กกท. จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา

27 มิ.ย. 62

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา โดยมี ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย, ผู้แทนสถาบันอนุญาโตตุลาการ, ผู้แทนสมาคมกีฬาฯ , ผู้บริหาร กกท. และบุคลากรในวงการกีฬา เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานตามกฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่ในการระงับข้อพิพาททางการกีฬา ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีข้อพิพาททางการกีฬาเกิดขึ้น องค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคือ ศาลกีฬาโลก หรือ Court of Arbitration for Sport เรียกย่อๆว่า CAS มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางการกีฬาได้มีการจัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาขึ้น เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาททางการกีฬาโดยเฉพาะ เช่น ประเทศอังกฤษ, ประเทศแคนนาดา เป็นต้น

ประเทศไทย ได้กำหนดเป็นนโยบายการจัดตั้งระบบอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาขึ้น ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การยกระดับบริหารจัดการด้านกีฬาให้ มีประสิทธิภาพ โดยจัดตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น เพื่อพิจารณาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกีฬา และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ กกท. พ.ศ. 2560-2564 กำหนดนโยบายด้านกฎหมายเพื่อยกระดับกฎหมายของ กกท. โดยเฉพาะศึกษาการระงับข้อพิพาททางการกีฬาโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬาขึ้นในประเทศไทย

“องค์กรสหพันธ์กีฬาอาชีพได้ให้การยอมรับในการระงับข้อพิพาทผ่านกระบวนการของศาลกีฬาโลก ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในการพัฒนากีฬาในประเทศไทย กระบวนการในการระงับข้อพิพาททางกีฬามีอยู่ 2 ประการคือ เรื่องของการให้ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมของนักกีฬา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน หรือสโมสรต่างๆ และประการที่สองคือ เรื่องของการพัฒนากีฬา การมีมาตรฐานทางการกีฬาที่ดี มีความโปร่งใส ความชัดเจนจึงถือเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการกีฬาด้วย ซึ่งส่งผลโดยรวมให้กับประเทศและมีผลโดยตรง ทั้งการแข่งขันในระดับกีฬาเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ โดยศาลอนุญาโตตุลาการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. ๑๙๘๔) เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทางการกีฬา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคดีนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆโดยอ้างอิงจากการลงทะเบียนที่ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการบันทึกข้อพิพาทมากกว่า ๕,๐๐๐ เรื่อง และในปัจจุบันศาลอนุญาโตตุลาการกีฬามีอนุญาโตตุลาการจาก ๘๗ ประเทศ จำนวนเกือบ ๓๐๐ คน การก่อตั้งศาลอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการระงับข้อพิพาททางการกีฬา ซึ่งแพร่หลายในต่างประเทศ โดยจะมีสองระดับ คือการไกล่เกลี่ย และระดับอนุญาโตตุลาการ จะทำให้ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล อีกทั้งทำให้ข้อพิพาทแต่ละคดีระงับลงด้วยความพึงพอใจของคู่กรณี ซึ่งอนุญาโตก็ควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาด้วย เพราะเนื่องจากข้อพิพาททางการกีฬามักจะเกี่ยวข้องกับกฎกติกาของกีฬาต่างๆ การสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นการจุดประกาย เป็น การเริ่มต้นสร้างการรับรู้ร่วมกันถึงประโยชน์จากการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการทางการกีฬา มีหลายฝ่ายมาร่วม ศึกษาแนวทาง ช่วยกำหนดทิศทาง และปูรากฐานของอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาของประเทศไทย เป็น จุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวไปด้วยกัน”

จากนั้น เป็นการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการด้านกีฬา โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายถิรชัย วุฒิธรรม, นายศักดา รัตนสุบรรณ, รองศาสตราจารย์ ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสถียรภาพ นาหลวง, นายอาทิตย์ ปิ่นปัก และนายปราชญา อ่อนนาค.

 

กองประชาสัมพันธ์ กกท.

27 มิถุนายน 2562