เวลคัมทีมชาติยุคบุกเบิก โอ ระยอง-ติ๊งต่าง ทีบีซี.

15 ก.พ. 60

หาก เวลาหมุนกลับไปสัก 30 ปี ทีมชาติสนุกเกอร์ไทยยุคนั้นจะมีแค่ไม่กี่คน

หากบิลเลียด จะมีแค่ วิเชียร แสงทอง (กิ๊ด นครสวรรค์) ตา ตันยุติธรรม (ตา ลพบุรี) นิพนธ์ ผมเงิน (โก๊ะ อยุธยา) ประสงค์ พลารักษ์ (กุ่ม ดาวคะนอง) และ เรวัต กั้นฝากลาง (ตึ๊ก โคราช)

ประเภทสนุกเกอร์ ยุคนั้นมี ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ชัย ลำพูน) ธงชัย ปุณยวีร์ (เป้า ศิษย์ฉ่อย) อุดร ไข่มุกค์ (ดร เมืองชล) และ วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย)

ประเภทพูล ประกอบด้วย อำนวยพร โชติพงษ์ (โอ ระยอง) ชัชวาลย์ รุตแพ (เสือ ทองราชา) สุรเทพ ภูแฉล้ม (ช้าง ป่าโมก) และ ขวัญ พุ่มแจ้ง (ขวัญ สระบุรี)

จากวันนั้นถึงวันนี้ 30 ปีเต็ม ที่ โอ ระยอง กลับมาติดทีมชาติพูลอีกครั้ง หลังจากคว้าแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2559 โดยสวมเสื้อทีมชาติครั้งสุดท้ายในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อปี 2008 หรือ 9 ปีก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เล่นทีมชาติทั้ง ซีเกมส์ และการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียและชิงแชมป์โลกมาโดยตลอด แต่เส้นทางของการเล่นพูลไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะ การเดินขาว หรือลูกคิวบอล หากไม่เนี้ยบจริงโอกาสชนะคู่แข่งขันลำบาก โดยปะทะกับแชมป์โลกทั้ง ฟิลิปปินส์และไต้หวัน 2 ชาตินี้ เดินขาวดีมาก แทงไม่แรงแต่อาศัย ลูกไซต์ ทำให้ขาวเดินไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้เราไม่ถนัดเพราะส่วนใหญ่ฝึกจากสนุกเกอร์ การตบแต่ละครั้งจึงต้องตบแรง ซึ่งแน่นอนกว่าการแทงลูกเบา

โอ ระยอง อดีตเคยได้เหรียญเงินจากการแข่งขันพูลซีเกมส์ถึง 3 สมัย แต่ยังไม่เคยสัมผัสกับเหรียญทองแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนกลับมาติดทีมชาติ โอ ระยอง เป็นอาจารย์สอนพูลให้เด็กรุ่นใหม่อยู่ย่านถนนสุขุมวิท ซึ่งมีการแข่งขันภายในเป็นประจำ และสามารถเอาชนะ ฝรั่ง ที่มาพักผ่อนในไทยจนกลายเป็น มือรับแขก เพราะหากชาวต่างชาติแวะมาเที่ยวกรุงเทพฯ โอ ระยอง จะเป็นมือรับแขกประจำ

ทางด้าน วุฒิพันธ์ คงคาเขตร หรือ ติ๊งต่าง ทีบีซี. เดิมทีนั้นเล่นสนุกเกอร์มาก่อน ซึ่งมีการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ที่จาการ์ต้า โดยช่วงนั้นจับคู่กับนักสนุกเกอร์สาวจากสระบุรี สันทินี ใจซื่อกุล (นัท สระบุรี) แต่หลังจากเกิดดาวรุ่งรุ่นใหม่ นิชา ปฐมเอกมงคล (จูน ร่มเกล้า) ทีมชาติวัย 13 ปี ติ๊งต่าง จึงต้องเปิดทางให้เด็กใหม่เล่นสนุกเกอร์และ ตัวเองหันมาเล่นพูลอย่างจริงจัง

ในช่วงเมื่อ 10 ปีก่อนต้องบอกว่า จูน ร่มเกล้า เป็นเด็กหญิงที่มาแรงในการเล่นสนุกเกอร์ และสามารถทำเหรียญเงินให้กับ ทีมไทย ในการแข่งขันซีเกมส์ โดยรอบชิงไปแพ้ฟิลิปปินส์เพราะไม่เข้าใจเรื่อง กฎ-กติกา โดยครั้งล่าสุดลงแข่งในซีเกมส์ที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2550 และจากนั้นก็เลิกราหันไปศึกษาจริงจัง ซึ่งปัจจุบันเพิ่งจบนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในวัยแค่ 21 ปีและกำลังต่อ เนติบัณฑิตเหมือนพี่ชาย

สำหรับ โอ ระยอง-ติ๊งต่าง ทีบีซี. ที่หวนกลับสู่ทีมชาติอีกครั้ง หากถามว่าโอกาสที่จะได้ เหรียญทอง มีมากน้อยแค่ไหนคงต้อง ฟันธง ได้เลย โอกาสแทบมองไม่เห็นเพราะในซีเกมส์ พูลไทยเป็นรองเกือบทุกชาติตั้งแต่ สิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ต่างเหนือชั้นกว่า แต่ถ้าถามว่าโอกาสจะได้เหรียญใดเหรียญหนึ่ง น่าจะมีโอกาส เพราะการเล่นพูล นอกจากจะมีฝีมือยังต้องอาศัยโชคช่วย ดังนั้นโอกาสที่จะหยิบเหรียญใดเหรียญหนึ่งก็มีเหมือนกัน โดยซีเกมส์หนนี้ มาเลเซีย จัดชิงแค่ 7 เหรียญทองเป็นสนุกเกอร์ เดี่ยว-คู่ 2 เหรียญ ซึ่งมี อิศ จันท์ และ แมน นครปฐม เป็นตัวแทน ส่วน บิลเลียดฯ ชิง 2 ทองจากเดี่ยว-คู่ โดยมี รมย์ สุรินทร์ กับ วัช หาดใหญ่ สำหรับพูลมีประเภทชาย 2 เหรียญจาก โอ ระยอง และ ธนัช มรรคมนตรี ส่วนประเภทหญิงชิง 1 ทองประเภทพูล 9 ลูก โดย ติ๊งต่าง ทีบีซี และ เพ็ญนิภา นาคจุ้ย ใครเป็นแฟนสอยคิวขอให้ตามเชียร์

19-31 ส.ค. รู้กัน ซีเกมส์ หน 29 ที่มาเลเซีย

คิวทอง

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 411)