เกี่ยวกับคิวทอง

กว่า 10 ปีที่รอคอยของ ศักดิ์ สุริวงศ์ หรือ ศักดา รัตนสุบรรณ ที่ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก ในการพลิกผันวงการสนุกเกอร์ไทยให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากที่เขามองเห็นว่า อนาคตของเด็กไทยจะก้าวไกลไปสู่ระดับโลกได้ หากมีการส่งเสริมอย่างถูกต้องและได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างจริงใจ

วัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เจ้าของฉายา ไทยทอร์นาโด คือนักสนุ้กฯคนแรก ภายใต้การส่งเสริมของ ศักดา รัตนสุบรรณ เริ่มจากการขอตั่วเครื่องบินไป-กลับ จากบริษัทการบินไทย ส่งต๋อง เด็กชายวัย 13 ขวบ ไปฝึกฝนยังประเทศอังกฤษ

และก็ไม่ผิดหวัง ผลจากการฝึกซ้อมอย่างถูกต้องถูกวิธี กับสนุ้กฯ ชาวเมืองผู้ดี ส่งผลให้ต๋องซึ่งกลับมาลงแข่งขันตามคำแนะนำของบรรณาธิการข่าวกีฬาฯ ขณะนั้น คว้าแชมป์รายการชิงแชมป์ประเทศไทยในปีต่อๆ มา

ความสามารถของเด็กชายวัยไม่เกิน 15 เป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่ว เมื่อเขาโชว์ฟอร์มเหนือชั้น เอาชนะนักสนุกเกอร์รุ่นพี่ได้อีกหลายรายการ และคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้นก็ไม่ใช่ใคร ศักดา รัตนสุบรรณ ผู้ต้องการพลิกผันวงการสนุกเกอร์ ให้กลับมาโลดแล่นในยุทธจักรกีฬาอีกครั้ง

ต้นปี 2528 เนื่องจากประชาชนหันมาให้ความสนใจกันมาก ศักดา รัตนสุบรรณ ในฐานะเลขาฯ สมาคมฯ ได้พยายามวิ่งเต้นให้กีฬาสนุกเกอร์ เข้าไปมีบทบาทในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2530 โดยความร่วมมือจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งขณะนั้น ไพบูลย์ วัชรพรรณ เป็นผู้ว่าการฯ

ผลจากการวิ่งเต้นของหลายฝ่าย ปลายปี 2528 พระราชบัญญัติกีฬาจึงได้ประกาศใช้โดยระบุว่า สนุกเกอร์คือกีฬาแขนงหนึ่งที่อยู่ใน 30 ประเภทที่มีการแข่งขันในซีเกมส์ครั้งนั้น

หลังปี 2531 วัฒนา ภู่โอบอ้อม ภายใต้การสนับสนุนของ ศักดา รัตนสุบรรณ ได้หันเหชีวิตก้าวสู่การเป็นนักสนุ้กฯ มืออาชีพ โชว์ฟอร์มเด็ดในหลายๆ แมตซ์ ปะทะฝีมือกับคู่แข่งดังๆ หลายต่อหลายคน สร้างความปั่นป่วนให้วงการสนุ้กฯโลก ทึ่งในความสามารถอย่างช่วยไม่ได้ เขาใช้เวลา 3 ปี ในการเทิร์นโปร ก็สามารถขึ้นไปยืนแถวหน้าในตำแหน่งมือวางอันดับ 3 ของโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย

นอกเหนือจาก วัฒนา ภู่โอบอ้อม ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกแล้ว อตีตบรรณาธิการข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มีนักสนุกเกอร์ที่อยู่ในข่ายการสร้างอีกหลายคน อาทิ ต่าย พิจิตร, สุริยา พัทยา และ หนู ดาวดึงส์

"ที่ผมมีวันนี้ มีชื่อเสียงขึ้นมา มีอะไรหลายต่อหลายอย่างขึ้นมา ก็เพราะโต๊ะสนุ้กฯ" ศักดา รัตนสุบรรณ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ สถาบัน "คิวทอง"

ภาพพจน์วงการสนุกเกอร์เมืองไทยในพ.ศ.นี้ ดีขึ้นตามลำดับ นั่นเป็นเพราะความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะ ศักดา รัตนสุบรรณ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์คู่กับกีฬาสนุกเกอร์มาโดยตลอดช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่อดีตบรรณาธิการกีฬาผู้นี้ จะถูกคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การเข้าไปมีส่วนในเรื่องดังกล่าวนั้นจุดประสงค์คืออะไร? เพราะคำว่าผลประโยชน์หรือไม่ ?

"คนส่วนใหญ่จะมองผมว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการแข่งขันของต๋องในแต่ละครั้ง ตรงนี้ผมขอบอกตรงๆ ว่า ผมเป็นเพียงคนผลักดันให้การสนับสนุนเท่านั้น คนที่ได้ส่วนแบ่งจะเป็นผู้ลงทุน ถ้าผมมีส่วนได้ส่วนเสียผมต้องลงทุน แต่นี่ผมไม่ได้ลงทุน หุ้นส่วนของต๋องมี 5 คนคือ ทอม มอแรน ผู้จัดการ สินธุ พูนศิริวงศ์ สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ โอภาส เลิศพฤกษ์ และโรเจอร์ คิมดอม เท่านั้นครับ"

สื่อมวลชนทุกแขนงกลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีในเวลาต่อมา หลังจากวงการสนุกเกอร์บูมขึ้นมาอีกครั้ง โดยต๋องและศักดาคือสัญลักษณ์ของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในแง่ของการตลาดแน่นอนว่าสปอนเซอร์ต้องให้ความสนใจ

"มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้จัด ใครจัดคนนั้นก็ได้ ผมเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้นเอง"

นั่นคงเป็นคำตอบที่ชัดเจน!

จากประสบการณ์ที่ยาวนาน กอปรกับความรอบรู้ในกีฬาประเภทนี้ ที่ไม่มีใครทัดเทียมในยุคนั้น ซึ่งรวมไปถึงการมีอิทธิพลการประชาสัมพันธ์ ในฐานะบรรณาธิการการข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะใช้วิชาชีพและประสบการณ์ที่เขาได้รับมาตลอดนั้น ออกหนังสือเกี่ยวกับกีฬาสนุกเกอร์ในระยะเวลาต่อมา เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ที่เวลานั้นตื่นตัวกันมาก

นิตยสารที่ว่านั้นคือ "คิวทอง" ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่านที่นิยมกีฬาสนุกเกอร์ในเวลาต่อมา

"เริ่มจริงๆ เมื่อปี 2528 ฉบับแรกจำได้ว่าเอาต๋องขึ้นเป็นปก เพราะช่วงนั้นเขามาแรงมากในวงการสนุกเกอร์เมืองไทย ทีนี้มีคนเขียนจดหมายมามาก ต้องการที่จะให้มีหนังสือเกี่ยวกับวงการนี้ ผมก็เลยออกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะทำคนเดียวเกือบทั้งหมด จะมีพรรคพวกมาช่วยเขียนบ้างก็เล็กน้อย เช่น หมู่โฮม และศักดิ์อำนวย ในช่วงปีหลังๆ มีคนช่วยเขียนเยอะ ผมก็งานเบาลงครับ"

ศักดา รัตนสุบรรณและทีมงาน จึงเขียนคำขวัญปะหัวหนังสือว่า "นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับเดียวในประเทศไทย"