บี แหลมสิงห์ มาเยือน ... 13 ปีที่แล้ว ...

14 ต.ค. 58

บี แหลมสิงห์ มาเยือน

 

.....13 ปีที่แล้ว.....

 

ปี ค.ศ. 2002 หรือ พ.ศ. 2545

ถือเป็นปีที่ 4 ที่ผมก้าวเดินเข้ามาสู่เส้นทางอาชีพของ “สื่อมวลชน” อาชีพในฝันของใครหลายคน

นาทีนั้นผมคิดว่าผ่านจุดตรงนั้นมาได้ 4 ปีนี่น่าจะเสถียรแล้ว

การได้ทำข่าวเอเชี่ยนเกมส์ สมัยที่ 2 ในชีวิต และยังเป็นเอเชี่ยนเกมส์นอกถิ่นหนแรก ที่นครปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในปีซึ่งถูกบันทึกเอาไว้ว่า เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์มากมายของวงการสอยคิวไทย และสอยคิวเอเชีย

ซึ่งปีนั้นก็เป็นปีสุดท้ายที่ศึกไทยแลนด์ มาสเตอร์ส รายการสะสมคะแนนระดับโลก แข่งขันที่เมืองไทยอีกด้วย

หากนับเรื่องราวในทวีปเอเชียของเรา โลกได้รู้จัก ไอ้หนูมหัศจรรย์ชาวจีนที่ชื่อว่า “ดิง จุน ฮุย” หรือจะเรียก “ดิง จิง ฮุย” หรือปัจจุบันคือ ติง จุ้น ฮุย ก็แล้วแต่สะดวกปาก

แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการบนโลกใบนี้ด้วยวัย 14 ปี

ปีเดียว ติง จุ้น ฮุย สามารถครองแชมป์มาได้ถึง 4 รายการ เริ่มจากการดวลคิวชิงแชมป์เยาวชนเอเชีย ด้วยการปราบ “แมน เมืองสมุทร” ประมวล จันทร์ทัด 6-2 ที่อินเดีย

“ต้นสัก” นักข่าวกระทิงเปลี่ยวที่มีโอกาสไปทำข่าวคราวนั้น กลับมาเล่าให้ฟังว่า เด็กจีนคนนี้แทงได้แบบน่ากลัว เหมือนกับไม่คิดอะไร และไม่สะทกสะท้านสะเทือนอะไรทั้งนั้น

แชมป์ที่ 2 ของ ติง เกิดขึ้นในศึกชิงแชมป์เอเชีย ในอีก 2 เดือนต่อมา ที่เจียงเหมิน ประเทศจีน ซึ่งผมมีโอกาสไปทำข่าวและได้เห็นการแทงแบบ “ไร้ความปราณี” และ “ไร้ซึ่งการควบคุม” ของ ติง เมื่อเขาคว้าแชมป์ด้วยการน็อค คีธ อี บุน อัน จากสิงคโปร์ 8-4

ซึ่งรายการนั้น ติง ปราบทั้ง จิ้น หลง และ “เบิ้ม เชียงใหม่” สมพร กันธวัง แชมป์ประเทศไทยหมาดๆ ลงได้อย่างสวยงาม

รายการที่ 3 ติง ลงแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ที่ปูซาน และคว้าเหรียญทองไปครอง ด้วยการเชือด “แจ๊ค เชียงใหม่” สุพจน์ แสนหล้า 3-1 ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ 4 ในปีเดียว เมื่อชนะ เดวิด จอห์น จากเวลส์ 11-9 ในการแข่งขันที่กรุงริก้า ประเทศลัตเวีย

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต๋อง2 เกิดแล้ว” แต่ไม่ได้เกิดที่ไทย

ดันไปเกิดที่จีน

ขณะที่ประเทศไทยในปีนั้น ถูกบันทึกว่า เป็นการคว้าเหรียญทองการแข่งขันบิลเลียดสปอร์ต ได้ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ได้เป็นหนแรก หลังจากที่เรามือเปล่าแบบสุดช็อคในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 บางกอกเกมส์ ปี 1998

ในการแข่งขันที่ปูซาน สนามนั้นขึ้นไปแข่งกันบนเขา ต้องเดินกันแหงนหน้าขึ้นไปเป็นการฝึกกำลังขา และความอดทน แต่บางวันก็ได้กินข้าวฟรี เพราะมีคุณปู่ที่อยู่ใกล้สนาม เรียกเข้ามากินข้าวที่ร้าน เพราะรู้ว่าเป็นคนไทย

เนื่องจากสมัยสงคราม ปู่ท่านนี้มีเพื่อนเป็นคนไทย และรักกันมาก เมื่อเห็นเรามาจากเมืองไทย ก็ให้ลูกสาว (ซึ่งก็คราวป้า) ให้ไปกินอาหารฟรี

หนนั้นเราได้ 2 เหรียญทองจากบิลเลียด โดยประเดิมเหรียญทองประเภทคู่จาก “รมย์ สุรินทร์” ประพฤติ ชัยธนสกุล และ “อาจารย์ตึ๊ก โคราช” มงคล กั้นฝากลาง ที่ปราบ กิ๊ท เสธฐี และอล็อค กุมาร ก่อนจะได้อีกหนึ่งเหรียญทองจากบิลเลียดเดี่ยวของ “รมย์ สุรินทร์” ที่ไล่ทิ่ม คอย อู้ ขาดลอย

ไม่น่าเชื่อคนได้ 2 เหรียญทองไม่ดังเท่าเหรียญเดียวของ “ปู่ตึ๊ก” ที่กลายเป็นมนุษย์ที่อายุมากที่สุดของไทยที่ได้เหรียญทอเอเชี่ยนเกมส์

แถมกลับมาก็มาได้ภรรยาต่างชาติเชื้อสายเมียนมาร์เป็นของตัวเอง คว้าตำแหน่ง “นักกีฬาที่แก่ที่สุด แต่มีเมียเด็กที่สุด” ไปอีกหนึ่งรางวัล

ที่สำคัญ เป็นปีที่ผมได้เข้ามาเขียนหนังสือคิวทองเป็นปีแรกอีกด้วย จากการชักชวนของ “คิวทอง” คุณศักดา รัตนสุบรรณ เจ้าของหนังสือ และ “จุ้ย คิวทอง” บก.ของหนังสือเล่มนี้

เพราะทำงานมา 4 ปี อยู่วงการเต็มๆ มา 3 ปี ถึงเวลาที่จะมาร่วมงานเขียนหนังสือกันที่นี่

แรกๆ ผมรับหน้าที่เขียนเรื่องราวนักสอยคิวจากต่างประเทศ ก่อนจะมีการให้เขียนเรื่องของฟุตบอลเป็นการเติมสีสันให้กับหนังสือ ก่อนที่จะมีการปรับใหม่ให้มีแต่เรื่องของสนุกเกอร์ 80 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือคือ มวย

ผมจึงรับหน้าที่เขียนเรื่องต่างประเทศ และเรื่องของแรงกิ้งที่เริ่มเดินสายไปทำข่าวยังต่างจังหวัดนับจากนั้นเป็นต้นมา

เผลอไผลนอนหลับไปไม่กี่เพลา ก็ล่วงเลยมาถึงปีที่ 13 ที่ได้ทำงานเขียนหนังสืออยู่ที่นี่ ตลอดเวลาที่ทำมาผมเคย “พลาด” ไม่ส่งต้นฉบับรวม 3 เล่ม อันนี้ยังจำขึ้นใจจนถึงวันนี้

แต่นับตั้งแต่ ป๋าศักดา ต้องขาดกระบี่คู่ใจและครูที่ผมเคารพอย่าง “ลุงตุ๊” หมู่โฮม ไป ก็แน่นอนว่า คนรุ่นต่อมาจะต้องไม่มีคำว่า “พลาด” อีกต่อไป

ยังจำได้ว่า วันที่เริ่มเขียนหนังสือคิวทอง ในวันที่ “ลุงตุ๊” จากไป แกยังมาเข้าฝันผม และจับมือเขียนหนังสือคล้ายกับเราเป็นเด็กเพิ่งฝึกเขียนเรียนคัดไทย นึกถึงแล้วยังขนลุกจนถึงวันนี้

แปลกดีครับ เขียนหนังสือ “คิวทอง” ครั้งใด จะต้องคิดถึงแกทุกที

ความรู้สึกนี้เจ้าของหนังสือก็เช่นกัน อยู่ที่ว่าแกจะบอกหรือไม่

ไม่แปลกที่เวลาครบรอบวันเกิดของคุณศักดา หรือครบรอบการจากไปของลุงตุ๊ จะมีชื่อของ “หมู่โฮม” มาปรากฏทุกครั้งไป

คนอะไรครับ นอนอยู่โรงพยาบาลยังส่งต้นฉบับไม่เคยขาด และไม่เคย “พลาด” อย่างที่ลูกศิษย์เคย

แน่นอนฉบับนี้ก็เช่นกัน อย่างน้อยก็มีตรงคอลัมน์ผมนี่แหละที่เอ่ยถึง เพราะคนที่เคยเขียนหนังสือ คนที่อยู่รอบกาย คนในวงการระดับครูอาจารย์ชั้นเซียน มาเขียนกันเกือบหมด

รู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้เขียนอยู่ในเล่มเดียวกับนักเขียนรุ่นใหญ่ ฮีโร่ในวัยเด็กที่เราเคยไปเปิดหนังสืออ่านในห้องสมุด หรืออ่านตามร้านกาแฟ

อยากให้ทุกคนเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ดี เพราะ 30 ปีกับการยืนหยัดอยู่ถึงทุกวันนี้ ไม่ธรรมดา ก็อย่างที่อาจารย์หมู่โฮมของผมว่าไว้

ถ้าอยากจะรวยทางลัดต้องไปทำ “คิวมอเตอร์ไซด์”....ไม่ต้องมาทำ “คิวทอง” !!!!

 

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558