ตำนาน 6 แดง “คิวทอง” เป็นผู้ริเริ่ม สมาคมฯ สานต่อ ดังทั่วโลก

6 ก.ย. 59

“สนุกเกอร์ 6 แดง” นิยมเล่นกันในกลุ่มผู้เล่นสนุกเกอร์ตามคลับและสโมสรต่างๆ ในประเทศไทยมาช้านาน เนื่องจากมีลูกแดงเพียง 6 ลูก ทำให้ง่ายต่อการเล่น และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นสนุกเกอร์เพื่อความสนุกสนาน ซึ่ง “สนุกเกอร์ 6 แดง” ที่นิยมเล่นกันตามสโมสร จะมีกติกาการแข่งขันแตกต่างไปจากสนุกเกอร์แดง 15 ลูก ตามกติกาสากล คือมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเล่นเพื่อนันทนาการในระดับสโมสรเท่านั้น แม้จะเป็นเพียงเกมที่เล่นในสโมสร แต่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ก็มีจุดเด่นที่รูปแบบการเล่นที่รวดเร็ว กระชับ และฉับไว จึงสามารถสร้างความตื่นเต้นและเร้าใจให้ทั้งผู้เล่นและผู้ชม

เนื่องจาก สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเชีย (Asian Confederation of Billiard Sports – ACBS) กำลังหากลยุทธ์ที่จะพัฒนาให้กีฬาสนุกเกอร์กลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายอีกครั้งหนึ่ง นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเชียในขณะนั้นด้วย จึงได้หารือกับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ นำ “สนุกเกอร์ 6 แดง” มาจัดการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ

การแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ตามกติกาสากล จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ช่วงกลางปี 2547 เมื่อนิตยสารสนุกเกอร์ “คิวทอง” เป็นผู้จัด มีนักสนุกเกอร์จากทั่วประเทศสนใจสมัครเข้าแข่งขันกว่า 80 คน แข่งขันในระบบแพ้คัดออก 5 ใน 9 เฟรม ในครั้งนั้น สุพจน์ แสนหล้า (แจ็ค เชียงใหม่) เป็นแชมป์คนแรก ซึ่งระหว่างจัดแข่งขันรายการนี้ Mr. Derek Hill อดีตโค้ชส่วนตัวของแชมป์โลกอาชีพ ชาวอังกฤษ Ronnie O’Sullivan ที่เดินทางมาฝึกสอนนักสนุกเกอร์ทีมชาติไทยเตรียมเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศกาตาร์ ได้มีโอกาสชมการแข่งขันต่อเนื่องทุกวัน และรู้สึกประทับใจ “สนุกเกอร์ 6 แดง” อย่างมาก โดยก่อนกลับอังกฤษ Mr. Derek Hill ได้ส่งหนังสือถึงนายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมฯ สนับสนุนให้นำ “สนุกเกอร์ 6 แดง” มาจัดแข่งขันในระบบสากล เนื่องจากเป็นเกมที่รวดเร็ว ตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้กีฬาพูล หนึ่งในกลุ่มกีฬาบิลเลียด (Billiard Sports) ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญคือ ผู้เล่น “สนุกเกอร์ 6 แดง” ทุกคนมีโอกาส แพ้-ชนะได้เท่ากันหมด เป็นเกมที่เดาได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ จึงสามารถสะกดผู้ชมให้ติดตามการแข่งขันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นเกมที่สามารถฝึกทักษะการเล่นสนุกเกอร์ที่ดีให้กับนักกีฬาด้วย Mr. Derek Hill จะนำการเล่น “สนุกเกอร์ 6 แดง” กลับไปสอนนักกีฬาอาชีพที่เขาดูแลอยู่ด้วย จากหนังสือสนับสนุนของ Mr. Derek Hill นายสินธุ พูนศิริวงศ์ จึงได้หารือกับคณะกรรมการการบริหารสมาคมฯ และเห็นพ้องกันว่า น่าจะผลักดันให้มีการบรรจุกีฬา “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในรายการแข่งขันสำคัญๆ เพื่อปลุกกระแส “กีฬาสนุกเกอร์” ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา ACBS และสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยจึงร่วมกันผลักดันให้มีการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน Multi Sports Games เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้สนุกเกอร์กลับมาได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มผู้เล่นและผู้ชมอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักกีฬาจากประเทศที่เพิ่งเริ่มพัฒนาสนุกเกอร์ มีสิทธิ์คว้าเหรียญรางวัล และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนานักกีฬาสนุกเกอร์จากรัฐบาลของตน อันจะมีผลทางอ้อมต่อการพัฒนาสนุกเกอร์ให้กว้างไกลไปทั่วเอเชียและโลก เพราะหากจัดแข่งขันเฉพาะสนุกเกอร์แดง 15 ลูกแล้ว นักกีฬาจากประเทศที่กำลังพัฒนา จะไม่มีโอกาสชนะนักกีฬาที่มีความชำนาญในการเล่น 15 แดงได้เลย

ทั้ง ACBS และสมาคมฯ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการนำกีฬา “สนุกเกอร์ 6 แดง” เข้าสู่กีฬาซีเกมส์ เนื่องจากถูกต่อต้านอย่างรุ่นแรงจาก W. Y. CHIN นายกสมาคมสนุกเกอร์ประเทศมาเลเซีย ที่ส่งหนังสือถึงประเทศสมาชิกและมนตรีซีเกมส์ อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อโจมตีและคัดค้านการบรรจุ “สนุกเกอร์ 6 แดง” จนเป็นข่าวครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศมาแล้ว แต่ท้ายที่สุด การคัดค้านก็ไม่เป็นผล เพราะประเทศสมาชิกเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วย และได้ร่วมกันลงนามสนับสนุนให้มีการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 จังหวัดนครราชสีมา

หลังจากผลักดันให้มีการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ใน Multi Sports Games เป็นครั้งแรกของโลก ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 เมื่อเดือนธันวาคม 2550 แล้ว เพื่อให้การเผยแพร่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีต่อมา สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงจัดการแข่งขัน “การแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง นานาชาติ ประจำปี 2551” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ “สนุกเกอร์ 6  แดง” ให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักสนุกเกอร์ชั้นนำทั้งระดับเอเชีย ยุโรป และนักสนุกเกอร์อาชีพของโลก โดยการสนับสนุน ของ บจม.ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (ผู้สนับสนุนหลัก), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บจม. กสท โทรคมนาคม (โครงการ 1 สมาคมกีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ) ใช้ชื่อการแข่งขันว่า  6 Red Snooker International 2008 และจากการที่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นเกมที่รวดเร็ว กระชับฉับไว นักกีฬาทุกคนมีโอกาสแพ้-ชนะเท่ากัน คาดเดาได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ จึงเป็นเกมที่ตื่นเต้น เร้าใจและน่าติดตาม การแข่งขัน 6 Red Snooker International 2008 จึงประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุกๆ ด้าน ทั้งการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารสหพันธ์กีฬานานาชาติที่ได้รับเชิญให้มาชมการแข่งขัน, ผู้ชมที่สนามแข่งขัน และจากนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งบางคนเสนอตัวขอมาแข่งขันในปีหน้า ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ที่น่าภูมิใจที่สุดคือ ESPN ช่องทีวีกีฬาซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ให้ความสนใจนำเทปการแข่งขันไปเผยแพร่ รวม 14 ชั่วโมง

ในปี 2552 การผลักดันให้ “สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกสัมฤทธิ์ผลอย่างมาก เวียดนามบรรจุ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ ครั้งที่ 3, ฮ่องกงจัดแข่งขันในอีสเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ขณะที่ จีนประกาศบรรจุ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 เดือนพฤศจิกายน 2553 สำหรับประเทศไทยยังคงเดินหน้าจัดแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง นานาชาติ” ต่อไป ครั้งที่ 2 มีรูปแบบการแข่งขันเหมือนกับครั้งแรก แต่เปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น 6 Red World Grand Prix 2009 มีนักสนุกเกอร์อาชีพระดับโลก 18 คน นักสนุกเกอร์ชั้นนำอื่นๆ ที่คัดเลือกจากทั่วโลก และนักสนุกเกอร์ไทย รวมทั้งสิ้น 48 คน เข้าแข่งขันชิงเงินรางวัลกว่า 3.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่าของปีที่แล้ว โดยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ผู้สนับสนุนหลัก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้สนับสนุนจากโครงการ 1 สมาคมกีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นอกจากมีผู้สนับสนุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การแข่งขันยังประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย เพราะนอกจากผู้ชมที่สนามแข่งขันจะแน่น ตั้งแต่รอบแรกแล้ว ทรูวิชั่นส์ยังต้องเพิ่มการถ่ายทอดสดรอบแรกจากวันละ 2 คู่ เป็น 3 คู่ และถ่ายทอดสดทุกคู่ตั้งแต่รอบ 32 คนจนจบการแข่งขัน โดยรอบชิงชนะเลิศแพร่ภาพพร้อมกับโมเดิร์นไนน์ทีวี รวมทั้ง ทีวีกีฬาต่างประเทศหลายแห่งนำเทปการแข่งขันไปออกอากาศ รวม 32 ชั่วโมง (ESPN 16 ชั่วโมง, SKY SPORT 12 ชั่วโมง, EURO SPORT 4 ชั่วโมง) เพื่อแพร่ภาพไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

ในปี 2553 สมาคมฯ จัดแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก” เป็นครั้งแรก โดยมีนักสนุกเกอร์อาชีพของโลก 18 คน และนักสนุกเกอร์ชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือกจากยุโรป, โอเชียเนีย, อัฟริกา, เอเชีย และนักกีฬาไทย รวม 48 คน เข้าร่วมแข่งขันชิงเงินรางวัล รวม 6 ล้านบาท เฉพาะแชมป์จะได้รับเงินรางวัล 2 ล้านบาท โดยทรูวิชั่นส์ถ่ายทอดสดทุกวันตั้งแต่รอบแรก ส่วนรอบชิงชนะเลิศถ่ายทอดสดพร้อมกันทางสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวีและทรูวิชั่นส์ รวมทั้งได้นำเทปการแข่งขันไปออกอากาศทางช่องทีวีกีฬาต่างประเทศ ESPN Star รวม 20 ชั่วโมงด้วย

การแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก ได้ว่างเว้นไป 1 ปี ในปี 2554 เนื่องจาก WS ขอให้สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยรื้อฟื้นการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก ประเภททีม (World  Cup) ขึ้นอีกครั้ง หลังจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกของโลกไปเมื่อ 15 ปีก่อน แต่ค่าใช้จ่ายในการจัดแข่งขัน World Cup สูงมาก ทำให้สมาคมฯ ต้องงดจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลกในปีนั้นไป

ปี 2555 สมาคมฯ ได้หวนกลับมาจัดแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก” อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคล 3 วาระ กล่าวคือ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ครบรอบ 84 พรรษา โอกาสที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา และโอกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุ ครบรอบ 60 พรรษา จัดแข่งขันระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงเทพมหานคร โดยนักสนุกเกอร์อาชีพ 16 อันดับแรกของโลกมาร่วมแข่งขันทั้งหมด 11 คน และนักสนุกเกอร์ชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วโลก และนักกีฬาไทย รวม 48 คน เข้าร่วมการแข่งขัน ชิงเงินรางวัล รวม 6 ล้าน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ตั้งแต่วันแรกของการแข่งขันทางทรูวิชั่นส์ และทีวีกีฬาต่างประเทศ Eurosport และถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศพร้อมกันทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์, ทรูวิชั่นส์ และ Eurosport นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่สมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลก (World Snooker - WS) สหราชอาณาจักร ได้บรรจุ “สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก” เป็นรายการแข่งขันประจำฤดูกาลของ WS

ในปี 2556 WS ได้ปรับเปลี่ยนกำหนดวันแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก ประจำปี 2556 จากต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นเดือนกันยายน เพื่อให้นักสนุกเกอร์อาชีพระดับโลกวางแผนการเดินทางมาแข่งขันในแถบเอเชียได้สะดวกขึ้น รวมทั้ง ได้ประสานงานกับ Eurosport ให้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันรายการนี้ทุกวันตลอดการแข่งขัน

ปี 2557 สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยได้เพิ่มความน่าสนใจให้กับการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลกนี้ขึ้นไปอีก โดยเพิ่มเงินรางวัลรวมจาก 6 ล้าน เป็น 8 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้นักสนุกเกอร์ชั้นนำจากทั่วโลกทั้งระดับสมัครเล่นและอาชีพ เดินทางมาร่วมการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทางอ้อมในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม, อาหารไทยรสเลิศ และความปลอดภัยที่จะเดินทางมาประเทศไทย ผ่านทางนักกีฬา, ผู้จัดการ-ผู้ติดตาม, ผู้ตัดสินต่างชาติ และผู้บริหารระดับสูงของสหพันธ์กีฬาบิลเลียดจากทุกทวีปทั่วโลก และมีการถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทั่วโลกได้ชมพร้อมกันทุกวันทางทรูวิชั่นส์และ Eurosport โดยรอบชิงชนะเลิศเพิ่มถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

ปี 2558 สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยกำหนดเผยแพร่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น โดยยังคงถ่ายทอดสดการแข่งขันให้ทั่วโลกได้รับชมพร้อมกันทุกวันตลอดการแข่งขัน และประการสำคัญที่สุดคือ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศไทย หลังจากรอคอยมา 10 ปี คือ นายเทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) คว้าแชมป์โลก

 

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 406)