ตำนานสนุกเกอร์ 6 แดง

3 ส.ค. 61

ใน ยุคก่อนหรือเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว ใครที่เหยียบเข้าสถานที่ อโคจร หรือ โต๊ะบิลเลียด จะถูกมองว่าเป็นพวกกุ๊ย พวกไร้การศึกษา เพราะผู้ก้าวเข้าไปจะหมกมุ่นเล่นบิลเลียดแบบหามรุ่งหามค่ำ กินนอนกันตามโต๊ะ ซึ่งบางแห่งมีโต๊ะยาวสำหรับ คนนอบสูบฝิ่น สูบกัญชา และเป็นแหล่งรวบรวมพวกนักเลง-นักปล้น-นักฆ่า ใครรับงานมาจะประชุมกันในสถานที่แห่งนี้จนกลายเป็นจุดรวมของ กลุ่มโจร

ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจ ทำไม ผู้ปกครองสมัยนั้นจึงสั่งห้ามลูกหลานเหยียบเข้าโต๊ะบิลเลียดเด็ดขาด หากจับได้ว่าใครหนีเข้าไปสถานที่แห่งนี้จะถูกลงโทษขั้นรุนแรง แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปจนถึง พ.ศ. 2525 มีคนอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมายาวนานชื่อ มร.มอริส เคอร์ ซึ่งช่วงนั้นเป็นบอร์ดบริหารสโมสรสปอร์ตคลับ หรือ ราชกรีฑาสโมสร ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าก็คือ สนามม้าฝรั่ง อยู่ถนนอังรีดูนังต์ใกล้สถานที่ศึกษาสำคัญแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณมอริส เคอร์ ได้รื้อฟื้นการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งหนล่าสุดจัดเมื่อปี 2513 ที่สมาคมปักษ์ใต้ ถนนราชเทวีและจากนั้นก็ไม่มีการแข่งขันอีกเลย เมื่อคุณมอริส มีไอเดียจะจัดชิงแชมป์ประเทศไทยแต่ติดขัดที่สนามม้าราชกรีฑาไม่มีสถานที่ ดังนั้นจึงต้องมาขอใช้สถานที่จัดการแข่งขันที่ สโมสรราชตฤณมัยหรือสนามม้านางเลิ้ง โดยจัดในลานจอดรถของสนามม้า ใช้โต๊ะแข่งขัน 2 ตัวโดยใช้ผ้าใบคลุมรอบสถานที่แข่งขัน แล้วเช่าแอร์ขนาดใหญ่มาช่วยทำความเย็น โดยมีนักสนุกเกอร์สมัยนั้นลงแข่งขันแค่ 16 คน ซึ่งช่วงนั้นมีเซียนดังน้อยมาก อาทิ วิเชียร แสงทอง (กิ๊ด นครสวรรค์) ตา ตันยุติธรรม (ตา ลพบุรี) ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ชัย ลำพูน) ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย (เง็ก อ่างทอง) ธงชัย แซ่ลิ้ม (เป้า ศิษย์ฉ่อย) นิพนธ์ ผมเงิน (โก๊ะ อยุธยา) ชรินทร์ ชยานุรักษ์ (เอ็ง บ้านใหม่) ประสงค์ พลารักษ์ (กุ่ม ดาวคะนอง) คีรินทร์ ซื่อเจริญ (รินทร์ ระยอง) จั๊ว แซ่โง้ว (จั๊ว แปดริ้ว) นพ ชยาธารรักษ์ (นพ บ้านใหม่) นอกจากนี้ยังมี เซียนบัติ หัวตะเข้-เซียนสุข วิเศษ-เซียนดำ ศรีราชา-เซียนนัน ลำปาง

โดยการแข่งขันหนนั้นปรากฏว่า วิเชียร แสงทอง ครองแชมป์ประเทศไทยได้อีกสมัยโดยชนะ ธงชัย แซ่ลิ้ม หรือ เป้า ศิษย์ฉ่อย ซึ่งช่วงนั้นฟอร์มสดมาก และจากปีนั้นเป็นต้นมา การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยก็มีการแข่งขันต่อเนื่องซึ่งจัดโดย คิวทอง จนถึงปี 2530 ได้นายกสมาคมคนใหม่สืบแทน คุณมอริส เคอร์ ซึ่งร่างกายทรุดโทรมและเสียชีวิตในปีเดียวกันจึงได้ คุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ทำหน้าที่นายกสมาคมฯ และดำเนินการจัดชิงแชมป์ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทย ใช้กติกาการแข่งขันสากลดังนั้นจึงต้องแข่ง 15 แดง ซึ่งบรรดาเซียนยุคนั้นไม่ถนัด เพราะปกติเล่นกันเฉพาะ 5 แดง และที่สำคัญไม่มีการแข่งขัน มีแต่เอาเงินกันเท่านั้น เมื่อมาเจอกติกาแข่งขันใหม่ ๆ ทำให้หลายเซียนมึนตึ๊บเพราะถูกจับฟาวล์บ่อยครั้ง

และเมื่อปี 2547 ได้กำเนิดสนุกเกอร์ 6 แดง จัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยใช้ชื่อ โฮคิทเช่น ไทยแลนด์คัพ สาเหตุจากการใช้ชื่อนี้เป็นเพราะ นายศักดา รัตนสุบรรณ ผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันเนื่องจากเห็นว่า มือเดินสายตะเวนไปเล่นพนันตามสถานที่ต่าง ๆ หากจับมาแข่งขันก็จะรู้ว่า ใครฝีมือดีกว่ากัน เพื่อจะได้มีการจัดอันดับในนิตยสารสนุกเกอร์ คิวทอง โดยได้งบประมาณจัดแข่งขันจากคุณสุนทร จารุมนต์ หุ้นส่วนใหญ่โฮคิทเช่น ภัตตาคารจีนชื่อดังที่กำลังมาแรง ให้เงินสนับสนุนจำนวน 200,000 บาท ซึ่งผลแข่งขันหนนั้น สุพจน์ แสนหล้า (แจ็ค เชียงใหม่) เอาชนะ วรวิทย์ สุริยศรีวรรณ (เต็ก หัวหิน) และนี่คือที่มาของสนุกเกอร์ 6 แดง ซึ่งต่อมา สมาคมกีฬาบิลเลียดฯ ได้ลงบทความถึงความเป็นมา เนื่องจากโค้ชของ รอนนี่ โอซุลลิแวน ซึ่งไทยจ้างมาเป็นผู้ฝึกสอนก่อนถึงซีเกมส์ ครั้ง 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา และต่อไปนี้คือบทความที่สมาคมฯ บันทึกไว้ในงานแถลงข่าวเมื่อ 19 ก.ค. 2561 ที่โฮคิทเช่น ถนนพระราม 3

 

แจ๊ค เชียงใหม่
แจ๊ค เชียงใหม่

“สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นเกมที่นิยมเล่นกันในกลุ่มผู้เล่นสนุกเกอร์ตามคลับและสโมสรต่าง ๆ ในประเทศไทยมาช้านาน การมีลูกแดงเพียง 6 ลูก ทำให้ง่ายต่อการเล่น และเหมาะสำหรับผู้ต้องการเล่นสนุกเกอร์เพื่อความสนุกสนาน แต่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ที่นิยมเล่นกันตามสโมสร จะมีกติกาการแข่งขันแตกต่างไปจากสนุกเกอร์แดง 15 ลูก ตามกติกาสากล คือมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเล่นเพื่อนันทนาการในระดับสโมสรเท่านั้น แม้จะเป็นเพียงเกมที่เล่นกันในสโมสร แต่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ก็มีจุดเด่นที่รูปแบบการเล่นที่รวดเร็ว กระชับ และฉับไว จึงสามารถสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้ทั้งผู้เล่นและผู้ชม

การแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ตามกติกาสากล จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ช่วงกลางปี 2547 โดยนิตยสารสนุกเกอร์ “คิวทอง” มีนักสนุกเกอร์จากทั่วประเทศสนใจสมัครเข้าแข่งขันกว่า 80 คน แข่งขันในระบบแพ้คัดออก 5 ใน 9 เฟรม ในครั้งนั้น นายสุพจน์ แสนหล้า (แจ็ค เชียงใหม่) เป็นแชมป์คนแรก ซึ่งระหว่างจัดแข่งขันรายการนี้ Mr. Derek Hill อดีตโค้ชส่วนตัวของแชมป์โลกหลายสมัยชาวอังกฤษ Ronnie O’ Sullivan ที่เดินทางมาฝึกสอนนักสนุกเกอร์ทีมชาติไทยเตรียมเอเชียนเกมส์ที่ประเทศกาตาร์ ได้มีโอกาสชมการแข่งขันต่อเนื่องทุกวัน และรู้สึกประทับใจ “สนุกเกอร์ 6 แดง” อย่างมาก โดยก่อนกลับอังกฤษ Mr. Derek Hill ได้ส่งหนังสือถึงนายสินธุ พูนศิริวงศ์ อดีตนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้นำ “สนุกเกอร์ 6 แดง” มาจัดแข่งขันในระบบสากล เนื่องจากเป็นเกมที่รวดเร็ว ตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับกีฬาพูล หนึ่งในกลุ่มกีฬาบิลเลียด (Billiard Sports) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่สำคัญคือ ผู้เล่น “สนุกเกอร์ 6 แดง” ทุกคนมีโอกาสแพ้-ชนะได้เท่ากันหมด เป็นเกมที่เดาได้ยาก ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ จึงสามารถสะกดผู้ชมให้ติดตามการแข่งขันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นเกมที่สามารถฝึกทักษะการเล่นสนุกเกอร์ที่ดีให้กับนักกีฬาด้วย โดย Mr. Derek Hill จะนำการเล่น “สนุกเกอร์ 6 แดง” กลับไปสอนนักกีฬาอาชีพที่เขาดูแลอยู่ด้วย นายสินธุ พูนศิริวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งทั้งนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย และนายกสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเชีย (Asian Confederation of Billiard Sports – ACBS) จึงได้หารือกับนายศักดา รัตนสุบรรณ อุปนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ซึ่งเห็นพ้องกันว่า น่าจะผลักดันให้มีการบรรจุกีฬา “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในรายการแข่งขันสำคัญ ๆ เพื่อปลุกกระแส “กีฬาสนุกเกอร์” ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา ACBS และสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันผลักดันให้มีการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน Multi Sports Games เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้สนุกเกอร์กลับมาได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มผู้เล่นและผู้ชมอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักกีฬาจากประเทศที่เพิ่งเริ่มพัฒนาสนุกเกอร์ มีสิทธิ์คว้าเหรียญรางวัล และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนานักกีฬาสนุกเกอร์จากรัฐบาลของตน อันจะมีผลทางอ้อมต่อการพัฒนาสนุกเกอร์ให้กว้างไกลไปทั่วเอเชียและโลก เพราะหากจัดแข่งขันเฉพาะสนุกเกอร์แดง 15 ลูกแล้ว นักกีฬาจากประเทศที่กำลังพัฒนา จะไม่มีโอกาสชนะนักกีฬาที่มีความชำนาญในการเล่น 15 แดงได้เลย

หลังจาก ผลักดันให้มีการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง” ให้แจ้งเกิดในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 แล้ว เพื่อให้การเผยแพร่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีต่อมา ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สมาคมฯ จึงจัดการแข่งขัน “การแข่งขัน สนุกเกอร์ 6 แดง นานาชาติ ประจำปี 2551” โดยมีนักสนุกเกอร์ชั้นนำทั้งระดับเอเชีย ยุโรป และนักสนุกเกอร์อาชีพของโลกเข้าร่วมการแข่งขัน จากการที่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” เป็นเกมที่รวดเร็ว กระชับฉับไว นักกีฬาทุกคนมีโอกาสแพ้-ชนะเท่ากัน คาดเดาได้ยากว่าใครจะเป็นผู้ชนะ จึงเป็นเกมที่ตื่นเต้น เร้าใจและน่าติดตาม การแข่งขันฯ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุก ๆ ด้าน ทั้งการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารสหพันธ์กีฬานานาชาติที่ได้รับเชิญให้มาชมการแข่งขัน, ผู้ชมที่สนามแข่งขัน และจากนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งบางคนเสนอตัวขอมาแข่งขันในปีหน้า ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญคือ ได้รับความสนใจจากช่องทีวีกีฬาซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ESPN นำเทปการแข่งขันไปเผยแพร่ รวม 14 ชั่วโมง จากนั้นมา ความนิยม “สนุกเกอร์ 6 แดง” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 10 ปี ทำให้ “สนุกเกอร์ 6 แดง” แจ้งเกิดในการแข่งขันทุกระดับ ทั้งในกีฬาซีเกมส์, เอเชียนอินดอร์เกมส์, สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์เอเชีย, สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลกสมัครเล่น รวมทั้ง สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์โลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ยกระดับมาจากสนุกเกอร์ 6 แดง นานาชาติ และขณะนี้ สมาคมสนุกเกอร์อาชีพโลก (World Snooker) รับรองให้เป็นรายการแข่งขันประจำปี

เพื่อการพัฒนา “สนุกเกอร์ 6 แดง” ให้ก้าวไปสู่มาตรฐานสากลทั้งในประเทศไทยและ ทั่วโลกควบคู่กันไป “การแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์ประเทศไทย” จึงถือกำเนิดขึ้นในปีเดียวกับการแข่งขันสนุกเกอร์ 6 แดง นานาชาติ โดยการรับรองของการกีฬาแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย เป็นรายการแข่งขันประจำปี

เพื่อเผยแพร่ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ในประเทศให้กว้างไกลขึ้น อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเล่นกีฬาสนุกเกอร์เพิ่มมากขึ้น และทำให้สมาคมฯ สามารถเฟ้นหานักกีฬา “ดาวรุ่ง” ที่มีศักยภาพได้ ในปี 2557, 2558, 2559 และ 2560 อีกทั้ง ผู้ชนะเลิศในรายการนี้ จะได้สิทธิ์ลงแข่งขันในรายการ 6 แดงชิงแชมป์โลก ปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 3-8 กันยายน 2561 นี้ด้วย และเพื่อให้กีฬาสนุกเกอร์เผยแพร่เป็นที่นิยม สมาคมฯ จึงนำ “สนุกเกอร์ 6 แดง” ไปแข่งขันในห้างสรรพสินค้า เป็นการแข่งขันรอบ 32 คน ณ ห้องไอส์แลนด์ฮอลล์ แฟชั่นไอส์แลนด์ ทรูวิชั่นส์ถ่ายทอดสดให้ได้ชมกันทุกวัน ซึ่งที่ผ่านมาการแข่งขันประสบความสำเร็จอย่างสูง มีแฟนสนุกเกอร์ไปเชียร์จนแน่นสนามทุกรอบ

ในปี 2561 สมาคมฯ กำหนดจัดการแข่งขัน “สนุกเกอร์ 6 แดง ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2561” รอบ 32 คน ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2561 ณ แฟชั่นไอส์แลนด์ โดยการสนับสนุนของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อการแข่งขันอย่างเป็นทางการว่า “SangSom 6 – RED Thailand Championship 2018” โดยครั้งนี้ ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท และมีเงินรางวัลรวมกว่า 600,000 บาท นอกจากแฟนคลับสนุกเกอร์จะสามารถไปเชียร์ติดขอบสนามแล้ว ทรูวิชั่นส์จะทำการถ่ายทอดสดให้ได้ชมกันทุกวันตลอดการแข่งขันเช่นเดิม

 

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 429)