กฏ-กติกา กีฬาบิลเลียดของสมาคมกีฬาบิลเลียด และสนุกเกอร์อาชีพโลก WPBSA


หมวดที่ 3 - การเล่น (The Game)

1. คำจำกัดความ (Description)

กีฬาบิลเลียด เล่นโดยผู้เล่น 2 คน หรือ 2 ฝ่าย และอาจสรุปการเล่นได้ดังนี้

  • ใช้ลูกที่เล่นจำนวน 3 ลูก ฝ่ายหนึ่งใช้ “ลูกสีขาวเกลี้ยง” อีกฝ่ายหนึ่งใช้ลูกขาวจุด (อาจจะมีจุดสีดำ 1 หรือ 2 จุดปรากฏอยู่บนลูก ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ “ลูกสีเหลือง” และ “ลูกสีแดง”
  • การทำคะแนน เกิดขึ้นจากการผลัดกันแทงของผู้เล่น โดยการตบหลัง แทงเปลี่ยน และแทงแคนนอน โดยจะทำทีละอย่าง หรือรวมๆ กันในการแทงครั้งเดียวก็ได้
  • คะแนนที่ทำได้จากการแทง จะเป็นคะแนนของผู้ที่แทงได้
  • คะแนนที่ผู้แทงเสียจากการทำฟาล์ว จะนำไปบวกให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
  • วิธีการป้องกันที่ดี คือการให้ “ลูกเป้า” ทั้ง 2 ลูก เข้ามาอยู่ “ในเมือง” เมื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามได้เล่นลูกจาก “ในมือ” เพื่อให้ผู้เล่นต้องพยายามแทงให้ถูก “ลูกเป้า” โดยการแทงแบบ “ทางอ้อม”
  • ผู้ชนะ จะเป็นฝ่ายที่
    • สามารถทำคะแนนได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนดไว้
    • เป็นผู้เล่นคนแรก ที่สามารถทำคะแนนถึงจำนวนที่กำหนดไว้
    • ได้รับชัยชนะ ตามกติกา หมวดที่ 4 ข้อ 2 หรือ
    • ได้รับชัยชนะ จากการที่ผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้
  • ผู้ที่ชนะในแมตช์ คือผู้เล่นหรือฝ่ายที่สามารถทำคะแนนเกม หรือคะแนนรวมได้มากที่สุด ตามที่กติกาได้ระบุไว้

2. การเริ่มเล่น (Start of Game)

ผู้เล่นจะต้องทำการเลือก “ลูกคิวบอล” และใครจะเป็นผู้เปิดเกมก่อน ด้วยการขึ้นชิ่งเสี่ยงทาย หรือด้วยการตกลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ชนะการเสี่ยงทายจะได้รับสิทธิ์เป็นผู้ได้เลือกทั้ง 2 ประการ หรือแล้วแต่จะมีการตกลงกันก่อนตามหัวข้อต่อไปนี้

  • ลำดับของเที่ยวแทง หลังจากที่ได้สรุปแล้ว จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการเล่นไปจนจบแมตช์
  • “ลูกแดง” จะถูกนำไปตั้งที่จุด และผู้เล่นคนแรกจะได้เล่นลูกจาก “ในมือ” เกมจะเริ่มขึ้น เมื่อ “ลูกคิวบอล” ได้ถูกนำไปตั้งบนโต๊ะ และถูกสัมผัสด้วยส่วนของหัวคิว ไม่ว่า
    • เมื่อการแทงได้เกิดขึ้น หรือ
    • เมื่อผู้เล่น ได้มีการเดินคิว เพื่อเตรียมจะแทง
  • หากมีการนำ “ลูกคิวบอล” ผิดลูกมาแทงในไม้แรกของการเปิดเกม ให้ทำการยกเลิกไม้ที่แทงนั้น แล้วให้กลับมาเล่นใหม่ โดยใช้ “ลูกคิวบอล” ให้ถูกต้อง เมื่อเกมได้เริ่มขึ้นแล้ว ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เล่น ที่จะต้องคอยดูว่า “ลูกคิวบอล” ที่เขาใช้เป็นลูกที่ถูกต้อง แม้ว่าผู้ตัดสินจะหยิบ “ลูกคิวบอล” ที่ไม่ถูกต้องมาส่งให้ก็ตาม

3. ขั้นตอนการเล่น (Mode of Play)

ให้ผู้เล่นผลัดกันเล่น ยกเว้นมีการทำคะแนนเกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้ มีสิทธิ์ได้แทงต่อไปจากตำแหน่งที่ลูกไปยืนอยู่ หรือหลังจากการแทง “ลูกเปลี่ยน” หรือหากเป็น “ลูกติด” ตามที่กติการะบุไว้ใน หมวดที่ 3 ข้อ 13, หรือจาก “ในมือ” เมื่อใดที่ผู้แทงไม่สามารถทำคะแนนได้ เที่ยวแทงของผู้นั้นจึงจะจบสิ้นลง และผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม จะต้องเล่นจากตำแหน่งที่ลูกไปหยุดอยู่ต่อไป หรือจากตำแหน่ง “ในมือ” หาก “ลูกคิวบอล” ตกจากโต๊ะ หรือสัมผัสกับลูกอื่น ตามกติกาที่ระบุไว้ใน หมวดที่ 3 ข้อ 13 ซึ่งผู้เล่นที่ได้ฟาล์ว จะสามารถเลือกเล่นได้จาก “ในมือ” โดยนำ “ลูกเป้า” ทั้งสองลูกไปตั้งตามตำแหน่งที่ระบุไว้ในกติกา หมวดที่ 3 ข้อ 15.3 (ii)

4. การทำแต้ม (Scoring)

การทำแต้ม ทำได้ดังต่อไปนี้

  • การแทงแคนนอน การตบหลังลูกขาว หรือ การแทงเปลี่ยน โดยผู้เล่นจะได้คะแนน 2 คะแนนจากการแทงในกรณีดังกล่าว
  • การตบหลัง หรือเปลี่ยน “ลูกแดง” จะมีคะแนน 3 คะแนน
  • หากมีการทำ Hazard หรือการรวมกันของ hazards และ แคนนอนได้ในเที่ยวแทงเดียวกัน จะมีคะแนนให้กับการกระทำนั้น รวมกัน
  • เมื่อมีการแทงเปลี่ยน รวมกับการแทงแคนนอนได้ในการแทง 1 ครั้ง คะแนนที่ได้จากการแทงเปลี่ยน จะเป็นดังนี้ (รวมกับคะแนนที่ได้จากแคนนอนด้วย)
    • ได้ 3 คะแนน หาก “ลูกแดง” เป็นลูกแรกที่ถูกแทงด้วย “ลูกคิวบอล” ก่อน
    • ได้ 2 คะแนน หาก “ลูกขาว” หรือ “ลูกเหลือง” เป็นลูกที่ถูกแทงก่อน
    • ได้ 2 คะแนน หากโดนลูกทั้งสองในเวลาเดียวกัน

5. การจบเซสชั่น และการจบเกม (End of Session and Game)

  • เมื่อเวลาในเซสชั่นแต่ละเซสชั่นจบสิ้นลง ผู้ตัดสินจะขานคำว่า “ไทม์ (Time)” ลูกที่ได้ถูกแทงออกไปแล้วก่อนการขานเวลา ให้ถือว่าเป็นลูกที่อยู่ในเวลา และหากมีคะแนนเกิดขึ้น ให้บวกคะแนนนั้นให้กับผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายให้ถูกต้อง หากต้องกลับมาเล่นในเซสชั่นต่อไป ตำแหน่งของลูกทั้งหมดจะต้องถูกบันทึกโดยผู้ตัดสิน เพื่อจะได้นำกลับมาตั้งในตำแหน่งเดิม เมื่อกลับมาเล่นใหม่ต่อไป
  • การเล่นจะจบลงเมื่อจบเซสชั่นสุดท้าย ในการเล่นแบบจับเวลา
  • ในการเล่นแบบจับเวลา มีความเป็นไปได้ว่าคะแนนอาจออกมาเสมอกันเมื่อหมดเวลาพอดี จึงควรให้มีข้อตกลงให้ชัดเจนก่อนเล่น ว่าจะมีการตัดสินไท-เบรคกันด้วยวิธีใด
  • เมื่อเล่นกันโดยใช้ระบบคะแนนเป็นหลัก เกมจะจบลงเมื่อผู้เล่นทำคะแนนได้เท่ากับหรือเลยกว่าที่กำหนดไว้ คะแนนที่นับคือคะแนนที่ต้องการเพื่อหาผู้ชนะเท่านั้น แต่ผู้เล่นจะยังคงได้เครดิตในการทำเบรคตามที่ทำได้จริง

6. การเล่นจาก - ในมือ (Playing from In-Hand)

การเล่นจาก “ในมือ” ผู้เล่นจะต้องแทง “ลูกคิวบอล” จากตำแหน่งที่อยู่ภายในตัว “D” และ

  • ผู้ตัดสินจะต้องยืนยันหากถูกสอบถามจากผู้เล่น ว่า “ลูกคิวบอล” ได้ถูกวางลงในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ (ว่าไม่ได้อยู่นอกเส้นของตัว “D” ที่กำหนด)
  • หากหัวคิวไปโดน “ลูกคิวบอล” ในขณะที่ผู้เล่นกำลังจรดลูก และผู้ตัดสินเห็นว่า ผู้เล่นยังไม่ได้มีเจตนาที่จะแทงออกไป ให้ถือว่า “ลูกคิวบอล” นั้นยังไม่ใช่ “ลูกที่กำลังเล่น”
  • ผู้เล่นจะต้องแทง “ลูกคิวบอล” ให้ออกจาก “ในเมือง” ก่อน เมื่อได้กระทบกับ “ลูกเป้า” จึงจะถือว่าเป็นลูกที่ได้ออกจาก “ในเมือง” ไปแล้ว ถึงแม้ว่า ในความเป็นจริงลูกอาจจะยังไม่ได้ข้าม “เส้นเมือง” ไปเลยก็ตาม
  • “ลูกคิวบอล” ต้องสัมผัสคุชชั่น หรือ “ลูกเป้า” ที่ไม่ได้อยู่ “ในเมือง” ก่อนที่จะวิ่งกลับเข้ามาอยู่ “ในเมือง” หรือก่อนจะมากระทบลูกอื่นๆ ที่อยู่ “ในเมือง” ได้
  • “ลูกคิวบอล” อาจถูกแทงไปยังคุชชั่นที่อยู่ “ในเมือง” ก่อนจะไปกระทบ “ลูกเป้า” ที่อยู่ “นอกเมือง” ได้
  • หาก “ลูกเป้า” เป็นลูกที่อยู่ “ในเมือง” ผู้เล่นจะแทงจากลูกจาก “ในมือ” ให้ไปกระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของ “ลูกเป้า” โดยตรงไม่ได้ แม้ว่าส่วนที่แทงไปกระทบนั้น จะอยู่ “นอกเมือง” ก็ตาม

7. ลูกบนเส้นเมือง (Ball on Baulk-line)

“ผู้ตัดสิน” เมื่อถูกผู้เล่นสอบถาม จะต้องให้คำตอบผู้เล่น ว่าลูกบอลที่อยู่บนเส้นเมือง หรือใกล้เส้นเมืองนั้น เป็น “ลูกในเมือง” หรือไม่

8. การตั้งลูก (Spoting Object Balls)

  • เมื่อ “ลูกแดง” ถูกตบลงหลุม หรือตกจากโต๊ะไป จะต้องนำกลับมาตั้งที่ “จุดสปอต” หรือ
  • หาก “ลูกแดง” ถูกตบลงหลุมจาก “จุดสปอต” หรือ “จุดปิรามิด” ติดต่อกัน 2 ครั้งจากการแทงในเบรคเดียวกันจากจุดเดียวกัน โดยไม่มีการร่วมกับการทำคะแนนอย่างอื่น “ลูกแดง” ให้นำไปตั้งที่ “จุดเซ็นเตอร์” หรือ
  • หากมีการตบ “ลูกแดง” ติดต่อกัน โดยไม่มีการเกี่ยวข้องกับการทำคะแนนอย่างอื่น “ลูกแดง” จะนำไปตั้งที่ “จุดสปอต” 2 ครั้ง แล้วไปตั้งที่ “จุดเซ็นเตอร์” 1 ครั้ง สลับกันอย่างนี้เรื่อยไป ตราบใดที่จุดทั้งหมดยังสามารถนำลูกไปตั้งได้
  • “ผู้ตัดสิน” จะต้องตอบคำถามต่อ “ผู้เล่น” เมื่อถูกถาม ว่าได้มีการตบลูกจากจุดเดียวกันไปแล้วเป็นจำนวนกี่ครั้ง
  • ลูกจะถือว่าเป็นลูกที่ตั้งบนจุด จากการตั้งลูกด้วยมือของ “ผู้ตัดสิน” เท่านั้น
  • หากมีลูกหนึ่งลูกใดสัมผัสกับลูกที่นำไปตั้งโดย “ผู้ตัดสิน” บนจุดต่างๆ ดังกล่าว ให้ถือว่าลูกนั้น ไม่ได้เป็นลูกที่อยู่บนจุด ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม
  • “ผู้เล่น” จะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ จากความผิดพลาดในการตั้งลูกผิดจุดของ “ผู้ตัดสิน”

9. การจำกัดจำนวนการแทงลูกแคนนอน (Limitation of Cannons)

การแทงแคนนอนติดต่อกัน โดยไม่มีการเกี่ยวข้องกับการทำคะแนนอื่นใด “ผู้เล่น” สามารถแทงแคนนอนได้ไม่เกิน 75 ครั้ง

  • “ผู้ตัดสิน” จะต้องขานจำนวนแคนนอนให้ทราบ ด้วยคำว่า “70 แคนนอน” เมื่อ “ผู้เล่น” แทงแคนนอนไปถึง 70 ครั้ง หากผู้ตัดสินลืมขานจำนวนแคนนอนดังกล่าว “ผู้เล่น” มีสิทธิ์แทงต่อไปได้เรื่อยๆ และจะแทงได้อีก 5 ครั้ง เมื่อ “ผู้ตัดสิน” ได้ขานคำว่า “70 แคนนอน” ให้ทราบเรียบร้อยแล้ว
  • เมื่อใดที่ “ผู้เล่น” ถามว่า ได้แทงแคนนอนติดต่อกันไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด “ผู้ตัดสิน” จะต้องตอบให้ “ผู้เล่น” ได้รับทราบเสมอ

10. การจำกัดจำนวนการทำ Hazards (Limitation of Hazards)

“การทำ Hazards” ติดต่อกันโดยไม่มีการทำคะแนนอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง “ผู้เล่น” สามารถทำได้ไม่เกิน 15 ครั้ง

  • “ผู้ตัดสิน” จะต้องขานจำนวน Hazards ให้ทราบ ด้วยคำว่า “10 Hazards” เมื่อ “ผู้เล่น” ทำ Hazards ไปถึง 10 ครั้ง หากผู้ตัดสินลืมขานจำนวน Hazards ดังกล่าว “ผู้เล่น” มีสิทธิ์แทงต่อไปได้เรื่อยๆ และจะแทงได้อีก 5 ครั้ง เมื่อ “ผู้ตัดสิน” ได้ขานคำว่า “10 Hazards” ให้ทราบเรียบร้อยแล้ว
  • เมื่อใดที่ “ผู้เล่น” ถามว่า ได้ทำ Hazards ติดต่อกันไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด “ผู้ตัดสิน” จะต้องตอบให้ “ผู้เล่น” ได้รับทราบเสมอ
  • หาก “ลูกคิวบอล” ของคู่แข่งขัน ลงหลุมไปจากการแทงครั้งสุดท้ายของ “คู่แข่งขัน” ลูกนั้นจะต้องนำกลับมาตั้งที่จุดกลางของเส้นเมือง หลังจาก “ผู้เล่น” ทำ Hazards ไปแล้ว 15 ครั้ง หรือ หากจุดนั้นเป็น “จุดไม่ว่าง” ให้นำไปตั้งที่จุดขวามือของตัว “D” โดยมองจากตำแหน่งล่างของโต๊ะ

11. ลูกปากหลุม (Ball on Edge of Pocket)

  • หากมีลูกที่ห้อยอยู่ปากหลุมหล่นลงหลุมไป โดยไม่ได้ถูกกระทบ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแทงแต่อย่างใด ให้นำลูกที่ตกลงไปนั้น กลับมาตั้งไว้ที่ตำแหน่งเดิม และไม่เกี่ยวข้องกับคะแนนที่ “ผู้เล่น” ทำได้แต่อย่างใด
  • หากลูกที่ตกลงไป มีโอกาสที่จะต้องถูกกระทบกับลูกที่อยู่ในการแทงที่ออกคิวไปแล้ว
    • ให้นำลูกทั้งหมดกลับไปตั้งที่เดิม แล้วให้ “ผู้เล่น” แทงใหม่อีกครั้ง หากไม่มีการทำผิดกติกาใดๆ เกิดขึ้น หรือ “ผู้เล่น” คนเดิมอาจเปลี่ยนทิศทางการแทงใหม่ได้ตามความพอใจ
    • หากมีการทำฟาล์วเกิดขึ้น ให้นำลูกทั้งหมดกลับไปตั้งที่ตำแหน่งเดิม และ “ผู้เล่น” ที่ได้ฟาล์ว สามารถเลือกเล่นได้ตามกติกาหลังเกิดการฟาล์วตามปรกติ
  • หากลูกค้างอยู่ปากหลุมเพียงชั่วครู่ แล้วหล่นลงไป ให้ถือว่าเป็นลูกที่ลงหลุม และให้นับคะแนนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการนำกลับมาตั้งที่ปากหลุมใหม่

12. ลูกเคลื่อนไหวโดยไม่ได้เกิดจากผู้เล่น (Ball Moved by Other than Striker)

หากมีลูกเคลื่อนไหว โดยไม่ได้เกิดจากการกระทำของ “ผู้เล่น” ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกนั้นกลับไปตั้งที่ตำแหน่งเดิม ตามที่เห็นสมควร

  • กติกานี้ รวมไปถึงกรณีที่มีผู้หนึ่งผู้ใด นอกจาก เพื่อนร่วมทีมของ “ผู้เล่น” ทำให้ “ผู้เล่น” มีการทำให้ลูกมีการเคลื่อนไหวขึ้น
  • “ผู้เล่น” จะไม่ถูกปรับฟาล์ว ในกรณีที่ลูกมีการเคลื่อนไหวจากการกระทำของ “ผู้ตัดสิน”

13. ลูกติด (Touching Ball)

เมื่อใดที่ “ลูกคิวบอล” ของ “ผู้เล่น” ไปอยู่ติดกับลูกอื่นบนโต๊ะ ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกแดงไปตั้งที่ “จุดสปอต” หากมี “ลูกคิวบอล” ของผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยังอยู่บนโต๊ะ ให้นำลูกนั้นไปตั้งที่ “จุดเซ็นเตอร์” และให้ “ผู้เล่น” เล่นลูกได้จาก “ในมือ”

14. การทำฟาล์ว (Foul)

การกระทำต่อไปนี้ ถือเป็นการทำฟาล์ว

  • แทงลูกอื่นที่ไม่ใช่ “ลูกคิวบอล”
  • แทง “ลูกคิวบอล” มากกว่า 1 ครั้ง
  • แทงลูกโดยเท้าพ้นจากพื้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
  • เล่นผิดเที่ยวแทง
  • เล่นลูก “ในเมือง” อย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการแทงไม้เปิด
  • แทงออกไปในขณะที่ยังมีลูกเคลื่อนไหวอยู่บนโต๊ะ
  • แทงลูกกระโดด
  • แทงไม้ยาว
  • แทงลูกตกจากโต๊ะ
  • ทำ Hazards เกิน 15 ครั้งติดต่อกัน
  • แทงแคนนอนเกิน 75 ครั้งติดต่อกัน
  • ไปสัมผัสลูก หรือที่วัดลูกในขณะเล่น นอกเหนือจากการออกคิวที่ถูกต้อง
  • ออกคิวในขณะที่ผู้ตัดสินยังตั้งลูกไม่เสร็จ
  • แทงไม่ถูกลูกใดๆ บนโต๊ะเลย นอกเหนือจากกติกาที่ระบุไว้ในกฏข้อที่ 16 ข้างล่าง
  • หารือกับเพื่อนร่วมทีม ในการแข่งขันประเภทคู่ ตามกติกาข้อที่ 17 ข้างล่าง
  • ใช้ไม้คิวที่ไม่ได้มาตรฐาน และ
  • เจตนาแทงลูกขาวของตนเองลงหลุม ในขณะที่ได้เล่นจาก “ในมือ”

15. หลังการทำฟาล์ว (Action after a Foul)

เมื่อเกิดการทำฟาล์วขึ้น ผู้ตัดสินจะขาน “ฟาล์ว” ทันที

  • หาก “ผู้เล่น” ยังไม่ได้แทงลูกออกไป ให้ถือว่าหมดเที่ยวแทงนั้นในทันที
  • คะแนนที่ทำได้ในเบรคนั้นก่อนการทำฟาล์ว ถือเป็นคะแนนที่ถูกต้อง และให้คะแนนนั้นๆ กับ “ผู้เล่น” ได้ แต่คะแนนที่เกิดขึ้นจากการแทงที่ทำฟาล์ว จะไม่ถือเป็นคะแนน
  • การฟาล์วทุกครั้ง จะมีค่าปรับ 2 คะแนน และจะไม่มากกว่า 2 คะแนนจากการแทง 1 ครั้ง “ผู้เล่น” ที่ได้ฟาล์ว จะมีทางเลือกให้เลือกเล่นได้
    • จากตำแหน่งที่ลูกวิ่งไปหยุด ถ้าลูกแดงไม่ได้ตั้งอยู่ที่จุดอย่างถูกต้อง ให้คงไว้ในตำแหน่งเดิม ยกเว้นว่าถูกแทงออกจากโต๊ะไป ให้นำกลับมาตั้งที่จุด หรือ
    • จากตำแหน่ง “ในมือ” โดยนำลูกแดงมาตั้งที่จุด และ “ลูกคิวบอล” ฝ่ายตรงข้าม มาตั้งที่ “จุดเซ็นเตอร์”
  • หาก “ผู้ตัดสิน” ไม่ได้ปรับให้เป็นลูกฟาล์ว และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ทักท้วงก่อนการแทงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น ให้ถือว่าเลยตามเลย

16. หลังการแทงมิส (Action after a Miss)

การแทง “มิส” เกิดขึ้นจากการที่ “ผู้เล่น” แทงไม่โดน “ลูกเป้า” ไม่ว่าจะเป็นการแทงที่ทำให้ลูกวิ่งลงหลุมไปโดยจะโดนชิ่งก่อนหรือไม่ก็ตาม หากเป็นการแทงจาก “ในมือ” ในขณะที่ไม่มี “ลูกเป้า” ลูกหนึ่งลูกใดอยู่ “นอกเมือง” ผู้ตัดสินจะขานว่าเป็นลูก “มิส” แล้วบวกคะแนน 2 แต้ม ให้กับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม การแทงไม่ถูกลูกเป้านอกเหนือจากกรณีนี้ ให้ถือว่าเป็นลูกฟาล์ว การเจตนาแทง “ลูกคิวบอล” ลงหลุม ก็ถือว่าเป็นลูกฟาล์ว

17. บิลเลียด 4 มือ (Four-handed Billiards)

  • ใช้การขึ้นชิ่ง เป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นผู้เริ่มเล่นก่อน ตามกติกา หมวดที่ 3 ข้อ 2 เมื่อเปิดเกมแล้ว ลำดับของการเล่นไม้ต่อไป เป็นสิทธิ์ของผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ว่าจะเลือกผู้เล่นคนใดเป็นผู้เล่นคนที่สอง และจะเปลี่ยนแปลงอีกไม่ได้ไปจนจบเกม
  • คู่แข่งขัน อาจปรึกษาหารือกันได้ระหว่างเกม แต่ต้องไม่ทำในขณะที่
    • ผู้เล่นคนหนึ่ง กำลังเป็นผู้เล่นอยู่ที่โต๊ะ หรือ
    • หลังจากที่ผู้เล่นได้ออกคิวไปแล้ว จนกว่าจะหมดไม้เบรค

18. การใช้อุปกรณ์ช่วย (Use of Ancillary Equipment)

“ผู้เล่น” จะต้องรับผิดชอบในการใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาง หรือยกขึ้นจากโต๊ะด้วยตนเอง

  • “ผู้เล่น” ต้องรับผิดชอบต่อการนำอุปกรณ์ช่วยมาใช้ที่โต๊ะด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรสต์ หรือตัวต่อ โดยอุปกรณ์นั้นจะนำมาเอง หรือหยิบยืมมาก็ตาม (เว้นแต่ได้มาจากผู้ตัดสิน) และจะต้องถูกปรับคะแนน หากนำมาใช้แล้วเกิดการทำฟาล์วขึ้นในการใช้อุปกรณ์นั้นๆ
  • “ผู้เล่น” ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของอุปกรณ์ช่วยที่มากับโต๊ะ และที่ “ผู้ตัดสิน” หยิบมาให้ หากเกิดการฟาล์วขึ้น “ผู้เล่น” จะไม่ถูกปรับคะแนนจากอุปกรณ์ดังกล่าว และ “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกกลับไปตั้งใหม่ ตามกติกาที่ระบุไว้ใน ข้อที่ 12 และให้ “ผู้เล่น” สามารถเล่นต่อไปได้โดยไม่มีการลงโทษ

19. การแปลความหมาย (Interpretation)

  • กฏและกติกาทั้งหมดนี้ ใช้ได้กับทั้งประเภทชาย และ ประเภทหญิง อย่างเท่าเทียมกัน
  • กติกาอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน สำหรับผู้เล่นที่ทุพลภาพ โดยเฉพาะใน หมวดที่ 3 ข้อ 14.3 ซึ่งไม่อาจนำมาใช้ได้กับผู้เล่นที่ต้องนั่งรถเข็น
  • ในการเล่นเพื่อสันทนาการระหว่างเพื่อนฝูงที่ไม่มีผู้ตัดสิน ผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ให้ถือเสมือนเป็นผู้ตัดสินตามกฏกติกาที่ระบุนี้