กาลเวลาผ่านไปรวดเร็วเสมอๆ

9 ต.ค. 58

 

กาลเวลาผ่านไปรวดเร็วเสมอๆ

ถึงวันนี้ นิตยสาร “คิวทอง” ของวงการสนุกเกอร์เมืองไทย ก็มีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์แล้ว

หากเปรียบเทียบเป็นคน ก็ย่อมอยู่ในวัยฉกรรจ์ ทั้งหนุ่มและสาว แต่เมื่อเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นนิตยสารเช่นนี้แล้ว อายุ 30 ปีของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นนี้ จะต้องมี “วัย” อันหมายถึง “อายุ” เพิ่มขึ้นเป็นทบทวีคูณ เป็นอย่างน้อย

ธรรมชาติของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น มีความเปราะบางต่อการดำรงอยู่อย่างยิ่ง

พูดเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์นั้น มักจะมี “อายุสั้น” เป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นธุรกิจที่ “โต-ยาก” และ “ตาย-ง่าย” หรือ “รวย-ยาก” แต่ “เจ๊ง-เร็ว” ทำนองนั้น

อีกด้านหนึ่ง ที่คนในวงการนี้ เปรียบเทียบกันติดปากก็คือ เป็นธุรกิจที่ไม่ต่างไปจากการเอาแบงค์ หรือธนบัตร มาพิมพ์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ อะไรประมาณนั้น

ดังนั้น เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับเล็กๆ อย่าง “คิวทอง” ยืนหยัดอยู่ได้มาถึง 30 ปีปฏิทินนั้น จึงเป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมายของธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยทั่วไป เป็นอย่างมากแน่นอน

... เป็นเรื่องไม่ปกติธรรมดา แน่นอนอีกเช่นเดียวกัน!

ถ้าจะถามกันว่า ทำไม นิตยสาร “คิวทอง” จึงอยู่ยั้งยืนยงมาถึงทุกวันนี้ได้?

ก็ต้องตอบกันแบบกำปั้นทุบดินว่า เพราะ นิตยสาร “คิวทอง” มีคนหนังสือพิมพ์อย่าง “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ เป็นเจ้าของ เป็นเสาหลัก เป็นลมหายใจและเป็นวิญญานสิงสู่อยู่นั่นเอง

คนหนังสือพิมพ์อย่าง ศักดา รัตนสุบรรณ นั้น ยังมีความสุขกับการควักกระเป๋าตัวเอง ออกมาทำ นิตยสาร “คิวทอง” ให้เคียงคู่อยู่กับวงการสนุกเกอร์เมืองไทย ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

คนทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ด้วยกัน ย่อมมองเห็นชัดว่า ค่าใช้จ่ายกับรายได้ของ นิตยสาร “คิวทอง” นั้น ไม่สัมพันธ์กันแน่นอน มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ต่อแต่ละฉบับ แต่ละเล่มแน่นอน

... ขาดทุนทุกเล่มแน่นอน ... เจ๊งทุกเล่มแน่นอน จะมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง!

เคยถาม “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ มานานหลายปี หลายครั้งแล้วว่า ทน “เจ๊ง” อยู่ทำไม? และจะ ทน “เจ๊ง” ได้อีกนานแค่ไหน? ทำไมไม่เอาเงินไปใช้เพื่อความสุขในบั้นปลายชีวิตตัวเอง หรือลูกเต้า?

คำตอบที่ได้รับกลับมาทุกครั้ง เหมือนๆ กันทุกครั้ง คือ

... ไม่ใช่ว่ารวย จนสามารถเอาเงินมาพิมพ์เล่นอย่างนี้ได้หรอก แต่เอาเงินมาทำหนังสืออย่างนี้ ดีกว่าใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไปทำอย่างอื่น ... และ อย่างน้อยก็ทำให้วงการสนุกเกอร์ ยังมี “สื่อ” เฉพาะสำหรับวงการนี้บ้าง แม้ว่าจะไม่หรูหราระดับอัครฐานก็ตาม มียังดีกว่าไม่มี...แน่นอน!!

ในฐานคนหนังสือพิมพ์รุ่นน้องนั้น รู้ดีว่า คำตอบที่แท้จริงของ “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ก็คือ

... นิตยสาร “คิวทอง” เล่มนี้ เป็นเสมือนหนึ่งศักดิ์ศรีของวงการสนุกเกอร์เมืองไทย มากกว่าจะเป็นศักดิ์ศรีส่วนตัวของคนอย่าง ศักดา รัตนสุบรรณ เท่านั้นเอง ... แน่นอน!

ไม่เชื่อก็ลองสำรวจดูเถิดว่า สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยกี่แห่ง ที่ลงทุนทำหนังสือ นิตยสารหรือวารสารของสมาคมออกมา เป็นรายเดือนบ้าง รายสองเดือนบ้าง ตามแต่จะลงทุนทำ

 

หนังสือ นิตยสาร หรือวารสาร หรือ “สื่อ” ของสมาคมกีฬาเหล่านั้น

มีผลอย่างน้อยในด้านการสื่อสารกับสโมสรสมาชิก และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้านหนึ่งละ อีกด้านหนึ่ง คือ อย่างน้อยก็เป็นตอบแทนในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์แก่ “สปอนเซอร์” หรือผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬานั้นๆ

... นิตยสาร “คิวทอง” ไม่ใช่สมบัติและไม่ได้รับเงินสนับสนุนของ สมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทย แต่อย่างใด

... แต่ นิตยสาร “คิวทอง” ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง เป็น สื่อ ของ สมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทย เป็น สื่อ ของวงการสนุกเกอร์ไทย อย่างเต็มตัว เต็มที่ และเปิดเผยมาโดยตลอด

... แต่ นิตยสาร “คิวทอง” ยังสม่ำเสมอในการทำหน้าที่เป็นองครักษ์ คอยปกป้องวงการสนุกเกอร์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอมาโดยตลอด

นั่นคือ ความเป็นตัวตนของ “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ คนซึ่งมีความรักต่อกีฬาสนุกเกอร์ ต่อวงการสนุกเกอร์ จนกลายเป็นความผูกพันในระดับจิตวิญญานไปแล้ว ประมาณนั้น

ความเป็น “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ ตลอดเวลาที่ผ่านมา และในวันนี้

จึงมีคนรัก และศรัทธา มีความเข้าอกเข้าใจ แล้วหยิบยื่นความปรารถนาดีให้คนละเล็กคนละน้อย ตามฐานานุรูป เป็น “น้ำมิตร+น้ำใจ” ให้ในต่างกรรมต่างวาระ มาเป็นลำดับ

... เป็น “น้ำมิตร+น้ำใจ” ที่ไม่ต่างอะไรจาก “หยดน้ำ” ที่หยดมาทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นแอ่งน้ำ เป็นบ่อน้ำ เป็นลำธาร ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงให้สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ มีวันนี้ ในอีกด้านหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง

 

นอกจากการทำงานผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ “คิวทอง” ฉบับนี้แล้ว

“คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ ยังทำงาน “ชิ้นเอก” ให้กับวงการสนุกเกอร์เมืองไทย โดยเฉพาะ สมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทย อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมบิลเลียดฯ ร่วมกับมิตรแท้อย่าง “เฮียฮง” สุนทร จารุมนต์
เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของทีมสนุกเกอร์ไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา

... เป็นการลาออกด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง ว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ “คนใหม่” หรือ “คนรุ่นใหม่” มาทำหน้าที่เพื่อชาติ เพื่อวงการสนุกเกอร์ไทย ต่อไป โดยมิได้ยึดติดว่า ต้องเป็นตัวเองเท่านั้น ที่มีความสามารถ ที่จะทำงานนี้ได้เพียงฝ่ายเดียว

เขียนมาถึงบรรทัดนี้....ก็ต้องเรียกร้องผ่าน นิตยสาร “คิวทอง” ไปถึง “คิวทอง” ศักดา รัตนสุบรรณ และ “เฮียฮง” สุนทร จารุมนต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ “คนคู่” หรือเป็น องครักษ์ ซ้าย-ขวา ของทีมสนุกเกอร์ไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นการเรียกร้องให้ “คิวทอง+เฮียฮง” อย่าเพิ่งทอดทิ้ง หรือวางมือจากวงการนี้ไปเลย เพราะทั้งสองคนยังมีไฟ ยังมีประโยชน์และยังเป็นพลังขับเคลื่อนวงการสนุกเกอร์ไทย อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นการเรียกร้องให้ “คิวทอง+เฮียฮง” ลองพิจารณาทำกิจกรรม เพื่อนักสนุกเกอร์ เพื่อวงการสนุกเกอร์ ต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องทำในนามองค์กรอย่าง สมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทย แต่อย่างใด

... เช่น การก่อตั้ง สถาบันสนุกเกอร์แห่งประเทศไทย Snooker Academy Of Thailand เพื่อเป็นตักสิลาในการผลิต การพัฒนา และการยกระดับองค์ความรู้แก่ “คนไทย” รุ่นใหม่ ให้ก้าวไปสู่การเป็น นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และบุคคลากร ระดับมาตรฐานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น “กีฬาอาชีพ” ของคนไทยในอนาคต ต่อไป

... เช่น การก่อตั้ง “มูลนิธิ+กองทุน” พิเศษ เพื่อสนับสนุนนักสนุกเกอร์ไทยที่มีศักยภาพ ให้ก้าวไปสู่การเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพระดับโลก ในรูปแบบของสโมสรหรือ “ค่าย” หรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจผลิตนักสนุกเกอร์อาชีพ ตามแบบฉบับกีฬาอาชีพต่างๆ ในทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา ฯลฯ และ ฯลฯ

เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ เพื่อร่วมยินดีกับ นิตยสาร “คิวทอง” ครบรอบ 30 ปี อยู่ดีๆ ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมลงท้ายกลายเป็นเรื่องเรียกร้อง “คิวทอง+เฮียฮง” ให้ทำงานเพื่อวงการสนุกเกอร์ต่อไปอย่างนี้

แต่....เขียนลงท้ายอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ

คิดอย่างนั้น หวังอย่างนั้น และเชื่อมั่น “คิวทอง+เฮียฮง” อย่างนั้นจริงๆ นะครับ!

 

“ประดิษฐ์ นิธิยานันท์”

 ** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558