สนุกเกอร์เข้าโอลิมปิก

4 ก.พ. 58

 

เมื่อ ปลายเดือนมกราคม วงการสอยคิวทั่วโลกตื่นเต้นไปตามๆ กันเพราะ เจสัน เฟอร์กูสัน ประธานสนุกเกอร์โลก อดีตนักสอยคิวอาชีพออกข่าวเจรจาให้ ญี่ปุ่น บรรจุ สนุกเกอร์ เข้าไว้ในโปรแกรมโอลิมปิกที่จะมีขึ้นในปี 2020 โดยฐานะประธานสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลก จับมือกับ สหพันธ์บิลเลียดโลก (WCBS) โดย 2 องค์กรได้แจ้งเรื่องให้บรรดาสมาชิกทั่วโลกรับทราบเพื่อขอแรง คณะกรรมการโอลิมปิก แต่ละชาติช่วยสนับสนุน โดยมั่นใจ ญี่ปุ่น จะบรรจุไว้ในการแข่งขันปี 2020

โครงการของ เจสัน เฟอร์กูสัน ถือเป็นแนวทางที่ดีสำหรับคนในวงการนี้ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเป็นไปตามความคิดของ ประธานสนุกเกอร์อาชีพหรือไม่ เพราะการบรรจุชนิดกีฬาเข้าสู่ โอลิมปิก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ต่างคิดทำกันได้ ประการแรก ชนิดกีฬาที่ถูกบรรจุไว้ในโอลิมปิกมีเพียง 28 ชนิด และที่อยากจะเข้ามาแข่งขันอีกหลายสิบชนิดกีฬา แต่ยังไม่อาจเข้ามาได้เนื่องจาก ไม่มี กีฬาชนิดใด ยอมหลุดจากโอลิมปิก ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีเส้นสายพร้อมกำลังภายใน จึงสามารถนำพาชนิดกีฬาอยู่อย่างเหนียวแน่น

ล่าสุดในโอลิมปิกเกมส์ที่จะมีขึ้นที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2016 ก็มีการผลักดัน 2 ชนิดกีฬาเข้าไปใหม่ และกว่าจะเขี่ยของเก่าออกก็ต้องใช้ ฐานการเมือง ช่วยเต็มตัว ซึ่งล่าสุดปรากฏว่า รักบี้ 7 คนและ กอล์ฟ เป็นกีฬาชนิดใหม่ที่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในโอลิมปิก ที่บราซิล

ตามหลักของประเทศ เจ้าภาพ ประเทศใดก็ตามหากได้จัด โอลิมปิก จะได้สิทธิ์เลือก 1 ชนิดกีฬาเข้าไปแข่งขัน ดังนั้นในปี 2020 พวกยุโรปจึงรวมตัวยื่นข้อเสนอให้ ญี่ปุ่น บรรจุสนุกเกอร์ ไว้ในโปรแกรมแข่งขัน และมั่นใจญี่ปุ่นจะไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมีการเจรจาด้วยวาจาในขั้นแรก แต่เมื่อเวลายังมาไม่ถึงไม่มีใครคาดเดาเหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นเช่นไร สนุกเกอร์ อาจถูกปัดแบบไร้เยื่อใย

เพราะหากพิจารณาตามเหตุผล ญี่ปุ่น ไม่มีความจำเป็นต้องบรรจุสนุกเกอร์เข้าแข่งโอลิมปิก ถึงบรรจุเข้าไป ญี่ปุ่น ก็ไม่มีนักกีฬาที่จะต่อกรกับชาวโลก เป็นการสร้างบารมีให้ประเทศแถบยุโรป หากจะเพิ่มชนิดกีฬา ญี่ปุ่น น่าจะหันมามองกีฬาที่ตัวเองถนัดและเป็นต้นตำรับอาทิ ซูโม่ และอีกหลายชนิดที่ คนญี่ปุ่นมีความชำนาญ และพอสู้กับทั่วโลกได้ จึงไม่น่าจะต้องบรรจุกีฬาสอยคิว

และสมมติ ญี่ปุ่น บรรจุสนุกเกอร์เข้าไว้ในโปรแกรมจริง คนไทย ก็ไม่กระตือรือร้นสักเท่าใด เพราะมันเลยเวลามากว่า 30 ปี หากบรรจุเข้าในยุคนั้น ไทย ก็มีสิทธิ์ได้ลุ้นเพราะ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย กำลังร้อนแรง แต่เมื่อมีใน ค.ศ. นี้ เราไม่เหลือความหวัง เอาแค่ผ่านการคัดเลือกได้ไปแข่งขันก็ถือว่า สอบผ่าน

การเข้าสู่โอลิมปิกพวกที่มีสิทธิ์หยิบเหรียญก็แถบยุโรปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ที่มี รอนนี่-เซลบี้-จัดด์ ทรัมป์-ฌอน เมอร์ฟี่-โจ เพอร์รี่-สจ๊วต บิงแฮม หากผิดจากนี้ก็เป็นออสเตรเลียที่มี นีล โรเบิร์ตสัน รวมถึง ดิง จุนฮุย จากจีนและ มาร์โก้ ฟู ฮ่องกง ส่วน ไทย ต้องยอมรับฝีมือยังไม่ถึงขั้น ที่จะหยิบเหรียญใดเหรียญหนึ่งได้

ดังนั้นหากสนุกเกอร์ได้เข้าแข่งโอลิมปิก ก็ไม่ได้เกิดผลกับ นักสนุกเกอร์ไทย จะมีผลก็ตรงที่ ผู้บริหารสมาคมฯ เพราะหากกีฬาประเภทใดถูกบรรจุเป็น กีฬาสากล คือได้เข้าแข่งขันใน โอลิมปิกเกมส์ ก็จะมีการแต่งตั้ง ผู้บริหารสมาคมฯ เข้ามาเป็น บอร์ดคณะกรรมการโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นสิทธิ์อัตโนมัติที่ทำกันมาช้านาน

สำหรับการออกข่าวของประธานสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์โลก เจสัน เฟอร์กูสัน ก็เป็นนโยบายของประธานโลกร่วมกับ แบร์รี่ เฮิร์นส์ ผู้ปลุกปั้น สตีฟ เดวิส-เทอร์รี่ กริฟฟิธ-โทนี่ มีโอ-ดั๊ก เม้าท์จอย และ จิมมี่ ไวท์ ตลอดจนถึงยอดฝีมืออย่าง รอนนี่ โอซุลลิแวน เนื่องจาก แบร์รี่ เฮิร์นส์ มีความสามารถทางด้านโปรโมท และพลิกแพลงในการเรียกความสนใจ ดูกันง่ายๆ จากวงการสอยคิวโลกสมัยที่ เซอร์ร็อดนีย์ วอร์คเกอร์ นั่งประธานโลก วงการสอยคิวมีแต่สาละวันเตี้ยลง นักกีฬา เริ่มจะหันไปหาอาชีพอื่น เพราะทนไม่ไหวที่เดิมมีแข่ง 9 รายการ ลดน้อยเหลือแค่ 6 รายการ เมื่อได้ แบร์รี่ เฮิร์นส์ กลับพลิกฟื้นขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การแข่งขันอาชีพมีมากถึง 20 รายการ ไม่ว่าจะเป็นการ สะสมคะแนน 11 รายการ ยูโรเปี้ยนทัวร์ 6 รายการ เอเชี่ยนทัวร์ 5 รายการ ทำให้ นักกีฬา มีแข่งขันตลอดปี ทำเงินได้มากมายจนถือเป็น อาชีพ ที่มีคนอิจฉา แต่อย่างไรก็ตามการเข้า โอลิมปิก ต้องเส้นสายแข็งโป๊ก และที่สำคัญต้องเอาชนะ 2 ชนิดกีฬาที่ถูกผลักดันเข้ามา และมีทีท่าจะผ่านฉลุยคือ เบสบอล และ ซอฟต์บอล

ก็ต้องรอวัดใจ ญี่ปุ่น จะเลือกกีฬาชนิดใด?

 

ศักดา รัตนสุบรรณ