เพื่อนยุค 30 ปี

3 ส.ค. 58

วัน เวลาผ่านไปช่างไวจริงนิตยสารสนุกเกอร์ “คิวทอง” ถือกำเนิดในเดือนสิงคม 2528 ในขณะที่ผมเริ่มมีอายุขึ้นเลข 4 และเข้ามาคลุกคลีกับ ไอ้ลูกกลมๆ หลากสีโดยบังเอิญ ถ้าหากในปี 2525 เพื่อนเก่า ชรินทร์ ชยานุรักษ์ และ ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย ไม่ขึ้นไปหาถึงโรงพิมพ์ “เดลินิวส์” ผมก็คงไม่ได้เข้ามาอยู่ตรงนี้

ก็เพราะวันนั้นอดีต 2 เซียนดัง เซียนเอ็ง บ้านใหม่ และ เซียนเง็ก อ่างทอง อดีตเพื่อนเก่าไปพบ ให้ช่วยสนับสนุนลงแข่งสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2525 หลังห่างหายไปนานตั้งแต่ปี 2513 และในฐานะอดีตเซียนเก่า เมื่อเพื่อนมาขอให้ช่วยก็ต้องหนุนกันเต็มที่และได้เข้าไปเห็น การเล่นสนุกเกอร์ในยุคปี 2525 มันต่างกันราวฟ้ากับดินในสมัยที่เล่น 5 แดงในช่วงปี 2499-2524 ใครตบแดงหมดโต๊ะถือว่า ยอดสุด และ เจ้าของสถานที่จะต้องมีรางวัลมอบให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรางวัล แม่โขง 1 แบน โซดา 3 ขวด หรือบางแห่งก็เป็น บุหรี่กรุงทอง 3 ซอง

แต่พอเข้ามาเห็นสไตล์การเล่นของคนยุคนี้ต้องทึ่งและนึกไม่ถึง คนไทย จะมีฝีมือแทงได้เป็นร้อยๆ แต้ม จากวันนั้นจึงเกิดใฝ่ฝันอยากเห็น คนไทย ไปไกลถึง ระดับโลก จึงลองหยั่งเชิงด้วยการเปิดคอลัมน์ “คิวทอง” ในหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ซึ่งถือว่าเป็นโชคของคนในวงการเพราะยุคนั้น ผมเป็นหัวหน้าข่าวกีฬา จึงเปิดคอลัมน์ใหม่ๆ ขึ้นมาทั้ง กอล์ฟ-โบว์ลิ่ง-แบดมินตัน-สนุกเกอร์ ผมเป็นคนริเริ่ม จนมีต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ (ยกเว้นสนุกเกอร์) พอไม่มีศักดาคอลัมน์ “คิวทอง” ก็พลอยตายตาม และสนุกเกอร์นี่แหละที่หวิดทำให้ตกงาน เนื่องจาก บก.ประชา เหตระกูล ถูกผู้ปกครองร้องด่าว่าเปิดคอลัมน์ “พนัน” ทำให้ลูกเต้าเสียคน แทนที่จะไปโรงเรียน ดันไปโต๊ะสนุ้กฯ ส่วนพวกแม่บ้านก็โทรมาด่าทอ ผัวไม่กลับบ้าน 3 วัน 3 คืน ก็เพราะไอ้โต๊ะสนุ้กฯ นี่แหละ และพาลมาถึง คอลัมน์ “คิวทอง” เผยแพร่จนทำให้วัยรุ่นติดกันงอม และหลังจากนั้นไม่นานผมก็ต้องพ้นหน้าที่ตามกระแส

เมื่อหันมาผลิตนิตยสารสนุกเกอร์อย่างเดียวก็มีเวลามากขึ้น โดยมีคู่หูคู่คิดอยู่ข้างกายทั้ง “หมู่โฮม” เรวัต สนธิขันธ์ และ อำนวยศักดิ์ สว่างนก อดีตกัปตันข่าวกีฬาเดลินิวส์ ช่วยกันผลักดันกว่าหนังสือจะออกได้แต่ละฉบับ เหนื่อยกันทุกคน เพราะยุคนั้นไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยเช่นปัจจุบัน ซึ่งผิดกับยุคดิจิตอล ทำหนังสือทั้งฉบับ ลงแผ่นซีดีแผ่นเดียวเป็นอันเรียบร้อย

นิตยสารคิวทองอยู่มาถึง 30 ปี ท่ามกลางความข้องใจของคนทำหนังสือกีฬาด้วยกัน โดยเฉพาะ หนังสือที่เกี่ยวเฉพาะชนิดกีฬาอย่าง คิวทอง มันอยู่ได้ยังไง?

ที่จริง คิวทอง ต้องล้มหายตายจากไปตั้งแต่ยัง ไม่ตั้งไข่ เพราะกำเนิดไม่ถึงขวบก็ทำท่าไม่รอด ค่าพิมพ์กับค่าขายหนังสือมันไปด้วยกันไม่ได้ แต่ละฉบับ ขาดทุนทุกเดือน ถอดใจเลิกทำหลายครั้ง แต่ได้รับการสนับสนุนจาก ป๋าธนิต ตันติเมธ เจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่นที่ คิวทอง อาศัยสถานที่ทำงาน ท่านเห็นใจและเห็นความตั้งใจจริงในการผลิตหนังสือฉบับนี้ ถึงขั้นเดือนไหนไม่พอจ่ายค่าพิมพ์ ท่านควักกระเป๋าจ่ายแทน และนี่คือที่มา ทำให้คิวทองมีอายุยืนยาวจนถึงปัจจุบันและที่สำคัญ หนังสือฉบับนี้ยืนอย่างมั่นคงเป็นเพราะได้ เพื่อนพ้องน้องพี่ สื่อมวลชน หลายสำนักช่วยกันคนละไม้คนละมือ ช่วยเขียนต้นฉบับคนละเรื่องสองเรื่องจนทำให้ คิวทอง ออกสู่สายตาตรงเวลาทุกเดือน

ดังนั้นฉบับครบรอบ 30 ปี จึงขออนุญาตทุกท่านเขียนถึงความหลังของ นักเขียนเก่าๆ ที่เคยเขียนให้คิวทอง แต่ ณ วันนี้ไม่มีพวกเขาให้เราได้ยกมือไหว้อีกต่อไป หลายชีวิตร่วงลับดั่ง ใบไม้ร่วง ทีละใบสองใบจน ต้นไม้ใหญ่ใบเหลือน้อยลง หลายท่านที่มีบุญคุณกับ คิวทอง ถือโอกาสนำข้อเขียนเก่าๆ ของท่านมาตีพิมพ์ให้อ่านเป็นการรำลึกถึงอดีตตอนยังมีชีวิต เนื้อหาสาระการเขียนของแต่ละคนไม่เหมือนใคร บางคนอ่านแล้วซึมเศร้าตามเนื้อเรื่อง แต่บางคนเขียนให้อ่านแบบ อ่านไปหัวเราะไป ใครไม่เชื่อลองอ่านคอลัมน์ “บินเดี่ยว” ของ กัปตันชัยยะ ปั้นสุวรรณ หากอ่านแล้วไม่ฮาเจอหน้าต่อว่าได้เลย

หรืออย่างคอลัมน์นักเขียนดังไทยรัฐ พงษ์ ระวี ก็มีสาระน่าอ่าน จึงนำมาลงอีกครั้งหลังจากเขียนไว้เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเนื้อหา คิวทอง ฉบับนี้ส่วนใหญ่จะนำเนื้อเรื่องของผู้ล่วงลับมาเผยแพร่อีกรอบ เพื่อเป็นการระลึกถึงและอยากให้ เด็กรุ่นหลัง ได้รู้ซึ้งถึงคนรุ่นเก่า แต่ที่เสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้งในการลาจากจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก

เรวัต สนธิขันธ์ หรือ หมู่โฮม-ตุ๊ ตำแย-มอญฟรี แต่ละนามปากกาเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุค 50 ปี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งน่าเสียดายฉบับครบ 25 ปี เมื่อ 5 ปีก่อน หมู่โฮม ยังนั่งทำงานโต๊ะใกล้กันทุกวัน และช่วยกันปั่นต้นฉบับจนทันเวลาทุกเดือน แต่หลังจากนั้นไม่นาน หมู่โฮม ก็มีอันต้องจากไปในวัย 68 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

และตั้งแต่ไม่มี หมู่โฮม แต่ละวันนั่งปั่นต้นฉบับก็เหมือนกับขาดอะไรไปอย่าง เวลาเขียนหนังสือติดขัด นึกชื่อคนนี้คนนั้นไม่ออกก็จะอึดอัดทันทีเพราะหากมี หมู่โฮม นั่งอยู่ใกล้ๆ ไอ้เรื่องความจำเสื่อมก็ไม่มาเยือนเพราะ หมู่โฮม รู้จริงและรู้ทุกเรื่อง จนคนวงการให้ฉายา ตุ๊ ตำแย สารพัดรู้ตั้งแต่ “สากกะเบือยันเรือรบ” ถึงขนาด เทรนเนอร์นักมวยยังต้องมาขอให้ ตุ๊ ตำแย ไปช่วยแก้ทางมวย มวยบางตัวแพ้มวยเข่า บางตัวแพ้หมัด ก็ได้ ตุ๊ ตำแย ช่วยชี้แนะจนเจ้าของคณะและครูมวย

ยกย่องเรียก อาจารย์ อย่างไม่กระดากปาก

ฉบับครบรอบ 30 ปี ต้องกราบขอบคุณ สปอนเซอร์ ที่ช่วยสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่บารมีผมคงไม่ถึงจึงต้องอาศัยเพื่อนพ้อง-น้องนุ่งช่วยบอกต่อๆ กัน ใครมีกำลังก็แบ่งปันช่วยให้นิตยสารคิวทองออกมาได้สวยสดงดงามสมกับความตั้งใจและรอคอยจนถึง 30 ปี ขอบคุณสื่อหลายท่าน สมชาย กรุสวนสมบัติ (ซูม ไทยรัฐ), เผด็จ ภูรีปฏิภาณ (พญาไม้), พิศณุ นิลกลัด (เตยหอม), จรูญ วานิชชา (จุ่น บางระจัน), ถิรชัย วุฒิธรรม (บิ๊กแป๊ะ), องอาจ ใจทัศน์กุล (วังใหม่), โอฬาร เชื้อบาง, จำนงค์ จันทรสำเภา (จันทร์ ทรนง), มนตรี วีระประวัติ (มน วีระ), วรวุฒิ โรจนพานิช, ประดิษฐ์ นิธิยานันท์ (ออนซอน) รวมถึงนักข่าว-นักเขียนน้องๆ อีกหลายท่าน ที่ไม่สามารถบอกได้หมด

นิตยสาร คิวทอง ฉลอง 30 ปี สำเร็จลุล่วงด้วยดี ต้องขอบคุณความมีน้ำใจจาก พันธมิตร ทั้งคนในวงการ สื่อมวลชน คนในวงการกอล์ฟ-สนุกเกอร์-วงการมวย และอีกหลายสมาคมกีฬา รวมถึง ดร.ประเวช รัตนเพียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (อาร์แบค) เพราะนอกจากจะกรุณาให้ นักสอยคิว ได้เข้ารับการศึกษาเรียนฟรีจนจบปริญญา ท่านยังกรุณาช่วยสนับสนุนนิตยสารครบรอบ 30 ปี

คิวทองมีวันนี้จักไม่ลืมพระคุณทุกท่านที่กล่าวนาม

 

 

ศักดา รัตนสุบรรณ