นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี

6 ม.ค. 59

เชื่อ กันว่า ใครที่เล่นกีฬาและติดทีมชาติไทย สิ่งที่ใฝ่ฝันและปรารถนาที่สุดแห่งชีวิตก็คือการได้เป็น นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งมีกลุ่มสื่อกีฬาร่วมกันประกาศเกียรติคุณของพวกเขาให้ ประชาชน รับรู้ถึงความสำเร็จ ซึ่งกว่าจะได้มาต้องเหน็ดเหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น จึงมีหลายองค์กรที่เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท ของนักกีฬา ออกมาช่วยกันประกาศเกียรติคุณ โดยเริ่มที่

กกท. ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่จัดงานวัน นักกีฬาดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งตามกำหนดต้องจัดทุกวันที่ 16 ธ.ค. ของทุกปี แต่ช่วงหลังมักเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ โดยล่าสุดไปตรงกับวันพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงเลื่อนเป็นวันที่ 28 ธ.ค. 58

จากนั้นคงเป็นหนังสือพิมพ์ สยามกีฬา รายวัน ผู้จัด สยามกีฬาอวอร์ดส์ ติดต่อกันมาเกือบ 10 ปี และเป็นที่นิยมของคนกีฬา เพราะนอกจากจะได้ นักกีฬามีคุณภาพ ยังมีเงินรางวัลให้อย่างงาม โดยมีเงินรางวัลให้สูงถึง 300,000 บาท สำหรับนักกีฬา ส่วนที่รองลงมาก็มี รางวัลผู้ฝึกสอน รางวัลเยาวชนดีเด่น รวมถึงรางวัล สมาคมกีฬายอดเยี่ยม รับกันเต็มๆ

หลังจากนั้นจะต่อกันที่สมาคมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพกีฬา สมาคมน้องใหม่ ถึงจะมาทีหลังแต่มาแรง โดยรางวัลที่นักกีฬาจะได้รับก็ถือว่าไม่น้อย

สมาคมสุดท้ายและถือเป็นสมาคมแรกที่บุกเบิกให้มีการประกาศเกียรติคุณนักกีฬาคือ สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมนี้ไม่มีเงินรางวัล แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าเงิน คือ

ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมอบให้แก่ นักกีฬายอดเยี่ยมชาย-นักกีฬายอดเยี่ยมหญิง นักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม และ นักมวยไทยยอดเยี่ยม

เท่าที่เกริ่นมาก็เพื่อให้ทราบถึงองค์กรกีฬา ที่มีสิทธิ์ออกเสียงในการพิจารณานักกีฬายอดเยี่ยมของทุกปี และที่ต้องนำมาบอกกล่าวก็เพราะ ผลงานกีฬาสนุกเกอร์ ในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่า หวือหวามาก ไม่น่าเชื่อเรามีผลงานตั้งแต่เริ่มปีใหม่โดย 2 สาวไทย ศิริภาพร นวนทะคำจัน (ใบพัด ศรีราชา) ไปคว้าแชมป์เยาวชนโลกหญิง แถมเข้าชิงฯ กับ ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย (มิ้งค์ ศิษย์บิ๊ก) โดยในรายของ มิ้งค์ แม้จะแพ้ แต่ก็สร้างสถิติเบรกสูงของโลก 124 แต้ม ซึ่งรับประกันอีกนานเท่านาน ไม่มีเยาวชนหญิงคนไหนลบสถิติไปได้

ถัดจากนั้นก็ถึงคิว อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ (ซันนี่ อาร์แบค) ไปคว้าแชมป์เยาวชนเอเชียที่เมืองจีน โดยเอาชนะเจ้าภาพ หยวน ซี่จุง ไปแบบสนุกพลิกความคาดหมาย

และเมื่อมีการแข่งขันสนุกเกอร์เยาวชนชิงแชมป์โลก ประเภทชาย บุญญฤทธิ์ เกียรติกุล (ไฟว์ นครนายก) สามารถครองแชมป์เยาวชนโลกสำเร็จ และได้ตั๋วไปเล่นอาชีพที่ประเทศอังกฤษในฤดูกาลหน้าเดือน พฤษภาคม

และที่โด่งดังเป็นที่ฮือฮาอย่างมากคือ ศึก 6 แดงชิงแชมป์โลกอาชีพ ที่มีขึ้นที่ห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ไอส์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม หนนี้ เทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) คว้าแชมป์โลกชนิดพลิกความคาดหมาย เพราะกว่าจะมาถึงรอบชิงฯ กับนักแม่นรูจากจีน เหลียง เวงโบ นักสอยคิวไทยต้องฝ่าฟันด่านอันตรายมามากมาย

และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. พิสิษฐ์ จันทร์ศรี (หยิก สำโรง) ก็ไปคว้าแชมป์โลกประเภทมาสเตอร์สติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ถือเป็นยอดนักกีฬาน้อยคนที่จะมีใครทำได้ 3 ปีซ้อน

ที่ท้าวความมายืดยาวก็เพื่อบอกกล่าว สื่อกีฬา ที่จะควานหานักกีฬายอดเยี่ยมที่เหมาะสม อย่ามองข้ามสมาคมสอยคิว ที่มีผลงานโดดเด่นมาก และต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคัดเลือกนักกีฬายอดเยี่ยม ไม่ใช่ไปแห่ตามกระแส นำเสนอเฉพาะกีฬาที่ได้รับความนิยม โดยไม่เห็นความยากลำบากของกีฬาชนิดอื่น ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จต้องทุ่มเทกันขนาดไหน

หลักการพิจารณานักกีฬายอดเยี่ยมต้องเริ่มตั้งแต่ โอลิมปิกเกมส์ เป็นหลัก ใครได้เหรียญทองก็มีโอกาสได้ตำแหน่งนักกีฬายอดเยี่ยม หากได้กันหลายเหรียญคงต้องพิจารณาว่า กีฬาชนิดไหนยาก-ง่ายกว่ากัน

รองลงมาก็คือเวิลด์เกมส์หรือระดับชิงแชมป์โลก ต่อด้วยกีฬาเอเชียนเกมส์-เอเชียนอินดอร์เกมส์ จนถึงระดับ ซีเกมส์ และกีฬาแห่งชาติ

ปีนี้สมาคมสอยคิวได้แต่หวังต้องมีตำแหน่ง ยอดเยี่ยม เพราะพูดถึงเยาวชนชาย-หญิง ไฟว์ นครนายก-ใบพัด ศรีราชา โดดเด่นกว่านักกีฬาทุกสมาคม หากพลาดเยาวชนก็ยังมี เอฟ นครนายก ที่เอาชนะมือระดับโลกและแชมป์โลก จนสามารถคว้าแชมป์โลกสำเร็จ และตำแหน่ง ยอดเยี่ยมสำคัญ ที่ไม่ควรพลาดก็คือ

สมาคมกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี

เพราะดูจากผลงาน เชื่อแน่ว่าไม่มีสมาคมไหนยอดเยี่ยมเท่ากับ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย จึงขอให้ นายกฯ สินธุ ตั้งใจบริหารงาน อย่าเพิ่งถอดใจ

เพราะกีฬาชนิดนี้ คนไทยสามารถสู้ได้ทั่วโลก

 

 

ศักดา รัตนสุบรรณ