เสี้ยวหนึ่งกับสนุกเกอร์ในซีเกมส์

30 ก.ย. 58

ลงพิมพ์นิตยสารคิวทอง ฉบับเดือน มีนาคม-เมษายน 2534

เสี้ยวหนึ่งกับสนุกเกอร์ในซีเกมส์

                [ฉบับเดือนมีนาคม 2534]

ต้องขออภัย ท่านผู้อ่านที่มีอุปการคุณต่อหนังสือสนุกเกอร์ คิวทอง ฉบับนี้ ที่ข้อความต่อไปนี้ผมมีความจำเป็นจะต้องนำเรื่องราวของตัวเอง ที่เข้าไปพัวพันกับสนุกเกอร์บางส่วนมาเผยแพร่เล่าสู่กันฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะมีจดหมายจาก ท่านผู้อ่านหลายฉบับ มีคำถามมาเหมือนๆ กัน ครั้นจะโยนเรื่องให้ ลุงหอย เป็นคนตอบก็เกรงว่าจะไม่ตรงเป้าหมาย และข้อสำคัญท่านที่ถามไถ่มาคงจะไม่สบอารมณ์นัก เพราะคนรู้ดันไม่ตอบ ส่วนคนตอบดันไม่รู้ทำนองนั้น

                เมื่อไตร่ตรองดีแล้ว ผมจะต้องเปิด คอลัมน์นี้ ขึ้นมา ชื่อคอลัมน์ก็ง่ายๆ เป็นประสบการณ์เสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่ผมเข้าไปมีส่วนพัวพันกับเรื่องนี้ หากมีสาระและท่านผู้อ่านชอบใจอาจจะมีต่อไปทุกฉบับ

                เรื่องที่แฟนๆ สนุกเกอร์ถามมามากก็คือตัวแทนทีมชาติไทย ที่ไปแข่งขันในกีฬา ซีเกมส์ หนแรกที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อปี 2530 ส่วนใหญ่จะถามว่านักกีฬาที่ไปแข่งขันนั้นมีใครบ้าง บางรายรู้รายละเอียดมากกว่านั้น ตำหนิตัวผมที่มีตำแหน่งเป็น โค้ช ไม่ให้ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ลงแข่งขันประเภทเดี่ยว บางรายถามแปลกออกไป ต๋อง มีฝีมือล้ำเลิศทำไมโค้ชถึงไม่วางตัวให้ลงสนาม และลงท้ายที่ว่าผมลำเอียง  ผมอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนสนุกเกอร์รับทราบว่า สนุกเกอร์ได้เข้าไปแข่งขันใน ซีเกมส์ สำเร็จมีคนทำงานกันไม่กี่คน

                และคนสำคัญถือเป็นตัวหลัก ผมจะไม่เอ่ยถึง ใครที่ติดตามกีฬาแขนงนี้มาแต่แรกคงจะรู้กันดี เอาเป็นว่า การที่สนุกเกอร์จะได้เข้าไปแข่งขันใน ซีเกมส์ ต้องใช้กำลังภายใน หรือเรียกว่า ใช้เส้น จึงขอขอบคุณ พ.อ. อนุ รมยานนท์ – พล.ต. จารึก อารีราชการัณย์ หากไม่มี 2 ท่านนี้ ก็ไม่มีสนุกเกอร์ในซีเกมส์

                เมื่อมีการประชุม มนตรีซีเกมส์ หรือตัวแทนโอลิมปิกของแต่ละชาติ ฝ่ายไทยก็เสนอสนุกเกอร์เข้าเป็นกีฬาประเภทใหม่ มีการยกมือสนับสนุนจากเครือสมาชิกหลายชาติ ดังนั้นเมื่อการแข่งขัน “ซีเกมส์” ที่อินโดนีเซียมาถึง นักแม่นรูไทย จึงได้เผยอหน้าสวมเสื้อทีมชาติไทยไปแข่งขันที่นั่น

  แต่ก่อนถึงซีเกมส์ 4 เดือน มีการคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งสมาคมสนุกเกอร์โดยคุณมอริส เคอร์ ที่เธอเป็นนายกในช่วงนั้น มอบหมายให้ผมเป็นผู้ทำการคัดเลือกตัว และแต่งตั้งให้เป็น โค้ช คุมนักกีฬาไปชิงชัย และภายหลังผมได้เสนอ คุณธนิต ตันติเมธ เจ้าของอาคารมิตรเดือนเด่นเป็นผู้ช่วยโค้ช ซึ่งผู้ช่วยโค้ชนั้นมีความหมายและสำคัญอย่างไร ในช่วงต่อไปผมจะขยายความให้ฟัง เพราะหากไม่มีผู้ช่วยโค้ชรายนี้ ความสำเร็จของทีมไทยจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

          การคัดเลือกตัวนักกีฬาไทย ผมจำกัดไว้ดังนี้ นักสนุกเกอร์มี 4 คน และบิลเลียด 2 คน นักสนุกเกอร์ 4 คน ผมขอสิทธิ์                               วัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ไม่ต้องคัดเลือกตัว สาเหตุก็คือ ต๋องเป็นแชมป์เอเชียในปี 2529 และในระหว่างนั้นทำการฝึกซ้อมอยู่ที่อังกฤษ ไม่สะดวกที่จะกลับมา อีกทั้งฝีมือของต๋องต้องยอมรับว่าเหมาะสมและดีกว่าทุกคน เจ้าต๋อง จึงเป็น  1 ใน 4 ทีมชาติไทยโดยปริยาย

          ส่วนนักกีฬาอีก 3 คนที่ผ่านการคัดเลือกมาคือ อุดร ไข่มุกค์ (ดร เมืองชล), ศักดิ์ชัย ซิมงาม (ชัย ลำพูน) และ ธงชัย แซ่ลิ้ม          (เป้า ศิษย์ฉ่อย) ส่วนบิลเลียดผ่านการคัดเลือก 2 คน คือ วิเชียร แสงทอง และ ประสงค์ พลารักษ์ (กุ่ม ดาวคะนอง) 

  จากนั้นก็ยกขบวนมุ่งหน้าสู่ชวา

          ผมโชคดี ที่ได้พักอยู่ห้องเดียวกับ คุณธนิต ตันติเมธ ที่แกไม่ยอมพักห้องที่เจ้าภาพจัดให้ โดยยอมควักกระเป๋าตัวเองมาเช่าห้องพักที่หรูหราอยู่ตามลำพัง พ้องพักที่คุณธนิตเช่านั้นมี 3 ห้องนอนใหญ่ 2 ห้องอาหาร 1 ห้องรับแขก ใหญ่มาก และที่สำคัญมีห้องครัวสำหรับทำอาหารพร้อมเสร็จ มีหม้อ ไห กระทะ ถ้วยจาน พร้อมเตาไฟฟ้าและเตาอบ เมื่อจาระไนอย่างละเอียดท่านผู้อ่านอาจข้องใจทำไมห้องใหญ่โตปานนั้น สนนราคาเท่าใด

ห้องที่ผมว่านี้ ใหญ่มากขนาดจัดงานวันเกิดให้คุณ แคล้ว ธนิกุล ในห้องนี้ ซึ่งมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้ามาแออัดอยู่ในห้องนี้นับร้อยๆ คนทีเดียว ดังนั้นข้าวแต่ละมื้อผมต้องหุงหม้อใหญ่ถึงมื้อละ 3 หม้อ เรียกว่ากินกันหลายสิบคนนั่นแหละ และเงินทุกบาททุกสตางค์ นอกจากค่าห้องพักวันละ 15,000 บาท รวม 17 วันกับค่าใช้จ่ายกับข้าวอีกวันละ 3,000 บาท เป็นหน้าที่ของ คุณธนิต ตันติเมธ แต่เพียงผู้เดียว  ถึงว่าผู้ช่วยคนนั้น ที่จริงแล้วมีความหมายและสำคัญยิ่งกว่าตัวโค้ชเสียอีก

         เดินทางไปอยู่ที่อินโดนีเซีย 4 วัน จึงถึงวันพิธีเปิดและแข่งขันวันแรก ผมยอมรับว่าหนักใจและกลุ้มใจอย่างบอกไม่ถูก ในการวางมือนักสนุกเกอร์เพื่อชิงเหรียญทอง

                ทราบไว้สักนิดว่า สนุกเกอร์มีแข่ง 3 ประเภท 3 เหรียญทองคือ ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และ ประเภททีม ประเภทคู่กับทีมไม่มีปัญหา เพราะนักกีฬาทั้ง 4 คนได้ลงสนามกันครบคือ ประเภทคู่ ผมจับ ต๋องคู่ธงชัย และ ดรคู่ศักดิ์ชัย ส่วนประเภททีมทั้ง 4 คน ได้ลงแข่งขันเกือบจะครบ โดยมี ธงชัย เป็นสำรองคนเดียว

                ที่หนักใจก็คือการวางมือประเภทเดี่ยว เพราะผมตัดสินใจให้ ศักดิ์ชัย ซึ่งช่วงนั้น ท็อปฟอร์ม มากกว่าทุกคน เป็นมือหนึ่ง ส่วนมือสอง พอผมประกาศตัวหลายคนงุนงงกันเป็นแถว เพราะแทนที่จะเป็นเจ้าต๋องกลับกลายเป็น ดร เมืองชล

                พอประกาศชื่อและส่งชื่อแข่งขัน หลายคนทักท้วงรวมทั้งผู้จัดการทีม คุณโอภาส เลิศพฤกษ์ และตัวนายกสมาคมสนุกเกอร์          คุณมอริส เคอร์ ซึ่งผมเองได้ตอบข้อสงสัยของทุกคนจนกระจ่าง เพราะในช่วงนั้น ต๋องฟิตไม่ขึ้น อาจจะเป็นเพราะพึ่งเสียแชมป์เอเชียให้กับ        ดร เมืองชล มาหยกๆ ในการแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย และทุกคนก็ยอมรับในเหตุผล

                2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง  จากสนุกเกอร์ถือว่าไม่เลว แถมยังได้อีก 1 เหรียญทองแดงจากบิลเลียด โดยฝีมือของ  กุ่ม ดาวคะนอง

[ฉบับเดือนเมษายน 2534]

               ฉบับนี้ ผมจะเล่าเรื่องการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ออสเตรเลียเมื่อปี 2531 ให้ฟัง

                การแข่งขันสนุกเกอร์สมัครเล่นชิงแชมป์โลก ไทย ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นหนแรกเมื่อปี 2526 นักกีฬาที่ไปแข่งขันที่ประเทศฟินแลนด์รวม 2 คน คือ ศักดิ์ชัย ซิมงาม กับ วิเชียร แสงทอง ซึ่งปรากฏว่าทั้งคู่ตกรอบแรกกลับมา

                จากนั้นพอปีต่อมา 2527 ผมก็เริ่มติดตามนักสนุกเกอร์ไทยไปชิงแชมป์โลกยังต่างแดน ในปี 2527 มีขึ้นที่เมือง แบล็คพูล ประเทศ อังกฤษ 2 นักกีฬาไทยที่ถูกส่งไปแข่งขันก็คือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย และ ธงชัย แซ่ลิ้ม พอปี 2528 มีขึ้นที่ประเทศนิวซีแลนด์ ปี 2529 ย้ายมาที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย และปี 2531 มาแข่งขันที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทุกครั้งที่มีการแข่งขัน กระผมไปด้วยทุกครั้งโดยใช้งบ ส่วนตัว (บ้าขนาดไหนคิดกันเอาเอง)

                ผมจะไม่เล่าถึงครั้งก่อนๆ แต่จะเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อคราวแข่งขันที่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นปีที่เจ้าต๋องได้ครองแชมป์โลก

                ไปต่างประเทศทีไร ไม่เคยนึกและคิดที่อยากจะออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยปกติที่คุมนักกีฬา กิจวัตรของผมมีดังนี้

                ตื่นเวลา 06:00 น. พอเวลา 07:30 น. จะปลุกนักกีฬาลุกขึ้นแต่งตัว เพื่อลงไปทานอาหารเช้าซึ่งทางโรงแรมจัดไว้ จากนั้นก็จะพาไปฝึกซ้อมตามสโมสรต่างๆ พอตกเที่ยงก็พาไปกินข้าว (หาก คุณธนิต ตันติเมธ ไปด้วยก็โชคดีไม่ต้องจ่ายเอง)

                จากนั้นก็จะไปซ้อมต่อจนถึง 16:00 น. ตัวผมเองก็ต้องไปหาซื้อกับข้าวเพื่อมาทำกินกันในห้องพัก อย่างนี้ทุกครั้งไป ไม่ได้เที่ยวเตร่เหมือนชาวบ้าน เขียนอย่างนี้หลายท่านอาจไม่เชื่อ อย่างเช่น ภรรยาผม ก็ไม่เชื่อเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์เกิดขึ้น

                ในปี 2531 ผมคุมเจ้าต๋องกับหนู ดาวดึงส์ ไปชิงแชมป์โลกที่ออสเตรเลีย ในคณะไปกัน 6 คน คือ นักกีฬา 2 คน ทอม มอแรน ผู้จัดการเจ้าต๋อง 1 คน ผมและภรรยา รวมทั้งช่างภาพ เดลินิวส์ เป็น 6 คน

                การนำพาภรรยาไปด้วย ก็เพื่อให้เธอรู้ว่าผมไปทำหน้าที่

                เป็นที่ทราบกันดีและรู้กันทั่ว ในหมู่นักกีฬาเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ฮ่องกง และ มาเลเซีย ต่างยกย่องให้ผมเป็น                  “กุ๊กนัมเบอร์วัน ส่วนกุ๊กนัมเบอร์ทูคือ เจ้าเป้า ศิษย์ฉ่อย ที่มีหน้าที่ล้างจานอย่างเดียว

                คือทำอาหารถูกปากและอร่อย โดยเฉพาะการแข่งขันในประเทศที่หาอาหารและข้าวกินยากอย่างอินเดียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น

                นักกีฬาทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมาแล้ว จะมาชุมนุมกันที่ห้องผมทุกวัน เพื่อกินอาหารกันอย่างถูกปาก เพราะอาหารที่ผมถนัดทำนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจีน (ผมไม่ถนัดอาหารไทย เช่น น้ำพริกหรือผัดเผ็ดๆ โดยเฉพาะแกง) ดังนั้นนักกีฬา ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซียจึงชอบเป็นส่วนใหญ่

                แต่การไปออสเตรเลียดีอยู่หน่อย ก็ตรงที่ไม่ต้องทำอาหารทั้งวัน เพราะมีร้านอาหารไทยและจีนหลายแห่ง หากต้องการกินเมื่อใดก็ขับรถไปไม่เสียเวลาเท่าใดนัก

การแข่งขันหนนี้ ต๋อง เข้าชิงฯ กับแชมป์อังกฤษในระบบ 21 เฟรม

และเมื่อถึงเวลา หน้าที่ของผมก็คือ นอกจากจะไปดูเกมการแข่งขันของนักกีฬาและคู่ต่อสู้แล้ว ยังต้องกะเวลาอีกด้วยว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด หากเป็นรอบแรกหรือรอบลึกๆ ที่ไม่ใช่รอบชิงฯ ก็ไม่มีปัญหา เลิกแล้วหากินกันได้ แต่ถ้ารอบชิงฯ จะยุ่งยากพอสมควร

                เพราะในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งกำหนดไว้ 21 เฟรม ช่วงแรกจะแข่งกัน 10 เฟรม แล้วพักครึ่งหรือ 1 ชั่วโมง จึงเริ่มแข่งขันต่อ

            และในช่วงที่พักการแข่งขันนั้น นักกีฬาจะต้องหาข้าวปลากิน ลำพังฝรั่งนั้นเขาไม่มีปัญหาเพราะเล่น แซนด์วิช หรือ ฮอทดอก ก็ได้ แต่กับนักกีฬาไทย หากไม่มีข้าวกิน ผมว่ามันจะทรมานเอามากๆ เพราะเราไม่คุ้นเคยกับอาหารฝรั่ง อีกทั้งกินแล้วไม่ทำให้อิ่มและอร่อยเช่นข้าวไทย

                ดังนั้นพอเริ่มเฟรมที่ 8 ผมก็ชวนเพื่อนคนไทยขับรถไปอีกเมือง เพื่อซื้ออาหารเตรียมให้เจ้าต๋องในช่วงพัก ผมและเพื่อนคนไทยต้องเสียเวลากว่า 45 นาที ขับรถไปที่ร้านอาหารไทย เพื่อซื้อกลับมาให้เจ้าต๋อง แต่เหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง กว่าจะเคาะประตูร้านอาหารไทยได้ก็เหนื่อยน่าดู เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาเปิดบริการ เพราะต่างประเทศเขาจะขายช่วงเที่ยงถึงบ่าย และเย็นถึงค่ำเท่านั้น

                แต่ช่วงที่ผมไปเคาะประตูเรียกนั้นเป็นเวลาประมาณ 16:30 น. กว่าจะมีเด็กมาเปิดร้านก็เสียเวลามาก แต่พอเปิดร้านได้ปัญหาที่ตามมาอีกคือ ไม่มีกุ๊ก (เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา) ก็ต้องเดือดร้อนถึงผมอีก ไม่มีกุ๊กไม่ว่า ขอให้มีกับข้าวกับปลาพร้อมเป็นใช้ได้ ผมเสียเวลาทำไก่ผัดใบกะเพราพร้อมไข่ดาวไม่กี่นาทีก็ได้ 3 ชุด จึงรีบบึ่งกลับไปสนามแข่งขันทันที และก็พอดีกับเจ้าต๋องพักการแข่งขันในช่วงแรก                 ต๋องกับหนู ดาวดึงส์ จึงได้ชิมรสไก่ผัดใบกะเพรา โดยมีผมยืนน้ำลายยืดอยู่ใกล้ๆ

และนี่คือหน้าที่ของโค้ชที่พึงกระทำ

            ยามใดที่ ต๋องเล่นผิดพลาด เมื่อหมดเฟรม ผมก็ ส่งซิก ให้ขออนุญาตกรรมการเข้าห้องน้ำ ผมจะสั่งสอนและชี้ข้อดีข้อเสียของคู่ต่อสู้ จนถึงข้อบกพร่อง ซึ่งต๋องเองนั้นให้ความเคารพ นับถือและเชื่อฟังผมมาก

                ต๋องได้แชมป์โลก ผมไม่สะใจเท่าใดนัก เพราะคิดอยู่เสมอว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เจ้าต๋องจะต้องก้าวสู่แชมป์โลกแน่นอน แต่ความสะใจที่ผมยินดีอย่างยิ่งก็คือ

                สะใจ ที่ภรรยาผมเองพูดว่า ต่อไปนี้หากมีการแข่งขันสนุกเกอร์ ไม่ว่าจะประเทศใดในโลก เธอจะไม่ติดตามผมไปอีกแล้ว เพราะไปแล้วไม่มีโอกาส ได้เห็นสิ่งแปลกๆ แต่อย่างใด 14 วันที่ซิดนีย์ เธอมีโอกาสได้ออกไปเที่ยว นอกเมือง แค่ครั้งเดียว โดยได้รับการนำพาจาก แอลลี อารียาน่า ผู้จัดการโต๊ะสนุ้กจากสโมสรชาวอินโดนีเซีย ไม่งั้นก็คงจะไม่รู้ว่าชาวพื้นเมืองของออสเตรเลีย หน้าตาเป็นเช่นไร จะเหมือน จิงโจ้ หรือไม่

และจากชัยชนะของต๋อง ทำให้ผมเลิกบุหรี่ตราบจนทุกวันนี้

เพราะก่อนแข่ง บนบานศาลกล่าว

                หากต๋องได้แชมป์โลก จะเลิกบุหรี่เด็ดขาด

ศักดา รัตนสุบรรณ

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558