"คิวทอง" เปิดตำนาน 7 แชมป์โลกไทย คนที่ 5 "บิ๊ก สระบุรี"

5 มี.ค. 57

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวก็ถึงคิวแชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลกคนที่ 5 อรรถสิทธิ์ มหิทธิ(บิ๊ก สระบุรี) ซึ่งถือเป็นแชมป์โลกคนเดียว ที่ไม่ได้เป็น แชมป์ประเทศไทย และ แชมป์เอเชีย แต่เป็นนักสอยคิวรายเดียว ที่มีปริญญาโทติดตัว เป็นการชดเชยที่ขาด 2 แชมป์ดังที่กล่าว เพราะการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (อาร์แบค) ย่อมเป็นการันตีให้ชาวคิวที่เคยถูกคำครหาว่า สนุกเกอร์ คือกีฬาของพวกกุ๊ยไม่มีการศึกษา แต่บัดนี้นักสนุกเกอร์สามารถคว้าปริญญาติดตัวกว่า 10 คน และผู้ที่เรียนสูงที่สุดคือ บิ๊ก สระบุรี โดยวางแผนต่อ ปริญญาเอก เพื่อมีดีกรี ด็อกเตอร์นำหน้าชื่อ ถือเป็นเกียรติของวงการสอยคิวที่มี นักสนุกเกอร์ เป็นด็อกเตอร์คนแรกของไทย ส่วนนักสอยคิวที่จบปริญญตรีมีหลายคน อาทิ ปรมินทร์ ด่านจิรกุล (นุ๊ก นครสวรรค์) ชินกฤต เยาว์วรรณศิริ (ตุ่ย บางบอน) สุพจน์ แสนหล้า (แจ๊ค เชียงใหม่) สันทินี ใจซื่อกุล (นัท สระบุรี) กอบกิจ พลาจิณ (ชิม ศิษย์ต่าย) โดยมีนักสนุกเกอร์ที่ต่อคิวเพื่อรับปริญญาที่จะจบในปีหน้าและปีถัดไปคือ ต่าย พิจิตร-แซก โซโฟน-สุริยา สุวรรณสิงห์-ไอซ์ ทีบีซี-แอม ร้อยครู ซึ่งทุกคนเข้าเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (อาร์แบค) โดยมี “ดร.เล็ก” ประเวช รัตนเพียร บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความผูกพันกับ ศักดา รัตนสุบรรณ หรือ คิวทอง ให้การต้อนรับนักสอยคิวทุกคน ให้เรียนฟรีจนจบการศึกษา

ย้อนอดีตเมื่อ 36 ปีที่จังหวัดสระบุรี พ่อประจิตร และ แม่ลัดดา มหิทธิ ให้กำเนิดเด็กชายจ้ำม่ำ จึงถูกตั้งนิคเนมชื่อเล่นว่า บิ๊ก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521 โดยชอบการเล่นสนุกเกอร์ตั้งแต่วัยแค่ 10 ขวบ เนื่องจาก พ่อประจิตร อดีตเหยี่ยวข่าวภูธรหนังสือพิมพ์ “ยักษ์ใหญ่” ไทยรัฐ เปิดโต๊ะสนุกเกอร์ภายในจังหวัด จึงจับ เจ้าบิ๊ก หัดแทงในขณะที่หัวเพิ่งจะพ้นขอบโต๊ะ และจากความจำเจอยู่กับโต๊ะทุกวัน ทำให้ฝีมือ บิ๊ก พัฒนาดีขึ้นผิดหูผิดตา จนกระทั่งจบ ม.6 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมการคัดเลือก เยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฏติดอันดับ 2 ประเทศไทย โดยอันดับ 1 เป็นของ นพดล แสงนิล หรือ แซก โซโฟน อดีตนักสอยคิว “ทุนพระราชทาน” ซึ่งในเวลาต่อมา ทั้งคู่ก็ถูกส่งไปแข่งขันสนุกเกอร์เยาวชนชิงแชมป์โลกที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมี คุณสุนทร จารุมนต์ หรือ ฮง โฮคิชเช่น เป็นผู้จัดการทีมเมื่อปี 2539 จากการแข่งขันนัดนี้ อรรถสิทธิ์ มหิทธิ สร้างผลงานยอดเยี่ยมโดยได้อันดับ 3 กลับมา จากนั้นชื่อของ บิ๊ก สระบุรี ซึ่ง “คิวทอง” เป็นผู้ขนานนามให้ก็เป็นที่รู้จักของ ชาวคิว และเป็นตัวแทนนักสนุกเกอร์ไทย ไปแข่งขันระดับเอเชียและสมัครเล่นโลกต่อเนื่องหลายปี แต่น่าเสียดายที่การแข่งขันระดับเอเชีย บิ๊ก สระบุรี ยังไม่เคยสัมผัสแชมป์ฯ

และในปี 2543 เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตการเล่นสนุกเกอร์ของ บิ๊ก สระบุรี เพราะช่วงนั้นมีคนกีฬาชื่อ ถิรชัย วุฒิธรรม ซึ่งได้รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครในยุค พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการ และเป็นช่วงที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เริ่มจะตก ดังนั้น “บิ๊กแป๊ะ” คนชอบสนุกเกอร์เป็นชีวิตจิตใจ จึงได้รวมทุนจากเพื่อนๆ เพื่อสร้างเป็นกองทุน “รวมใจเพื่อน” มอบหมายให้ ศักดา รัตนสุบรรณ หรือ “คิวทอง” เป็นผู้คัดเลือกนักกีฬา เพื่อส่งไปเล่นอาชีพที่ประเทศอังกฤษ โดยในยุคนั้นไม่มีกฎ-กติกา ใครมีค่าสมัครก็สามารถไปเล่นอาชีพได้ ซึ่งผิดกับปัจจุบัน หากใครไม่ได้แชมป์เยาวชนเอเชีย-แชมป์เยาวชนโลก-แชมป์เอเชีย หรือ แชมป์สมัครเล่นโลก ไม่มีสิทธิ์ไปเล่นอาชีพ แม้จะมีเงินร้อยล้านพันล้านก็ตาม

ในปี 2543 หลังจากมีกองทุน “รวมใจเพื่อน” ได้มีการคัดเลือกนักกีฬา โดยกองทุนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้เล่นอาชีพหลายคน ประกอบด้วย บิ๊ก สระบุรี-ขวัญ สระบุรี และ แจ๊ก มีนบุรี ส่วนรายอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันที่ไปเล่นอาชีพที่อังกฤษ แต่ละคนก็มีคนสนับสนุน อาทิ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย-หนู ดาวดึงส์ และ ตัวเล็ก สำโรง การไปเล่นอาชีพในช่วงนั้นยังไม่มี นักกีฬาจีน ดังนั้นนักสนุกเกอร์เอเชียที่ไปจากเมืองไทย จึงถูกจับตามากที่สุด แต่การเล่นอาชีพไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ ต่างชาติ โดยเฉพาะพวกยุโรป ทั้ง อังกฤษ-สก๊อตแลนด์-เวลส์-ออสเตรเลีย ต้องยอมรับว่าฝีมือเหนือกว่า คนไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ บิ๊ก-หนู-ตัวเล็ก และ ขวัญ ไม่ประสบความสำเร็จทั้งที่เล่นอาชีพคนละไม่น้อยกว่า 5 ปี จนในที่สุดเกิดการตั้งกติกาใหม่ โดยสมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลก ได้กำหนดให้มืออาชีพที่ติดอันดับ 128 คน จึงมีสิทธิ์เล่น หากใครไม่ติดอันดับก็หมดสิทธิ์ และหากจะกลับมาเล่นอาชีพก็ต้องมีดีกรีอย่างที่บอกไว้แต่แรกคือ แชมป์เยาวชนเอเชีย-แชมป์เยาวชนโลก-แชมป์เอเชีย หรือ แชมป์สมัครเล่นโลก รวมถึงแชมป์ยุโรปและแชมป์อังกฤษ จึงจะได้สิทธิ์โดยอัตโนมัติ

เมื่อเกิดกติกาข้อนี้ขึ้นมา บิ๊ก สระบุรี และเพื่อนๆ อีกหลายคน จำต้องกลับเมืองไทยเมื่อปี 2549 คงเหลือตัวยืนเพียง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งต่อมามี นักกีฬาไทย ได้ร่วมแข่งขันตามมาอีกหลายคน เพราะได้แชมป์เอเชียและแชมป์สมัครเล่นโลกโดย บิ๊ก ได้กลับสู่อาชีพอีกครั้งในปี 2550 จากการได้แชมป์สมัครเล่นโลกในการแข่งขันที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเข้าชิงกับ ภาสกร สุวรรณวัฒน์ (กร นครปฐม) ซึ่งสร้างความฮือฮาแก่ชาวโลก เพราะ นักสอยคิว ร่วมร้อยคน แต่ลงท้ายมีแค่ 2 คนไทยเข้าชิง ซึ่งผลการแข่งขันก่อนหน้านั้น บิ๊ก เป็นรอง กร เนื่องจากช่วงนั้นฟอร์ม กร นครปฐม ร้อนแรงมาก ปราบมือดีๆ ชาวต่างชาติมาหลายราย ทุกคนจึงคาดกันว่า กร จะครองแชมป์โลก แต่การแข่งขันกลับตาลปัตร เพราะ บิ๊ก ออกคิวในนัดชิงได้อย่างยอดเยี่ยม และลงท้ายคว้าแชมป์โลก ชนะ กร งดงาม 11-7 เฟรม ซึ่งการกลับสู่อังกฤษครั้งล่าสุดไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ เด็กจีน กำลังมาแรงโดยเฉพาะ ดิง จุนฮุย, เหลียง เวงโบ, เทียน เป็งเฟย กำลังมาแรงจัด และแซงหน้าไทยไปไกล แต่ถึงอย่างไร บิ๊ก สระบุรี ก็สามารถทำอันดับโลกได้ดีที่สุดในลำดับที่ 58

หลังกลับจากอังกฤษ บิ๊ก สระบุรี ยังคงแข่งขันในรายการ ไทยแลนด์แรงกิ้ง ซึ่งสมาคมกีฬาบิลเลียดฯ จัดขึ้นตลอดปี โดยไปแข่งขันต่างจังหวัด ปีละ 7 รายการ ซึ่งรางวัลชนะเลิศถือว่าไม่น้อย เพราะใครได้แชมป์รับ 100,000 บาท โดยเมื่อ 2 ปีก่อน บิ๊ก สระบุรี กวาดรางวัลคนเดียวกว่า 300,000 บาท เพราะได้ 2 แชมป์ฯ ที่เกาะสมุย ชนะ หมู ปากน้ำ 5-0 แชมป์ที่ 2 ชนะ แจ๊ค เชียงใหม่ ที่จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังเข้าชิงอีก 1 รายการแต่มาพลาดให้ อิศรา กะไชยวงศ์ หรือ อิศ จันท์ แถมยังเข้ารอบ 8 คนอีก 2 รายการ จึงถือว่าเป็นปีทองของ บิ๊ก สระบุรี

สำหรับ ไทยแลนด์แรงกิ้ง ในปีที่ผ่านมา บิ๊ก ไม่มีโอกาสคว้าแชมป์ฯ แม้แต่รายการเดียว เนื่องจากไม่มีเวลาฝึกซ้อม เพราะหันไปเอาดีทางเป็น ผู้บรรยายสนุกเกอร์ ทางทรู วิชั่นส์ และยังเป็นผู้นำสินค้าอาหารเสริมจากต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ซึ่งกิจการหลังนี้มีแนวโน้มจะไปได้ดี

อรรถสิทธิ์ มหิทธิ หรือ บิ๊ก สระบุรี เป็นนักสอยคิวรายที่ 2 ที่ได้ถ้วยพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจาก ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่เคยได้เมื่อปี 2532 และ 2536 โดยได้รับการคัดเลือกเป็น นักกีฬายอดเยี่ยมของ สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ในปี 2551 ซึ่งในปีนั้น บิ๊ก สระบุรี ได้ครองตำแหน่งนักกีฬายอดเยี่ยมถึง 3 องค์กรคือ นักกีฬาดีเด่นของ การกีฬาแห่งประเทศไทย - นักกีฬายอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ และนักกีฬายอดเยี่ยมสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาฯ ซึ่งรายการหลังถือว่าสำคัญสุด เพราะแชมป์สมัครเล่นยอดเยี่ยมได้ ถ้วยพระราชทาน

ปัจจุบัน อรรถสิทธิ์ มหิทธิ ยังครองความเป็นโสดทั้งที่วัยเข้าสู่ปีที่ 36 ยังไม่มีคนถูกใจ เล่นเอา พ่อประจิตรและแม่ลัดดา ต่างรอเวลาจะอุ้มหลาน แต่ เจ้าบิ๊ก ก็ยังไม่ยอมมีเมีย ส่วนอนาคตการเล่นทีมชาติคงต้องยุติ เพราะอายุมากขึ้น ฝีมือก็เริ่มหดหาย ยิ่งไม่มีเวลาซ้อม จึงคิดว่าจะสู้เด็กๆ ไม่ได้ แต่ก็ยังมีไฟ และประกาศเตือนน้องๆ หากใครคิดว่า พี่บิ๊กแก่  หวังเป็นบันไดป่ายปีน ต้องบอกซะก่อนว่าจะเสียใจ เพราะจากการได้เป็นผู้บรรยายเกมการแข่งขันระดับโลก ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะ ช็อตเด็ด ที่คนไทยไม่เคยเห็น ก็ได้เห็นในการแข่งขันระดับโลก เพราะการได้เป็นผู้บรรยายเกมสนุกเกอร์ ทำให้ตัวเองเกิดความมั่นใจในการแข่งขัน ไทยแลนด์แรงกิ้ง ถึงแม้จะซ้อมน้อย แต่เมื่อเจอลูกคับขันในเกม ก็จะหาทางแก้ไขได้ เพราะได้ชมมืออาชีพเล่นให้ดูหลายครั้ง

สำหรับฉบับหน้าประจำเดือนสงกรานต์ เมษายน พบกับแชมป์โลกคนที่ 6 เทพไชยา อุ่นหนู เจ้าของฉายา “เจ้านกกระยาง” เอฟ นครนายก อดีตแชมป์นักเรียนคนแรกของไทย ซึ่งขณะนี้กำลังอาละวาดในการเล่นอาชีพอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งการแข่งขันจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2557 ซึ่งคาดกันว่า เอฟ นครนายก น่าจะติดอันดับต่ำ 64 เพื่อได้สิทธิ์เล่นอาชีพในฤดูกาลต่อไป ส่วน ต๋อง ศิษย์ฉ่อย และ แมน นครปฐม คงต้องกลับมาเล่นในไทย และเริ่ม นับหนึ่งใหม่ สวัสดี