โอ เอเชี่ยนเกมส์
8 ก.ย. 57 |
วัน เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก เผลอแป๊บเดียว เอเชี่ยนเกมส์ หนที่ 17 ก็จะมาถึงในวันที่ 19 ก.ย. ถึง 4 ต.ค. 2557 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทุกครั้ง คนในวงการสอยคิวระริกระรี้เหมือน ปลากระดี่ได้น้ำ เพราะรอลุ้นเหรียญ ทั้งบิลเลียดและสนุกเกอร์ แต่น่าเสียดาย เอเชี่ยนเกมส์ ครั้ง 17 ไม่มีกีฬาสอยคิว เนื่องจาก คิวสปอร์ต ไร้ผู้สนับสนุน โดยเฉพาะคีย์แมนระดับ โอลิมปิก ไม่มีใครให้ความสนใจ เพราะทุกคนที่เป็น คณะกรรมการ ต่างมีชนิดกีฬาอยู่ในหัวใจที่ต้องยกมือสนับสนุน ซึ่งกรรมการบางท่านก็เป็น นายกสมาคมกีฬา บางท่านก็เป็นบอร์ดบริหารระดับเอเชียและระดับโลก ดังนั้นเมื่อประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ชีค อาหมัด อัล-ฟาฮัด อัล ซาบาห์ ได้หารือในที่ประชุม คณะกรรมการโอลิมปิกเอเชีย โดยมีผู้แทนจากทุกชาติเข้าร่วมประชุมเพื่อ ตัดบางชนิดกีฬาออกจากการแข่งขัน เอเชี่ยนเกมส์ และบรรจุกีฬาที่มีผู้สนับสนุนมากเข้าไปแข่งแทน ในจำนวนกีฬาที่จะถูกตัดออกมี คิวสปอร์ต อยู่ในจำนวนนี้ด้วย เมื่อประธานฯ พิจารณาถึง คิวสปอร์ต โดยมีความเห็นว่าควรจะตัดออกจากการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ และถามในที่ประชุมมีใคร คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยบ้างไหม? ปรากฏว่าทุกชาตินั่งนิ่งรวมทั้งผู้แทนจากไทย เมื่อไม่มีใครแสดงความคิดเห็นจึงถือว่า ทุกชาติไม่คัดค้านที่จะตัด คิวสปอร์ต ออกจากเอเชี่ยนเกมส์ และให้มีผลในการแข่งขันครั้งที่ 17 ณ ประเทศเกาหลีใต้ที่จะถึงนี้ (19 ก.ย. ถึง 4 ต.ค.) จึงเป็นอันว่า บิลเลียด-สนุกเกอร์ ที่เราพยายามผลักดันให้เป็นกีฬามีการแข่งขันระดับ ซีเกมส์-เอเชี่ยนเกมส์ และความหวังสุดท้ายคืออยากให้เข้าสู่ โอลิมปิกเกมส์ แต่น่าเสียดายที่มาสะดุดตั้งแต่ในระดับเอเชีย จึงไปไม่ถึง ระดับโลก หากถามว่า ผู้แทนฝ่ายไทย ที่เข้าร่วมประชุมวันนั้นเป็นใคร เรื่องนี้เคยเขียนให้ทราบใน หน้าสี่ หนังสือพิมพ์สยามกีฬา รายวัน จึงไม่อยากนำมาเอ่ยถึง เพราะยังเจ็บกระดองใจที่มีตัวแทนของชาติ มีปากเหมือนมีตูด ไม่ยอมพูดสักคำ เพื่อให้เห็นความสำคัญและความยากลำบากในการผลักดันกีฬาแขนงนี้เข้ามาแข่ง เอเชี่ยนเกมส์ คิวสปอร์ตในเอเชี่ยนเกมส์ ถูกบรรจุครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2541 ซึ่งเราเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยก่อนหน้านั้นได้ประสานกับ คณะกรรมการโอลิมปิก เป็นอย่างดีในการบรรจุ คิวสปอร์ต และได้รับการตอบสนองจาก พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันจนมีการแข่งขันสำเร็จ ครั้งแรกในไทย ครั้งต่อไปในปี 2545 เกาหลีใต้ ซึ่งหนนี้ ไทย สร้างชื่อระบือทั่วเอเชียเพราะได้ถึง 2 ทองจากการแข่งขันบิลเลียดโดยฝีมือ รมย์ สุรินทร์ ได้ทั้งเดี่ยวและคู่กับ มงคล กั้นฝากลาง (ตึ๊ก โคราช) จากนั้นปี 2549 ก็ไปแข่งที่ประเทศกาตาร์ ไทย ก็คว้ามาอีก 1 เหรียญทองจากบิลเลียด แต่หนล่าสุดปี 2553 ที่นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หนนี้เราพลาดเหรียญไปอย่างน่าเสียดาย สรุป คิวสปอร์ต มีแข่งในเอเชี่ยนเกมส์ 4 ครั้ง ไทย พลาดเหรียญในการเป็น เจ้าภาพ ปี 2541 ซึ่งน่าเสียดายที่ กีฬาสอยคิว ได้เข้าแข่งเอเชี่ยนเกมส์ในเวลาสั้นมากแค่ 4 ครั้ง (16 ปี) ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องโทษ คณะกรรมการโอลิมปิก ที่ไม่เห็นความสำคัญของกีฬาแขนงนี้ เพราะการถูกตัดออกจาก เอเชี่ยนเกมส์ เท่ากับว่าเราทิ้งอย่างน้อย 1 เหรียญทองสำหรับ ทีมไทย เคยมี คณะกรรมการโอลิมปิก บางท่านมาปลอบใจว่า หลุดจากเอเชี่ยนเกมส์หนนี้ หนหน้าก็มีโอกาสกลับมาใหม่ ขึ้นอยู่กับประเทศ เจ้าภาพ ต้องการจัดมากน้อยแค่ไหน หากมีผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมาก โอลิมปิกเอเชีย ก็ไม่อาจบิดพลิ้ว ต้องยอมให้ คิวสปอร์ต กลับมาใหม่ ในขณะนี้จึงได้แต่รอโอกาสเมื่อไหร่ สวรรค์มีตา ให้กีฬาสอยคิวได้เข้าแข่งขันอีกหน ต้องยอมรับองค์กรเอเชียและระดับโลก มีอิทธิพลต่อการแข่งขันกีฬาเป็นอย่างมาก ในสมัยที่มี คนไทย เป็นประธานสหพันธ์สนุกเกอร์เอเชียจะสังเกตเห็นชัดเจนว่า กีฬาสอยคิวคึกคักมาก ทั้งชิงแชมป์เอเชียหรือระดับซีเกมส์-เอเชี่ยนเกมส์ กีฬาคิวสปอร์ตถูกจัดอยู่ในระดับต้นๆ ไม่แพ้กีฬาชนิดไหน ถึงขั้น สื่อมวลชน ตั้งให้เป็น สมาคมกีฬาความหวัง ที่จะคว้าเหรียญทองทุกครั้งในซีเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์ แต่สำหรับเอเชี่ยนเกมส์หนนี้ไม่มี กีฬาคิวสปอร์ต ซึ่งทำให้คนในวงการสอยคิวเงียบเหงา โดยเฉพาะ นักกีฬา ซึมเศร้าไปตามๆ กัน ต้องแยกกันกลับ บ้านใครบ้านมัน เนื่องจากไม่มีการเก็บตัวเหมือนเช่นทุกครั้ง
ศักดา รัตนสุบรรณ |