ต้นกำเนิดของกีฬาสนุกเกอร์
7 มิ.ย. 54 |
กีฬาสนุกเกอร์ มีต้นกำเนิดมาอย่างไร กีฬาสนุกเกอร์ เชื่อกันว่ามีการเริ่มเล่นกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายศตวรรษที่
19 โดยมีรากฐานของกีฬานี้มาจากกีฬาบิลเลียด (English Billiards) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
โดยเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในประเทศอินเดียในยุคนั้น กีฬาบิลเลียด ได้มีการนำมาเล่นกันก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น "กีฬาสุภาพบุรุษ" เนื่องจากเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันในหมู่เชื้อพระวงศ์ โต๊ะที่เล่นในสมัยแรก ๆ ไม่มีด้านข้าง ไม่มีหลุม หรือแม้แต่ขอบชิ่ง มีแต่เพียงหลุมบนพื้นโต๊ะ ที่จะต้องแทงให้ลูกหล่นลงไป ทุกครั้งที่ลูกลงหลุม ลูกก็จะหล่นลงไปบนพื้น ส่วนลูกที่เล่นในสมัยนั้น เป็นลูกที่ทำขึ้นมาจากงาช้าง ซึ่งแตกต่างจากลูกที่ใช้เล่นในสมัยใหม่เป็นอย่างมาก ในช่วงศตวรรษที่ 19 กีฬาชนิดนี้ เป็นที่นิยมเล่นกันเป็นอย่างมากในหมู่ทหารอังกฤษที่ประจำอยู่ฐานทัพในประเทศอินเดีย เนื่องจากกีฬาบิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นกันระหว่างผู้เล่น 2 คน โดยใช้ลูกบิลเลียด 3 ลูก เป็นลูกคิวบอล 2 ลูกสำหรับผู้เล่นแต่ละคน และเป็นลูกเป้าอีก 1 ลูก จึงทำให้มีการพัฒนาเกมการเล่นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถมีผู้เล่นได้มากขึ้น ซึ่งก็รวมไปถึงกีฬาพูลที่เรียกว่า Life Pool หรือ Pyramid Pool การเล่น Life Pool จะใช้ลูกสีต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นทั้งลูกคิวบอล และลูกเป้า ในการเล่น Pyramid Pool จะใช้ลูกแดง 15 ลูก และลูกขาวซึ่งเป็นลูกคิวบอล 1 ลูก และผู้เล่นจะได้ 1 คะแนนเมื่อตบลูกสีแดงลงไป 1 ลูก และได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโต๊ะที่ใช้ในการเล่นไปพร้อม ๆ กับเกมการเล่นไปด้วย ส่วนกีฬา Black Pool เป็นกีฬาที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับต่อมา โดยมีความคล้ายคลึงกับ Pyramid Pool แตกต่างกันตรงที่มีการนำเอาลูกสีดำ จากกีฬา Life Pool เข้ามาร่วมเล่นด้วย ซึ่งเมื่อแทงลงหลุมไป จะทำให้ได้คะแนนมากกว่าลูกอื่น ๆ ในปี 1875 มีนายทหารระดับนายพันที่ประจำอยู่ในกรมทหาร ในเมือง Jabalpur ในอินเดีย ชื่อ เซอร์ เนวิล ฟรานซิส ฟิชเจอร์รัล แชมเบอร์เลน (Sir Neville Francis Fitzgerald Chamberlain) ได้เสนอขึ้นมาว่า น่าจะมีการเพิ่มลูกสีอื่น ๆ เข้าไปในเกมอีก เพื่อให้มีคะแนนที่หลากหลาย พร้อมทั้งมีการนำลูกน้ำตาล และน้ำเงินเพิ่มเข้ามาอีกในเวลาต่อมา จึงทำให้รูปเกมค่อย ๆ พัฒนามาใกล้เคียงกับกีฬาสนุกเกอร์ในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่นั้นมา คำว่า "สนุกเกอร์" ก็ได้อุบัติขึ้นจากคำพูดของผู้พันแชมเบอร์เลน ที่เอ่ยขึ้นมาในขณะที่ผู้เล่นแทงไม่ถูกลูกเป้า ซึ่งผู้พันฯเรียกผู้เล่นคนนั้นว่า "สนุกเกอร์ ตัวจริง (a real snooker)" ซึ่งหมายถึงความไม่ชำนาญในการเล่นนั่นเอง คำว่า "สนุกเกอร์" จึงเป็นคำสแลงที่ใช้เรียกนักศึกษาวิชาทหารที่เพิ่งเข้ามาเรียนในปีแรกไปโดยปริยาย กติกาการเล่น "สนุกเกอร์" ได้มีการร่างขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1882 ที่ตำบล อูตากามุน (Ootacamund) ในเมืองมาดราส (Madras Province) ต่อมาในปี ค.ศ. 1885 มีแชมป์บิลเลียดชาวอังกฤษ ชื่อ "จอห์น โรเบิร์ต" เดินทางไปประเทศอินเดีย และได้พบกับผู้พันแชมเบอร์เลน เมื่อได้รู้จักกีฬาสนุกเกอร์แล้ว "จอห์น โรเบิร์ต" จึงได้นำไปแพร่หลายยังประเทศอังกฤษเมื่อเขาเดินทางกลับไปทันที
สนุกเกอร์ในช่วงปีแรก ๆ
"โจ เดวิส" (Joe Davis) ได้ช่วยส่งเสริมให้แพร่หลายขึ้น ด้วยการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพชิงแชมป์โลกขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเขาเป็นผู้ชนะ และได้รางวัลเป็นเงินสดกลับบ้าน เป็นจำนวน 6.10 ปอนด์ ซึ่งในขณะนั้น ความสามารถในการเล่นยังไม่สูงมาก ดูจากเบรคสูงสุดที่ทำได้เพียง 60 แต้มเท่านั้น ภายในปี ค.ศ. 1930 กีฬาสนุกเกอร์ ก็กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจอย่างมากชนิดหนึ่งของอังกฤษ โจ เดวิส เป็นผู้เล่นคนเดียวที่มีความชำนาญมากที่สุดในยุคนั้น กวาดแชมป์โลกไปทุกปีแบบไม่ยอมแบ่งให้ใครได้สัมผัสไปจนถึงปี ค.ศ. 1946 เมื่อเขาตัดสินใจแขวนคิวไปในที่สุด ในระหว่างปี ค.ศ. 1952 และ 1957 ได้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับกีฬาสนุกเกอร์กันขึ้น ระหว่างกระทรวงกีฬา คณะกรรมการควบคุมกีฬา และสมาคมกีฬาบิลเลียดของอังกฤษ โดย 2 ฝ่ายแรกไม่รับรองตำแหน่งแชมป์โลก เนื่องจากมีผู้เข้าแข่งขันเพียง 2 คนเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะมีการจัดการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการขึ้น ผู้ที่ชนะเลิศในการแข่งขันในสมัยนั้น ซึ่งได้แก่ ฮอเรซ ลินดรัม (Horace Lindrum) จึงไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแชมป์โลกในทุกครั้งที่เขาคว้าแชมป์ได้ ทั้ง ๆ ที่คนทั่วไปยอมรับว่าเขาคือผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลกในขณะนั้นก็ตาม ผลพวงจากข้อพิพาทนี้ จึงทำให้การจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลก ต้องหยุดชะงักไปหลายปี ในระหว่างปี ค.ศ. 1958 ถึง 1963 เติบโต จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในปี ค.ศ. 1969 สถานีโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ (BBC)
ได้จัดการแข่งขันขึ้น โดยให้ชื่อว่า "Pot Black Tournament" ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมากในการที่จะนำกีฬาสนุกเกอร์เข้าสู่สายตาของประชาชน
การแข่งขันได้รับความสำเร็จเรื่อยมา จนกระทั่งปี ค.ศ. 1980 จึงได้ยุติลง แต่ได้มีการจัดการแข่งขันในรูปแบบใหม่
ๆ รายการใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ การถ่ายทอดสดการแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งแรก มีขึ้นในปี ค.ศ. 1973 มีการนำระบบคะแนนสะสมมาใช้ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1976 และในปี ค.ศ. 1977 การแข่งขันชิงแชมป์โลก ก็ได้ย้ายมาแข่งขันกันที่ครูซิเบิ้ล เธียเตอร์ ในเมืองเชฟฟิลด์ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ภายในปี ค.ศ. 1980 กีฬาสนุกเกอร์ได้กลายเป็นกีฬายอดนิยมชนิดหนึ่งของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพอังกฤษไปแบบไม่ต้องสงสัย จิมมี่ ไวท์ ในมาดนักสนุกเกอร์หนุ่ม ผู้เป็นนักสนุกเกอร์ขวัญใจประชาชน"สตีฟ เดวิส" กลายเป็นเทพบุตรคิวทองคนแรก ที่เรียกความนิยมจากแฟนสนุกเกอร์อย่างมากมาย พร้อมทั้งกวาดแชมป์โลกไปครองในช่วงหนึ่งได้ถึง 6 สมัย ด้วยบุคคลิกที่เป็นสุภาพบุรุษ การเล่นที่ครบเครื่อง และจากผู้จัดการส่วนตัวที่เก่งฉกาจ ที่ชื่อว่า "แบรี่ เฮิร์น (Barry Hearn)"
ในฤดูกาล 1984-1985 สถานีโทรทัศน์ ITV ได้ผูกลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันรายการอินเตอร์เนชั่นแนล คลาสสิค และ บริติช โอเพ่น ซึ่งเป็นการแข่งขันสะสมคะแนนรายการใหม่ที่เพิ่งเริ่มจัดให้มีขึ้นในสมัยนั้น
สนุกเกอร์คู่ประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาที่กีฬาสนุกเกอร์ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในสมัยนั้น
อุบัติขึ้นในการแข่งขันชิงแชมป์โลกรอบชิงชนะเลิศ ในปี ค.ศ. 1985 ระหว่าง "สตีฟ เดวิส" แชมป์โลกชาวอังกฤษ
กับนักสนุกเกอร์เจ้าของแว่นตาขนาดเขื่อง จากไอร์แลนด์เหนือ "เดนนิส เทย์เลอร์" ในที่สุด "เดนนิส เทย์เลอร์" ก็เป็นฝ่ายตบลูกดำลงไปได้สำเร็จ เมื่อเวลา 00.20 น. คว้าแชมป์โลกประวัติศาสตร์ไปได้สำเร็จ ต่อหน้าผู้ชมทางโทรทัศน์กว่า 18.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ชมทางโทรทัศน์ในปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน เมื่อ "โจ จอห์นสัน" นักสนุกเกอร์มือรองบ่อนจากเมือง แบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เอาชนะ "สตีฟ เดวิส" ในรอบชิงชนะเลิศไปได้อีกอย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยสกอร์ 18-12 เฟรม
มัจจุราชคนใหม่ ผู้มาเขย่าบัลลังก์เดวิส ในช่วงปลายทศวรรษ 1980
กีฬาสนุกเกอร์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
ได้มีการแพร่หลายความนิยมเข้าไปในยุโรป เอเซีย และ อเมริกาเหนือ การแข่งขัน "แคเนเดี่ยน มาสเตอร์" ในปี ค.ศ. 1988 ที่ประเทศแคนาดา
นับเป็นการจัดการแข่งขันรายการสะสมคะแนนรายการแรก นอกเครือจักรภพอังกฤษ ในที่สุด บัลลังก์ทองของ "สตีฟ เดวิส"ก็ถูกเขย่าจนได้ ด้วยมือของนักสนุกเกอร์หนุ่มจากสก๊อตแลนด์ ที่ชื่อ "สตีเฟ่น เฮนดรี้" ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นี่เอง ก่อนขึ้นทศวรรษ 1990 มีนักสนุกเกอร์อาชีพลงแข่งขันในทัวร์ถึงกว่า 200 คน และเพิ่มขึ้นไปถึงมากกว่า 400 คนในกลางทศวรรษ 1990
มาตรฐานที่สูงขึ้น แต่ความนิยมกลับลดลง ปราฏการณ์ใหม่ ๆ เลือดใหม่ของกีฬาสนุกเกอร์ เริ่มส่อแววขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 โดยมี "สตีเฟ่น เฮนดรี้" เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในยุคนี้ "เฮนดรี้" ทุบสถิติต่าง ๆ ของ "สตีฟ เดวิส" อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถิติการเป็นแชมป์โลก สถิติการคว้าแชมป์รายการสะสมคะแนน รวมทั้งสถิติการคว้าแชมป์รายการเมเจอร์ต่าง ๆ ด้วยสไตล์การแทงที่ดุดัน เฉียบคม ประกอบกับความแม่นยำและรูปเกมที่แน่นเปรี๊ยะ ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เขาสามารถปิดเฟรมได้ด้วยการแทงเพียงไม้เดียว "เฮนดรี้" ครองความเป็นจ้าวของกีฬารูขยาดอยู่อย่างเหนียวแน่น หาผู้ที่จะต่อกรได้ยากยิ่งในช่วงนั้น
ฟ้าส่ง เฮนดรี้ มาเกิด ก็ต้องส่ง รอนนี่ ลงมาด้วยปรากฏการณ์ใหม่ของวงการสนุกเกอร์ เริ่มขึ้นอีกครั้งด้วยการปรากฏตัวของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ชาวอังกฤษ ที่ชื่อ "รอนนี่ โอ'ซุลลิแวน" เมื่อเขากลายเป็นผู้เล่นที่มีอายุน้อยที่สุด ที่คว้าแชมป์รายการสะสมคะแนนได้ ด้วยวัยเพียง 17 ปี โดยการเอาชนะ "เฮนดรี้" ในรอบชิงชนะเลิศของรายการ ยูเค แชมเปี้ยนชิพ ปี ค.ศ.1993 หลังจากนั้น ชื่อเสียงของ "รอนนี่ โอ'ซุลลิแวน" ก็กลายเป็นที่รู้จัก และเป็นนักสนุกเกอร์ดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ "แบรี่ เฮิร์น" ถึงกับออกปากว่า เด็กผู้นี้ คือตัวตายตัวแทนของ "สตีฟ เดวิส" และจะเป็นความหวังใหม่ของเลือดอังกฤษ เพื่อมาสู้กับสก๊อตแลนด์
เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์คเกอร์ ประธานโลก ผู้ล้มเหลวไม่เป็นท่าและถึงแม้ว่า มาตรฐานการเล่นสนุกเกอร์จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความนิยมในกีฬาชนิดนี้ กลับลดถอยลงอย่างไม่น่าเป็นไปได้ เริ่มจากการที่สถานีโทรทัศน์ ITV ยุติการแพร่ภาพการแข่งขันรายการสะสมคะแนน หลังจากการแข่งขันบริติช โอเพ่น จบลง ในปี ค.ศ. 1992 ประกอบกับสภาพคล่องของเศรษฐกิจโดยรวม
ทำให้บรรดาสปอนเซอร์ประสบปัญหาในการสนับสนุน และมีผลทำให้เงินรางวัลในการแข่งขันต่าง
ๆ จำเป็นต้องถูกปรับลดลงไปด้วย จากการขาดงบประมาณสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ยาสูบหลายราย ทำให้เงินรางวัลในการแข่งขันรายการต่าง ๆ จำเป็นต้องถูกตัดทอนลง จำนวนการแข่งขันก็ลดน้อยตามลงไปด้วย ผู้เล่นจากเมนทัวร์ จึงถูกตัดเหลือเพียง 96 คน เมื่อเริ่มฤดูกาล 2005-2006 หลังจากจำนวนการแข่งขันรายการต่าง ๆ ที่เริ่มลดน้อยลงที่มีผลพวงมาจากการห้ามสนับสนุนของสินค้าประเภทยาสูบ ผู้ให้การสนับสนุนที่เข้ามาใหม่ ก็คือบรรดารผู้ทำธุรกิจทางด้านการเดิมพันผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มต่อ และในที่สุด ประธานสมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์โลก (WPBSA) "เซอร์ ร็อดนีย์ วอล์คเกอร์" (Sir Rodney Walker) ก็ถูกคณะกรรมการโหวตให้พ้นจากตำแหน่งไปในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2009 เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้นต่อวงการ นับเป็นการเปิดทางให้ผู้บริหารใหม่ ซึ่งคลุกคลีอยู่ในการจัดการแข่งขันมานับสิบปี รวมทั้งเป็นผู้จัดการของนักกีฬาหลาย ๆ คน คือ "แบรี่ เฮิร์น" (Barry Hearn) ได้รับเลือกเข้ามาบริหารต่อไป ประธานโลกคนใหม่ ผู้สร้างความหวังให้กับสนุกเกอร์อีกครั้งสนุกเกอร์ กับอนาคต ได้มีการกำหนดการแข่งขันรายการใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่นรายการ Player Tour Championship หรือรายการ Sky Shoot Out เข้าไปในปฏิทินการแข่งขัน และรายการกรังด์ปรีซ์ ก็ได้มีการปรับปรุงใหม่ เป็นรายการ World Open ด้วย จากการขึ้นสู่ตำแหน่งของ แบรี่ เฮิร์น ทำให้วงการสนุกเกอร์และผู้เล่น มีโอกาสลงแข่งขันในรายการต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าโอกาสที่จะทำเงินรางวัลก็มากขึ้นตามไปด้วย ในฤดูกาล 2009-2010 มีการแข่งขันสะสมคะแนนทั้งหมด 6 รายการ รวมรายการล่ารางวัลอื่น ๆ ด้วยก็มีประมาณ 15 รายการ และเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นอาชีพเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ลงแข่งขัน ทำให้ผู้เล่นที่อยู่ในตำแหน่งล่าง ๆ ต้องออกมาหาอาชีพเสริม เพื่อความอยู่รอด เนื่องจากมีรายการแข่งขันไม่เพียงพอต่อการเป็นมืออาชีพ หลังเข้ารับตำแหน่งเพียงปีเดียว แบรี่ เฮิร์น ได้เพิ่มการแข่งขันรายการสะสมคะแนนขึ้นอีกเป็นจำนวน 9 รายการ บวกกับรายการ Player Tour Championship อีก 13 รายการ และอีก 7 รายการที่เป็นการแข่งขันล่ารางวัล ซึ่งรวมทั้ง เดอะ มาสเตอร์ ที่เวมบลีย์ และ พรีเมียร์ ลีค สนุกเกอร์เข้าไปอีกด้วย ทำให้ในปฏิทินการแข่งขันประจำปี มีรายการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็น 29 รายการ ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ กลับมาเป็นกีฬาอาชีพที่ผู้เล่นสามารถเลี้ยงตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากนั้น ยังมีการนำสนุกเกอร์ในสไตล์การเล่นใหม่ ๆ เข้ามาสู่วงการ เช่น การเล่น Power Snooker หรือ สนุกเกอร์ 6 แดง ที่มีผู้เล่นระดับแนวหน้าของโลกให้ความสนใจร่วมลงแข่งขัน ล่าสุดในฤดูกาล 2011-2012 ที่จะถึงนี้ จะมีการแข่งขันสะสมคะแนนใหม่ ๆ ขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย บราซิล จีน และอินเดียตามมาสมทบอีกด้วย จึงทำให้โดยรวมแล้ว อาจมีการแข่งขันในฤดูกาลใหม่นี้มากถึง 35 รายการทีเดียว สำหรับเงินรางวัลโดยรวมในฤดูกาลใหม่นี้ วางไว้ถึง 5 ล้านปอนด์ หรือเกือบ 250 ล้านบาททีเดียว โดยผู้คว้าแชมป์โลก จะได้รับเงินรางวัลถึง 250,000 ปอนด์ หรือประมาณ 12.5 ล้านบาท ที่มาข้อมูล แปลมาจาก History of Snooker - วิกิพีเดีย |