คิดถึง หมู่โฮม

3 มี.ค. 57

 

วัน เวลาไม่เคยหยุดรอใคร จาก 3 มีนาคม 2554 ถึง 3 มีนาคม 2557 เวลาผ่านไปรวดเร็วเหมือน "ติดจรวด" เป็นวันอาลัยของคนในวงการ สนุกเกอร์-มวย-ม้า และ บันเทิง เนื่องจากผู้ชำนาญเกมที่ชื่อ เรวัต สนธิขันธ์ หรือที่รู้จักในวงการสอยคิวคือ "หมู่โฮม" และวงการมวย-อาชา มักจะยกยอเรียกเขาว่า อาจารย์ตุ๊ ตำแย แต่ถ้าเป็นวงการไฮโซและบันเทิงจะรู้จักในนามของ "มอญฟรี" เนื่องจากเป็นนักคอลัมน์นิสต์ในหน้าบันเทิง เขียนข่าวดารา นอกจากนี้ยังเขียนสังคมหน้าสี่ในหนังสือพิมพ์ตะวันสยาม และ ดาวสยาม โดยในเวลาต่อมา ตะวันสยามปิดตัวลงและ ดาวสยาม ก็เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ จนเติบใหญ่ภายใต้ชื่อ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ในยุคปัจจุบัน

หลังจาก คุณเรวัต สนธิขันธ์ จากไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ทำให้วงการสนุกเกอร์-ม้า-มวย ขาดสีสันเพราะชื่อของ ตุ๊ ตำแย เป็นหลักประกันในความรอบรู้ จนมีคนยกย่องให้เป็น "สรรพพัญญู" รู้ทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

ต้องยอมรับเวลาผ่านไป 3 ปี ตัวเองจะคิดจะทำสิ่งใดเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง เมื่อ เขียนหนังสือ และอยากรู้ชื่อ นักมวย-ดารา หรือแม้แต่ นักการเมือง ซึ่งบางครั้งนึกชื่อได้แต่จำนามสกุลไม่ได้ และบางโอกาสจำนามสกุลได้แต่จำชื่อไม่ได้ และหลายครั้งที่นึกไม่ออกทั้ง ชื่อและนามสกุล แต่เมื่อหันไปถาม "หมู่โฮม" ที่นั่งเขียนหนังสืออยู่ข้างๆ ก็ได้คำตอบทุกเรื่องเสมือน สมองมีคอมพิวเตอร์ พอถามปุ๊บได้คำตอบปั๊บ และถูกต้องทุกครั้ง

การจากไปของ "หมู่โฮม" หรือ ลุงตุ๊ ตำแย แห่งวงการสอยคิวและหมัดมวย ทำให้ใครต่อใครต่างเสียดายที่ด่วนจากไปในวัยแค่ 68 ปี เพราะสมองและความสามารถอันล้นเหลือ ยังสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อีกมาก ผมเคยตาม ตุ๊ ตำแย ไปเยี่ยมค่ายมวยสวนมิสกวัน และ พันธ์ยุทธภูมิของ ร.อ.ไฉน ผ่องสุภา โดยช่วงนั้นมียอดมวย หลังสวน พันธ์ยุทธภูมิ โด่งดังมาก และเป็นมวยแม่เหล็กประจำศึก "วันทรงชัย" ขึ้นชกแต่ละครั้งเรียกแฟนมวยเข้าสนามแน่นทุกนัด ในการเยี่ยมค่ายมวยวันนั้น จำได้ว่า เทรนเนอร์ประจำค่าย ไฉน ผ่องสุภา หนักใจ ที่ไม่สามารถแก้ทางมวยให้ หลังสวน ซึ่งเป็นมวยเข่า ต้องเจอกับมวยหมัดหนักอย่าง สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เทรนเนอร์ขอร้องให้ ตุ๊ ตำแย ช่วยแก้ทางมวย หากเจอมวยหมัดทำอย่างไรจึงจะเอาชนะ ปรากฏว่า ตุ๊ ตำแย สอนเชิงมวยให้หลายกระบวนท่า โดยขั้นแรกให้ ยกการ์ดซ้ายสูงไว้และเวลาเตะขวา มืออย่าตก และสิ่งสำคัญพอเข้าในไม่ให้จับคอตีเข่า เพราะจะถูกหมัดฮุ๊คขวา ให้ใช้วิธีโยนเข่า โดยยกการ์ดสูงทั้งสองมือ แปลกแต่จริง ผลการแข่งขัน หลังสวน ทำตามวิธีของ ตุ๊ ตำแย ซึ่งผลพวงทำให้เอาชนะ สำราญศักดิ์ ซึ่งกำลังโด่งดังแบบสนุกเร้าใจแฟนมวย

ในด้านวงการสอยคิว ถึงแม้ "หมู่โฮม" จะเล่นสนุ้กฯ ไม่เก่ง แต่ก็พอรู้ว่าหากเจอคู่ต่อสู้ที่แม่นกว่าจะต้องเล่นวิธีไหน ซึ่งมักจะเตือนสตินักสนุกเกอร์ทีมชาติในระหว่างการแข่งขันซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์ในประเทศไทย โดยเฉพาะ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่เราเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2541 "หมู่โฮม" ลงทุนควบคุมการฝึกซ้อม นำนักกีฬาทุกคนออกกำลังในช่วงเช้า ทำเป็นประจำ 1 ปีเต็ม และวันแข่งขันยังเชียร์ ตัวเล็ก สำโรง สู้กับ มาร์โก้ ฟู (ฮ่องกง) เป็นคู่ตัดสินรอบรองชนะเลิศก่อนเข้าชิงประเภททีม โดยก่อนหน้านี้ มาร์โก้ ฟู นำถึง 4-0 เฟรม ต้องการเฟรมเดียวก็จะพาทีมฮ่องกงเข้าชิง แต่ "หมู่โฮม" ยังไม่ละความพยายาม ปลอบโยนให้ นักกีฬา มีความคึกคะนอง อย่าท้อแท้ ซึ่งปรากฏว่า ตัวเล็ก ไล่ขึ้นมาชนะทีละเฟรมๆ จนมาเสมอที่ 4-4 จากนั้น มาร์โก้ ฟู ก็ฟ้องผู้ตัดสินด้วยข้อหา กองเชียร์ทีมไทย ส่งเสียงดัง ทำให้เสียสมาธิจนเล่นไม่ได้ โดย ผู้ตัดสิน ต้องมาขอร้อง หมู่โฮม ให้เชียร์เบาลง ซึ่งผลแข่งขัน มาร์โก้ ฟู เอาชนะ ตัวเล็ก สำโรง ในเฟรมตัดสิน เข้าไปชิงชนะเลิศและคว้า เหรียญทอง ในที่สุด

ผมนำเรื่องราวของ หมู่โฮม มาบอกกล่าว เพราะ 3 ปีแล้วที่วงการสนุกเกอร์สูญเสีย บุคลากร อันทรงคุณค่า และเป็นการสูญเสีย นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่ตรากตรำกับน้ำหมึกมานานเกือบ 50 ปี ซึ่ง เรวัต สนธิขันธ์ ถือกำเนิดเป็นนักข่าวกีฬาที่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย อยู่ถนนดินแดงเมื่อปี 2510 ช่วงเดียวกับ ศักดา รัตนสุบรรณ โดยเพื่อนร่วมรุ่นยุคนั้นมี "พญาไม้" เผด็จ ภูรีปฏิภาณ - "ซูม ไทยรัฐ" สมชาย กรุงสวนสมบัติ - "เปลว สีเงิน" โรจน์ งามแม้น - "แม่ช้อยนางรำ" สันติ เศวตวิมล - "กระสุนทอง" สุนทร คัณฑพิศาล - "เล่าสิบ" เจริญ สุระเจริญพงศ์ - สุคต ชูพินิจ ฯลฯ

หมู่โฮม-ตุ๊ ตำแย-มอญฟรี คือนามปากกาที่โด่งดัง รู้จักไปทั่วทุกวงการ ซึ่งในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ก็จะครบ 3 ปีที่จากไป โดยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ที่โรงพยาบาลบางปะกอก แพทย์ทุกคนพยายามยื้อชีวิต แต่ในที่สุด พญายม ก็นำวิญญาณจากร่างจนได้ เหมือนดั่งที่ พระพุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้

 

แม้ซ่อนกาย ในกลีบเมฆ กลางเวหา ซ่อนกายา กลางสมุทร สุดวิสัย
จะซ่อนตัว ในหุบเขา ลำเนาไพร ณ สิ่งใด พ้นตาย นั้นไม่มี

 

หลับให้สบายเถอะเพื่อน
ศักดา รัตนสุบรรณ