บันทึกวันอำลา “สนุ้ก” ในเอเชียนเกมส์

16 ส.ค. 61

เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2010 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ก่อนจะมีการเปิดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่นครกว่างโจว ประเทศจีน เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีประเด็นสำคัญให้กับคนข่าวต้องติดตาม

ปกติถ้าให้ตื่นเช้า นอกจาก “แม่” แล้วต้องเอา “กลองยาว” มาเร้าหทัย ถึงจะลุกได้ในสมัยนั้น แต่ 8 โมงเช้า ผมเดินข้ามถนนจากโรงแรมที่พักมาไม่ไกล สักประมาณ 500 เมตร

มีการประชุมครั้งสำคัญเกิดขึ้น

คณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ โอซีเอ ได้ปิดห้องถกกันเกี่ยวกับการพิจารณากีฬาที่จะเข้าแข่งขันในเอเชียนเกมส์ 2014 ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นไฮไลต์ที่ต้องติดตาม ที่โรงแรมการ์เด้น

โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วยแต่อย่างใด...ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

ลงท้ายคือ ถอดกีฬาสำคัญอย่าง “บิลเลียด-สนุกเกอร์” ออกจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2014 ที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้

นับเป็นข่าวช็อกมาก ๆ ไม่เฉพาะวงการสอยคิวเท่านั้น แต่รวมไปถึงวงการสนุกเกอร์ของเอเชียด้วย แน่นอนว่าข่าวนี้คือ “ข่าวร้าย” ที่ไม่มีใครปรารถนาจะได้ยิน และให้มันเกิดขึ้นจริง

ลงท้ายนี่คือเรื่องจริง เพราะประเด็น “เขี่ย” กีฬาคิวสปอร์ตยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง และดูมีเค้าว่าจะเป็นจริงอย่างเดียว หาใช่เป็นเพียง “ข่าวลือ” แต่อย่างใด

มันส่งกลิ่นมาก่อนประชุมนี้นานกว่า 2 ปี

ห้วงเวลาที่ผ่านมาที่ตกเป็นข่าว ความกระวนกระวายใจบังเกิดขึ้นในใจของคนในแวดวงสอยคิวเอเชียและไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกีฬาบิลเลียด สนุกเกอร์ นั้น ถือเป็นกีฬาความหวังของทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นใน ซีเกมส์ และ เอเชียนเกมส์

อีกทั้งยังเป็นชนิดกีฬาที่นักกีฬาไทยทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างชื่อเสียงมาตลอดทั้งในระดับเอเชีย และ ระดับโลก ขณะเดียวกัน กีฬาสนุกเกอร์ปัจจุบันก็ถือว่ากำลังเป็นที่นิยมเล่นอย่างกว้างขวาง เล่นกันทั่วโลก

มองว่าเป็นกีฬาระดับโลก

ความเป็นระดับโลกตรงนี้หาช่วยให้บิลเลียดสปอร์ตคงอยู่ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ เกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียไม่

หลังเสร็จการหารือ นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมด้วย เผยเกี่ยวกับประเด็นของบิลเลียด-สนุกเกอร์ว่า ค่อนข้างแน่นอนว่า จะไม่มีแข่งขันในเอเชียนเกมส์ ครั้งหน้า ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้

นั่นก็หมายความว่า “ถูกหั่น” พ้นเอเชียนเกมส์

ส่วนสาเหตุที่กีฬาบิลเลียด-สนุกเกอร์ จะโดนตัดออกจากเอเชียนเกมส์นั้น

เพราะ “ไม่ป็อปปูลาร์”!!!!!!!

หมายความว่า บิลเลียด-สนุกเกอร์ ไม่เป็นที่นิยมนั่นเอง

ฟังแล้วเหตุผลดังกล่าวก็รู้สึกสับสน เหตุใดสนุกเกอร์ถึงไม่ป็อปปูลาร์ เพราะจะว่าไปแล้วสนุกเกอร์ถือว่าเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วโลก ต่างจากบางชนิดกีฬาที่แม้ว่าจะมีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ความนิยมก็ยังสู้สอยคิวไม่ได้ด้วยซ้ำ

เมื่อย้ำถามเหตุผลอีกครา...คำตอบยังเหมือนเดิม “ไม่ป็อปปูลาร์”

ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า อีกเหตุผลของโอซีเอ คือ ต้องการปรับปรุงเกมกีฬาทั้ง 3 รายการ ที่ดูแลอยู่ ได้แก่ เอเชียนเกมส์, เอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ และ เอเชียนบีชเกมส์

ให้มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และยกระดับเกมการแข่งขัน

ทีนี้จึงจำเป็นต้องปรับลดชนิดกีฬาแข่งลง ซึ่งเอเชียนเกมส์นั้นมองว่ามีจำนวนกีฬาแข่งมากเกินไป ดังนั้นจึงจะปรับให้เหลือแข่งเพียง 35 ชนิดกีฬา ในจำนวนนี้จะเป็นกีฬาที่มีแข่งในโอลิมปิก 28 ชนิด และอีก 7 ชนิด จากที่แต่ละชาติเสนอเข้ามา

7 กีฬาที่ว่า เจ้าภาพจะได้โควตาเสนอ 2 ชนิด, 1 ชนิด เป็นโควตาของโอซีเอ และอีก 4 เป็นแต่ละชาติเสนอเข้ามา

ในจำนวนนี้ นายพิพัฒบอกว่า กีฬาตะกร้อ กับ มวยไทย ซึ่งมีการเสนอเข้าไปมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการพิจารณาแข่งขันต่อไป ส่วนกีฬาอื่น ๆ ต้องลุ้น ซึ่งบอกว่ายังมีกีฬาอย่าง คริกเก็ต, เน็ตบอล และคาราเต้-โด

โอซีเอ จะมีการหารือพิจารณาตัดสินกันอีกครั้ง และคาดว่าไม่เกิน 2 วัน ทุกอย่างก็จะชัดเจน

มีคำถามอีกว่าเมื่อดีดพ้นเอเชียนเกมส์แล้ว บิลเลียด-สนุกเกอร์จะไปอยู่ตรงไหน ซึ่งคำตอบคือ จะนำ บิลเลียด-สนุกเกอร์ ไปไว้ในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์-มาร์เชียลอาร์ตเกมส์แทน

กับคำถามสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดฯ ไม่มีโอกาสคัดค้านเลยหรือ ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย บอกว่า ไม่มีทางค้านได้

ทุกคนยังคิดถึงวันนี้ว่า “ไม่มีทางค้าน” หรือว่า “ไม่ได้ค้าน” กันแน่

คนที่สะดุ้งที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของเรื่องนี้คงไม่พ้น “บิ๊กสิน” สินธุ พูนศิริวงศ์ ประธานสมาพันธ์กีฬาบิลเลียดแห่งเอเชีย (เอซีบีเอส) ผู้ผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้เข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1998 โดยได้รับการผลักดันและสนับสนุนจาก นายสันติภาพ เตชะวนิชย์, พลตรีจารึก อารีราชการัณย์และ ดร.ณัฐ อินทรปาณ ที่ดูแลอยู่ในสมัยนั้น

กระทั่งอยู่ยั้งยืนยงมาได้ 3 สมัย นั่นคือ บางกอกเกมส์, ปูซานเกมส์ และโดฮาเกมส์ ก่อนจะสั่นคลอนสุด ๆ ก่อนศึกกวางโจวเกมส์

“ผมได้ยินข่าวนี้แล้วรู้สึกช็อกมาก” นายกสอยคิวไทย และประธานเอเชียในสมัยนั้น เปิดใจ “ผมจึงเริ่มดำเนินงาน มีจดหมายไปยัง เกาหลีใต้ เพื่อขอพบ ประธานโอลิมปิกของเขา ซึ่งพอดีกับที่ เกาหลีใต้ ได้เชิญไปร่วมชมการแข่งขันชิงแชมป์โลกแครอมบอล ที่นครซูวอน ผมก็มีจดหมายตอบไปว่า ผมจะไป”

จากนั้นได้เข้าพบกับ ดร.ยุน แต๊ก ลี (Yun Taek Lee) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันอินชอนเกมส์ เพื่อพูดคุยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบิลเลียดสปอร์ต เอเชียนเกมส์

หลังจากการพูดคุยครั้งนั้น นายสินธุ เดินทางพบกับสมาชิกของเอซีบีเอส ในรายการกีฬาสำคัญต่าง ๆ ของทวีป ไม่ว่าจะเป็น อีสต์ เอเชียนเกมส์, เอเชียน อินดอร์เกมส์ และซีเกมส์ เพื่อพูดคุยกับ นายกสมาคมของชาติสมาชิก และเอ็นโอซีของแต่ละประเทศ เพื่อขอการสนับสนุน

รวมไปถึงขอคำแนะนำจาก พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทย และพลตรีจารึก อารีราชการัณย์ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป และก็มีคนแนะนำก็คือต้องพบกับ มร.ซาง จีหลง (Zhang Jilong) ซึ่งเป็น “สปอร์ตไดเรคเตอร์” ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ชาวจีน

เมื่อได้พบกับ มร.ซาง และชี้แจงว่า ทำไมจึงต้องสนับสนุนให้ “บิลเลียดสปอร์ต” อยู่ในเอเชียนเกมส์

“การตัดออกจากเอเชียนเกมส์หนนี้ มีแต่เรื่องเสียหายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน, การตลาด และเสียกีฬาที่เป็นความภูมิใจของชาวเอเชีย ดังนั้น เมื่อ มร.ซาง จีหลง รับฟังเหตุผลทั้งหมด จึงให้สัญญากับผมว่า พร้อมสนับสนุนเต็มที่ และอาจจะมีประชุมบอร์ดโอซีเอ ก่อนกวางโจวเกมส์ อาจจะเชิญผมไปร่วมแถลงในครั้งนี้ ซึ่งผมได้ขอเสนอให้มีการบรรจุเรื่องบิลเลียดสปอร์ต เป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งต่อไป แต่ลงท้ายไม่ได้เข้าประชุม ทั้งที่อุตส่าห์ลงทุนเปิดโรงแรมอยู่ฝั่งตรงข้ามนั่นเอง”

ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะบิลเลียดสปอร์ต ถูกบรรจุแข่งขันอยู่ในระดับเวิลด์เกมส์ ตั้งแต่ อาคิตะ ปี 2001, ดุ๊ยส์บวร์ก 2005 และ ไทเป 2009 แสดงให้เห็นว่า บิลเลียดสปอร์ต ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ไปเรียบร้อยแล้ว

ข้อสำคัญอีกข้อที่บอกว่า “บิลเลียดสปอร์ต” คือกีฬาแห่งความภูมิใจของชาวเอเชีย เพราะคนในทวีปนี้ไม่เสียเปรียบ ในเรื่องของสรีระแต่อย่างใด

เรื่องนี้ได้พิสูจน์มาเป็นเวลานานแล้ว แชมป์สนุกเกอร์สมัครเล่นโลกเป็นของ ไทย และแชมป์สนุกเกอร์สะสมคะแนนโลก มีทั้งนักกีฬาไทย และจีนที่ทำได้สำเร็จ

แชมป์โลกบิลเลียด ก็คือ อินเดีย

แชมป์โลกพูล ก็คือ ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในประเภทชาย ขณะที่ประเภทหญิง ก็คือ ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และจีน

แชมป์โลกแครอมบอล ก็คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ชัดเจนว่า คนเอเชียไม่ได้เป็นรองคนทวีปไหนเลย และเป็นแชมป์โลกมาแล้วทั้งนั้น

อีกหนึ่งอย่างก็คือ เรื่องของการพาณิชย์ เพราะโต๊ะที่ใช้แข่งขัน ก็ผลิตในเอเชียไม่แพ้ที่ไหนในโลก ส่วนใหญ่มาจากจีน แม้กระทั่งระดับมือโปรในเวิลด์สนุกเกอร์ ก็ยังใช้โต๊ะของจีน

เช่นเดียวกับ “ไม้คิว” นี่ก็มาจากเอเชียเช่นเดียวกัน

นี่คือ ผลเสียหากตัด “บิลเลียดสปอร์ต” ออกจากเอเชียนเกมส์ นับไปนับมา ต้องบอกว่า “มหาศาล”

เป็นไปได้เหมือนกัน กีฬาที่เราเป็นแชมป์โลกมาทั้งหมด ถูกตัดออกจาก “กีฬาที่ดีที่สุด” ของทวีป

นึกแล้วยังเสียดายถึงวันนี้ และน่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ว่า ในทุก ๆ วงการ ถ้าจะเข้าประชุมอะไรทั้งที คุณต้องกล้านำเสนอ และส่งคนกล้าเข้าไปนำเสนอ

ถ้าหากเอาคน “มีปากเหมือนมีตูด” มันก็ “พูดไม่ได้”

แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้รบโดยแท้จริง

 

บี แหลมสิงห์

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 429)