สนุกเกอร์ยุคเซียน

30 พ.ย. 60

เรื่องที่เป็นตำนานในวงการสนุกเกอร์ แต่อาจจะไม่ปรัมปรานักจนคร่ำครึ และหลุดโลก จนอ่านแล้วสั่นหัวไปมาด้วยความปะติดปะต่อไม่ถูก เป็นเรื่องในยุคสนุกเกอร์ในเวอร์ชั่นเก่าที่มีบรรยากาศต่างไปจากยุคนี้ จะเรียกว่าคนละมิติก็ว่าได้ ยุคนั้นนักสนุกเกอร์มือดี ถูกเรียกว่า “เซียน” ปักหลักรับแขกในถิ่น หรือไม่ก็เดินสายเป็นครั้งคราว

เซียนเหล่านั้น ไม่ค่อยมีสนามให้แข่งขันเหมือนนักสนุกเกอร์ฝีมือดีในยุคปัจจุบันนี้ จะมีก็รายการใหญ่รายการเดียว คือชิงแชมเปียนสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย แต่ก็ยังดูเหมือนอยู่ในวงจำกัดอยู่ดี เซียนประจำโต๊ะ หรือเรียกว่ามือตลาด ๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าแข่งขัน

นักสนุกเกอร์มือระดับรอง ๆ ก็ไม่ค่อยมีสนาม หรือเวทีให้แจ้งเกิดอย่างแพร่หลายเหมือนยุคหลังประมาณ ๒๕๒๗ เป็นต้นมา เมื่อมีคอลัมน์คิวทองปรากฏในหน้าข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์รายวันเดลินิวส์ และมีการจัดการแข่งขันแยกฝีมือกันออกหลายระดับ มีการจัดลำดับมือวางของแต่ละประเภท มีการคัดนักสนุกเกอร์มือสมัครเล่นไปเล่นสายอาชีพ มีการสนับสนุนนักสนุกเกอร์ที่มีแววส่งไปฝึกซ้อมที่ประเทศอังกฤษ

วงการสนุกเกอร์ก็เริ่มคึกคัก เปลี่ยนโฉมหน้าสนุกเกอร์เป็นการกีฬาเต็มตัว

เป็นมิติใหม่ของวงการสนุกเกอร์เมืองไทย มีการแข่งขันประจำทุกปี สถานที่แข่งขันก็มีความเป็นมาตรฐาน ห้องปรับอากาศ ปูพรม คนดูมีที่นั่ง สมาคมมิตรเดือนเด่น เป็นสถานที่ต้น ๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน

ตามมาไล่เลี่ยกัน ก็เป็นที่ “รุคส์ สนุกเกอร์” แถวใกล้ปากซอยรางน้ำ ถนนพญาไท

สองแห่งนี้ เป็นสถานที่ “คิวทอง” ใช้แข่งขันทั้งประเภทดาวรุ่ง และดาวโรย ประเภทแรกเป็นสนามแจ้งเกิดให้แก่นักสนุกเกอร์หน้าใหม่ก้าวไปสู่มืออาชีพ หรือมีชื่อเสียงในวงการมากมายในปัจจุบัน เช่น ต่าย พิจิตร รมย์ สุรินทร์ ตัวเล็ก สำโรง เบิ้ม เชียงใหม่ ป้อม เนาวรัตน์ เต่า หลังสวน ฯลฯ ส่วนประเภทหลัง เป็นการเปิดโอกาสให้นักสนุกเกอร์มือดีในอดีต ได้กลับมามีส่วนร่วมในวงการ เป็นสีสันประกอบ

ยุคก่อนหน้านี้เป็นยังไง รุ่นน้า ๆ ยังอาจไม่ทัน ต้องเป็นยุคคุณลุง ยุคคุณตาไปนั่น ที่วงการสนุกเกอร์ยังเป็นแบบตลาด ๆ สถานที่ดูไม่โอ่โถง คนเล่นยังลากรองเท้าแตะ นุ่งขาสั้น แทงไปสูบบุหรี่ไปควันโขมง ต่างจังหวัดบางทียังมีเมียมาตามคนเล่นสนุกเกอร์กลับบ้าน บ่อยครั้งที่ทะเลาะถกเถียงควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ต้องเอาคิวฟาดหัวกัน

แต่เชื่อไหม สนุกเกอร์เป็นการละเล่นที่นิยมกันมาก สังเกตก็ได้จากทุกหัวระแหงที่มีความเจริญ จะมีโต๊ะสนุกเกอร์ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะในต่างจังหวัด หรือในกรุงเทพฯ ก็ตาม ผู้เล่นมีทุกระดับอาชีพ จนถึงเด็กนักเรียนที่หนีโรงเรียนมาเล่น

แสดงว่า สนุกเกอร์เป็นการเล่นหรือกีฬา หรือเกมการวัดฝีมือของคนไทย ที่นิยมกันมานานมากแล้ว เพียงแต่ว่าหลายมิติของสนุกเกอร์ยุคนั้นต่างกันกับยุคนี้โดยสิ้นเชิง

ตอนโน้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ ยังแยกสีไปตามบริษัทที่ประกอบการ รอขึ้นรถเมล์ตามป้ายต่าง ๆ ไม่ต้องคอยชะเง้อดูหมายเลขว่าสายอะไร แค่โผล่หัวมาเห็นสีรถเมล์ก็รู้แล้วว่าใช่สายที่รอขึ้นหรือไม่ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีเทา สีขาว สีส้ม สีน้ำเงิน สีตองอ่อน สีฟ้า ฯลฯ และนั่งตลอดสายแค่ ๕๐ สตางค์ จะไกลออกไปนอกเส้นทางชานเมืองก็แค่สองสามสาย ก็อาจถึงหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ เช่น ไปถึงรังสิต หรือหนองจอก

พอมาสมัยหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายรวมรถมาเป็นกิจการของรัฐ สีสันต่าง ๆ จึงหมดไปมาเป็นของขสมก. หรือขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นสีเดียวกันหมด แล้วผลประกอบการทุกสายก็ขาดทุนสะสมตามมาจนถึงวันนี้ ค่ารถเมล์ก็ปรับเปลี่ยนราคาขึ้นไปเรื่อย กระนั้นก็ยังขาดทุน เพราะเป็นการบริหารที่รัฐจำเป็นต้องแบกภาระขาดทุนเอาไว้ส่วนหนึ่ง

ค่าของเงินยุคนั้น สมัยนี้อาจมองว่าแสนถูก ดูหนังโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง ราคา ๕ บาท ๖ บาทยังดูได้ หรือจะแถวหลัง ๆ ก็ ๑๒ บาท และ ๑๖ บาทเป็นราคาสูงสุด

เจมส์ บอนด์ ตอนหนึ่งฉายที่โรงหนังเมโทร คนดูที่จองตั๋วล่วงหน้าต้องเข้าคิวยาวเหยียดหน้าโรงจนล้นยาวลงไปตามฟุตปาธ เกือบจะไปถึงสี่แยกราชเทวี ตอนนั้นก็ให้จองชั้น ๑๒ บาทและ ๑๖ บาท พวกไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า จะมาดูตั๋วก็หมดก่อน จำยอมซื้อตั๋วผีใบหนึ่ง ๓๐ บาทขึ้นก็ต้องยอม เพื่อเอาไปคุยกะเพื่อนที่โรงเรียนได้ก่อน ว่าไปดูมาแล้ว และเรื่องราวมันเป็นยังไง ตอนไหนตื่นเต้นมาก

และอาวุธของเจมส์ บอนด์ในตอนนี้ เป็นอะไร ใช้พาหนะเป็นรถยนต์ยี่ห้ออะไร

วัยรุ่นยุคนั้น มีอะไรหวือหวาไม่มาก พื้น ๆ กระทั่งเครื่องดื่มออกใหม่ ต้องเก็บเงินเหลือจากโรงเรียนไปกินกันตอนเลิกเรียน เป็นเครื่องดื่มที่ดูทันสมัย ก็คือน้ำอ้อยคั้น ขวดหนึ่งก็แค่หนึ่งบาท ขายดิบขายดีจนขึ้นราคาเป็นหกสลึง

แค่ได้ไปดื่มกินก็รู้สึกว่าเท่ มีสตางค์ เป็นคนทันยุคทันสมัย ก็เขาคั้นสด ๆ ให้เห็น จะเอาใส่แก้ว หรือที่ใส่ขวดแช่น้ำแข็งเย็นเฉียบไว้แล้วเลือกเอา รองเท้าผ้าใบใส่ไปโรงเรียนคู่หนึ่งยี่สิบกว่าบาท แพงสุดยี่ห้อบาจา หรือตราช้างดาว สามสิบแปดบาท ใส่แล้วรู้เกรดเลยว่าคนไหนมาจากบ้านนอก คนไหนเด็กเทพ หรือลูกคนมีกะตังค์

หากขึ้นม.ปลาย เป็นรองเท้าหนังผูกเชือกก็คู่หนึ่ง ๙๐ บาท ทรงทันสมัยเป็นคัทชูก็แพงกว่าเป็น ๑๒๐ บาท รองเท้าที่นิยมกันมากก็จากร้านแก้วฟ้า บางลำพู หรือแยกมาเป็นร้านสันฟ้า วัดสามพระยา เวลาแต่งชุดไปเที่ยวต้องรองเท้าคนละอย่างกับใส่ไปเรียน มิเช่นนั้นจะเชยมาก จนผู้หญิงไม่อยากจะเดินด้วย

หันมาทางวงการสนุกเกอร์บ้าง ตอนนั้นไม่มีการเหมาเล่นเป็นชั่วโมง คิดกันเป็นเกม ๆ ไป จึงเรียกว่า “ค่าเกม” เกมหนึ่งสามบาทเอง แต่ยุคนั้น ข้าวแกงจานละหกสลึง โอเลี้ยงยังแก้วละ ๑ บาท น้ำอัดลมขวดละหกสลึง

หากจะเทียบยุคสมัยนั้นให้มองย้อนหลังเห็นได้ชัดเจนขึ้น ก็ตรงกับยุคที่เวทีมวยราชดำเนินเป็นเวทีชั้นหนึ่ง ก่อนเวทีมวยสวนลุมพินี ตอนนั้น มวยเอกของเมืองไทยถึงจะได้ขึ้นชกเวทีราชดำเนิน และกลายมาเป็นตำนานเล่าขานมาถึงปัจจุบันนี้ อาทิ อภิเดช ศิษย์หิรัญ อดุลย์ ศรีโสธร แดนชัย เพลินจิต เดชฤทธิ์ อิทธิอนุชิต สมพงษ์ เจริญเมือง พายัพ สกุลศึก แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ราวี เดชาชัย

ลีลาการชกมวยของคนหลังนี้ เดินหน้าดุเด็ดถูกใจแฟนมวย จนกลายเป็นสำนวนของนักเรียนอาชีวะ นักเรียนมัธยมสมัยโน้น หลังเชียร์ฟุตบอล เชียร์มวยสากลสมัครเล่น กีฬาเลิก แต่กองเชียร์ไม่เลิก จะได้ยินเสียงกระหึ่ม .. ราวี ราวี ราวี

คนอื่นก็เตรียมหลบหาที่กำบังได้ หากไม่อยากถูกลูกหลง พอออกพ้นสนามก็ดาหน้าเข้าหากันเป็นหมู่ ตีต่อยฟาดกันอุตลุด

การเล่นกีฬา การเที่ยวเตร่ของวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่สมัยนั้น มีให้เลือกไม่มาก โต๊ะสนุกเกอร์เป็นสถานที่พักผ่อนของคนทุกระดับในยุคนั้น เล่นง่าย มีแพร่หลาย ไม่มีแบ่งเกรดชนชั้น คนยุคก่อนนั้นส่วนใหญ่จึงเล่นสนุกเกอร์กันเป็นทุกคน

แล้วก็คงสงสัยว่าการเดิมพันในการเล่นสนุกเกอร์หนักเบาเท่าไร ก็จะมีสองประเภท เล่นกา หรือเดิมพันแต่ละเกม

ตรงนี้ถึงเล่าเกริ่นเสียยืดยาวย้อนยุค เพื่อจะได้ลองเปรียบเทียบค่าเงินของสมัยโน้นกับสมัยนี้ได้ ว่าเดิมพันห้าพันบาท มันจะประมาณค่าเพียงเท่าใดในสมัยโน้น หรือเขาเล่น ๕ กา ๒ จะเทียบเงินประมาณเท่าไรในพ.ศ.นี้

ถ้าเดิมพันเป็นเกม ร้อยหนึ่งก็มาตรฐานทั่วไป พอติดเครื่องก็ขึ้นเป็นสามร้อยห้าร้อย เดิมพันเริ่มพันหนึ่ง คนดูก็เต็มโต๊ะแล้ว หากเป็นระดับเซียนเดินสาย เดิมพันก็ขึ้นไปเรื่อยจนอาจถึงสามพันบาท แค่ถือหางวงนอกรวม ๆ กันอีกที เกมหนึ่งอาจถึงเจ็ดแปดพันบาท ก็ถือว่ามากเหมือนกัน การเล่นถือหางวงนอกก็ไม่ใช่แบบเล่นเช็งสมัยนี้ แต่จะต่อรองราคาเหมือนเล่นมวยหน้าเวทียังไงยังงั้น ต่อสองหนึ่งหรือสามสองหรือห้าสี่ หรือสามหนึ่ง หรือเสมอไหน เป็นระยะ ๆ ตามที่ทำแต้มได้มากหรือน้อย หรือนำหน้าคู่ต่อสู้เท่าใด

ส่วนประเภทสนุ้กกา เป็นหมายถึงตบลูกสีหนึ่งลูกก็ได้หนึ่งกา ที่เรียกกา ก็คือกากบาท ที่มาร์คเกอร์จะทำเครื่องหมายบนบอร์ดจดคะแนน ที่หน้าชื่อของนักสนุกเกอร์นั้น จบเกมก็หักลบกันใครเหลือกี่กา แล้วก็คำนวณเป็นเงิน ตามแต่ที่ตกลงเดิมพันกัน

สมัยโน้น หากเล่นห้ำหั่นเอาได้เสียกัน ก็ร้อยกาสามสิบ หรือสามร้อยกาห้าสิบ หมายถึงเดิมพันหนึ่งร้อยบาท กาละสามสิบบาท หรือเดิมพันสามร้อย กาละห้าสิบบาท ถ้าเล่นเอาสบาย ๆ ไม่เครียดมาก แบบสามกาหนึ่งก็เป็นเดิมพันมาตรฐาน ไม่หนัก ไม่ทำให้ถึงกับเป็นหนี้เป็นสิน เล่นกันได้ทุกวัน สามบาท กาหนึ่งบาทเล่นทั้งวันคนที่เสียก็อาจหมดถึงสองร้อยบาท

แต่ที่กำลังพอดิบพอดี ไม่มากไม่น้อย ทำให้ตื่นเต้น เลือดได้พอสูบฉีดหัวใจบ้าง ก็ต้องแบบเพลงสนุกเกอร์ของสุรพล สมบัติเจริญ ... ว่างงาน เราไปสังสรรค์กันสักหน่อย คนละร้อยสองร้อยเพื่อพักผ่อนสมอง เล่นลูกกลม ๆ ที่ผู้คนเขานิยมยกย่อง เล่นกันแบบพี่น้อง ห้ากาสองเป็นประจำ .......

 

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 420)