“King of Kings Trophy” ถ้วย “กษัตริย์ที่ยิ่งกว่ากษัตริย์” แต่ไม่ได้จัดในไทย

30 มิ.ย. 60

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 หรือ ค.ศ. 1996 หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว

ปีนั้นถือเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เนื่องจากเป็นปีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

ปีนั้น ประเทศไทยได้รับเกียรติจากสมาคมสนุกเกอร์โลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก ในประเภททีม

ทำให้สมาคมสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน คือสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย) โดย นายสินธุ พูนศิริวงศ์ นายกสมาคมฯ หารือกับคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสนุกเกอร์โลก เพื่อจัดการแข่งขันให้สมพระเกียรติของพระองค์

พร้อมกับขอพระราชทานถ้วยรางวัลประจำการแข่งขัน

นายสินธุกล่าวว่า จากการที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ได้เห็นการยกย่องในหลวง ของเรา โดยใช้คำว่า “King of Kings” ซึ่งถือเป็นคำที่สูงสุด เป็น “กษัตริย์ที่ยิ่งกว่ากษัตริย์”

สูงสุดของการยกย่องสมพระเกียรติของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง..........

จึงมีแนวคิดที่จะใช้คำว่า “King of Kings” เป็นชื่อของถ้วยรางวัล จึงปรึกษากับ สมาคมสนุกเกอร์โลก และได้รับการตอบรับที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น จึงเริ่มต้นการแข่งขันและคิดค้นในเรื่องของ “ถ้วยรางวัล” ครั้งนั้นทันที

ถ้วยพระราชทานฯ นี้ ได้รับการออกแบบ และหล่อขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยทองคำแท้ ๆ โดยนักออกแบบอัญมณีในราชสำนักแห่งสหราชอาณาจักร (United Kingdom)

ด้วยตั้งใจให้ถ้วยนี้มีความสูง 50 เซนติเมตร เท่ากับปีที่พระองค์ทรงครองราชย์

ยังผลให้ ถ้วยพระราชทานฯ นี้ มีมูลค่าในสมัยนั้นสูงถึง 24,000 ปอนด์ หรือกว่า 1,200,000 บาท

การแข่งขันใช้ชื่อเป็นทางการว่า “Castrol-Honda World Cup 1996” หรือ สนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก ประเภททีม มีขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ

เป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกทีมชาติจากทั่วโลก ให้มาแข่งขันในรอบสุดท้ายที่ประเทศไทย

การจัดการแข่งขันครั้งนั้นยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ มีทั้งหมด 20 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน โดยใช้งบประมาณในการจัดกว่า 50 ล้านบาท

ประเทศไทยที่ตอนนั้น กีฬาสนุกเกอร์ของเรากำลังบูมสุดขีด มี 3 นักสนุกเกอร์ดังอยู่ในทีม ประกอบด้วย “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา (สมัยนั้น) ภู่โอบอ้อม, “หนู ดาวดึงส์” นพดล นภจร และ “ต่าย พิจิตร” ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์

ปรากฏว่า ตำแหน่งแชมป์ตกเป็นของ ทีมชาติสกอตแลนด์ ที่มีนักสนุกเกอร์ชั้นนำคือ “มัจจุราชผมทอง” สตีเฟ่น เฮนดรี้, “พ่อมดวิสกี้” จอห์น ฮิกกินส์ และ “จอมละเอียด” อลัน แม็คมานัส ที่รอบรองชนะเลิศ เอาชนะทีมไทยไป 10-5 เฟรม และในนัดชิงชนะเลิศคว้าชัยเหนือ ทีมชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ไปได้ 10-7 เฟรม

จากนั้นในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการจัดการแข่งขันนี้อีกครั้ง ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ภายใต้ชื่อ “พีทีที-อีแกต สนุกเกอร์ เวิลด์คัพ 2011” ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2554 ที่ใช้งบประมาณจัดสูงถึง 70 ล้านบาท

ครั้งนี้มี 19 ชาติ 20 ทีม ลงแข่งขัน และเป็นทีมชาติจีน ที่มี ติง จุ้นฮุย กับ เหลียง เวนโบ คว้าแชมป์ด้วยการชนะทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ 4-2 เฟรม

ภายหลังการแข่งขัน มีการประชุมกันว่า ต้องการจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานนี้ 2 ปีต่อครั้ง แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่มหาศาลทำให้ไม่สามารถจัดได้ เนื่องจากต้องใช้เงินต่อรายการมหาศาล

ทำให้การแข่งขันต้องไปจัดขึ้นที่ประเทศจีน ใน พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015

การแข่งขันมีขึ้น ที่เมืองอู๋ซี ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15-21 มิถุนายน ปรากฏว่า ทีมชาติจีน ชุดบี ได้แชมป์ด้วยการชนะ ทีมชาติสกอตแลนด์ 4-1 เฟรม

ปัจจุบัน ถ้วยใบนี้ได้รับการรักษาเป็นอย่างดี อยู่ที่ตู้เซฟของ เวิลด์ สนุกเกอร์ ณ ประเทศอังกฤษ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่ถ้วยรางวัลที่สุดของที่สุด

คือถ้วยพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย “ราชาของราชัน”

หนึ่งเดียวในโลก…………King of Kings

มาถึงตรงนี้ 3-7 กรกฎาคม จะมีการดวลคิวกันอีกครั้ง ที่ประเทศจีน ในศึกชิงแชมป์โลก ถามตรง ๆ ว่า อ่านถึงบรรทัดนี้ท่านสงสัยและคิดเหมือนกันหรือไม่ว่า

ทำไม เพราะอะไร ถ้วยพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และเป็นถ้วย “กษัตริย์ยิ่งกว่ากษัตริย์” กลับไม่ได้จัดที่ประเทศไทย

แปลกมาก แปลกจริง ๆ

ถามความรู้สึกว่า หากเรานำฟุตบอลคิงส์คัพ, ตะกร้อคิงส์คัพ ไปแข่งขันที่ประเทศอื่น เราจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง

ถามว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในภาครัฐบาล ไม่สะทกสะท้านอะไรเลยล่ะหรือ

ปล่อยให้ สมาคมฯ ต้องดิ้นรนอยู่เพียงลำพังเท่านั้นล่ะหรือ

อันที่จริงงบประมาณอาจจะสูงลิ่ว แต่เมื่อเทียบกับหลาย ๆ กีฬา เทียบกับที่บิดกันเอามาง่าย ๆ อย่าง “โมโตจีพี”

นี่จัดสนุกเกอร์รายการนี้ได้ 10 ปีเลยนะครับ

อีกทั้งการถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ผ่านทางยูโรสปอร์ต วันละเป็น 10 ชั่วโมง แข่งขันกันเป็นอาทิตย์ และมีนักกีฬาไทยในฐานะเจ้าภาพลงทำการแข่งขัน

จะดีกว่าบางชนิด หรือหลายชนิดกีฬาหรือเปล่า

ที่จริงเป็นเรื่องคอมมอนเซนต์อย่างมาก จริง ๆ ไม่ได้ยาก แต่มันยากตรงที่คิดไม่ได้

บางครั้งอาจไม่ได้คิด

ดังนั้นฝากกันไว้ด้วยว่า อย่าคิดอะไรง่าย ๆ คิดอะไรเพียงแค่อยากจะได้เท่านั้น แต่ให้คิดวงกว้าง เพราะกีฬาเหมือนกัน และสนุกเกอร์ก็เป็นหนึ่งในโครงการกีฬาอาชีพของประเทศ

ฝากไว้ให้คิดกันหน่อย อย่างน้อย ๆ ตอนนี้ สนุกเกอร์ ก็ยังติดค้างอยู่อย่างเหลือเชื่อ กับเรื่องเต่าล้านปีนั่นคือ พรบ.การพนัน ซ้อนอยู่กับ พรบ.กีฬา

 

ย้ำอีกครั้งว่า ที่จริงเป็นเรื่องคอมมอนเซนต์อย่างมาก จริง ๆ ไม่ได้ยาก แต่มันยากตรงที่คิดไม่ได้

บางครั้งอาจไม่ได้คิด....ก็เท่านั้นเอง!!!!

 

 

 

 

บี แหลมสิงห์

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 416)