"ธนิต ตันติเมธ" คนปิดทองหลังพระ ผู้สนับสนุน ต๋อง ศิษย์ฉ่อย

5 ส.ค. 57

 

หาก เอ่ยชื่อชายสูงวัยที่มีจิตใจเผื่อแผ่และมีส่วนสำคัญในการผลักดัน วงการสอยคิว จนประสบความสำเร็จเป็นที่ฮือฮาทั่วโลก และสิ่งสำคัญเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการปลุกปั้น ต๋อง ศิษย์ฉ่อย จนกลายเป็น เจมส์ วัฒนา ที่คนทั่วโลกรู้จักดี เนื่องจากก่อนดัง ป๋าธนิต เป็นผู้ทุ่มเทและทุ่มทุนพา ต๋อง ศิษย์ฉ่อย-เป้า ศิษย์ฉ่อย-หนู ดาวดึงส์-รมย์ สุรินทร์ ตระเวนไปแข่งขันเกือบทั่วโลกทั้ง ซีเกมส์-ชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์สมัครเล่นโลก นอกจากนี้ยังสนับสนุนการแข่งขันพูล โดยนำ ช้าง ป่าโมก-เสือ ทองราชา พาไปแข่งพูล ทุกครั้งที่เจ้าภาพเชิญมา จนกระทั่งปลายปี 2531 ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ก็สร้างปรากฏการณ์ให้โลกตะลึง โดยการคว้าแชมป์สมัครเล่นโลกให้กับคนไทย และเป็นผู้จุดประกายให้ วงการสอยคิวเอเชีย ตื่นตัว จนกระทั่ง จีน ครองความยิ่งใหญ่จนถึงทุกวันนี้

ผมนำคนปิดทองหลังพระที่ชื่อ ธนิต ตันติเมธ มาบอกกล่าวให้คนรุ่นหลังรับรู้ความจริงที่ทำให้วงการ สอยคิวไทย โด่งดังก็เพราะ 16 สิงหาคม 2540 เป็นวันที่ ป๋าธนิต ตันติเมธ "พ่อพระของชาวคิว" ได้สิ้นใจกระทันหันด้วย หัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งวันนั้น สุนทร จารุมนต์-ศักดา รัตนสุบรรณ ได้นำพา 2 เยาวชนทีมชาติไทย ไปแข่งขันชิงแชมป์เยาวชนโลกที่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยนักกีฬาดาวรุ่งที่นำไปคือ นพดล แสงนิล (แซก โซโฟน) และ อรรถสิทธิ์ มหิทธิ (บิ๊ก สระบุรี) ซึ่งคณะนักกีฬาเพิ่งเดินทางไปถึงไอร์แลนด์เมื่อวันที่ 15 ส.ค. พอรุ่งขึ้น ป๋าธนิต ก็สิ้นใจ คณะนักกีฬาไทยรู้ข่าว เพชฌฆาต กระชากวิญญาณป๋าออกจากร่างก็ปาเข้าไปวันที่ 18 ส.ค. ดังนั้นผมจึงรีบติดต่อเครื่องบินเพื่อให้กลับมาทันพิธีงานศพ ซึ่งสวดพระอภิธรรมแค่ 5 วันและได้รับการเอื้อเฟื้อจากสายการบิน KLM ทำให้ผมได้กลับมาทันการสวดศพคืนสุดท้าย และรุ่งเช้าก็ติดตามไปส่งวิญญาณ "ป๋าธนิต" ถึงแดนสุขาวดี จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่ ป๋าธนิต หลับสบายอยู่ที่นั่น และเกือบทุกปีหากไม่ติดนำทีมสอยคิวไปแข่งต่างประเทศ 16 ส.ค. จะต้องไปคาราวะเยี่ยมเยียนป๋าธนิตทุกครั้งไป และ 16 ส.ค. นี้ ก็จะไปเคารพสถานที่ ป๋าธนิตพักผ่อนเหมือนเดิม

นักกีฬารุ่นหลังอาจไม่รู้ถึงความจริงใจในการผลักดัน สนุกเกอร์ ให้โด่งดังไปทั่วปฐพีหากในปี 2527 ป๋าธนิต ไม่เอ่ยปากกับ เป้า ศิษย์ฉ่อย ว่าอยากรู้จัก คิวทอง คนเขียนคอลัมน์สนุกเกอร์ในหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์" และจากนั้น คิวทอง ก็เจอหน้าชายจีนผู้สูงวัย แค่เห็นหน้าก็เกิดศรัทธาเพราะ ป๋าธนิต ยิ้มแย้มตลอด พูดจาไพเราะ ไม่เคยโกรธใคร หากนักกีฬาคนใดถูก ป๋าด่า ถือว่าโชคร้ายต้องไปรดน้ำมนต์ 7 วัด การชักชวนให้ คิวทอง ไปเขียนหนังสือที่แฟลตเดือนเด่น ประตูน้ำ ซึ่ง ป๋าธนิต เป็นเจ้าของ โดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ 1.อาคารชั้น 7 เป็นสถานที่ตั้งโต๊ะสนุกเกอร์ 14 ตัว มีห้องแข่งขันจุคนดูประมาณ 100 คน สถานที่โอ่อ่าแอร์เย็นเจี๊ยบ เพื่อต้องการบูมให้สถานที่ของท่านโด่งดัง ประการต่อมา ป๋าธนิต มีอุดมการณ์เดียวกับ คิวทอง คืออยากเห็นวงการสนุกเกอร์โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อตกปากรับคำ จะไปใช้ ออฟฟิศ ที่เดือนเด่นทำงานแต่มีข้อแม้เรื่องค่าเช่าสถานที่ ค่าตบแต่งห้องทำงานทั้ง โต๊ะ เก้าอี้ แอร์คอนดิชั่น ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างยังไม่พร้อม คิวทอง จึงขอผลัดเวลาในการเตรียมตัว แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เป้า ศิษย์ฉ่อย มาตามไปพบ ป๋าธนิต ที่แฟลตเดือนเด่น พอเจอหน้าป๋า เห็นออฟฟิศซึ่งมีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม แม้กระทั่งห้องล้างรูป ห้องอัดรูป (ช่วงนั้นพวกดิจิตอลยังไม่เกิด) สำหรับทำ คิวทอง โต๊ะเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ตบแต่งห้องตลอดจน แอร์ มีพร้อมสรรพ ก็ทำเอา งง เพราะนึกไม่ถึง ป๋าธนิต มีความจริงใจและอยากได้ คิวทอง ไปนั่งประจำ จึงเนรมิตทั้งหมดเพียงชั่วแค่พริบตา และด้วยเหตุนี้จึงกำเนิด นิตยสารคิวทอง เมื่อเดือนสิงหาคม 2528 จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 29 ปีเต็ม

นอกจากป๋าธนิต จะสนับสนุนนิตยสารคิวทอง ยังให้ความช่วยเหลือนักกีฬาจากทั่วสารทิศ โดยเปิดแฟลตให้พักอาศัย ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า นักกีฬา ที่ได้อานิสงส์ประกอบด้วย วิเชียร แสงทอง-ต่าย พิจิตร-ดร เมืองชล-รมย์ สุรินทร์-อ๊อด นางเลิ้ง-เสือ ทองราชา-โต้ง กันอริ-สายันต์ เดือนเด่น-เป้า ศิษย์ฉ่อย และใครต่อใครอีกหลายคนที่นึกไม่ออก ส่วนรายละเอียดที่ ป๋าธนิต ตันติเมธ กลายเป็นผู้ปิดทองหลังพระ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร เชิญเปิดไปอ่านข้อเขียนของ อำนวยศักดิ์ สว่างนก อดีตหัวหน้าข่าวกีฬา เดลินิวส์ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2540 แล้วจะรู้ว่าทำไม

ป๋าธนิต จึงถูกยกเป็น "เทพเจ้าสอยคิว"