ตำนานสอยคิว "ซีเกมส์"

8 มิ.ย. 58

 

เผลอ แป๊บเดียวมหกรรมกีฬาของ ชาวอาเซียน ซีเกมส์ หน 28 ก็จะเวียนมาถึง 5-16 มิ.ย. ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยซีเกมส์หนนี้มาเร็วกว่าปกติถึง 6 เดือน เพราะทุกประเทศเขาจัดเดือน ธันวาคม แต่ประเทศสิงคโปร์สงสัยจะเตรียมความพร้อมมานานเลยร่นมา เร็วกว่ากำหนด 6 เดือน

ขออนุญาตเท้าความถึงที่มาและที่ไปสำหรับ กีฬาสอยคิว ได้เข้ามาแข่งขันในระดับชาติ

เมื่อปี 2527 ก่อนที่จะมีประชุมมนตรีซีเกมส์ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่รับเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์ ครั้งที่ 9 ในปี 2530 นักข่าวกีฬา "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" ที่ชื่นชอบสนุกเกอร์เป็นชีวิตจิตใจ เทียวไปเทียวมาระหว่าง โรงพิมพ์ กับ สำนักงานโอลิมปิก สี่เสาเทเวศร์ โดยขอให้ เลขาฯ โอลิมปิก พ.อ.อนุ รมยานนท์ กับผู้ช่วยเลขาฯ พ.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ช่วยผลักดันสนุกเกอร์-บิลเลียด เข้าแข่งขันซีเกมส์ในการประชุมที่จะมีขึ้นต้นปี 2528 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยกำหนดจัดในปี 2530 และหลังจากนั้นไม่นาน คนในวงการสอยคิวได้เฮสนั่นเมื่อ อินโดนีเซีย บรรจุ "คิวสปอร์ต" เข้าแข่งซีเกมส์ครั้งที่ 9 เป็นครั้งแรกในปี 2530

นักกีฬา ชุดแรกที่ไปแข่งขันใน ซีเกมส์ โดยสวมเสื้อธงชาติไทยติดหน้าอกเชิดหน้าชูตาอย่างสง่างามหนนั้นประกอบด้วย ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ชัย ลำพูน) วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย) ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย (เง็ก อ่างทอง) ธงชัย ปุณยวีร์ (เป้า ศิษย์ฉ่อย) วิเชียร แสงทอง - ตา ตันยุติธรรม และใครต่อใครอีกหลายคน (จำไม่ได้) แต่ได้มา 3 เหรียญทอง ถือว่านัดปฐมฤกษ์ใช้ได้ โดยมี ป๋าธนิต ตันติเมธ เจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่น ประตูน้ำ เป็นผู้ให้การสนับสนุน นักสนุกเกอร์ (เกือบทุกคน) ในช่วงนั้น เซียนเล็ก – ใหญ่ เกิดที่เดือนเด่นทั้งสิ้น รมย์ สุรินทร์, เป้า ศิษย์ฉ่อย, ต่าย พิจิตร, ชัย ลำพูน, เต่า หลังสวน, เสือ ทองราชา, ช้าง ป่าโมก, อ๊อด นางเลิ้ง, โต้ง กันอริ, ดร เมืองชล ฯลฯ

การไปแข่งซีเกมส์หนนั้น ทีมสอยคิว สร้างความฮือฮาด้วยการจองโรงแรม 5 ดาว แถมจองห้องพิเศษที่ใหญ่ที่สุด และไปได้ห้องรับรองบุคคลสำคัญซึ่งเป็นห้องพักของ สุลต่าน โดยค่าเช่าต่อวันตก 50,000 บาท เป็นห้องใหญ่โอ่โถง มีห้องรับแขกมหึมาขนาด ผู้จัดการมวยสมัครเล่น แคล้ว ธนิกุล ยังมาอาศัยจัดงานเลี้ยงวันเกิดที่ห้องนักสนุกเกอร์ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง

ไม่น่าเชื่อวันเวลาผ่านไปไวเหมือนติดจรวดจาก ซีเกมส์ พ.ศ. 2530 บัดนี้มาถึงครั้งที่ 28 พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะการแข่งขันที่ผ่านมา นักกีฬาไทย สามารถคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดเกือบทุกครั้ง ยกเว้นครั้งที่ 2 ปี 2532 มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ แต่ไม่จัดกีฬาสอยคิวเพราะยังเคืองที่ แซม ชอง นักสนุกเกอร์ทีมชาติทำให้ภาพพจน์เสียหายด้วยการพา ผู้หญิงหากิน เข้ามาอยู่ในห้อง ซึ่ง ชาวมุสลิม ส่วนใหญ่ไม่พอใจ ต่อจากนั้น คิวสปอร์ต ก็ถูกบรรจุเข้าแข่งซีเกมส์ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

และในปี 2541 ไทยเป็นเจ้าภาพจัด เอเชียนเกมส์ ก็บรรจุ คิวสปอร์ต อยู่ในโปรแกรมการแข่งขัน ทำให้กีฬาแขนงนี้เป็นที่กว้างขวางทั่วเอเชีย ทุกชาติต่างหันมาฝึกกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะ จีน ให้ความสนใจอย่างยิ่ง ถึงขนาดกล้าลงทุนจัด รายการแรงกิ้งมืออาชีพโลก โดยใช้งบการจัดไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน และขยายขอจัดเพิ่มขึ้นถึง 5 รายการ สามารถสร้างนักกีฬาจีนสู่แนวหน้าในการเล่นอาชีพได้กว่า 20 คน และที่โดดเด่นเคยขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกคือ ติง จุ้นฮุย ปัจจุบันอยู่อันดับ 4 แต่เป็นที่น่าเสียดาย คิวสปอร์ต ได้แข่งในเอเชียนเกมส์แค่ 4 ครั้ง (16 ปี) ก็ถูกเตะออก เพราะล่าสุดที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2557 ไม่มีบิลเลียด-สนุกเกอร์ในเอเชียนเกมส์

แต่มีข่าวจากสมาคมสนุกเกอร์โลกโดย เจสัน เฟอร์กูสัน จะผลักดันให้มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ที่ญี่ปุ่นในปี 2020 ซึ่งคิดว่าน่าจะยากเพราะ ญี่ปุ่น มีกีฬาที่ถนัดอยู่หลายชนิดรอผลักดันเข้า โอลิมปิก อาทิ ซอฟท์บอล-แฮนด์บอล ส่วน สนุกเกอร์ คงไม่สนใจ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ถนัดกีฬาแขนงนี้ แต่ถึงแม้ สนุกเกอร์ จะถูกบรรจุในโอลิมปิกเกมส์ ดีใจไปก็ไร้ผลเพราะปัจจุบันฝีมือ คนไทย ยังห่างไกลระดับโลก และต้องเดินตามหลังจีน โอกาสที่จะได้เหรียญนั้นยาก เอาแค่ได้สิทธิ์ไปแข่งก็ถือว่าเก่ง การใฝ่ฝันถึงระดับโอลิมปิกยังอยู่ห่างไกล มาช่วยกันคิดทำอย่างไร

ถึงดึงสอยคิวมาแข่งในเอเชียนเกมส์อีกหน

 

ศักดา รัตนสุบรรณ