ธนิต ตันติเมธ ...ผู้จากไป...

5 ส.ค. 57

 

ประเทศไทยหลังปี 2525 ลงไปนั้น วงการสนุกเกอร์ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก ส่วนใหญ่จะรู้จักกันแต่ว่ามันคือ "โรงบิลเลียด" อันเป็นสถานที่ของคนชั้นต่ำ คนที่กินเหล้าเมายาและเล่นการพนัน โรงบิลเลียดจึงถูกเรียกว่า "โรงยา" เป็นแหล่งมั่วสุมการพนัน

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะกฎหมายระบุว่า โรงบิลเลียดเป็นกีฬาประเภท ข. คือ หมายถึงเป็นกีฬาที่เป็นการพนันขันต่อ จะเล่นกันต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น

คนที่เล่นบิลเลียดเป็นอาชีพในสมัยนั้นก็มีไม่น้อย คนที่เอาเวลาของชีวิตอยู่กับบิลเลียดส่วนใหญ่ก็มีมาก คนพวกนี้ถูกเรียกว่า "เซียน" อย่างเช่น ตึ๊ก โคราช ซึ่งเก่งกาจขึ้นชื่ออยู่เมืองย่าโม "ชัย ลำพูน" ก็โด่งดังอยู่ทางภาคเหนือ เชียงใหม่-เชียงราย-ลำพูน "รินทร์ ระยอง" ก็เป็นหนึ่งอยู่ทางภาคตะวันออก ถิ่นของเขาคือ ระยอง ใครเข้าไปล้มคนนี้ได้ถือว่าเก่ง แต่เซียนที่ขึ้นชื่อประดับอยู่ทั่วยุทธจักรก็ต้องระดับ "เซียนฉ่อย" หรือไม่ก็ "เซียนกิ๊ด" และ เง็ก อ่างทอง ผู้ที่ล่องเรือจากอ่างทองมาขึ้นที่ท่าช้าง เพื่อเล่นบิลเลียด ไม่ได้มาซื้อผักซื้อสินค้าขึ้นไปขายที่บ้านตามที่เตี่ยสั่ง...

คนพวกนี้และรวมถึงพวกที่เกี่ยวข้องกับเขาจะถูกรังเกียจเหยียดหยามจากคนทั่วไปและสังคม เพราะพวกเขาถูกมองว่าเป็นนักพนัน... เป็นพวก... "ผีพนัน"

นั่นคือ...ยุคมืดของบิลเลียด สนุกเกอร์ที่ยังไม่มีสิทธิ์เรียกตัวเองว่าเป็น...กีฬา

ข่าวผ่านทางสื่อต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ จากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าในประเทศที่เป็นอารยธรรมแล้วนั้น เขาเล่น "สนุกเกอร์" กันเป็นหลัก และเรียกมันว่าเป็น "กีฬาสากล" โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษนั้นมันเป็น "กีฬาอาชีพ" เลยทีเดียว

ความแตกตื่นเกิดขึ้นที่เมืองไทยเมื่อ "ทีวีช่อง 7 สี" ได้นำเอา "ยอดฝีมืออาชีพสนุกเกอร์" ของประเทศอังกฤษมาทำการแข่งขันในเมืองไทย พร้อมกับถ่ายทอดสดการแข่งขันไปทั่วประเทศ คนไทยได้เห็นหน้าค่าตาของ "สตีฟ เดวิส" แล้วเรียกเขาว่า "พ่อเทพบุตรคิวทอง" เพราะมันแทงทุกลูกลงทุกลูก และด้วยความสามารถพิเศษพิศดารยิ่งรู้จัก "โทนี่ โนวส์" ว่านอกจากจะเก่งกาจนักในการแทงแล้วมันยังรูปหล่อเลยเรียกมันว่า "ไอ้รูปหล่อ" และรู้จักนักแทงจากอังกฤษอีกมากหน้าหลายตา

ความสนใจและการเข้าใจเล่น "สนุกเกอร์" ในหมู่คนไทยขยายกระจายขึ้นและฟุ้งไปอย่างรวดเร็ว เพราะในเมืองไทยนั้นมี "โต๊ะ..." ที่เล่นบิลเลียดกันอยู่ทุกจังหวัดอยู่แล้ว

เวลานั้นราวปี 2527

นายศักดา รัตนสุบรรณ เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวอยู่ที่ "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" เขาผู้นี้เป็นผู้นิยมการแทงบิลเลียดสนุกเกอร์อยู่ก่อน พอมีสมญาอยู่บ้างว่า "ศักดิ์ สุรวงศ์" ก็คงจะเล่นประจำแถวสุรวงศ์

แต่เขามีความคิดที่ก้าวไกลไปกว่าที่จะให้บิลเลียดและสนุกเกอร์อยู่ในโรงยาอย่างนั้น

เขาต้องการให้มันเป็น...กีฬาโดยแท้จริง

โดยเฉพาะ "สนุกเกอร์" เขาเห็นว่ามันควรจะเป็น "กีฬาสากล" เหมือนดังที่เขาเห็นภาพที่อังกฤษและในประเทศต่างๆ เห็นสนุกเกอร์ก้าวไกลไปถึงขั้นชิงแชมป์ระหว่างประเทศและชิงแชมป์โลกกันแล้ว

ศักดา รัตนสุบรรณ จึงตัดสินใจที่จะดำเนินการ "พลิกฟื้น"..."ฟื้นฟู" สนุกเกอร์ให้เป็น...กีฬาที่ผู้คนยอมรับ ต้องการที่จะให้มันเข้าสู่ "ระบบสากล" เหมือนกับกีฬาประเภทอื่นๆ ...

เขามองถึงทะลุไปด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง "กฎหมาย" เขาต้องการให้กฎหมายไทยตัดคำว่าบิลเลียด สนุกเกอร์ ออกจากกฎหมายการพนัน

ศักดาลงมือก่อตั้ง "สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย" ขึ้นมาใหม่ในทันที ด้วยการขอจดทะเบียนก่อตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่สันติบาลและการกีฬาแห่งประเทศไทย

จนในที่สุดทุกอย่างก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และจนในที่สุดทุกอย่างก็เป็นจริงขึ้นมา ประเทศไทยมี "สมาคมสนุกเกอร์ฯ" ที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ โดยมี "มอริส เคอร์" เป็นนายกสมาคมคนแรก

ในเวลานั้น "ผู้ที่มีสนุกเกอร์อยู่ในหัวใจ" อย่าง...นายแดง นานา อย่าง...นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นักเรียนนอกที่ไปศึกษาอยู่ที่อังกฤษเนิ่นนานหลายปี ได้รู้ได้เห็นสนุกเกอร์เมืองแม่เป็นอย่างดี ก็กระโดด "เข้าร่วมอุดมการณ์" กับ นายศักดา ด้วย และคนอื่นๆ อีกหลายต่อหลายท่าน

การดำเนินการรวมไปถึงความพยายามที่จะ "สร้าง...นักกีฬา" ขึ้นมาเป็น "ทีมชาติ" ด้วย เพื่อจะได้ส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับชาติและระดับโลกต่างๆ ที่นานาประเทศเขาทำกันอยู่

นั่นจึงเป็นที่มาของบรรดานักสนุกเกอร์รุ่นใหม่อย่าง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย...หนู ดาวดึงส์...เต่า หลังสวน และเลยไปถึงขบวนการส่งนักกีฬาเหล่านั้นไป "ฝึกวิทยายุทธ" ที่ประเทศอังกฤษเมืองแม่ของกีฬาประเภทนี้ ซึ่งจะต้องใช้คนใช้เงินทุนมากมาย กว่าจะได้ "เจมส์ วัฒนา" ขึ้นมาปรากฏอยู่บน...ทำเนียบนักสนุกเกอร์อาชีพโลก

ในขณะที่เมืองไทย ศักดา รัตนสุบรรณ ถูกขนานนามว่าเป็น...หมอผีผู้ปลุกชีพวงการสนุกเกอร์

ในเวลาเดียวกันนั้น...

ศักดา รัตนสุบรรณ ได้กระทำในอีกสิ่งหนึ่ง ในฐานะที่เขาเป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เขาคิดว่าเขาจะต้อง เปิดหนังสือที่เกี่ยวกับกีฬาสนุกเกอร์เป็นการเฉพาะขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง เพื่อช่วยสนับสนุนพยุงเผยแพร่กันไปในอีกทางหนึ่ง แต่ศักดาเป็นคนจน จะคิดจะทำอะไรมิอาจทำได้ในทันที เพราะการจะเปิดหนังสือขึ้นมาสักเล่มนั้นจะต้องใช้เงินและมันจะต้องเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับการลงทุนขั้นแรก

เขาได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่า ถ้าสามารถเปิดหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาได้ "...กูจะใช้หัวหนังสือว่า...คิวทอง"

ตามนามปากกาของเขาที่ใช้เขียนอยู่ประจำในคอลัมน์สนุกเกอร์ในหนังสือรายวันเดลินิวส์

แฟลตเดือนเด่น

เป็นแฟลตที่ให้เช่าพักอาศัย มันตั้งอยู่หลังโรงแรมอินทราย่านประตูน้ำในกลางกรุงเทพฯ มีสัก 200 ห้องเห็นจะได้ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนเช่าพักอาศัยธรรมดาๆ นี่เองและก็เป็นธรรมดาของอาคารที่พักทั่วไป ที่เจ้าของมักจะจัดส่วนหนึ่งของอาคารเป็นอาณาบริเวณของสถานที่สำหรับเล่นสนุกเกอร์ ด้วยจำนวนโต๊ะที่ขึ้นอยู่กับความกว้างของพื้นที่

และก็เหมือนกับโต๊ะสนุกเกอร์ทั่วๆ ไปที่จะต้องมีเซียนมือเก๋าไว้คอยดูแลกิจการ หรือไม่ก็จะทำหน้าที่เป็นครูสอนให้กับผู้ที่เข้าไปเล่น นอกเหนือจากมาร์คเกอร์ มาร์คกี้ คนรับใช้ จดแต้มชายหญิง

ที่โต๊ะเดือนเด่นมี 2 คนคือ "เซียนกิ๊ด" วิเชียร แสงทอง กับ "เซียนเป้า ลาดหญ้า" ธงชัย แซ่ลิ้ม

เจ้าของแฟลตเดือนเด่นเป็นชายชาวจีนผู้สูงอายุแล้ว ผมแทบจะขาวโพลนชื่อ "ธนิต ตันติเมธ" เป็นนักธุรกิจที่อยู่นอกวงการกีฬาและนอกวงการสนุกเกอร์ ร่ำรวยจากธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง คนทั้งแฟลตเรียกท่านว่า ...ป๋าธนิต

ป๋าธนิตไม่ใช่ผู้เฒ่าที่สนใจกีฬา แท้จริงท่านมิได้สนใจวงการกีฬาแม้แต่นิดเดียว

ทว่า...

ท่านสนใจคนที่ชื่อ "ศักดา รัตนสุบรรณ" และอุดมการณ์ของเขา

อุดมการณ์ที่จะพลิกฟื้นสนุกเกอร์ให้เป็นกีฬาสากล

"...เป้า ลื้อช่วยประสานให้อั้วรู้จักคนที่ชื่อ ศักดา รัตนสุบรรณ ให้หน่อย อั้วต้องการจะคุยกับเขาโดยเร็ว..." ป๋าธนิตพูดกับเป้า ลาดหญ้า คนคุมโต๊ะลูกน้องตัวเอง

จะไปยากเกินกำลังของไอ้เป้าได้ยังไง ในเมื่อมันเองรู้จัก รัก และนับถือ "พี่ดา" เสียยิ่งกว่าอะไร!

การพูดคุยกันเป็นการเสนอตัวของป๋าธนิตว่า ปรารถนาจะเข้ามาช่วยศักดาพลิกฟื้นวงการสนุกเกอร์ในทุกทางเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

"...เพราะไอชอบยูเท่านั้น...เท่านั้นจริงๆ คนอย่างยูหายาก ก็อยากจะคบหาไว้..." ป๋าธนิตกล่าวกับศักดาในวันแรกที่เจอกัน

"หมอผี" ปรารภถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาประสงค์จะปลุกชีพวงการสนุกเกอร์ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนักกีฬา การเดินเรื่องของกฎหมาย รวมไปถึงการเปิดทางให้สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่มีแข่งชิงเหรียญทองกันในซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ การฟื้นฟูการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย และการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว จนถึงขั้นได้ต๋องเป็นแชมป์โลกสมัครเล่น

พูดถึงความตั้งใจที่จะเปิดหนังสือสนุกเกอร์ขึ้นเป็นการเฉพาะสักเล่ม

ปรากฏว่าป๋าธนิตโอเค. ด้วยทุกเรื่อง รับปากจะช่วยทุกทาง

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2528 เป็นต้นมา...

ป๋าธนิตก็ไม่เห็นทำอะไร นอกจากเริ่มต้นก็ช่วยออกเงินให้เด็กน้อยที่ชื่อต๋อง ได้เดินทางไปเรียนฝึกวิทยายุทธที่ประเทศอังกฤษ ตามโครงการที่หลายฝ่ายต่างก็เหน็ดเหนื่อยลำบากกันหนักหนา

ในการดิ้น กรุยทางต่อสู้เพื่อให้สนุกเกอร์ได้เข้าแข่งชิงเหรียญทองในกีฬาแห่งชาติ อันเป็นการเริ่มต้นสำหรับถนนยกระดับสนุกเกอร์ให้เป็นที่ยอมรับในเมืองไทย ป๋าธนิตก็ไม่เห็นได้ทำอะไร นอกจากติดตามไปด้วยทุกครั้ง ให้ความช่วยเหลือในทุกขั้นตอน ซึ่งจะต้องใช้กำลังคนกำลังทรัพย์เพื่อปฏิบัติ

ยามเมื่อนักกีฬาที่จะต้องเข้าทำการแข่งขันแล้วเกิดขัดสน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในประเทศหรือไปต่างประเทศ ป๋าธนิตก็ไม่เห็นจะทำอะไรมากนัก นอกจากรับเป็นผู้จัดการทีม จ่ายเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา ออกค่าเดินทางให้ แล้วก็เฝ้าจ้องมองดูแต่ละคนแข่งขันด้วยสายตาที่อ่อนโยน แต่แฝงไว้ซึ่งความห่วงใย ซึ่งก็ไม่รู้ป๋าจะห่วงใยไปทำไม เมื่อนักกีฬาเหล่านั้นแท้จริงก็ไม่ใช่ลูกหลานสายเลือดของท่านสักหน่อย

บ่อยครั้งมากที่นักกีฬาเดินทางไปแข่งขันที่ต่างประเทศแล้วเกิดกินอาหารท้องถิ่นไม่ได้ ป๋าก็ไม่เห็นทำอะไรนอกจากหายไปพักใหญ่แล้วกลับมาด้วยสิ่งของต่างๆ ผัก ข้าวปลาอาหาร ที่ใกล้เคียงกับอาหารไทย แล้วท่านกับคนที่ชื่อศักดาก็จะพากันเข้าครัวทำหน้าที่เป็นกุ๊กทำอาหารให้นักกีฬาได้กินได้อิ่มท้อง ท่านควรจะหวังสิ่งตอบแทนบ้าง ก็อาจจะอยากเห็นชัยชนะเกิดขึ้นกับนักกีฬาไทยเมื่อเข้าสู่การชิงชัย

ป๋าธนิตไม่เห็นปฏิเสธอะไรตรงไหนสักครั้ง เมื่อ ศักดา เมื่อ สินธุ เมื่อใครต่อใครบอกว่าตอนนี้สมาคมต้องการความช่วยเหลืออย่างโน้นนะ อย่างนี้...

ป๋าธนิตไม่เห็นดีตรงไหน วันๆ ได้แต่ถามถึงทุกข์สุขของคนโน้นคนนี้ แล้วก็ตำหนิใครต่อใครว่าเดี๋ยวนี้เล่นไม่ดี เล่นได้มาตรฐานต่ำลง ทั้งๆ ที่ป๋าเองก็แทงสนุ้กฯ ไม่เป็นสักไม้ ป๋าช่างไม่เอาไหน ขายอาหารบนแฟลต แต่ไม่ยอมให้มีการกินฟรี อ้างว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน

สำหรับ "นิตยสารคิวทอง" แล้ว นับตั้งแต่ผลิตเล่มแรกฉบับปฐมฤกษ์ มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2528 แล้ว ป๋าธนิตก็ไม่เห็นทำอะไรนอกจากให้ชั้นลอยของแฟลตเดือนเด่นเป็นที่ตั้งของสำนักงานทั้งชั้น โดยไม่คิดตังค์ ทั้งค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ หลังจากที่ทำการตบแต่งภายในให้อย่างเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่แรก และป๋าก็ไม่เคยว่า ถ้าใครต่อใครจะอาศัยที่นั่นเป็นที่ซุกหัวนอน ยามง่วงยามเมา และยามที่ใครเงินหมดกระเป๋า

เปิดหนังสือนิตยสารคิวทองออกมาอ่าน ป๋าธนิตก็มิได้มีส่วนมีอิทธิพลด้วยตรงไหน นอกจากมีชื่อเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แล้วก็ทุกฉบับที่ออกจำหน่าย จะมีโฆษณาของป๋าปรากฏอยู่เป็นประจำ ก็เท่านั้น

ป๋าธนิตได้แต่ห่วงนิตยสารคิวทองเมื่อยอดจำหน่ายมันตกลงไปหรือไม่เข้าเป้า หรือศักดาหงุดหงิดกับการผลิตหนังสือ อันเนื่องมาจากการทำงานของลูกน้องหย่อนยาน เมื่อนั้นป๋าจะเข้ามากระซิบว่า "...เอ๋ย ลูกพี่เขาหงุดหงิดแล้วนะ ขยันขึ้นหน่อย ปิดหนังสือให้ได้ตรงเวลา..."

ป๋าธนิต ตันติเมธ วิเศษมาแต่ไหน ถึงได้เป็นแต่ผู้ให้แก่วงการสนุกเกอร์ประเทศไทยมาตลอด โดยไม่ได้เรียกร้องอะไรกลับคืนเลย แม้แต่ตำแหน่งกรรมการบริหารธรรมดาๆ เพียงตำแหน่งหนึ่งในสมาคมสนุกเกอร์ ก็ไม่เคยเอามาประดับบารมี หรือเพื่อการมีอิทธิพลตลอดจนผลประโยชน์ ท่านกล้าดีอย่างไร ถึงได้ไม่ต้องการอะไรตอบแทนเลย

เฉกเช่นเดียวกับชีวิตของ "นิตยสารคิวทอง" ป๋าธนิตคงรู้เหมือนกับที่ท่านรู้สิ่งอื่นๆ ว่า ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

ท่านจึงมีแต่ให้เท่านั้นเช่นกัน

ตั้งแต่ฉบับแรกปฐมฤกษ์ สิงหาคม 2528 ค่าที่เป็นรายเดือนมาตลอดและเป็นรายสัปดาห์บ้างในบางครั้ง บัดนี้ "นิตยสารคิวทอง" เป็น...ฉบับที่ 156 ปีที่ 12 แห่งเดือน กันยายน 2540 ระยะเวลา "12 ปี" แล้ว คิวทองก็ต้องสูญเสีย "ท่านผู้มีพระคุณ" ไปจากการจากไปของป๋าเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2540

ต่อไปจะต้องจดจำกันละว่า

"วันที่ 16 สิงหาคม" ของทุกปีนั้น เป็นวันสูญเสียยิ่งใหญ่...

โลก...สูญเสียดารานักร้องเพลงร็อคผู้ครองโลก เอลวิส เพรสลี่ย์

เมืองไทย...สูญเสียราชานักร้องเพลงลูกทุ่ง..สุรพล สมบัติเจริญ

วงการสนุกเกอร์..สูญเสีย "ผู้มีแต่ให้ที่ยิ่งใหญ่" ธนิต ตันติเมธ

3 คนนี้ตายวันเดียวกัน แต่จะเป็นอมตะดุจเดียวกัน

สู่นิพพานเถิดครับป๋า

ตัวตายแต่ชื่อยังอยู่อย่างแท้จริงนั้น น้อยคนนักจะทิ้งไว้ได้

 

อำนวยศักดิ์ สว่างนก
ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับที่ 156
เดือนกันยายน 2540