ตำนานลีลาพญาเซียน

14 ส.ค. 58
อาคารมิตรเดือนเด่น สถานที่รวมตัวของเหล่าเซียนในอดีต
อาคารมิตรเดือนเด่น สถานที่รวมตัวของเหล่าเซียนในอดีต

โต๊ะสนุกเกอร์ในกรุงเทพฯ สมัยโน้นมีทุกหัวระแหง หรือทุกย่าน และทุกแห่งจะต้องมีเซียนประจำโต๊ะ คือผู้ที่เล่นสนุกเกอร์เก่งที่สุด หรือไม่ก็มือระดับต้นๆ ของที่นั่น ที่อาจมีถึงสี่ห้าคน ผมจะพาไปตระเวนด้วยตัวหนังสือ ไปตามโต๊ะสนุกเกอร์ในสมัยนั้นกัน

ไต้ฮวด ตรงนี้นักสนุกเกอร์เก่าๆ ต้องรู้จัก ถึงอยู่บ้านนอกก็ต้องเคยได้ยินชื่อ นอกจากมีโต๊ะสนุกเกอร์ร่วมสิบตัวให้เล่นแล้ว ยังเป็นสถานที่ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับสนุกเกอร์ครบครัน ไต้ฮวดอยู่แถวโรงหนังเฉลิมกรุง ติดริมถนนใหญ่เลย ส่วนที่ชื่อคล้ายกันคือ “โชว์ฮวด” อันนี้กลับไปอยู่โน่น แถวราชเทวี สมัยที่ยังมีน้ำพุอยู่ เป็นตึกแถวฝั่งเยื้องๆ กับโรงแรมเอเชียปัจจุบัน โต๊ะสนุกเกอร์อยู่ชั้นสอง ส่วนชั้นล่างขายพวกกระถางดินเผา และพวกอุปกรณ์ปลูกต้นไม้

ตรงราชเทวีนี้ ฝั่งซ้ายมือที่จะไปพญาไท มีตึกใหญ่สี่ชั้นเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้า “ดาวรุ่ง” แต่ชั้นสี่มีโต๊ะสนุกเกอร์ร่วมสิบโต๊ะ มีมือดีประจำคณะที่เอ่ยชื่อนักสนุกเกอร์ก็ต้องรู้จัก แต่จะเคยเห็นหน้าหรือไม่นั้น จะต้องเติบโตหรือเข้าวงการร่วมสมัย “เซียนกิ๊ด” หรือวิเชียร แสงทอง หรือ กิ๊ด นครสวรรค์ ดีกรีเป็นแชมป์ประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๕ สมัย แต่เซียนกิ๊ด ไม่ชอบเดินสาย มักจะปักหลักอยู่ที่โต๊ะดาวรุ่งแห่งนี้

กระโดดไปโน่นเลย ไม่กล่าวถึงไม่ได้แล้ว “โต๊ะสุรวงศ์” อยู่ใกล้แถวสี่พระยานั่น ถึงแม้จะซ่อนตัวอยู่บนตึก และห่างไกลย่านอื่น แต่ทะเล แม้ไม่ลึกนัก มีพญามังกรอาศัยอยู่ผู้คนก็กริ่งเกรง ขุนเขาถึงไม่สูงใหญ่ แต่มีเทวดาอาศัย ผู้คนก็ต้องกราบไหว้บูชา ที่นี่มีนักสนุกเกอร์มือดีจากต่างจังหวัดมากมายมารวมตัวกัน อาทิ เซียนรินทร์ ระยอง, เซียนเง็ก อ่างทอง แต่มีนักสนุกเกอร์มือดีคนหนึ่ง ดูบุคลิกแล้วไม่เหมือนเป็นเซียน เพราะยังหนุ่มวัยกระทง หน้าหล่อเหลา ผิวขาว สะอาดสะอ้าน แต่งเนื้อแต่งตัวเรียบร้อย ขึ้นมาบนโต๊ะสนุกเกอร์ทีไร จะเห็นนุ่งกางเกงสแล็ค เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว สวมรองเท้าหนังขัดมันหุ้มส้น นักสนุกเกอร์เรียกเขาว่า “ศักดิ์ สุรวงศ์” หรือเซียนศักดิ์ แปดริ้ว

ก็คือ “คิวทอง” ตัวจริงเสียงจริงในปัจจุบัน คุณศักดา รัตนสุบรรณ เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน “พิมพ์ไทย” ไปไหนมาไหนกับนักข่าวใหญ่ยุคนั้นคือ “คุณมานะ แพร่พันธุ์” พอ “พิมพ์ไทย” ปิดกิจการ คุณศักดาก็ย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จนเป็นหัวหน้าบรรณาธิการข่าวกีฬา ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ณ ที่นี้ “คิวทอง” ก็เกิดขึ้น คุณศักดา รัตนสุบรรณ จัดการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์ขึ้นหลายประเภท และติดต่อกันหลายปี พร้อมทั้งเปิดคอลัมน์ “คิวทอง” ขึ้นในหน้ากีฬาของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สัปดาห์หนึ่งมีหนึ่งวัน จนวันใดที่ตรงกับมีคอลัมน์นี้ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์จะขายดีมาก โต๊ะสนุกเกอร์ทุกแห่ง ต้องมีหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ พอปี ๒๕๒๘ นิตยสารคิวทอง ก็วางแผงหนังสือทั่วประเทศ นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพที่มาช่วยก็มี คุณเรวัต สนธิขันธ์ หรือ “มอญฟรี” คุณอำนวยศักดิ์ สว่างนก หรือ “ศักดิ์อำนวย” คุณชาตรี อนุเธียร หรือ “แหลม หญ้าคา”

 ออกมาได้สองสามฉบับ ก็เกิดคอลัมน์ “ลีลาพญาเซียน” ขึ้นมา มีประจำทุกฉบับติดต่อกัน คนเขียนคือคนในวงการสนุกเกอร์นั่นเอง โดยใช้นามปากกาตามชื่อที่คุณศักดา รัตนสุบรรณ เป็นผู้ตั้งให้ในการลงแข่งขันสนุกเกอร์รายการหนึ่ง “อ๊อด หัวหิน” เป็นคอลัมน์ที่เปิดตัวเซียนสนุกเกอร์ในอดีตและในปัจจุบันออกมา ในลีลาที่แปลกแตกต่างกันไปตามสไตล์หรือเทคนิควิธีการเดินสายเล่นสนุกเกอร์ของแต่ละเซียนจนหมดกรุ หมดภูมิ ก็เลยต้องขอถอนตัวจาก “คิวทอง” ไป ดูเหมือนจะเปิดตัวเซียนออกมาเกือบ ๓๐ คน เดือนละหนึ่งฉบับ ฉบับละ ๑ คน

ย้อนกลับไปหน่อยเพื่อให้เรื่องราวมันปะติดปะต่อ โต๊ะสนุกเกอร์ในกรุงเทพฯ สมัยโน้น มันจะเฟื่องฟูหรือฟุบ ก็ขึ้นอยู่กับบรรดาเซียนไปรวมตัวกัน ไปปะทะวัดฝีมือกันบ้าง หรือบางทีคนอื่นเล่นกัน แต่ไปถือพนันนอกรอบโต๊ะ ไอ้นักสนุกเกอร์นี่มันก็ประหลาด มีเซียนสนุกเกอร์อยู่ที่โต๊ะไหนมากๆ ก็จะเฮโลตามไปที่นั่น

เซียนสนุกเกอร์ก็เหมือนเป็นดาราในสายตานักสนุกเกอร์สมัยนี้แหละครับ พวกเขาอยากรู้จัก พวกเขาอยากอยู่ใกล้ๆ พวกเขาอยากสัมผัสด้วย บางคนถึงกับยกให้เป็นปรมาจารย์เลย ก็มี อย่างเช่น เซียนตึ๊ก โคราช ขึ้นไปบนโต๊ะที่ไหนทีไร จะต้องมีนักสนุกเกอร์อยากตีสติ๊ก ขอเป็นลูกศิษย์ ซื้อเบียร์ให้ดื่มเป็นค่ายกครู พอโต๊ะสุรวงศ์ปิดกิจการ เพราะตึกจะถูกทุบเพื่อสร้างใหม่ ย้ายมาที่ย่านอินทรา ประตูน้ำ อยู่ริมถนนราชปรารภ ปากทางขวามือจะเข้าไปโรงแรมอินทรา ชั้นล่างเป็นสถานที่รับจัดหางาน โต๊ะอยู่ชั้นสอง ประดาเซียนทั้งหลายก็แห่กันมารวมตัวอยู่ที่นี่ คึกคักมาก มีทั้งเซียนประจำและเซียนต่างถิ่น แต่ละวันที่แวะเวียนขึ้นมาหาคู่ หรือมาเล่นต่อรองถือหางหารำไพ่

ที่เห็นๆ เซียนใหญ่อยู่ประจำเลย คือ เซียนโก๊ะ อยุธยา, เซียนเง็ก อ่างทอง, เซียนตา ลพบุรี, เซียนรินทร์ ระยอง, เซียนกุ่ม ดาวคะนอง, เซียนเซ้ง ปักธงชัย, เซียนเก๊า แปดริ้ว ฯลฯ

ที่ต่างถิ่นและแวะเวียนขึ้นมาบางวัน ก็เช่น เซียนชัย ลำพูน, เซียนดำ ศรีราชา, เซียนบัติ หัวตะเข้, เซียนเชียร ลำปาง, เซียนฉ่อย คลองเตย, เซียนเซี๊ยะ เก้าชั้น, เซียนเสริฐ จันทบุรี ฯลฯ

ที่โต๊ะถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่คึกคักมาก เซียนเหล่านี้โยกย้ายมารวมตัวกัน พอชักไม่สนุก หรือชักเซ็ง ก็จะไปรวมตัวที่แห่งอื่นอีก หรือกลับที่โต๊ะอินทราที่เดิม

โต๊ะสนุกเกอร์ที่พระโขนงก็เป็นแหล่งที่มีเซียนเยอะแยะ เช่น เซียนเป้า พระโขนง ต่อมาก็ย้ายมาประจำที่โต๊ะอินทรา แล้วก็ไปอยู่โต๊ะลาดหญ้า วงเวียนใหญ่, แถวซอยพระนาง ใกล้สามเหลี่ยมดินแดง ก็มีโต๊ะสนุกเกอร์ที่เล่นกันสนุก มือยืนพื้นที่นั่นคือ “เซียนทุ้ย พระนาง” หรือสุชาติ โภคศิริ อีกฉายาหนึ่งคือ “ชาติขวา” เพราะมีคนที่มีชื่อเสียงในวงการกีฬาคนหนึ่งชอบเข้าวงการสนุกเกอร์เหมือนกัน คือคุณสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ ถนัดมือซ้าย จึงเรียกกันว่า “ชาติซ้าย” เพื่อไม่ให้สับสนกัน ปัจจุบันคุณสมชาติ เจริญวัชรวิทย์นี้ เป็นนายกสมาคมมวยไทยอาชีพ หลังโรงภาพยนตร์เมโทร ก็มีโต๊ะสนุกเกอร์ มีมาร์คเกอร์ชื่อ “แจ่ม” มาจากผักไห่ ฝึกฝนจากโนเนมจนเก่งฉกาจ ขนาดเซียนที่ไหนเดินสายมา ถูก “แจ่ม ผักไห่” กระซวกเลือดสาดกลับออกไปทุกราย แม้กระทั่ง “เง็ก อ่างทอง” ตอนที่ขึ้นหม้อจนคนในวงการเรียกว่า “เง็ก เทวดา” แวะเข้าไปครั้งแรก ยังถูกกระแทกยับเยิน พอวันหลังจะขอเข้าไปแก้ตัวใหม่ ใครไม่รู้ไปกระซิบกับ “แจ่ม ผักไห่” ว่า หมอนี่แหละ.....เง็ก เทวดา เท่านั้นเอง “แจ่ม ผักไห่” ไข้ขึ้นทันทีเลย ปฏิเสธไม่ยอมเล่นด้วยอ้างว่าไม่สบาย ไปนอนซุกผ้าห่มอยู่ในห้องข้างโต๊ะสนุกเกอร์

นี่แหละ นามของคน เงาของไม้ จริงๆ

 

ต๋อง ศิษย์ฉ่อย - หนู ดาวดึงส์
ต๋อง ศิษย์ฉ่อย - หนู ดาวดึงส์

เซียนที่มีหัวใจนักสู้มากๆ ผมเคยเห็นกะตานะครับ เซียนฉ่อย แกชอบเล่นจริงๆ ครับ หากได้ประกบคู่แล้วเป็นต้องสู้ไม่ยอมถอย เคยเห็นเซียนฉ่อยเล่นที่แห่งหนึ่ง เขาควักกระเป๋าออกมาทีละกระเป๋า จนถึงกระเป๋าหลังใบสุดท้าย ถึงยอมแพ้วางคิว เดินออกจากโต๊ะไปเงียบๆ ตอนที่ “ต๋อง” เปิดตัวเข้าวงการใหม่ๆ ตัวยังเล็ก คุณศักดา รัตนสุบรรณ นี่แหละประกบคู่ให้เล่นนัดพิเศษกับ “หนู ดาวดึงส์”

เอาละครับ เด็กดาวรุ่งโด่งดังทั้งคู่เลย ฝั่งกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี

สองคนนี้ ฝีมือเกินตัว ปราบผู้ใหญ่มาราบเรียบ คนหนึ่งอยู่คลองเตย อีกคนหนึ่งอยู่แถววัดดาวดึงส์ ก็ตีนสะพานปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี ข่าวดังสนั่นไปทั่วในวงการสนุกเกอร์ แม้สื่อก็เล่นข่าว

ชะรอย แมตช์เด็ดนี้กระมัง ทำให้สนุกเกอร์บูมขึ้นมาในเมืองไทยอย่างรวดเร็ว เด็กรุ่นใหม่ต่างก็หันมาเข้าโต๊ะสนุกเกอร์ หวังจะเก่งเหมือน “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย”

ต๋อง โด่งดัง และปลุกกระแสได้ขนาดไหน ก็ดูเถอะ “ฉ่อย” ผู้เป็นพ่อ ไปไหนมาไหนที่โต๊ะไหน ยังสวมเสื้อที่สกรีนตัวอักษรโตๆ ไว้ด้านหลังว่า I come with my son

วงการสนุกเกอร์รุ่งเรืองถึงขีดสุด มีการจัดการแข่งขันในประเทศอย่างสม่ำเสมอและเป็นทางการ, ทั้งแบบไม่เป็นทางการที่ “คิวทอง” จัดขึ้น และแยกประเภท จำกัดไปตามฝีมือ ไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ ยังดึงรายการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์ระดับโลกมาจัดในเมืองไทย

เจมส์ วัฒนา หรือ วัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ก็ผันตัวไปเล่นมืออาชีพ ไปฝึกซ้อมถึงประเทศอังกฤษ และประสบความสำเร็จมากมาย ส่งผลให้นักสนุกเกอร์รุ่นหลังๆ เดินรอยตาม

ปัจจุบันเขาเปลี่ยนชื่อเป็น รัชพล ภู่โอบอ้อม

พัฒนาการของวงการสนุกเกอร์บ้านเรา ที่เห็นมาถึงวันนี้ ๓๐ ปี ไม่สูญเปล่าครับ

หากไม่มี “คิวทอง” เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว วงการสนุกเกอร์จะเป็นเหมือนวันนี้ไหมครับ เบื้องหลังความสำเร็จ ย่อมต้องมีกุนซือเสมอ ซึ่งอาจไม่มีใครรู้ แม้แต่เสียงปรบมือก็ดังไปไม่ถึง “ตำนานลีลาพญาเซียน” กลับมาในวันครบรอบสามสิบปีของคิวทอง ซึ่งเห็นการเติบโตของวงการสนุกเกอร์มาโดยตลอด ก็ต้องขอโอกาสนี้ โอกาสครั้งแรกที่จะบอกว่า “คิวทอง” ก็คือ คุณศักดา รัตนสุบรรณ จนหนังสือพิมพ์เอาไปเอ่ยว่า เขาคือหมอผีแห่งวงการสนุกเกอร์ไทย

สามารถปลุกวงการสนุกเกอร์ให้ตื่นขึ้นมาอย่างมีศักดิ์มีศรี เป็นหน้าเป็นตาในวงการกีฬาระดับนานาชาติ เขาเหน็ดเหนื่อยและอาศัยที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ รู้จักคนในวงการต่างๆ มากมาย วิ่งไปหาคนสนับสนุน วิ่งไปหาสปอนเซอร์ วิ่งเต้นจนสนุกเกอร์ที่ก่อนนั้นใครหาว่าเป็นการพนัน เป็นแหล่งมั่วสุมของพวกหัวไม้ พวกนักเลง

จนสนุกเกอร์กลายมาเป็นกีฬา

หม่ำ จ๊กมก
หม่ำ จ๊กมก

ปี ๒๕๓๕ คิวทอง หรือคุณศักดา รัตนสุบรรณ ยังมองการณ์ไปไกลมาก อยากให้ผู้คนในสังคมทั่วไปยอมรับสนุกเกอร์ว่าเป็นกีฬา และไม่กีดกัน ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่ห้ามปรามลูกหลานเข้าโต๊ะสนุกเกอร์

คุณศักดา รัตนสุบรรณ จับมือกับคุณพิศณุ นิลกลัด ซึ่งมีรายการกีฬา “มวยดัง” ทุกสัปดาห์ ออกอากาศสดๆ ทางทีวีทุกตอนดึกของคืนวันอังคาร แบ่งเวลาช่วงหลังมาเป็นรายการสนุกเกอร์สดๆ แพร่ภาพออกอากาศทางช่อง ๗

เป็นรายการ “เฟรมเดียวน็อค” เอานักสนุกเกอร์มือดีมาจับคู่ซดกันแบบ ซัดเดน เดธ เล่นกันเฟรมเดียว แพ้ตกรอบไปเลย ครั้งละ ๑ คู่ ๑ เฟรม คุณพิศณุ นิลกลัด และคุณศักดา รัตนสุบรรณ นั่งจับคู่เป็นพิธีกรผู้จัดรายการออกอากาศสดๆ เองเลย

และผมนั้น ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินทุกแมตช์ทุกไฟต์ทุกคู่

ต่อมาก็เพิ่มเป็นรายการ “ชิงดำ” เอาคนดังในวงการต่างๆ มาชนกัน โดยชิงดำลูกเดียว ใครได้ไปก็ชนะเลย ไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องเปลืองเวลา ไม่ต้องมีลีลามาก

คนดูกันมากครับ เพราะผู้ที่ได้รับเชิญมาเล่นนั้น เขาก็มีแฟนคลับของเขารอดูอยู่ที่บ้าน บางทีก็มาถึงที่ถ่ายทอดสดเลย ที่สถานีโทรทัศน์สี ช่อง ๗ ผู้ที่แข่งขันก็เป็น นักการเมืองบ้าง เป็นดาราก็มี เป็นดาวตลก เป็นสื่อมวลชน สารพัดอาชีพครับ แต่มีเกรดมีฐานะ มีชื่อเสียงที่ผู้คนรู้จัก ที่ยังพอจดจำได้ อาทิ คุณหม่ำ จ๊กมก, คุณจักรพันธ์ ยมจินดา, คุณไพโรจน์ ใจสิงห์, เทพ โพธิ์งาม ฯลฯ

เบื้องหลังก็คือ มีเจตนาจะยกระดับสนุกเกอร์ให้คนไทยยอมรับกว้างขวางขึ้น เลิกมองว่าเป็นการพนัน หรือเป็นสถานที่หรือวงการที่คนไม่มีงานทำไปมั่วสุมกัน

สำคัญมากๆ คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย ยอมรับและจดทะเบียนให้สนุกเกอร์อยู่ใน พ.ร.บ. กีฬาอาชีพ และมีการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ หรือซีเกมส์จนถึงทุกวันนี้

 

อ๊อด หัวหิน

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558