เอเชี่ยนเกมส์ "ไร้สอยคิว"

1 ต.ค. 57

น่า เสียดายการแข่งขันมหกรรมของชาวเอเชีย เอเชี่ยนเกมส์ หน 17 ที่เมืองอินชอน เกาหลีใต้ 19 กันยายนถึง 4 ตุลาคม ไม่มีกีฬา "คิวสปอร์ต" หรือบิลเลียด-สนุกเกอร์-พูลและแครอมบอล ในเอเชี่ยนเกมส์ปี 2014

สาเหตุที่ คิวสปอร์ต ถูกเตะ-ถูกตัดออกจากเกมแข่งขันเป็นเพราะเราขาด บารมี-อำนาจ ในการต่อรองกับ สหพันธ์โอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ซึ่งมี ชีค อาหมัด อัลฟาฮัด อัลซาบาห์ ชาวคูเวตเป็นประธานสหพันธ์ฯ โดยเมื่อ 4 ปีก่อนในระหว่างแข่งขัน เอเชี่ยนเกมส์ที่เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการประชุมใหญ่ของ โอซีเอ โดยให้สมาชิก 45 ชาติที่แข่งเอเชี่ยนเกมส์มาร่วมประชุมหารือ เพื่อพิจารณาชนิดกีฬาที่จะเข้ามาใหม่ และต้องเอาบางชนิดกีฬาออกจากการแข่งขัน

ปรากฏว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทย ได้ส่งตัวแทน เข้าร่วมประชุมด้วย (ขอสงวนชื่อ) วาระสำคัญของการเรียกประชุมคือ ให้ช่วยกันพิจารณาตัด 2 ชนิดกีฬาออกจากเอเชี่ยนเกมส์ในการแข่งขันหนหน้า คือครั้งที่ 17 ที่อินชอน เกาหลีใต้ และ 1 ใน 2 ประเภทกีฬาถูก เตะออก ก็คือคิวสปอร์ต โดยการเสนอของสมาชิก (บางชาติ) ที่ไม่นิยมเล่นกีฬาแขนงนี้ได้เสนอในที่ประชุม และเป็นเรื่องแปลกที่ไม่มีใครคัดค้านรวมถึง ผู้แทนจากประเทศไทย ที่นั่งหัวโด่อยู่ในที่ประชุม ไม่ปกป้องคัดค้านแต่อย่างใด เพราะหากมีผู้คัดค้าน ที่ประชุมจะต้องถามความเห็นจากสมาชิก และเชื่อแน่ว่าสมาชิกหลายชาติที่นิยมแข่งขัน อาทิ มาเลเซีย-สิงคโปร์-เวียดนาม-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น-อินเดีย-บังกลาเทศ-ศรีลังกา-เมียนมาร์-ลาว-ฟิลิปปินส์-ไทเป-ปากีสถาน-บรูไน-อินโดนีเซีย และ จีน โดยสมาชิกเหล่านี้ต้องออกมาคัดค้านแน่นอน เพราะกว่า คิวสปอร์ต จะได้เข้าแข่งในเอเชี่ยนเกมส์ ต้องใช้เวลายาวนาน จนกระทั่งในปี 2541 จึงสำเร็จ ได้เข้าแข่งเอเชี่ยนเกมส์หนแรกในครั้งที่ 13 เพราะ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ และมีการแข่งขันต่อเนื่อง 3 ครั้ง จนล่าสุดที่ประเทศจีนเมื่อปี 2553 จึงเอวัง สรุปคิวสปอร์ตได้แข่งเอเชี่ยนเกมส์แค่ 4 ครั้ง (16 ปี) โดยครั้งแรกในไทย 2541 ครั้งที่ 2 เกาหลีใต้ 2545 ครั้ง 3 ประเทศกาตาร์ 2549 และหนล่าสุดที่ จีน 2553

หากถามว่าทำไม คิวสปอร์ต จึงถูกเตะออกจากเอเชี่ยนเกมส์ หากจะเอาความจริงมาตีแผ่เกรงจะกระทบใครต่อใครอีกหลายคน จึงสรุปเป็นว่า คิวสปอร์ต ขาดผู้มีบารมี เพราะทุกชนิดกีฬาหากใครไม่มีเส้นไม่มีสาย โอกาสถูกคัดออกค่อนข้างสูง และผู้มีบารมีที่กล่าวก็คือ ต้องมีตำแหน่งในสหพันธ์กีฬาโลก หรืออย่างน้อยต้องเป็นคณะกรรมการในสหพันธ์กีฬาเอเชีย สมัยที่เราผลักดัน คิวสปอร์ต เข้าแข่งเอเชี่ยนเกมส์ เพราะได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการโอลิมปิกในยุคนั้นที่มี "บิ๊กเหวียง" พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็นประธานโอลิมปิก และ พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เป็นเลขาธิการ แถมมี สินธุ พูนศิริวงศ์ เป็นประธานสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเชีย ดังนั้นกีฬาสอยคิวจึงได้เข้าร่วมเอเชี่ยนเกมส์แบบราบรื่น และได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกกว่า 30 ประเทศในเอเชีย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สินธุ พูนศิริวงศ์ หลุดตำแหน่งประธานเอเชีย แถมคณะกรรมการโอลิมปิก ก็ไม่ได้พิศมัยสมาคมสอยคิวสักเท่าใด เพราะช่วงหลังๆ ไม่ได้มีความสัมพันธ์เหมือนยุคแรกๆ ทำให้ห่างเหินหายไป และเป็นเหตุที่ สมาคมฯไม่มีโอกาสเข้าไปชี้แจงในการประชุมที่จีน จนทำให้ คิวสปอร์ต ถูกเตะออก เพราะไม่มีใครอธิบายให้ที่ประชุมรับฟังข้อเท็จจริง

น่าเห็นใจก็ นักกีฬา เพราะฝึกซ้อมกันตลอดทั้งปี ก็เพื่ออยากสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ โดยเฉพาะเอเชี่ยนเกมส์ 4 ครั้งที่ผ่านมา คิวสปอร์ต ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ได้เหรียญทุกครั้ง โดยเฉพาะที่ เกาหลีใต้ เมื่อปี 2545 รมย์ สุรินทร์ กับ ตึ๊ก โคราช กวาดมาถึง 2 เหรียญทอง และยังได้เหรียญทองที่ กาตาร์ จาก รมย์ สุรินทร์ และ วัช หาดใหญ่ อีกต่างหาก สรุป 4 ครั้งสมาคมฯ สร้างผลงานไว้ 3 เหรียญทอง 4 เหรียญเงินและ 6 เหรียญทองแดง โดยหนล่าสุดที่จีนแม้เราจะพลาด เหรียญทองทั้ง 3 ประเภท แต่ก็ได้ 3 เหรียญเงินและ 5 ทองแดง

ในช่วงแข่งเอเชี่ยนเกมส์เชื่อว่า นักกีฬา คงอึดอัดไม่น้อย เพราะทุกครั้งเคยได้ร่วมเก็บตัว ได้อยู่ในแคมป์นักกีฬา แต่หนนี้ไม่มี คิวสปอร์ต โดยเฉพาะ รมย์ สุรินทร์ และ วัช หาดใหญ่ บ่นเสียดายบ่อยครั้ง เพราะเคยร่วมแข่งขันมาโดยตลอด เคยอยู่ในค่ายพักนักกีฬา ร่วมฝึกซ้อม ร่วมวงอาหารกับนักกีฬาทุกชาติ แต่หนนี้ต้องกินข้าวแกงข้างทางแบบเดียวดาย

หลายคนอาจสงสัยเมื่อ คิวสปอร์ต หลุดเอเชี่ยนเกมส์ จะมีโอกาสเข้าแข่งอีกได้หรือไม่?

เรื่องนี้เคยถามผู้รู้คือ คณะกรรมการโอลิมปิก จะได้แข่งหรือไม่อยู่ที่ เจ้าภาพ หากผลักดันเข้าแข่งก็สามารถทำได้เพราะ เอเชี่ยนเกมส์ ถูกกำหนดชนิดกีฬาไม่เกิน 35 ประเภท และ 28 ประเภทที่มีแข่งใน โอลิมปิกเกมส์ เป็นการบังคับ อีก 7 ชนิดกีฬา เจ้าภาพ มีสิทธิ์เลือก 2 ชนิดกีฬา โอซีเอ ได้โควตา 1 ชนิดกีฬา และอีก 4 ชนิดกีฬามาจากบรรดาสมาชิกทั้ง 45 ชาติเป็นผู้เสนอเข้ามา ดังนั้นหากในปี 2019 ที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพ หนที่ 18 หากจะนำคิวสปอร์ตเข้าแข่งขันก็ย่อมทำได้ แต่ติดตรงที่ว่า อินโดนีเซีย ก็ต้องผลักดันกีฬาที่เขามีโอกาสมากที่สุด ดังนั้นจึงฟันธงได้เลยหนหน้ายังไม่มี คิวสปอร์ต เข้าแข่งขัน แต่หาก ไทย สามารถเป็นเจ้าภาพ ตามที่ รัฐมนตรีกีฬาป้ายแดง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อยากโชว์ผลงาน ก็มีโอกาส คิวสปอร์ตคืนชีพ

ขึ้นอยู่ที่ว่า ถึงเวลานั้น โอลิมปิก จะสนับสนุนต่อหรือไม่?

 

ศักดา รัตสุบรรณ