คิวไทยผงาด คว้าจ้าวเอเชียอีกสมัย

18 พ.ค. 59

ในขณะที่แฟนสนุกเกอร์ชาวไทยกำลังติดตามการถ่ายทอดสด การแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพชิงแชมป์โลกจากครูซิเบิ้ล ที่เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ทางทรู วิชั่นส์ ซึ่งเริ่มการแข่งขันรอบสุดท้ายกันตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อย่างดุเด็ดเผ็ดมันถึงวันละ 3 รอบ แม้จะไม่มีนักสอยคิวของไทยผ่านรอบคัดเลือกไปแข่งขันในรอบ 32 คนในปีนี้เลยก็ตาม ในวันเดียวกันที่อีกฟากหนึ่งของโลก ก็ได้มีการแข่งขันสนุกเกอร์ระดับชิงแชมป์เอเชียครั้งที่ 32 ระเบิดขึ้นที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ นับเป็นหนึ่งในรายการสำคัญประจำปี ที่นักสนุกเกอร์จากทั่วทั้งทวีปเอเชีย ร่วมลงชิงชัยในการคว้าตำแหน่งแชมป์ พร้อมทั้งโควตาที่จะได้ไปเล่นอาชีพที่อังกฤษเป็นเวลา 2 ฤดูกาลกันอย่างถ้วนหน้า

จากการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย 31 ครั้งที่ผ่านมาในอดีต ไทยเราถือได้ว่าเป็นประเทศที่ครองความเป็นจ้าวเอเชียมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 1984 (2527) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ ซึ่งได้ ศักดิ์ชัย ซิมงาม และ วิเชียร แสงทอง สองนักสนุกเกอร์ไทยเข้าชิงชนะเลิศกันเอง ผลปรากฏว่า ศักดิ์ชัย ซิมงาม หรือ ชัย ลำพูน เอาชนะ วิเชียร แสงทอง หรือ กิ๊ด นครสวรรค์ ไปด้วยสกอร์ 8-5 เฟรม สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เอเชียคนแรกได้สำเร็จ

นับจากนั้นเป็นต้นมา นักสอยคิวไทยก็ตบเท้ากันเข้าชิงชนะเลิศ และคว้าตำแหน่งแชมป์เอเชียมาได้อีกหลายสมัยจนแทบจะเรียกได้ว่า ไทยเราเป็นจ้าวเอเชียอย่างแท้จริง มีนักสอยคิวจากไทยเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ถึง 22 ครั้งในรอบ 31 ปี ได้แชมป์เอเชียมาแล้ว 16 สมัย และเป็นการเข้าชิงฯ กันเองถึง 6 ครั้ง มีแชมป์เอเชียที่เป็นคนไทยมาแล้วถึง 11 คน มากกว่าอันดับสอง คือ จีน อินเดีย มาเลเซีย ที่ต่างคว้าแชมป์เอเชียไปได้เพียงชาติละ 3 ครั้งเท่านั้น เรียกว่า ทิ้งกันไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

 

 นี่คือรายชื่อของอดีตแชมป์เอเชีย ทั้ง 11 คน กับผลงานแชมป์ 16 สมัยของไทยที่ผ่านมา

และแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้แชมป์เอเชียคนที่ 12 เป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 17 ของไทย จากผลงานที่สุดยอดของ “กฤษณัส เลิศสัตยาทร” หรือ นุ้ก สากล นักสอยคิวมืออันดับ 4 คนปัจจุบันในตารางคะแนนสะสมของสนุกเกอร์อาชีพไทย ที่ไปเอาชนะ Mohammed Shehab นักสอยคิวมือเก่าเก๋าประสบการณ์ เจ้าของเหรียญทองเอเชียนอินดอร์เกมส์ปี 2007 ที่มาเก๊า ด้วยสกอร์ที่ขาดลอยถึง 6-2 เฟรม พร้อมทั้งทำเบรกสูงสุดของรายการ 142 คะแนน ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศในเฟรมที่ 3 ที่เอาชนะยอดฝีมือของอินเดีย Pankaj Advani มาได้ด้วยสกอร์ 5-3 เฟรมอีกด้วย ส่งผลให้เขาได้โควตาไปเล่นอาชีพที่ประเทศอังกฤษ 2 ฤดูกาล ในปี 2016-2017 และ 2017-2018 หลังจากที่เพียรพยายามมานานถึงสามปี

สำหรับการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ในปีนี้ สมาคมฯ ได้ส่งสองนักสนุกเกอร์ไปแข่งขัน คือ กฤษณัส เลิศสัตยาทร หรือ นุ้ก สากล และ ยุทธภพ ภาคพจน์ หรือ นุ้ก จันท์ โดยมีนักสนุกเกอร์จากชาติอื่นๆ ในเอเชียร่วมลงชิงชัยทั้งหมด 20 ประเทศ

กฤษณัส ได้รับการวางมือเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม E มีนักสนุกเกอร์ในกลุ่ม 5 คน มีผู้ร่วมกลุ่มอีก 4 คนคือ Habib Subah - มือ 1 ของบาห์เรน, Alijalil Ali - อิรัค, Batyr Ashyrov - เติร์กมินิสถาน และ Mhanaa Alobaidli - กาตาร์ อยู่ร่วมกลุ่ม

ในขณะที่ ยุทธภพ ได้รับการวางมือเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม L มีนักสนุกเกอร์ในกลุ่ม 5 คนเช่นกัน โดยอีก 4 คนประกอบไปด้วย Mohsen Bukshaisha - มือ 1 ของกาตาร์, Ali Hussein - อิรัค, Ibrahim Aqel - จอร์แดน และ Husain Mahmood จาก บาห์เรน อยู่ร่วมกลุ่ม

ผลการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม กฤษณัส สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ 3 จาก 4 คน โดยในนัดแรก เอาชนะ Alijalil Ali (อิรัค) ไป 4-2 เฟรม ด้วยสกอร์ 65-36, 31-42, 79-21, 48-63, 69-64 และ 74-38 ในนัดที่สอง ลงสนามเอาชนะ Mhanaa Alobaidli (กาตาร์) ไปขาดลอย 4-0 เฟรม ด้วยสกอร์ 71(59)-15, 65-13, 50(58)-16 และ 74(66)-10 ขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ของตาราง แต่นัดที่สาม มาพลาดท่าพ่ายมือ 1 ของบาห์เรน Habib Subah ที่เคยมาแข่ง 6 แดงโลก และเป็นไวลด์การ์ดในการแข่งขัน Thailand Ranking ที่นครราชสีมาเมื่อปี 2554 ไป 2-4 เฟรม ด้วยสกอร์ 4-73(54), 74-31, 62-23, 8-70, 37-65 และ 5-51 หล่นไปอันดับ 2 ของตาราง แต่มาแก้ตัวในนัดสุดท้ายได้สำเร็จ ด้วยการใส่ไข่นักสอยคิวจากเติร์กมินิสถาน Batyr Ashyrov ไปแบบสบายมือ ด้วยสกอร์ 73-16, 134(89)-1, 84-12 และ 81-2 เข้ารอบเป็นที่ 2 ของกลุ่มไปแบบไร้กังขา

ส่วน ยุทธภพ ภาคพจน์ หรือ นุ้ก จันท์ เก็บชัยชนะในรอบแบ่งกลุ่มได้ทั้ง 4 นัด พร้อมทำ 137 แต้ม ขึ้นนำเบรกสูงสุดของรายการ เข้ารอบเป็นที่ 1 ในกลุ่มไปอย่างสุดหรู

มาถึงรอบน็อคเอาท์ สองนักสนุกเกอร์ไทยได้เป็นตัวยืนในรอบ 32 คน โดยมีนักสนุกเกอร์อีก 8 คนที่ต้องไปแข่งขันกันก่อนในรอบแรก เพื่อหาผู้ชนะ 4 คนเข้ามาเล่นในรอบ 32 คน โดยทั้งคู่ถูกจับฉลากให้อยู่ในสายบน ทำให้อาจต้องมาเจอกันเองในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งในรอบ 32 คน ยุทธภพ ลงสนามพบกับ Mohammed Alshamsi จาก สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ที่เข้ารอบมาเป็นที่ 2 ของกลุ่ม M ซึ่ง ยุทธภพ ก็ยังออกคิวคมกริบทำเบรกยาว 3 เบรกเอาชนะไปขาดลอย 4-0 เฟรม ด้วยสกอร์ 81(54)-16, 68(58)-0, 81(54)-1 และ 72-59 เข้ารอบ 16 คนมาเจอ Karam Fatima นักสอยคิวมือดีของซีเรีย ที่เคยมาฝึกซ้อมที่ศูนย์ฝึกฯ ถึง 2 คอร์สกับโค้ชต่าย พิจิตร และ โค้ชเต้ย ภวัต ร่วมกับยุทธภพ และยุทธภพ พลาดท่าแพ้ไป 2-4 เฟรม หลังโดนนำไปถึง 3-1 ด้วยสกอร์ 76(74)-16, 33-45, 48-62, 32-54, 90-46 และ 1-89(74) ส่งผลให้ยุทธภพตกรอบ 16 คนไปก่อนเวลาอันควรอย่างน่าเสียดาย

ส่วนกฤษณัส ในรอบ 32 คนลงสนามพบกับ Fung Kwok Wai นักสอยคิวจอมเก๋าอดีตมือ 1 จากฮ่องกง ที่เคยจับคู่กับ Marco Fu ในการแข่งขัน Snooker World Cup ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2011 มาแล้ว โดยเข้ารอบมาเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม H ที่กว่าจะเอาชนะได้ กฤษณัส ต้องเล่นถึง 7 เฟรม ด้วยสกอร์ 0-55, 86-7, 86-4, 36-64, 70-13, 25-76 และ 68-1 ในเฟรมตัดสิน เข้ารอบ 16 คนไปพบ Mohammad Bilal (ปากีสถาน) ซึ่ง กฤษณัส เอาชนะไปอย่างไม่ยากเย็น 4-1 เฟรม ด้วยสกอร์ 76-34, 8-80, 65-58, 76(66)-51, และ 69-16 เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศไปอย่างสบายมือ

ในรอบ 8 คน กฤษณัส ต้องโคจรมาเจอศึกหนัก อดีตแชมป์สมัครเล่นโลก Mohammad Asif จาก ปากีสถาน ที่เคยเอาชนะ Gary Wilson มืออาชีพโลก (สมัครเล่นในสมัยนั้น) มาได้ในรอบชิงชนะเลิศรายการชิงแชมป์สมัครเล่นโลกปี 2012 และเคยเอาชนะกฤษณัส มาแล้วในรอบ 16 คน ในรายการชิงแชมป์สมัครเล่นโลกปี 2015 ซึ่งกว่าจะเอาชนะได้ต้องเล่นกันถึง 9 เฟรม และโดนขึ้นแท่นนำไปก่อน ก่อนเป็นฝ่ายไล่ตีเสมอ แล้วกลับมาเอาชนะไปด้วยสกอร์ 46-69, 103(86)-0, 40-76(70), 66-40, 116(116)-0, 38-72, 21-82, 80-1 และ 81(81)-0 เข้าสู่รองรองชนะเลิศไปแบบสะใจแฟนๆ ที่คอยเชียร์อย่างใจจดใจจ่อ

ในรอบรองชนะเลิศ กฤษณัส ต้องเจอศึกหนักกับมือ 1 ของอินเดีย เจ้าของตำแหน่งแชมป์สมัครเล่นโลกปี 2003 และ 2015 และแชมป์บิลเลียดโลกอีกนับครั้งไม่ถ้วน Pankaj Advani อดีตมือสอยคิวอาชีพโลกจากอินเดีย ที่เคยเอาชนะ กฤษณัส มาในรายการนี้เมื่อปีที่แล้วในรอบ 8 คน มาคราวนี้ กฤษณัส ออกคิวด้วยความมั่นใจ เข้าเบรก 58 แต้มขึ้นนำไปก่อนในเฟรมแรก Pankaj มาตีเสมอได้ในเฟรมที่สอง ก่อนที่ กฤษณัส จะกดเบรกไม้เดียว 15 แดงหมดโต๊ะ 142 แต้มในเฟรมที่สาม ทำเบรกสูงสุดของรายการ ลบเบรกของเพื่อนร่วมห้อง ยุทธภพ ที่ทำไว้ 137 แต้ม คว้ารางวัลเบรกสูงสุดไปอย่างไร้คู่แข่ง แล้วเอาชนะไปด้วยสกอร์ 86(58)-46, 21-64, 142(142)-0, 0-99(99), 71-5, 18-99(90), 77(62)-28, และ 66-31 เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ

ถึงรอบชิงชนะเลิศ กฤษณัส ต้องลงสนามสู้กับ Mohammed Shehab เจ้าของเหรียญทองเอเชียน อินดอร์เกมส์ ที่มาเก๊า ที่เอาชนะ Amir Sarkhosh แชมป์ 6 แดงเอเชียปี 2014 มาในรอบรองชนะเลิศ

กฤษณัส โดนเข้าเบรกนำไปก่อนในเฟรมแรก แต่มาตีเสมอได้ในเฟรมที่สอง และเฟรมที่สี่ จบสี่เฟรมเสมอกัน 2-2 แต่พอขึ้นเฟรมที่ 5 กฤษณัส ก็เก็บชัยชนะ 4 เฟรมรวด เอาชนะไป 6-2 เฟรมแบบขาดลอย ด้วยสกอร์ 19-62(52), 53-33, 61-51, 34-47, 71-22, 83-3, 72-24, และ 73(53)-39 คว้าแชมป์เอเชียสมัยที่ 17 ให้ประเทศไทย และเป็นแชมป์เอเชียคนที่ 12 ได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากเพียรพยายามลงแข่งขันในรายการต่างๆ มาถึงสามปี ล้างแค้นคู่ปรับเก่าที่เคยพ่ายแพ้มาในอดีตได้ทั้งหมด

ทำให้ในฤดูกาลหน้า จะมีนักสอยคิวไทยใน 128 คนโลกทั้งสิ้น 7 คน คือ เทพไชยา อุ่นหนู, เดชาวัต พุ่มแจ้ง, นพพล แสงคำ, อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์, บุญญฤทธิ์ เกียรติกุล, กฤษณัส เลิศสัตยาทร และ รัชพล ภู่โอบอ้อม ที่ยังได้สิทธิ์จากสมาคมสนุกเกอร์โลกให้ลงแข่งขันได้ในฐานะที่เป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่วงการสนุกเกอร์เอเชียมาในอดีตเป็นคนแรกนั่นเอง (ยังไม่นับเด็กไทยในอังกฤษ มนัสวิณษ์ เพชรมาลัยกุล หรือ น้องควิด ที่จะลงแข่งขันรายการยูโรเปี้ยนทัวร์รายการต่างๆ ในฐานะเป็นนักกีฬาสมัครเล่นอีก 1 คน)

ก็ต้องเอาใจช่วยกันต่อไปครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการหาผู้ใหญ่ใจดี ที่พร้อมให้การสนับสนุนนักกีฬาไทยในการก้าวสู่ความเป็นอาชีพ ก็ต้องขอฝากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสมาคมกีฬาบิลเลียดฯ ให้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้นักกีฬาไทยก้าวไปสู่มืออันดับต้นๆ ของโลกเหมือนที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยทำไว้ได้ด้วยการขึ้นสู่มือ 3 โลกมาแล้วในอดีต

นักแบดหญิง เราก็มีมือหนึ่งของโลกไปแล้ว นักสอยคิวไทยก็ยังมีโอกาสนะครับ โดยเฉพาะประเภทหญิง ขอเอาใจช่วยครับ....

โดย ทวิทัฐ วรินทราคม

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 402)