การตั้งเป้าหมายเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

14 มิ.ย. 60

ผมได้มีโอกาสรับชมการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกปี 2017 ไปเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข้อมูลหนึ่งที่ผมเพิ่งได้รับในระหว่างการรับชมนั้นก็คือ จำนวนเงินรางวัลรวมของทุกรายการแข่งขันในปีนี้พุ่งขึ้นไปถึง 10 ล้านปอนด์ และในฤดูกาลหน้าจะขึ้นไปถึง 12 ล้านปอนด์ จำนวนเงินนี้ หากเทียบกับกีฬาระดับโลกอื่น ๆ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล (เมื่อเทียบรายได้ต่อคนที่ได้รับต่อปี) และอื่น ๆ อีกมากมาย ถือได้ว่ามีจำนวนอาจจะไม่มากเท่า เนื่องจากเป็นกีฬาที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ไม่กว้างขวางนัก อย่างน้อยก็แทบจะไม่มีนักกีฬาอเมริกันเล่นเลย สปอนเซอร์จึงค่อนข้างจำกัด

แต่ในมุมมองผมจำนวนเงินรางวัลขนาดนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผมได้ติดตามกีฬาสนุกเกอร์มายาวนานกว่า 20 ปี มหาศาลมากครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงที่คุณต๋อง ยังคงรุ่งเรืองอยู่ ผมเคยได้อ่านข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่ง ข่าวได้พูดถึงนักสนุกเกอร์อาชีพท่านหนึ่ง คือ อลัน แม็กมานัส ที่ช่วงหนึ่งเคยรุ่งเรืองมากจนติด Top 10 อยู่หลายปี ที่หลังจากลงแข่งขันในกีฬาชนิดนี้มานานประมาณ 10 ปี เขาเป็นนักสนุกเกอร์คนที่เท่าไรที่ทำเงินผ่านหลักล้านปอนด์ผมก็จำไม่ได้แน่ชัดนัก ข่าวระบุว่าเขาสามารถทำเงินผ่านหลัก 1 ล้านปอนด์ ได้สำเร็จ ซึ่งในยุคสมัยนั้นผมก็ว่าเยอะอยู่ครับ

กลับมาที่การแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งล่าสุด จากข้อมูลที่ได้รับก็ทำให้ผมทราบว่าตัวมาร์ค เซลบี้ แชมป์โลกสมัย 3 ในปี 2017 นี้ ทำเงินรางวัลทั้งฤดูกาลได้ถึง 932,875 ปอนด์ เกือบจะผ่านหลัก 1 ล้านปอนด์ ได้อย่างไม่ยากเย็น และเป็นการทำได้ในปีเดียว คิดเป็นราว ๆ ร้อยละ 10 ของเงินรางวัลทั้งหมดที่มีการแจกตลอดการแข่งขันทุกรายการ และถือเป็นผู้ที่ได้เงินรางวัลมากที่สุดของปีไปพร้อมกัน

ตัวเลขร้อยละ 10 ในมุมมองผม ถ้าเรามองในแง่ของการตลาด ที่ในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นหรือได้ยินได้ฟังในแทบจะทุกธุรกิจ มันก็คือ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” ดี ๆ นี่เอง เช่น ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง มีมูลค่าตลาดราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท บริษัทที่อยู่ใน Top 3 มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ราว ๆ ร้อยละ 90 ประกอบด้วย M150, CBG และ Red bull (ข้อมูลจากหนังสือ Forbes Thailand เมษายน 2560) ก็หมายความว่า ตลาดเกือบทั้งหมดอยู่ในมือของผู้เล่นรายใหญ่ โดยร้อยละ 57 ตกเป็นของบริษัทที่ดูแลแบรนด์ M 150 ส่วนที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 10 หรือ 2 พันล้านบาท ก็จะเป็นเจ้าเล็ก ๆ ไปแย่งชิงกันดุเดือดต่อไป เปรียบเทียบกับวงการสนุกเกอร์ร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดก็อยู่ในมือของ Top ที่ไม่น่าจะเกินมือ 10 ลงมา

ข้อมูลที่ผมนำเสนอมาข้างต้น ผมคิดว่าเราสามารถนำมาปรับใช้งานกับตัวนักสนุกเกอร์ทุกท่านได้เป็นอย่างดีครับ กล่าวคือ เราสามารถนำมาใช้เป็น “เป้าหมาย” ในแต่ละปี ที่นักสนุกเกอร์ไทยทุกคนจะเดินทางไปแข่งขัน เป้าหมายก็คือ “การแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด” นั่นเอง เพราะปัจจุบันกีฬาสนุกเกอร์ได้มีผู้เล่นรายใหญ่ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนแล้ว นั่นก็คือ “ประเทศจีน” และเมื่อนักกีฬาจีนเริ่มทยอยกันเข้ามาเล่นในกีฬาชนิดนี้ และตัวนักกีฬาเองก็เพียบพร้อมด้วยคุณภาพของทักษะทางการกีฬา ก็ย่อมเป็นตัวดึงดูดผู้สนับสนุนทางการเงินสารพัดเจ้าให้เข้ามาร่วมเป็นตัวแสดงกันอย่างมากมาย สังเกตได้จากมูลค่าทางการตลาดของกีฬานี้ที่เริ่มเติบโตขึ้นถึง 10 ล้านปอนด์ในปีนี้ และเป็น 12 ล้านปอนด์ในปี 2018

เพราะเพียงแค่เราแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้สักร้อยละ 1 ต่อปี เราก็ได้เงินรางวัลแล้วไม่น้อยกว่า 1.2 แสนปอนด์ คิดเป็นเงินไทยก็ราว 4-5 ล้านบาท แล้วครับ และบางทีอาจจะไม่ต้องเป็นแชมป์อะไรเลยก็ยังได้ แต่หากเรารักษาระดับการเล่นได้สัก 10 ปี ก็นับเป็นการลงทุนที่ไม่เลวเลยทีเดียว

ในมุมของผม หากนักสนุกเกอร์ไทยเริ่มใช้หลักในการ “ตั้งเป้าหมาย” เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด นักกีฬาแต่ละท่านก็จะเริ่มมีมุมมองใหม่ ถือเป็นการปรับทัศนคติหรือมุมมองใหม่ ๆ ให้กับตนเอง ซึ่งก็จะนำไปสู่การกำหนด “แผนการพัฒนาตนเอง (IDP)” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนที่ว่า “ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง สังเกตได้จากนักกีฬาหน้าใหม่และหน้าเก่าที่เริ่มทยอยกันกลับมาเล่น ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะผลักดัน หรือยกระดับตนเองในการพัฒนาให้ตัวนักกีฬาได้ก้าวไปข้างหน้าได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เพราะหากเราตั้งเป้าหมายเป็น “ตัวเลข” มันก็ “วัดได้” ว่าปีนี้เราทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และเมื่อวัดได้เราก็จะ “เข้าใจ” ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเราที่เกิดจากผลการแข่งขัน ไปจนถึงการนำแนวทางการวิเคราะห์เข้ามาใช้งาน เพื่อพัฒนาตัวเราไปสู่เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น เช่น ที่เรายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้น เพราะระยะเวลาการซ้อมที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หรือเพราะเราพักผ่อนไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมการแข่งขันกดดันเรามากเกินไปไหม เพราะเราบริหารแผนการเดินทางไม่ดีหรืออย่างไร แล้วเราต้องทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ฯลฯ

ในโอกาสหน้า ผมจะลองมานำเสนอมุมมองในการบริหารเงินอย่างมีกรอบ (Framework) ให้กับนักกีฬาสนุกเกอร์กันดูนะครับ

 

สุรศักดิ์ อัครอารีสุข

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 415)