเกอร์ไม่เคยลืมเลือนเลย

 

รีสตาร์ท

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 425)