ของเล่นของคนยุค ๒๕๐๗

16 มิ.ย. 60

คนยุคนี้โชคดีมีทางเลือก ทางเล่น ทางเที่ยว มากมายหลากหลาย ให้เลือกได้ไปตามความชอบ ความถนัด ตามโอกาสและเหมาะกับกำลังเงินในกระเป๋า

แต่ยุคก่อนโน้น เอาย้อนไปประมาณ ปี ๒๕๐๗ ตอนที่โต๊ะสนุกเกอร์ยังถูกเรียกว่า “โต๊ะตลาด” เพราะเป็นธุรกิจพื้น ๆ ของคนลงทุนระดับท้องถิ่น เพื่อเก็บค่าเกมหรือค่าเล่น เกมละ ๓ บาท ซึ่งเป็นเงินที่ไม่แพงนัก จึงสะดวกสำหรับคนทั่วไปทุกอาชีพ ที่มีเงินพอเล่นเพื่อความสนุกสนาน และเป็นการพักผ่อน

หรือบางทีก็หาเรื่องเสี่ยงเรื่องเสียวหัวใจ มีการได้เสียติดปลายคิวบ้าง

ดังนั้น จึงเรียกตามประสาชาวบ้านว่าโต๊ะตลาด ไม่ติดแอร์ สูบบุหรี่ได้ มีโอเลี้ยง น้ำอัดลมขาย จะนั่งดู หรือลงเล่น ก็เพลิดเพลินไปได้ตลอดวัน แถมมีอยู่ทุกอำเภอ ส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่ทุกย่านทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี อาทิ สะพานควาย ดอนเมือง หัวตะเข้ ลาดกระบัง สนามเป้า ราชเทวี ประตูน้ำ สามย่าน พระโขนง คลองเตย บ้านใหม่ ตรอกจันทร์ บางรัก ตลาดน้อย เยาวราช วังบูรพา เฉลิมกรุง เสาชิงช้า บางลำพู บางกระบือ นางเลิ้ง วงเวียนเล็ก พรานนก สามแยกไฟฉาย บางขุนนนท์ บางพลัด วงเวียนใหญ่ ดาวคะนอง ตลาดพลู บางแค ฯลฯ

ไม่มีแค่นั้น โต๊ะสนุกเกอร์สำหรับคนอีกระดับหนึ่งก็มี ที่เรียกว่าสโมสร เป็นสถานที่เฉพาะสำหรับคนทำงาน หรือผู้ที่เป็นสมาชิก เช่น สโมสรข้าราชการ หรือสโมสรของเอกชน อาทิ

ราชตฤณมัยสมาคม สมาคมพ่อค้าไทย ราชกรีฑาสโมสร สโมสรข้าราชการจังหวัดราชบุรี สโมสรนายทหาร ศูนย์การทหารราบ สโมสรเทศบาลท่าช้าง

เหล่านี้จะเป็นสถานที่จำเพาะ ที่ดูโอ่โถง มีมาตรฐาน หากเป็นของราชการก็เป็นระบบสวัสดิการที่จัดขึ้น หากเป็นของเอกชนก็เป็นสถานที่พักผ่อน เสมือนเป็นคลับให้สมาชิกได้มาพบปะสังสรรค์

ฉะนั้น ชาวบ้าน และคนทั่ว ๆ ไป หมดสิทธิ์ที่จะเข้าไปเล่น หรือแม้แต่เข้าไปแวะนั่งดู

คนที่เล่นสนุกเกอร์เป็น ส่วนใหญ่จะเล่นเป็นจากโต๊ะตลาด เป็นสถานที่เปิดที่ทุกคนก็เข้าไปเล่นได้ ส่วนสโมสรนั้น คนที่เล่นมักจะเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วทั้งสิ้น

สมัยนั้น คนที่เล่นสนุกเกอร์เป็นแต่เด็ก มักเป็นเด็กบ้านอยู่ข้างโต๊ะ คลุกคลีอยู่ประจำ หากเป็นเด็กเรียนหนังสือ ก็จำพวก “เด็กแก่แดด” ที่ทำตัวเป็นหนุ่มเกินวัย หาอะไรเล่นหาอะไรทำที่มันมองดูเหนือกว่า รอบรู้กว่า เก่งกว่าเด็กร่วมรุ่นเดียวกัน

สนุกเกอร์จึงดูว่าเป็นเกมการเล่นที่ไม่ธรรมดาสำหรับวัยรุ่น

ตอนนั้นการละเล่นหรือกีฬาให้วัยรุ่นเลือกเล่นมีจำกัดมาก หากไม่ใช่กีฬาปกติทั่วไป อย่างเช่น บาสเก็ตบอล ตระกร้อ ฟุตบอล แบดมินตัน ฯลฯ ก็จะเป็นกีฬาที่หาเล่นไม่ง่ายนัก และบางทีก็มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับวัยรุ่นส่วนใหญ่โดยทั่วไป

ก็เห็นมี สเก็ต ซึ่งแรก ๆ ไม่ใช่สเก็ตน้ำแข็งก่อน แต่เป็นสเก็ตที่สวมรองเท้าแล้วทรงตัวไถลไปตามฟลอร์ปูนที่ลื่นเรียบ เป็นสนามรูปไข่ มีแนวรั้วสูงแค่เอวกันการไถลหลุดนอกสนาม นอกแนวรั้วก็เป็นโต๊ะสำหรับคนดูนั่ง หรือมารอเพื่อนที่ลงไปเล่นสเก็ต มีเครื่องดื่มขาย ก็นิยมดื่มน้ำอ้อยคั้นกัน ขวดหนึ่งสามบาทเอง แต่เติมน้ำแข็งรินใส่แก้วก็ดื่มได้สามคน คนละแก้ว

แต่ห้ามขายเบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สนามสเก็ตแห่งแรกนี้ อยู่ในซอยด้านหลัง ระหว่างโรงภาพยนตร์พาราเมาต์และโรงภาพยนตร์เมโทร สเก็ตเป็นกีฬาสุขภาพ ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย เฟื่องฟูในหมู่นักเรียนมาก เลิกเรียนก็นิยมแวะก่อนกลับบ้านไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เข้าไปในชุดนักเรียนได้ เพราะไม่ใช่แหล่งอโคจรใด มีรองเท้าสเก็ตให้เช่า ค่าเล่นก็คิดเป็นชั่วโมง

ลงเล่นปนกันได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงในลานเดียวกัน ใครไม่เล่นหรือเล่นไม่เป็น ก็นั่งดื่มน้ำท่าข้างสนามรอเพื่อน และดูคนนั้นคนนี้ไถลสเก็ตผ่านหน้าไปมา

ก็น่าเล่น ยิ่งสำหรับคนขี้แอ็ค ได้เล่นโชว์คนดูเฉพาะอวดพวกสาว ๆ คนที่เล่นเก่ง จะกลายเป็นฮีโร่ มาเล่นประจำทุกวัน จนคนเห็นก็จดจำได้ และเขาก็จะพัฒนาสเต็ปการไถลการสไลด์สเก็ตของเขา ให้เป็นจุดเด่นที่เป็นลีลาอันแปลกตา น่าตื่นเต้น

หลังจากอิ่มตัวก็ชักซา ๆ ลงไป ตามความเห่อของวัยรุ่น ก็มีการปรับปรุงพัฒนาจากสเก็ตธรรมดา มาเป็นสเก็ตน้ำแข็ง เป็นห้องโถงใหญ่ติดเครื่องปรับอากาศ พื้นเป็นน้ำแข็งไอขึ้นเย็นเฉียบ

สุดท้าย สเก็ตน้ำแข็งก็ต้องปิดฉากลง เพราะความนิยมของวัยรุ่นเปลี่ยนไป ประกอบกับการละเล่นและความบันเทิง แหล่งรื่นรมย์อื่น ที่ดึงดูดเร้าใจเกิดขึ้นมาหลากหลาย

ยุคนั้น นอกจากสเก็ตแล้ว ก็มี “โบว์ลิ่ง” เป็นสถานที่พักผ่อน และพบปะของวัยรุ่นอีกประเภทหนึ่ง ดูเหมือนเกรดจะสูงกว่าการเล่นสเก็ต เพราะต้องใช้สะตุ้งสตางค์มากกว่า สถานที่ก็โอ่โถงกว่า และไม่เหมือนลานสเก็ตที่มีแต่วัยรุ่นวัยนักเรียน แต่โรงโบว์ลิ่งมีคนทุกวัยไปเล่น

แห่งแรกก็อยู่ที่ถนนเกสร ใกล้สี่แยกราชประสงค์ ที่นี่ไม่ใหญ่โต แต่มีเลนไม่เกิน ๑๐ เลน หมายถึงถ้าเล่นพร้อมกันก็ได้ไม่เกิน ๑๐ คณะ แต่สถานที่มาตรฐาน คนเล่นมีระดับ เพราะอยู่ใกล้แหล่งธุรกิจ เป็นสถานที่ทำงานของคนค่อนข้างมีสตางค์

ที่จะมีเลนให้เล่นมากกว่าก็มีอีกแห่งหนึ่ง เลี้ยวตรงสามแยกดินแดงมาทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใกล้ ๆ หมู่บ้านการเคหะ ด้านหลังทะลุซอยรางน้ำได้

ต่อมาที่โบว์ลิ่งบูมสุดขีดในเมืองไทย ก็ตอนที่เปิดโรงโบว์ลิ่งใหญ่โตโอ่โถง เป็นเหมือนสถานที่บันเทิงกลาย ๆ อยู่ต้น ๆ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

ชื่อ “คราวน์โบวล์” มีเลนยี่สิบสามสิบเลน มองเข้าไปละลานตาเลย โรงโบว์ลิ่งตรงนี้เติบโตพัฒนามาพร้อม ๆ กับอาบอบนวดยุคใหม่แถวนั้น ตั้งเผชิญหน้ากันคนละฝั่งถนนกับ “อาตามิ อาบอบนวด” เป็นสถานที่บริการท่านสุภาพบุรุษที่ทันสมัยที่สุดในเมืองไทยในขณะนั้น

นี่เป็นการเล่าเรื่องให้เห็นว่า สมัยนั้นเด็กวัยรุ่นของไทยมีทางเลือกให้พักผ่อน เล่นกีฬา หรือหาความบันเทิง ได้ไม่กี่ทางเลือก หากอยู่ในกรอบแต่พอมีสตางค์บ้าง ไม่นอกลู่นอกทางก็ เล่นสเก็ต หรือโบว์ลิ่ง หรือไม่ก็เดินเตร่เล่นตามหน้าโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง หรือย่านการค้า วังบูรพา ประตูน้ำ บางลำพู พาหุรัด สะพานควาย ราชประสงค์ บางรัก ฯลฯ

หากนอกกรอบ หรือแหวกแนว ก็เข้าโต๊ะเล่นสนุกเกอร์

จึงไม่แปลกนัก ที่นักสนุกเกอร์ตอนนั้น เล่นสนุกเกอร์เป็นตั้งแต่อยู่ในชุดนักเรียนขาสั้นแล้ว และไม่ได้หาเล่นง่าย ๆ จะต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่ให้ผู้ปกครองรู้เสียด้วย ยุคนั้น สนุกเกอร์ยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ ไปมองว่าเป็นการละเล่นที่คาบลู่คาบดอก กึ่ง เป็นการพนันไปเสีย กลัวลูกหลานจะทิ้งการเรียน และกลายไปเป็นนักการพนัน

ถามนักสนุกเกอร์ระดับเซียนในปัจจุบันนี้ได้เลย ไม่มีใครมาหัดเล่นสนุกเกอร์ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วจะมีฝีมือระดับเซียนได้ ล้วนเข้าโต๊ะสนุกเกอร์หัดจับคิวเล่นตั้งแต่เป็นเด็กทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ สนุกเกอร์เป็นกีฬาที่สังคมยอมรับ และเข้าไปเล่นได้อย่างเปิดเผย

 

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 415)