ตำนานสอยคิว SEA GAMES
3 ธ.ค. 56 |
เผลอ แป๊บเดียวมหกรรมกีฬาของชาวอาเซี่ยน ซีเกมส์ ก็เวียนมาถึงนับเป็นครั้งที่ 27 ของการชิงชัย โดยหนนี้ไปแข่งขันกันที่ประเทศเมียนมาร์ โดยกระจายแข่งตามหัวเมืองต่างๆ อาทิ เมืองหลวงเนย์ปิดอว์-เมืองย่างกุ้ง (เมืองหลวงเก่า) และเมืองมัณฑะเลย์ ที่ต้องแข่งหลายเมืองเนื่องจาก เจ้าภาพ บรรจุชนิดกีฬาเข้าไปเต็มเอี้ยดโดยชิงเกือบ 500 เหรียญทอง และกีฬาที่บรรจุเข้าไปมากจนสมาชิกบ่นกันพึมคือ กีฬาพื้นเมือง หรือที่เรียกว่า กีฬาชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เล่นกันเฉพาะชาวบ้าน บ้านเจ้าภาพ ซึ่งหลายชาติเพิ่งจะรู้จักก็ต่อเมื่อ เจ้าภาพ บรรจุไว้ในโปรแกรมแข่งขัน ซึ่งก็สามารถทำได้เนื่องจากการเป็น "เจ้าภาพจัดซีเกมส์" จะแปลกแหวกแนวพิสดารยังไงก็ไม่ถือว่า น่าเกลียด เช่นเดียวกับครั้งที่ อินเดีย เป็นเจ้าภาพจัดกีฬา เอเชียนเกมส์ เมื่อเกือบ 20 ปี ได้บรรจุ ตี่จับ และ ยิงปืนชาวบ้าน เข้าแข่งขันยังทำได้ และคาดกันว่าอีกไม่ช้าก็จะมีกีฬา มอญซ่อนผ้า-หมากเก็บ หรือ แคะหึ่ม ซึ่งสมัยเด็กๆ เชื่อว่าต่างรู้จักกันทุกคน และนี่คือความได้เปรียบของ เจ้าภาพ ย้อนกลับมาที่การแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ แม้จะผ่านมาถึงครั้งที่ 27 โดยเริ่มแรกใช้ชื่อการแข่งขันว่า กีฬาแหลม ทองและต่อมาเปลี่ยนเป็นเซียพเกมส์ จนล่าสุดมาเป็นซีเกมส์ 2 ปีมี 1 ครั้ง แต่ กีฬาสอยคิว หรือ คิวสปอร์ต ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในครั้งที่ 14 หรือเมื่อ พ.ศ. 2530 ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกว่าสนุกเกอร์- บิลเลียดจะถูกบรรจุเข้าแข่งขัน หลายคนเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน รวมถึงผู้ใหญ่ในคณะกรรมการโอลิมปิกในยุค พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธานฯ และ พ.อ. (พิเศษ) อนุ รมยานนท์ เป็นเลขาธิการ โดยมี พ.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เป็นผู้ช่วยฯ ส่วนคณะกรรมการยุคนั้นประกอบด้วย ดร.ณัฐ อินทรปาณ-สันติภาพ เตชะวณิชย์ จนกระทั่งในปี 2527 ก็ได้มีการก่อกำเนิดสหพันธ์สนุกเกอร์แห่งเอเชีย ซึ่งมีคนอังกฤษแต่โอนสัญชาติเป็นไทยชื่อ นายมอริส เคอร์ ได้รื้อฟื้นการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยกลับมาอีกหน และจัดเมื่อปี 2525 ซึ่งปรากฏว่ามีนักกีฬาลงแข่งขัน 16 คน และผลปรากฏว่า นายวิเชียร แสงทอง (เซียนกิ๊ด นครสวรรค์) คว้าแชมป์ โดยชนะ นายธงชัย แซ่ลิ้ม (เป้า ศิษย์ฉ่อย) โดยการแข่งขันหนนี้นายศักดา รัตนสุบรรณ(หัวหน้าข่าวกีฬา น.ส.พ.เดลินิวส์ในสมัยนั้น) ส่ง 2 เพื่อนซี๊ ศักดิ์ชัย ตันธนาทิพย์ชัย (เซียนเง็ก อ่างทอง) และ ชรินทร์ ชยานุรักษ์ (เซียนเอ็ง บ้านใหม่) ลงแข่งขันด้วย แม้นักกีฬาจะเข้าแค่รอบ 4 คนแต่ ศักดา มองการณ์ไกลและเชื่อว่า ศักยภาพในเชิงสอยคิวคนไทยสามารถสู้กับ ชาวโลก ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอาศัยบารมีในการเป็น หัวหน้าข่าวกีฬา บวกกับมีความผูกพันกับ พ.อ.อนุ และ พ.ต.จารึก จึงทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า หากสนุกเกอร์-บิลเลียด ถูกบรรจุเข้าแข่งซีเกมส์ นักกีฬาไทยจะต้องคว้าเหรียญทอง สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ และสิ่งสำคัญที่ ศักดา นั่งรอ นอนรอ คืออยากเห็นผู้ปกครอง หันมาสนับสนุนลูกหลานให้เล่น สนุกเกอร์ ไม่ใช่มองข้ามเป็นเกมส์กุ๊ยหรือแหล่งมั่วสุม ตั้งแต่ต้นปี 2527 หัวหน้าข่าวกีฬาเดลินิวส์ เทียวไล้เทียวขื่อระหว่างโรงพิมพ์ย่านถนนวิภาวดีกับ บ้านสี่เสา เทเวศร์ที่ใช้เป็นที่ทำงานคณะกรรมการโอลิมปิกจนทำให้ เสธ.อนุ และ พ.ต.จารึก เกิดความเห็นใจและยินยอมนำข้อเสนอและรายละเอียดในการเสนอ คิวสปอร์ต เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ โดยตั้งเป้า ครั้งที่ 14 ที่ประเทศอินโดนีเซียโดยกำหนดแข่งขันวันที่ 9-20 กันยายน 2530 และในที่สุด มนตรีซีเกมส์ของทุกชาติก็ลงมติอนุมัติให้ คิวสปอร์ตเข้าแข่งขันในซีเกมส์ที่ อินโดนีเซีย ตามกำหนดวันดังกล่าว ในการแข่งขันครั้งแรกในซีเกมส์ เจ้าภาพ อัดชนิดกีฬาเข้าไปเต็มที่ถึง 27 ประเภทชิง 269 เหรียญทอง ซึ่งถือว่ามากที่สุดตั้งแต่มีการแข่งขัน เพราะต้องการ ครองเจ้าเหรียญทอง ซึ่งหนนั้น อินโดนีเซีย ก็ทำสำเร็จ โดยแย่ง เจ้าเหรียญทองไปจาก ไทย การแข่งขันซีเกมส์ที่มี คิวสปอร์ต หนแรกมีนักกีฬาดาวรุ่ง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย และ ตัวเก๋าอย่าง ศักดิ์ชัย ซิมงาม-ธงชัย แซ่ลิ้ม-อุดร ไข่มุกค์ ลงแข่งสนุกเกอร์ ส่วนมือบิลเลียดแชมป์ประเทศไทย วิเชียร แสงทอง ควงคู่ ตา ตันยุติธรรม-กุ่ม ดาวคะนอง นอกจากนี้เจ้าภาพยังจัด พูล 9 ลูก โดยแข่งขันบนโต๊ะสนุกเกอร์ ไม่ใช่โต๊ะขนาด 9 ฟุตเหมือนปัจจุบัน หนนั้น ทีมไทย ก็เลยสอยเหรียญทองกลับมา ซึ่งรวมแล้วได้ถึง 4 ทอง หน้าตาเบิกบานทั้ง ป๋าธนิต ตันติเมธ ผู้จัดการทีมและ ศักดา รัตนสุบรรณ ผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันสอยคิวเข้าแข่งซีเกมส์ ที่จริง ซีเกมส์ ครั้ง 27 ที่ประเทศเมียนมาร์ น่าจะเป็นการแข่งขันสนุกเกอร์-บิลเลียด ครั้งที่ 13 แต่จริงๆ แข่งเพียง 12 ครั้งเนื่องจากครั้งที่ 2 ในปี 2532 มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพไม่จัด คิวสปอร์ต เพราะการแข่งขันหนแรก นักกีฬามาเลเซีย ทำให้ชื่อเสียงประเทศชาติย่อยยับคือ มือ 1 แซมชอง ได้พาสาวบริการขึ้นห้องพักและหนังสือพิมพ์ สเตทไทม์ ของมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างพาดหัวข่าวเป็นที่ฮือฮาเพราะการนำ สาวบริการเข้าห้องพัก มาเลเซีย ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงเนื่องจากส่วนใหญ่เป็น มุสลิม เมื่อ แซมชอง ดันสร้างชื่อเสีย รัฐบาล จึงเรียกตัวกลับทันที และลงโทษด้วยการไม่บรรจุลง ซีเกมส์ ในปี 2532 ที่ต้องนำ ตำนานซีเกมส์ มาบอกกล่าวให้รู้ถึงที่มาที่ไปเพื่อให้เข้ากับ บรรยากาศซีเกมส์ที่จะมีขึ้นระหว่าง 11-22 ธ.ค.2556 เพราะภายภาคหน้าไม่แน่ว่า คิวสปอร์ต จะถูกถอดจากซีเกมส์เหมือเช่น เอเชี่ยนเกมส์ และหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะกว่าจะถูก บรรจุ เข้าแข่งขันเลือดตาแทบกระเด็นแต่ตอนถูกเตะออก มันง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ ใครเจอะหน้าคนในแวดวงกีฬาเก่าแก่อาทิ ดร.ณัฐ อินทรปาณ และ สันติภาพ เตชะวนิชย์ ลองถามดูมันยากเย็นยังไงและให้ชัวร์ถามอีกคน “ปู่กีฬา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ตอนนี้ยังมีตัวตน |