"คิวทอง" เปิดตำนาน 7 แชมป์โลกไทย คนที่ 3 "ต่าย พิจิตร"

1 ม.ค. 57
"ต่าย พิจิตร" คว้าแชมป์โลกกลับจากปากีสถาน เมื่อปี 2536
"ต่าย พิจิตร" คว้าแชมป์โลกกลับจากปากีสถาน เมื่อปี 2536

ต่าย (ดาร์ลิ่ง) พิจิตร เป็นใครมาจากไหน น้อยคนจะรู้จัก จนกระทั่งโชว์ฟอร์มหรู ด้วยการคว้าแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2536 ชื่อของ ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวคิว และดังไปทั่วปฐพีเมื่อสามารถคว้าแชมป์โลกสมัครเล่นในการแข่งขันที่ประเทศปากีสถาน ซึ่งหนนั้นชื่อเสียงประเทศไทยระบือไปไกล เพราะไทยเข้าชิงกันเอง และคู่ชิงของ ต่าย พิจิตร ก็คือเจ้าของฉายา "ก้มเป็นลง" รมย์ สุรินทร์ ซึ่งผูกขาดเอาชนะ ต่าย มาตลอด เปรียบเสมือน "งูเหลือมกับเชือกกล้วย"

ในสมัยวัยว่าว ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์ หรือ ต่าย พิจิตร เป็นนักศึกษาน้องใหม่จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เป็นเพราะรักกีฬาสอยคิวแบบจับใจ ทำให้การศึกษากระท่อนกระแท่น จนไม่มีเวลาเรียน เพราะเอาเวลามา เล่นสนุกเกอร์ และประจำอยู่โต๊ะดาร์ลิ่งกับโต๊ะห้าดาว ย่านใกล้อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้การศึกษาต้องชะงัก ไม่ได้สวมเสื้อครุยรับปริญญาเหมือนเพื่อนๆ ที่จบไปเป็นทนายความ เป็นปลัดอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดก็หลายราย

ถึงแม้จะสลัดเครื่องแบบนักศึกษาในช่วงวัยหนุ่ม แต่วัย 50 ต่าย พิจิตร ยังใฝ่การเรียนโดยสมัครเข้าเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (อาร์แบค) ของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเวช รัตนเพียร ที่ให้การสนับสนุนแวดวงกีฬา โดยเปิดรับนักกีฬาทุกประเภทเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้ อาร์แบค กลายเป็นมหาวิทยาลัยกีฬา ซึ่งมีนักกีฬากว่า 10 ประเภทเข้าศึกษามากมาย โดยเฉพาะ กีฬาสนุกเกอร์ เข้าเรียนที่นี่มากที่สุดกว่าทุกชนิดกีฬา และหลายคนรับปริญญาเรียบร้อย อาทิ กอบกิจ พลาจิณ (ชิม ศิษย์ต่าย) สุพจน์ แสนหล้า (แจ๊ค เชียงใหม่) ปรมินทร์ ด่านจิรกุล (นุ้ก นครสวรรค์) นิธิวรรธก์ กาญจนศรี (นัท แปดริ้ว) ชินกฤต เยาว์วรรณศิริ (ตุ่ย บางบอน) และนักสอยคิวทีมชาติสาว สันทินี ใจซื่อกุล (นัท สระบุรี) ส่วนที่กำลังศึกษาและเข้าแถวรอรับปริญญา สำหรับนักสอยคิวยังมีอีกหลายคน อาทิ ต่าย พิจิตร-เทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) นพดล แสงนิล (แซ็ค โซโฟน) สุริยา สุวรรณสิงห์ (หรั่ง พัทยา) พร้อม 2 นักสนุกเกอร์สาว อมรรัตน์ อ่วมด้วง (แอม ร้อยครู) และ สิรภัทร ชิดชมนาถ (ไอซ์ ทีบีซี)

สาเหตุที่ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต เปิดกว้างรับนักสอยคิวชนิดไม่อั้น ผลพวงมาจาก ดร.ประเวช รัตนเพียร มีความผูกพันกับ ศักดา รัตนสุบรรณ (คิวทอง) ตั้งแต่สมัยที่ ดร.ประเวช เป็นเลขาธิการสมาคมวอลเลย์บอล และคุมนักกีฬาไปแข่งซีเกมส์-เอเชี่ยนเกมส์ จึงเจอหน้ากันบ่อยครั้ง อีกทั้ง คิวทอง ยังให้การเคารพนับถือ อาจารย์ประชุม รัตนเพียร ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลเมื่อปี 2516 โดยก่อนหน้านั้น บรรดาผู้ปกครอง พยายามห้ามปรามลูกหลาน ห้ามเหยียบเข้าโต๊ะบิลเลียดอย่างเด็ดขาด โดยถือว่าเป็นแหล่งมั่วสุม ใครเข้าไปสัมผัสจะเสียคน เพราะคนที่เข้าโต๊ะสนุ้กฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเกเร จนทำให้ภาพพจน์ของสนุกเกอร์ในช่วงนั้นตกต่ำ และถูกเหยียดหยาม เป็นกีฬาของ พวกกุ๊ย ซึ่งผิดกับคนที่เล่นกอล์ฟ มักจะถูกยกย่องเป็นเกมผู้ดี จนมีคำเปรียบเทียบ คนถือคิวคือกุ๊ย คนถือไม้กอล์ฟคือผู้ดี ซึ่งในยุค 50 ปีก่อน ต้องยอมรับสภาพ โต๊ะบิลเลียดฯ ช่วงนั้นเป็นเหมือนกับที่เขาว่าจริงๆ คนที่เข้าสู่โต๊ะสนุ้กฯ ส่วนใหญ่ร้อยพ่อพันแม่ และที่สำคัญ ด้อยการศึกษา พวกที่เข้าโต๊ะบิลเลียดฯ จึงจัดอยู่ในประเภทเหลือขอ เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ปกครอง จึงห้ามขาดลูกหลานเข้าไปในสถานที่ ที่ว่า แต่เมื่อสนุกเกอร์จัดเข้าสู่ประเภทกีฬา เป็นกีฬาที่เชิดหน้าชูตาให้ชาวไทย ถึงขนาด ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยก้าวถึงขีดสูงสุดเป็นมืออันดับ 3 โลก เมื่อ 25 ปีก่อน ทำให้ ผู้ปกครอง ต่างยินยอมให้ลูกหลานเข้าโต๊ะสนุกเกอร์ และทุกคนอยากเป็นเหมือน ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เพราะนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ยังทำเงินให้ครอบครัวอย่างมหาศาล ส่วนพวกที่ไม่ค่อยจะได้รับการศึกษา ก็เริ่มมองเห็นความสำคัญ โดยผันตัวเองเป็นนักศึกษามากมายหลายสิบคน

สิ่งที่ชาวสอยคิวภูมิใจอย่างยิ่ง ไม่ถูกค่อนแคะว่าสนุกเกอร์เป็นเกมพวกกุ๊ยก็คือ อรรถสิทธิ์ มหิทธิ (บิ๊ก สระบุรี) แชมป์สมัครเล่นโลกคนที่ 5 เมื่อปี 2550 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แถมจบ ปริญญาโท และมีทีท่าจะต่อ ปริญญาเอก เพื่อเป็นเกียรติแก่ วงศ์ตระกูล และเมื่อนั้นชาวสอยคิวก็จะปลื้มอกปลื้มใจที่เรามี ด็อกเตอร์สอยคิว ลบคำ ปรามาส ที่ว่า บิลเลียดคือเกมของ พวกกุ๊ย โดยปริยาย

เข้าขอบคุณรัฐมนตรีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ก่อนไปเล่นอาชีพที่อังกฤษ
เข้าขอบคุณรัฐมนตรีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ก่อนไปเล่นอาชีพที่อังกฤษ

ต่าย พิจิตร มีโอกาสได้เล่นกับนักสนุกเกอร์ระดับโลกในรายการ ไทยแลนด์แรงค์กิ้ง ซึ่งเป็นการสะสมคะแนนของมืออาชีพ โดย ต่าย ถูกส่งในนามของมือไวลด์การ์ด และคู่ต่อสู้คือ นักสนุกเกอร์สาวจากเมืองผู้ดี แอลลิสัน ฟิชเชอร์ ซึ่งว่ากันว่าฝีมือไม่แพ้ผู้ชาย และสามารถเอาชนะมืออันดับโลกมาแล้วหลายคน และรายการนี้ ต่าย พิจิตร เสียท่าพ่ายแพ้ ฟิชเชอร์ ในเฟรมสุดท้ายไปแบบเฉียดฉิว 5-4 เฟรม ในขณะที่เพื่อนอีกคน สุริยา สุวรรณสิงห์ เอาชนะ มาเรีย คอร์ ไปอย่างสะดวกโยธิน

และในปี 2536 ต่าย พิจิตร ก็โด่งดังสุดๆ เมื่อสามารถคว้าแชมป์สมัครเล่นโลก ในการแข่งขันที่ประเทศ ปากีสถาน โดยการชิงชัยหนนี้ ไทย ถูกกล่าวขวัญมากที่สุด เพราะส่งนักกีฬา 2 คน สามารถเข้าไปชิงกันเอง โดยอีกคนคืออดีตแชมป์เอเชียเจ้าของฉายา "ก้มเป็นลง" รมย์ สุรินทร์ หรือชื่อจริงตามบัตรประชาชนคือ ประพฤติ ชัยธนสกุล หลังจากได้แชมป์โลก ต่าย พิจิตร ก็ถูกส่งเข้าแข่งขันในฐานะมือ ไวลด์การ์ด ในการแข่งขันสนุกเกอร์สะสมคะแนนโลก ไทยแลนด์ โอเพ่น ซึ่งยุคนั้นประเทศไทยได้รับเกียรติให้จัดแรงค์กิ้งโลกถึง 2 รายการในปีเดียวกัน โดยในรอบก่อน 32 คน ต่าย พิจิตร ถูกจับให้แข่งขันกับมืออาชีพจากอังกฤษ โคลิน มอร์ตัน และนักสอยคิว "ดาวรุ่ง" ก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง โดยเอาชนะคู่ต่อสู้ไปอย่างงดงาม เข้าไปเจอกับแชมป์โลกหลายสมัยชาวสก๊อตแลนด์ สตีเฟ่น เฮนดรี้ ในรอบ 32 คน ซึ่งหนนั้น ต่าย พิจิตร บอกว่า ยังจดจำภาพการแข่งขันจนถึงบัดนี้ เพราะหนนั้นเอาชนะแชมป์โลก เฮนดรี้ ไปอย่างท่วมท้น 5-2 เฟรม หากจะบอกว่าฟลุ๊คก็พูดไม่เต็มปาก เพราะสกอร์ที่ออกมา ต่าย ชนะแบบขาดลอย ส่งผลให้ชื่อ ไตรรัตนประดิษฐ์ ฝังหูฝังใจแฟนสอยคิวในอังกฤษจนอยากเห็นตัวจริง

ในปี 2537 ต่าย พิจิตร ได้สิทธิ์เล่นอาชีพ ในฐานะแชมป์สมัครเล่นโลก โดยเดินทางไปพร้อมๆ นักกีฬาไทยหลายคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเล่นอาชีพ โดยมีเพื่อนร่วมทีมทั้ง สุริยา สุวรรณสิงห์-นกแล มหาสิน-หนู ดาวดึงส์ โดยยุคนั้น นักกีฬา ที่จะเข้าเล่นอาชีพ ไม่จำเป็นต้องมีดีกรีเป็นแชมป์เอเชียหรือแชมป์โลก ใครมีค่าสมัคร มีค่าเดินทาง ก็สามารถลงแข่งอาชีพ ซึ่งผิดกับยุคหลังๆ หากไม่ได้แชมป์เอเชียหรือโลกไม่มีสิทธิ์เทิร์นโปร

บรรยายการแข่งขันสนุกเกอร์ร่วม ศุภพร มาพึ่งพงศ์ และศักดา รัตนสุบรรณ
บรรยายการแข่งขันสนุกเกอร์ร่วม ศุภพร มาพึ่งพงศ์ และศักดา รัตนสุบรรณ

ต่าย พิจิตร ใช้เวลาการเล่นอาชีพที่ประเทศอังกฤษนาน 5 ปี โดยผลงานที่ทำได้ดีที่สุดและเป็นนักกีฬาไทยคนที่ 2 ที่สามารถเข้าสนามเมกกะสอยคิว ครูซิเบิลเธียเตอร์ ต่อจาก ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ในปี 2538 โดยเข้าสู่รอบ 32 คน เจอกับ วิลลี่ ธอร์น ซึ่งช่วงนั้นคนไทยต่างเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดสดทางทีวี. และได้รับการตอบรับจาก ช่อง 9 อสมท. ถ่ายทอดสดให้ชมทั่วประเทศ โดยมี คิวทอง เป็นผู้บรรยายเกมแข่งขันร่วมกับ ศุภพร มาพึ่งพงศ์ ก่อนที่ ต่าย พิจิตร จะสู้กับ วิลลี่ ธอร์น แบบสูสี แต่ช่วงท้ายปลายแผ่ว เสียท่าให้จอมเก๋าหัวเหน่ง 10-6 เฟรมท่ามกลางความเสียดายของใครต่อใคร

หลังกลับจากอังกฤษเมื่อปี 2542 ต่าย พิจิตร ก็ติดทีมชาติไปแข่งขันทั้งชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์โลกก่อนผันตัวเองเป็น ผู้ฝึกสอน โดยได้รับการสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ลงนามว่าจ้างผู้ชำนาญการกีฬาบิลเลียด โดยตั้งเงินเดือน 30,000 บาท ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ต่าย พิจิตร ก็ยังกินเงินเดือน กกท. ในฐานะผู้ฝึกสอน เพราะก่อนจะเลิกเล่นอาชีพ ต่าย พิจิตร เข้าสอบโค้ชจากประธานผู้ฝึกสอน เทอร์รี่ กริฟฟิธ จนได้รับประกาศนียบัตร สามารถอบรมและเป็นผู้ฝึกสอนได้ทั่วโลก

ดังนั้นทุกวันนี้ ต่าย พิจิตร จึงยังทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการปั้นดินสู่ดาว เป็นโครงการของ กกท. ที่อยากเห็นเด็กใหม่ขึ้นมาทดแทนตัวเก่า ที่กำลังใกล้หมดสภาพ โดยอนุมัติงบประมาณให้สมาคมสอยคิวได้เรียกเด็กดาวรุ่งเข้าสู่ศูนย์ฝึก ซึ่งจัดทำประจำทุกปี โดยจะเริ่มเปิดศูนย์ในช่วงต้นปี และสามารถสร้างเด็กฝีมือเจ๋งเข้าไปสู้ศึกระดับโลกหลายคน อาทิ ธีรวัฒน์ ถิรพงษ์ไพบูลย์ (แมน นครปฐม) เทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) นพพล แสงคำ (หมู ปากน้ำ) รัชโยธิน โยธารักษ์ (เช็ค นครนายก) โดยเด็กเหล่านี้ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์ฝึกการกีฬาทั้งสิ้น

ปัจจุบัน ต่าย พิจิตร ในวัย 50 ปี นอกจากเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาสนุกเกอร์ของ กกท. ยังเปิดกิจการโต๊ะสนุกเกอร์เป็นของตัวเอง อยู่ที่ซอยเสือใหญ่ ถนนรัชดา มีลูกศิษย์ลูกหามารับการฝึกมากมาย โดยเฉพาะ เสาร์-อาทิตย์ มีนักเรียนเข้ารับการฝึกหลายคน โดยมีผู้ปกครองมานั่งคอยดูแล ซึ่งผิดกับยุคก่อนที่ ผู้ปกครอง ต่างกีดกัน ไม่ยอมให้ลูกหลานเฉียดใกล้โต๊ะสนุ้กฯ

สำหรับเรื่องราวของ แชมป์โลกคนที่ 3 ฉบับนี้เนื้อที่หมดแล้วไว้รอพบแชมป์โลกคนที่ 4 ศักดิ์ชัย ซิมงาม นักสอยคิวสมถะที่คว้าแชมป์โลกในวัยสูงอายุ จนได้ฉายา เฒ่า สารพัดพิษ ที่เด็กรุ่นหลังยากที่จะผ่านนักสนุกเกอร์รายนี้ไปได้

คิวทอง

 

 ปล. ติดตามชมคลิปสอนสนุกเกอร์ของ "โค้ชต่าย" ได้ที่นี่ http://www.cuethong.com/teaching.php