เดอะโชว์มัสโกออน

23 มี.ค. 61

ฝรั่งว่าไว้แบบนั้น แต่ในสำนวนจีนว่า “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” ก็ไม่รู้ว่า ถึงตอนนี้แล้ว จะเป็นแบบฝรั่งหรือจีน

ก็ใจหาย เหมือนคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมา ๓๒ ปี จะกล่าวคำอำลาชนิดที่จะไม่ได้เจอะเจอกันอีกแล้ว ถึงแม้จะมีลมหายใจเข้าออกอยู่

หาก The show must go on ก็ต้องได้อ่านเรื่องนี้กัน หากกลับกลายเป็นอย่างอื่นก็หมายถึง ฟาวล์ หรือมิส นิตยสาร “คิวทอง” จำใจต้องปิดฉาก และลาจากกันไปแบบไปลับ ไม่เชื่อว่า หากในวงการสนุกเกอร์นอกจากคุณศักดา รัตนสุบรรณ หนึ่งคน ใครจะหาญกล้าจัดทำหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาแทนได้

สนุกเกอร์ เป็นเรื่องราวที่มีสาระไม่ง่ายเหมือนกีฬาอื่น ๆ การทำนิตยสารสนุกเกอร์ ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม เป็นเรื่องเป็นราว และมีสาระเป็นกิจลักษณะนั้น ไม่ใช่ของง่ายเลย

ไม่ใช่ไม่มีใครเก่งและถนัด แต่เป็นเพราะการทำหนังสือหรือเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับสนุกเกอร์นั้น จะต้องมีประสบการณ์ มีความรู้ในวงการต่อเนื่อง จนรู้ความเป็นไปเป็นมา

จึงเป็นแค่คนเขียนคอลัมน์เป็น แค่นั้นคงไม่พอ หรือเป็นคนที่คลุกคลีและรู้เรื่องราวในวงการสนุกเกอร์ดี ก็ไม่พอ เพราะอาจเขียนคอลัมน์ไม่เป็น ส่วนคนที่เขียนเป็นไม่รู้จักวงการสนุกเกอร์ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน ตรงนี้คือความลำบากของใครที่คิดจะทำนิตยสาร เกี่ยวกับวงการสนุกเกอร์ ออกมาสักฉบับหนึ่ง

เคยเห็นวงการสนุกเกอร์ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ยุค 60 มองเห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ทั้งที่บางช่วงไม่ได้เข้าไปคลุกคลี เพราะอุปสรรคจากการงาน การทำมาหากิน แต่ก็ติดตามข่าวสาร และหาโอกาสแวะเวียนเข้าไปอย่างเงียบ ๆ เป็นครั้งเป็นคราว

สนุกเกอร์เมืองไทยรุ่งเรืองสุดขีด วัดได้จากมีรายการถ่ายทอดสดกีฬาสนุกเกอร์ ไม่ใช่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันสนุกเกอร์ระดับโลก หากเป็นรายการดวลสนุกเกอร์สด ๆ ออกทีวี

สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ถึงแม้จะค่อนข้างดึก แต่มีแฟนสนุกเกอร์ขาประจำและขาจรติดตามดูกันมากมาย สังเกตได้จาก รุ่งขึ้น ตามร้านกาแฟ ร้านขายข้าวแกง ที่ทำงาน ต่างเอามาพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์กัน

ผู้อาวุโสสื่อมวลชนสองท่านช่วยกันจัดรายการ ทั้งประกบคู่แต่ละสัปดาห์ นั่งเป็นผู้บรรยายสด ๆ คู่กันหน้าจอ คุณศักดา รัตนสุบรรณ และคุณพิศณุ นิลกลัด

 

ประมาณปี ๒๕๓๓ หากยังจดจำกันได้ทางทีวีสี ช่อง ๗ ทุกคืนวันอังคารประมาณตี ๑ เป็นรายการ “เฟรมเดียวน็อค” แล้วก็แทรกเวลาที่เหลือเป็น “ชิงดำ” เอาอีกคู่มาเจอกัน โดยเล่นกันดำลูกเดียว

เฟรมเดียวน็อคเป็นการนำนักสนุกเกอร์ฝีมือดีมาเจอกันนัดละ ๑ คู่ แข่งขันกันเฟรมเดียว ใครแพ้ตกรอบ ใครชนะก็เข้ารอบไปยืนรอ นัดเดียวกันก็มีอีกคู่หนึ่ง เป็นนักสนุกเกอร์ฟอร์มสด สดก็เพราะไม่เคยแข่งขันที่ไหนมาก่อน ฝีมือไม่จำเป็นต้องเลิศเลอขนาดเซียน แต่พอมีหน้าตาและชื่อเสียง ทั้งในวงการการเมือง และสังคม หลายท่านก็อยู่ในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นดาราหนัง หรือดาวตลก หรือนักร้อง

อาทิ กรุง ศรีวิไล ไพโรจน์ ใจสิงห์ หม่ำ จ๊กม๊ก เทพ โพธิ์งาม จักรพันธุ์ ยมจินดา สมนึก ธนเดชากุล

จัดรายการสดทุกสัปดาห์ร่วมปีเศษ ก็หมดโควตาสัมปทานเวลาจากสถานี ก็จำต้องปิดรายการไป ทั้งที่เป็นรายการที่เป็นเพื่อนคนนอนดึกหลายคน กระทั่งแฟนสนุกเกอร์ที่เข้าไปดูแน่นอัฒจันทร์ในห้องส่ง

โต๊ะสนุกเกอร์เอาเฉพาะในกรุงเทพฯ มีกี่แห่ง ถึงเวลาจัดรายการนี้ทุกแห่งจะต้องเปิดดูกัน คนเล่นก็เล่นไปดูไป คนอื่น ๆ ก็ยังได้ฮาเฮดูจากจอทีวี  งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา”

ส่วนนิตยสาร “คิวทอง” จะจำยอมเลิกรา หรือ The show must go on แบบละครเวทีก็จะได้เห็นกัน จบบท หมดเวลา ฉากเวทีละครก็จะถูกดึงลงมาหน้าเวที ผู้แสดงทุกคนออกมายืนเรียงแถวหน้ากระดาน รับความขอบคุณจากผู้ชม โค้งคำนับด้วยความตื้นตัน ท่ามกลางเสียงปรบมือต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับม่านค่อย ๆ ลงมาจนถึงพื้นเวที และบังนักแสดงไว้หลังม่าน

หากเสียงปรบมือจากคนดูยังไม่ยอมหยุด ตัวละครหลังม่านก็ยังแยกย้ายเข้าหลืบยังไม่ได้ ม่านจะถูกชักขึ้นใหม่อีก จนเห็นตัวละครที่ยืนรอรับเสียงปรบมืออยู่เช่นเดิม

พักหนึ่ง ม่านก็จะถูกชักปิดลงมาอีกครั้ง แต่ถ้าเสียงปรบมือยังต่อเนื่องยาวนาน ม่านก็จะต้องถูกชักขึ้นไปใหม่ นี่เป็นมารยาทเป็นธรรมเนียมของละครเวที

จนกว่าเสียงปรบมือจะซาและหยุดเงียบลง ละครเวลาที่ดี ๆ ฉากเวทีละครจะถูกชักขึ้นและชักลงถึง ๗ ครั้ง คนดูถึงจะยอมหยุดปรบมือ

นิตยสาร “คิวทอง” กำลังจะปิดม่าน ไอ้ย้อย ป้าหยอย ยายช้อย กำลังจะเก็บฉาก จะมีคนดูลุกขึ้นยืนพร้อมใจกันปรบมือให้ยาวนานขนาดไหน

The Show must go on หรือโบกมือหยอย ๆ ไอ้ย้อยจะไปชายแดน...

 

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 424)