ปิดตำนาน “คิวทอง” - Editor Talk
3 ธ.ค. 61 |
ไม่ มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา กิมย้ง หรือ จา เหลียง ยง นักหนังสือพิมพ์วัย 94 ปีชาวจีน (ฮ่องกง) และนักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อก้องโลกที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 30 ต.ค. 2561 ผู้แต่งนิยาย มังกรหยก, 8 เทพอสูรมังกรฟ้า, อุ้ยเสี่ยวป้อ ฯลฯ จนดังกระฉ่อนทั่วโลกได้กล่าวตามที่เกริ่นไว้ ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรกและฉบับเดียว คิวทอง ก็เช่นกัน ถึงเวลาที่ต้องอำลาแฟน ๆ หลังจากที่ออกวางตลาดฉบับแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 จากบัดนั้นถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 33 ปี หนังสือสนุกเกอร์คิวทองเกิดขึ้นในช่วง นายศักดา รัตนสุบรรณ ที่มีพลังเพื่อผลักดันกีฬาแขนงนี้ เพราะเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ซึ่งมีความผูกพันธ์กับคณะกรรมการโอลิมปิกที่มี “ทุเรียนเหล็ก” พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธานและมี พ.อ.อนุ รมยานนท์ เป็นเลขาธิการพร้อม พ.ต.จารึก อารีราชการัณย์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ช่วยเลขาธิการในฐานะ สื่อมวลชน กับ ผู้บริหารองค์กรกีฬาได้มีการขอร้องให้โอลิมปิกช่วยผลักดัน สนุกเกอร์-บิลเลียด เข้าแข่งขันในกีฬา “ซีเกมส์” ที่ประเทศอินโดนีเซียที่จะเป็นเจ้าภาพในปี 2530 เพราะการจะเสนอชนิดกีฬาต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นปี ส่วนสาเหตุที่ต้องออกนิตยสารสนุกเกอร์คิวทอง เนื่องมาจากนายศักดาได้เปิดคอลัมน์ “นินทาเซียน” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ซึ่งเป็นข่าวสังคมซุบซิบทั่วไป แต่เจาะจงเฉพาะคนในวงการสนุกเกอร์อย่างเดียว ซึ่งส่งผลให้ ผู้อ่านที่ชื่นชอบกีฬาแขนงนี้ติดกันเกรียว แต่ได้สร้างปัญหาสู่หลายครอบครัวโดยมี ผู้ปกครอง โทรมาด่าบรรณาธิการรวมถึงแม่บ้านที่เป็น ภรรยา ก็ต่อว่าหนังสือพิมพ์ เพราะตั้งแต่มีคอลัมน์ “สนุกเกอร์” ปรากฏว่า ลูกเต้าไม่ไปโรงเรียน มั่วอยู่ในโต๊ะบิลเลียด ส่วนผู้นำครอบครัวก็เล่นกันข้ามวันข้ามคืนไม่สนใจกลับบ้าน ซึ่งบรรณาธิการ นายประชา เหตระกูล ได้รับการร้องเรียนมามากจึงต้องเรียกหัวหน้าข่าวไปชี้แจง พร้อมยื่นคำขาดให้ลดจำนวนวันเขียนคอลัมน์สนุกเกอร์ให้น้อยลง และด้วยเหตุนี้คือที่มาของการกำเนิดคิวทอง ที่ต้องนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของคนในวงการต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงสำคัญที่จะมีการผลักดันสนุกเกอร์เข้าแข่งขันในกีฬาซีเกมส์เป็นครั้งแรก นิตยสารคิวทองจึงคลอดสู่สายตาเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 โดยช่วงแรกออกเป็นรายปักษ์ 15 วัน และยืดเวลาเป็นรายเดือนในปีถัดมา เพราะการทำหนังสือยุคนั้นถือเป็นเรื่องยาก ไม่เหมือนยุคดิจิทัลที่ใช้คอมพิวเตอร์จัดทำรูปเล่มทั้งหมด ซึ่งออกวางตามแผงทั่วประเทศในราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น 33 ปีที่คิวทองยืนหยัดมาได้ก็ด้วยพันธมิตร ที่มีความผูกพันธ์ในด้านส่วนตัวด้วยการสนับสนุนลงโฆษณา โดยมิได้มุ่งหวังถึงผลในการโฆษณา เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงานในการผลักดันกีฬาแขนงนี้เป็นที่ยอมรับของคนไทย ซึ่งในอดีตเห็นบิลเลียด-สนุกเกอร์เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง ผู้ปกครองยุคนั้นสั่งห้ามลูกหลานเหยียบย่างสู่สถานที่แห่งนี้ ถือเป็น แหล่งอโคจร ที่รวบรวมบรรดาพวกสารพัดกุ๊ย ตั้งแต่ พวกโจร พวกฉกชิงวิ่งราว พวกมิจฉาชีพทุกประเภท มักรวมอยู่ในโต๊ะบิลเลียด หลังจากนั้นไม่นานวงการสอยคิวก็เริ่มเป็นที่ยอมรับเมื่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้บิลเลียด-สนุกเกอร์ เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่ กกท.ต้องให้การสนับสนุนงบประมาณในการส่งแข่งซีเกมส์ โดยประกาศในปี 2528 จนถึงปัจจุบันซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนที่อยู่ในวงการนี้รวมถึง ผู้ปกครอง ก็เริ่มคล้อยตามและให้การสนับสนุนลูกหลานจนทำให้ ไทย กลายเป็นเจ้าของแชมป์สมัครเล่นโลกถึง 7 คน นับตั้งแต่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย, หนู ดาวดึงส์, ต่าย พิจิตร, ศักดิ์ชัย ซิมงาม, บิ๊ก สระบุรี, เอฟ นครนายก และ แจ๊ค สระบุรี ซึ่งไม่รวมแชมป์เยาวชนโลกชาย-หญิงอีกหลายคน รวมทั้งแชมป์โลกซีเนียร์ (อายุเกิน 40 ปี) ส่วนแชมป์เอเชียไม่ต้องพูดถึง คนไทย กวาดแชมป์ได้มากที่สุดกว่า 10 คน 33 ปีที่คิวทองยืนหยัดถึงวันนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ที่มีความจำเป็นต้องปิดตัวเอง แต่จะไม่หนีไปไหนไกลคงพบกันในเว็บไซต์คิวทอง ใครอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสนุกเกอร์ก็ให้ติดตาม เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว อดใจหาย ต้องทำใจกราบลาแฟน ๆ เหมือนกับที่ปรมาจารย์ กิมย้ง เกริ่นไว้เบื้องต้น ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา
ท่านยังสามารถติดตามการเคลื่อนไหววงการสนุกเกอร์ได้ที่ เว็บไซต์คิวทอง www.cuethong.com แฟนเพจเฟซบุค www.facebook.com/cuethong ทวิตเตอร์ www.twitter.com/Cuethong
ศักดา รัตนสุบรรณ (ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 433) |