ท้อได้แต่ห้ามถอย

23 ส.ค. 61

มีชนะก็ต้องมีแพ้เป็นสัจธรรมของเกมการแข่งขันทุกประเภท แต่ถ้าแพ้แล้วไม่ยอมรับว่าสู้ไม่ได้แต่โทษปี่โทษกลอง อันนี้ถือว่าไม่ใช่จอมยุทธ์ ที่เอาแต่บอกว่ากระบี่ของข้านั้นไม่ดี ในเมื่อเพลงคิวไม่ดี ลงไปปะทะกับใครก็ต้องปราชัยครับ เพราะก่อนจะไปดวลกันที่ไหนก็ต้องเตรียมตัวทั้งนั้น ร้อยทั้งร้อยตอนที่รู้สึกตัวว่าจะแพ้ก็จะออกตัวว่า ซ้อมมาน้อย หรือไม่ก็ไม่ชินโต๊ะ กันซะส่วนมาก แต่ส่วนน้อยนั้นจะก้มหน้าก้มตาเก็บความพ่ายแพ้ไว้เป็นบทเรียนว่าแพ้เพราะอะไร และเก็บเป็นการบ้านในการที่จะฝึกฝน เพื่อกลบจุดอ่อนที่ทำให้แพ้ในวันนี้เป็นจุดแข็งในวันหน้า

เคยสังเกตไหมครับว่าตอนเราไปลองซ้อมที่โต๊ะตลาดทั่วไป แล้วบางคนใช้คิวราวแทง ทำไมมันแทงดีจัง ได้น้ำหนักทุกเม็ด วางขาว วางอีตัวเป๊ะ ๆ ไอ้เราถือคิวสองท่อนอย่างดีกลับแทงได้ไม่เท่าเขา แบบนี้ก็ต้องดูครับว่าคุณพี่คนนั้นเค้าเป็นมือประจำโต๊ะ หรือมาร์คเกอร์ที่คลุกคลีอยู่กับสนุกเกอร์อยู่แทบตลอดเวลาหรือเปล่า อย่าลืมนะครับว่านักสนุกเกอร์ระดับท็อปนั้น ในแต่ละวันแทบจะขลุกอยู่กับโต๊ะสนุกเกอร์ตลอดทั้งวัน เพราะเค้าถือว่าการฝึกซ้อมเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ในการที่จะบรรลุเป็นผู้ที่จะเป็นเลิศในกีฬาประเภทนี้ได้ ก็เฉกเช่นเดียวกันกับ มือประจำโต๊ะหรือมาร์คเกอร์บางท่าน ที่ว่างจากการดูแลลูกค้า โต๊ะว่างแล้วก็ฝึกออกคิวแทบตลอดทั้งวัน อาจจะไม่ต่อเนื่องแต่การได้จับคิวบ่อย ๆ วางสะพานมือซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ จนกลายเป็นความเคยชินนั้น ย่อมทำให้กล้ามเนื้อจดจำจุดที่แทงได้ดีที่สุดเป็นแพทเทิร์นไปโดยปริยาย เมื่อรวมกับบางคนมีพรสวรรค์ด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะติดลมบนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขยันฝึกซ้อมโดยใช้พื้นฐานที่ถูกต้องนะครับ ไม่ใช่ครูพักลักจำแบบที่ผิด ๆ มา บางท่านทราบว่าต้องแทงแบบนี้จากตำราที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ปรับเพราะกลัวว่าจะออกคิวเพี้ยนไม่แม่นเหมือนเดิมก็มี อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคนครับว่า การที่จะพัฒนาฝีมือของตนเองนั้น ถ้าเรามีเวลาให้กับสนุกเกอร์ไม่มากเท่ากับมือประจำโต๊ะหรือมาร์คเกอร์ เราก็ต้องปรับพื้นฐานในการแทงให้ถูกต้องมากที่สุด ตามแบบฉบับของนักสนุกเกอร์ระดับโลกที่เค้าใช้ฝึกฝนกัน จากสื่อต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ให้เข้าใจก่อนที่จะมาลงสนามจริง เพื่อที่จะต่อยอดต่อไปในอนาคต

แต่เมื่อเราเล่น ๆ ไปแล้วมันเกิดอาการชะงักงัน แทงลูกง่ายกลายเป็นลูกยาก แทงจ่อกลายเป็นงัด แพ้กันแบบติด ๆ กันหลาย ๆ ไฟต์ ก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับที่จะเกิดอาการท้อแท้ไม่อยากเล่น กลัวโดนโต๊ะข้าง ๆ ว่าเป็นพวกมือหมู ทำอะไรก็อร่อย แบบนี้มันก็ต้องมีลูกฮึด เงยหน้าขึ้นมาฝึกฝนกันต่อไปครับ โดยที่พลิกไปดูรูปแบบการเล่นของนักสนุกเกอร์ชาวไทย ในปัจจุบันนั้นมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในระดับสมัครเล่น และระดับเทิร์นโปรจะเหมือนกันหมดคือ วัดกันที่ลูกแม่น วันนั้นใครแม่นกว่า กินยาแม่นมาก็เอาไป การเริ่มต้นการเข้าเบรกจะมาจากการสู้ลูกยาว หากใครพลาดก่อนก็ต้องเสียเกมไป เพราะเราชินมาจากการเริ่มต้นเล่นหกแดงนั่นเอง ที่มีลูกตั้งบนโต๊ะน้อย การเล่นลูกยาวหัวโต๊ะท้ายโต๊ะจึงมีผลเป็นอย่างมาก จนกลายมาเป็นความเคยชินแบบไม่รู้ตัว ใครเล่นหลุมยาวแม่นจะถือว่าแทงเก่ง แทงใช้ได้ ลองนึกย้อนกลับไปตอนที่หัดเล่นสนุกเกอร์ใหม่ ๆ นะครับ ว่าเป็นแบบนี้หรือเปล่า

ทว่ามันก็กลายเป็นดาบสองคม ให้แฟนสนุกเกอร์ไทยที่ชื่นชอบการสอยคิวนั้นปะทะด้วยการเล่นหกแดง ที่วัดกันด้วยปืนยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะครับสำหรับลูกแม่น แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม ที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในการเล่นจากคู่ต่อสู้ ให้เราสามารถเริ่มเล่นลูกสีต่อไปได้ และเป็นการเริ่มต้นการเข้าเบรกเพื่อเอาชนะในเฟรมนั้น ๆ ถ้าตำแหน่งของลูกสีเหมาะสม ซึ่งความแม่นนั้น นักสนุกเกอร์ทุก ๆ คนแม่นได้เหมือน ๆ กันครับ แต่ในมุมกลับกัน ถ้าวันนั้นไม่แม่น ตบอย่างไรก็ไม่ลง จะหาทางกลับมาก็ต้องเล่นลูกป้องกันตัวไม่ให้คู่แข่งเล่นง่าย เพราะคู่แข่งเองก็มีลูกแม่นเหมือนเรา ยิ่งถ้าเป็นพวกเก๋า ๆ แล้วละก็ เค้าจะมองออกครับว่าเราไม่ชอบเล่นลูกแบบไหน เช่น ขาวแนบชิ่ง ก็จะให้แทงลูกแนบชิ่งบ่อย ๆ จนเราหัวเสีย ออกคิวเพี้ยนไปเอง ซึ่งลูกป้องกันนั้นจัดได้ว่าสำคัญกว่าลูกแม่นเลยก็ว่าได้ ลูกแม่นเอาไว้เข้าเบรกเพื่อชนะคู่ต่อสู้ แต่ลูกป้องกันเอาไว้สร้างโอกาสให้ลูกแม่นอีกทีนั่นเอง ลองนึกภาพนะครับ ถ้าลูกเปิดเราป้องกันตัวดี คู่ต่อสู้กันยาก วางขาวไม่ดี เราก็มีโอกาสสูงมากที่จะใช้ลูกแม่นเข้าบดขยี้ในเฟรมนั้น

แม้แต่นักสนุกเกอร์ระดับโลกหลาย ๆ คน ที่ความแม่นหายไปตามกาลเวลาอย่าง อลัน แม็คมานัส, ปีเตอร์ เอ็บดอน ก็ใช้ลูกป้องกันตัวเป็นใบเบิกทาง เอาชนะคู่ต่อสู้ให้เห็นมาแล้วหลาย ๆ เกม โดยเฉพาะเอ็บดอนที่ถูกขนานนามว่าเป็น จอมช้าแห่งยุคก็ตาม แต่ถ้าใครได้รับชมเกมที่เค้าลงเล่น ก็ต้องยอมรับครับว่าทางสนุกเกอร์ ลูกแก้ไขของเค้านั้น ถ้าเทียบกับรุ่นเดียวกันที่ขึ้นมานั้น เอ็บดอนกินขาด แม้แต่อัจฉริยะอินดี้ “เดอะ ร็อกเกต” รอนนี่ โอซุลลิแวน ลูกกันแกก็ไม่เป็นรองใครในปฐพีเช่นกัน ชิ่งนี่อยู่ในกระเป๋า ทั้งที่เป็นเพลย์เยอร์ที่มี First Option ของรูปแบบการเล่นที่บุกแหลก สู้ทุกเม็ดเช็ดทุกไม้ แต่ก็มีลูกเหนียวไว้คอยรับมือในวันที่ไม่แม่น ซึ่งรอนนี่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ไม่ใช่ว่าอายุที่มากขึ้นแล้วทำให้ต้องเล่นป้องกันมากขึ้น แต่เป็นจากประสบการณ์การเล่นที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เค้ารู้ว่า การเล่นแบบบุกแหลกนั้นไม่สามารถจะเอาชนะผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ทุกเกม แต่การวางแผนในการเล่นป้องกันก่อนที่จะเปิดเกมรุกนั้นต่างหาก ที่จะเปิดโอกาสในการเอาชนะ

เป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับมาก็ต้องลืมไปให้ได้ และทบทวนว่าสิ่งที่แพ้นั้นเป็นเพราะอะไร เกิดขึ้นจากสิ่งใด และนำมาปรับปรุงต่อไป นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่แพ้แล้วไม่เห็นต้องกลับมาฝึกฝนเพิ่มเติมอะไรเลยก็ชนะได้ในไฟต์ต่อมา อันนี้อันตรายมาก เพราะถ้าเราเลียนแบบแล้วทำได้แบบเขา จุดอ่อนของเราก็จะไม่ถูกกลบไป แต่จะถูกซุกซ่อนไว้ เมื่อลงแข่งขันกับมือที่เหนือกว่า เค้ามองเห็นนะครับว่านั่นคือจุดอ่อนที่จะตักตวงจากเราได้ ทำให้เราปราชัยไปในที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังนักสนุกเกอร์รุ่นใหม่ หรือรุ่นเก๋าเองที่อยากจะยกระดับการเล่นของตัวเองให้รุดหน้าขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่นั้น ต้องย้ำคิดและย้ำทำอยู่เสมอคือ ท้อได้แต่ห้ามถอย ทุก ๆ คนแพ้เป็นและก็ชนะเป็น ไม่มีใครที่จะแพ้ไปตลอดหรอกครับ ถ้าแพ้แล้วกลับมาฝึกซ้อมต่อเนื่อง และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก โค้ชสนุกเกอร์หลาย ๆ คน เน้นย้ำอยู่เสมอว่า ห้ามคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นแล้ว โดยเฉพาะเมื่อแข่งขันเสร็จหรือซ้อมเสร็จ แล้วมีคนมาชมเราว่าออกคิวได้เยี่ยมหรือซ้อมได้ดี เพราะจะทำให้เราเหลิง คิดว่าซ้อมแค่นี้ก็พอแล้ว ส่งผลให้หยุดการพัฒนาและขวนขวายที่จะเรียนรู้ นักสนุกเกอร์มือดีหลาย ๆ คนที่ไปไม่ถึงฝั่งอย่างที่ควรจะเป็นอย่างน่าเสียดาย ก็เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าว อดีตรองแชมป์โลกที่เป็นขวัญใจใครหลาย ๆ คนอย่าง จิมมี่ ไวท์ ที่พลาดการเป็นแชมป์โลกถึงหกครั้งจากการเข้ารอบชิงชนะเลิศถึงหกสมัย ก็ไม่เคยเอาเรื่องนี้เก็บมาคิดให้ท้อแต่อย่างใด ว่าเข้าชิงชนะเลิศหลายหนแต่ไม่ได้เป็นแชมป์โลก เค้าคิดแต่เพียงว่าถ้าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็จะฟิตซ้อมให้หนัก เพื่อจะกลับมาเป็นฝ่ายเอาชนะในครั้งหน้าให้จงได้

รีสตาร์ท

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 426)