ตำนานสนุกเกอร์ (2)

9 ก.ค. 57

กลาง ปี 2529 นายกสมาคมสนุกเกอร์ฯ มร.มอริส เคอร์ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากอังกฤษ หลังจากตามเชียร์ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย และ หนู ดาวดึงส์ ไปชิงแชมป์สมัครเล่นโลก โดย 2 นักกีฬาตกรอบ 16 คนกลับมาทั้งคู่ ซึ่งหลังจากนั้น มอริส เคอร์ สภาพร่างกายในวัยเฉียด 70 ปีย่ำแย่ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลไม่เว้นแต่ละเดือน โดยครั้งหลังสุดออกจากโรงพยาบาลได้เรียกประชุม คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ โดยมีเจตนาจะมอบหมายหน้าที่นายกสมาคมฯ ให้ นายสินธุ พูนศิริวงศ์ ซึ่งคณะกรรมการไม่มีใครขัดข้อง แต่ยังไม่แน่ว่า นายสินธุ จะรับปากเข้ามาบริหารสมาคมฯ เพราะเพิ่งเดินทางกลับจากอังกฤษและมีงานประจำคือ เป็นสถาปนิก มีงานใหญ่ที่ต้องออกแบบก่อสร้างสถานที่สำคัญ อาทิ ออกแบบก่อสร้างเมืองทองธานี ออกแบบสร้างทางด่วนและอีกหลายโครงการซึ่งถือเป็นงานระดับชาติทั้งสิ้น

หลังจาก นายสินธุ พูนศิริวงศ์ ยอมรับไม้ต่อจาก มอริส จึงขอให้นายศักดา รัตนสุบรรณ ซึ่งยุคนั้นเป็น ประชาสัมพันธ์สมาคมฯ เนื่องจากเป็น หัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" ช่วยสนับสนุนและช่วยงานของสมาคมฯ โดยนายศักดา ยินดีร่วมงานและให้การสนับสนุน นายกฯ คนใหม่ และหลังจากตกปากรับคำยังไม่ได้ทำหน้าที่นายกฯ มร.มอริส เคอร์ ก็ลาลับกลับบ้านเก่าก่อนสิ้นปี 2530

หลังจากนั่งตำแหน่งนายกสมาคมฯ สินธุ พูนศิริวงศ์ ก็เริ่มเข้าสู่สมาคมกีฬาโดยเข้าพบหาผู้บริหารองค์กรระดับชาติคือ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย โดยนายศักดานำพาเข้าพบ พ.ท.จารึก อารีราชการัณย์ (ยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเลขาฯ โดยมี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธานโอลิมปิก และมี พ.อ.อนุ รมยานนท์ เป็นเลขาธิการ และอีกคนคือ สันติภาพ เตชะวณิชย์ เป็นเหรัญญิกฯ โดยมี ดร.ณัฐ อินทรปาณ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ

จากนั้นก็เข้าพบผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกีฬา นายไพบูลย์ วัชรพรรณ ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็น การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ในยุคปัจจุบัน เพื่อนำสนุกเกอร์เข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ หลังจากได้เข้าแข่งขันในซีเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นหนแรกเมื่อปี 2530 โดยการผลักดันของ พ.อ.อนุ รมยานนท์ และ พ.ท.จารึก อารีราชการัณย์ ที่เสนอเข้าไปแข่งซีเกมส์สำเร็จ

แต่การจะเข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติมีขั้นตอนยุ่งยากพอสมควร เพราะจะต้องมีการ "สาธิต" ก่อนบรรจุชนิดกีฬาเข้าแข่งขัน ดังนั้นสมาคมฯ จึงต้องจัด นักกีฬา เข้าสาธิตในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ซึ่งช่วงนั้นกำลังมาแรงดูแลกีฬาของชาติ และคุมทหารทั่วประเทศ หลังจากนั้นเป็นต้นมา สนุกเกอร์ ก็ได้เข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติในปีถัดมา 2532 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการเพิ่มสนุกเกอร์ 6 แดงเข้ามาแข่งขัน รวมถึงประเภทบิลเลียดฯ และอนาคตจะมี พูล 9 ลูก ในกีฬาแห่งชาติ

ส่วนในด้านต่างประเทศหลังจาก มอริส เคอร์ เสียชีวิตในปี 2530 ตำแหน่งประธานสหพันธ์สนุกเกอร์เอเชีย ซึ่งไทยเป็นผู้ก่อตั้งจะล้มตามประธานฯไม่ได้ บอร์ดบริหารสหพันธ์ฯ จึงแต่งตั้ง นายโอภาส เลิศพฤกษ์ อุปนายกฯ รักษาการตำแหน่งประธานเอเชียชั่วคราว หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้ง ประธานสหพันธ์เอเชีย อย่างเป็นทางการ ซึ่งปรากฏว่า สินธุ พูนศิริวงศ์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกให้นั่งตำแหน่งประธานฯ สืบแทน มอริส เคอร์

สำหรับทางด้านการแข่งขันระดับเอเชียและระดับโลก นายธนิต ตันติเมธ เจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่น ประตูน้ำ ที่ให้การสนับสนุนนักกีฬาแข่งต่างประเทศตั้งแต่ปี 2528 สมัย วิเชียร แสงทอง และ ตา ตันยุติธรรม ไปแข่งขันชิงแชมป์เอเชียหน 2 ที่ประเทศสิงคโปร์รวมทั้ง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ที่อายุไม่ถึง 15 ปี

ป๋าธนิต ตันติเมธ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการส่ง นักกีฬา ไปชิงแชมป์เอเชียและชิงแชมป์โลกต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่ 2528 จนถึง 2534 โดยส่ง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย-หนู ดาวดึงส์, เป้า ศิษย์ฉ่อย, รมย์ สุรินทร์, ดร เมืองชล, ต่าย พิจิตร, เสือ ทองราชา, ช้าง ป่าโมก ไปแข่งขันชิงแชมป์เอเชียและชิงแชมป์โลก ทั้ง บิลเลียด-สนุกเกอร์ และ พูล โดยเป็นหัวหน้าคณะนำทีมไปทุกครั้ง ซึ่งมี ศักดา รัตนสุบรรณ และ สุนทร จารุมนต์ ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะใน ซีเกมส์ ครั้งแรก ที่ประเทศอินโดนีเซีย 2530 สร้างความประทับใจให้นักกีฬาทุกคน เนื่องจาก ป๋าธนิต จองโรงแรมห้องสูทชั้น 1 วันละ 25,000 บาท เป็นศูนย์นักสนุกเกอร์และเป็นครัวนักกีฬาไทย เนื่องจากนักกีฬาหลายประเภททั้ง โบว์ลิ่ง-มวย-กอล์ฟ ต่างมาใช้บริการที่ห้องพักนักสนุกเกอร์ และใช้เป็นสถานที่จัดวันเกิดให้ ผู้จัดการทีมมวย คือ "เจ้าพ่อวงการนักเลง" แคล้ว ธนิกุล โดยมีนักกีฬาหลายประเภทมาร่วมอวยพรพร้อมกินอาหารอย่างสนุกสนาน

หลังจากปี 2535 สมาคมสนุกเกอร์ฯ เกรงใจ ธนิต ตันติเมธ ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเครื่องบินให้นักกีฬา จากนั้นมาสมาคมฯ จึงเป็นผู้ลงมาสนับสนุนในการส่ง นักกีฬา ไปแข่งขันต่างประเทศ ซึ่งในเวลาไม่นานก็ได้งบประมาณสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ส่วนงบประมาณจะได้มากน้อยแค่ไหนฉบับเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่วงการสอยคิวต่างอาลัยในการจากไปของ ป๋าธนิต ตันติเมธ ที่เสียชีวิตกะทันหันเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันเดียวกับนักร้องชื่อก้องโลก เอลวิส เพลสลีย์ และราชาลูกทุ่งสุรพล สมบัติเจริญ เสียชีวิตในวันเดียวกัน (พบกันฉบับหน้าครับ)

 

กูรูสอยคิว