ดร เมืองชล

21 พ.ค. 59

เป็น นักสนุกเกอร์ไทยคนแรกที่สยบความดังของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย แย่งแชมป์เอเชียมาครองอย่างงดงามจากการดวลคิวในถิ่น “เสือเหลือง” ประเทศมาเลเซียเมื่อ 29 ปีก่อน เก่งทั้งสนุกเกอร์และบิลเลียด แต่ถึงจะเก่งอย่างไรก็พ่ายโรคร้าย “มะเร็ง เฮงซวย” บั้นปลายของชีวิตจึงเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล ล่าสุดต้องทำ คีโม หลายครั้ง ไม่รู้ชีวิตจะยืนยาวอีกนานเท่าใด นักสนุกเกอร์อาภัพรายนี้คือ ดร เมืองชล นักสอยคิวเมืองน้ำเค็ม

เป็นนักสนุกเกอร์มือดีคนหนึ่ง แต่ระยะหลังพลิกผันมาเล่นบิลเลียดหรือสามลูก

ก็เล่นได้ดี จนติดทีมชาติ แข่งขันกีฬาเซียพเกมหลายครั้งหลายสมัย ได้เหรียญกลับมาทุกครั้งเหมือนกัน

บิลเลียดนั้นเล่นคนละสไตล์กับสนุกเกอร์อย่างสิ้นเชิง เพราะกติกาต่างกัน การทำแต้มก็หนักไปทางเปลี่ยน คือพยายามเอาลูกในมือของตนเอง หรือเรียกว่า “อีตัว” ลงหลุม ส่วนสนุกเกอร์ใช้การตบหลัง

มีลูกสามลูก สองลูกเป็นลูกขาว ใบหนึ่งมีจุดเล็กๆ สีดำ อีกใบหนึ่งขาวล้วน

เหตุที่ต้องต่างกัน เพราะผู้เล่นต่างมี “อีตัว” หรือลูกของตนเองเฉพาะ คนหนึ่งขาวล้วน อีกคนหนึ่งก็ต้องลูกมีจุด พอถึงคิวตัวเองเล่นก็ต้องแทงลูกของตัวเอง ให้ไปกระทบลูกอื่น คือลูกขาวของคู่ต่อสู้ หรือลูกที่สาม คือลูกแดง

การทำคะแนนมีสามอย่าง หนึ่ง แคนนอนได้ ๒ แต้ม คือแทงอีตัวของตัวเองไปที่ลูกๆ หนึ่ง แล้วลูกอีตัวไปกระทบกับอีกลูกหนึ่งด้วย

สอง การเปลี่ยน หมายถึงเอาอีตัวลงหลุม หากเปลี่ยนแดงจะได้ ๓ แต้ม หากเปลี่ยนขาวได้ ๒ แต้ม หากเปลี่ยนแดง แล้วแดงลงหลุมไปด้วยได้ ๖ แต้ม และเอาแดงมาตั้งใหม่ตรงจุดดำของสนุกเกอร์ เปลี่ยนขาวและขาวลงหลุมด้วยได้ ๔ แต้ม แต่ไม่ต้องเอาขาวของคู่ต่อสู้มาตั้ง

สาม การตบหลัง ตบดำได้ ๓ แต้มและเอามาตั้งใหม่ที่จุดดำ ส่วนตบหลังขาวของคู่ต่อสู้ไม่ได้แต้ม และไม่ต้องเอาขึ้นมาตั้ง

หากใครเล่นแล้วได้แต้มก็แทงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ได้แต้ม เรียกว่าหมดไม้เบรก คู่ต่อสู้ก็จะเป็นฝ่ายออกมาเล่นบ้างเช่นเดียวกัน

คนที่เล่นบิลเลียดเป็น พอหันมาเล่นสนุกเกอร์จะได้เปรียบพอสมควร เพราะจะรู้ทางเดินของลูกขาว เวลาฉากหนีจากชิ่งบนมาชิ่งล่างเพื่อกัน ก็จะรู้ว่าผ่านชิ่งไหนจะไปทางใด ใช้การแทงหนาหรือบาง หรือต้องไซด์ยึด หรือไซด์ช่วย

ดร เมืองชล เป็นคนเดียวกับ ดร เมืองทอง ชื่อจริงคือ อุดร ไข่มุกด์

โตมากับโต๊ะสนุกเกอร์แถวโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ชลบุรี วิ่งเข้าวิ่งออกตั้งแต่เด็ก จนคลุกคลีกับนักสนุกเกอร์แถวนี้เป็นอย่างดี โตจนพอจับคิวหัดเล่นได้ ก็เก่งสนุกเกอร์ได้อย่างรวดเร็ว

เป็นมือหนึ่งของชลบุรีมานาน ปะทะกับนักสนุกเกอร์เดินสายข้ามถิ่น หรือมาจากกรุงเทพฯ หลายครั้งหลายหน จนต้องขึ้นแท่น ไม่มีนักสนุกเกอร์ของชลบุรีคนใดจะเป็นคู่เล่นด้วย

พอมีการแข่งขันสนุกเกอร์ประเภทดาวรุ่งที่มิตรเดือนเด่น จัดโดย “คิวทอง” เขาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สมัครแข่งขัน ก็รุ่นเดียวกับ “รมย์ สุรินทร์”

แล้ว “ดร เมืองชล” ก็ติดลม ไม่กลับชลบุรี ปักหลักอยู่เมืองทองธานี จนได้สมญานามต่อท้ายเป็น “เมืองทอง” ซึ่งเขาเป็นนักสนุกเกอร์มือหนึ่งประจำที่นั่น ได้ปะฝีมือกับนักสนุกเกอร์ที่เดินสายมาบ้าง และสอนเทคนิคการเล่นสนุกเกอร์ให้แก่นักสนุกเกอร์รุ่นใหม่ที่มีความสนใจ และอยากได้ความรู้

อุดร ไข่มุกด์ เป็นนักสนุกเกอร์ที่เดินสายไม่มาก ยิ่งระยะหลังๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฎ ในฐานะนักสนุกเกอร์มือชั้นดี และผันตัวฝึกปรือในการเล่นบิลเลียดเวลาไล่เลี่ยกับ “รมย์ สุรินทร์” ซึ่งรมย์เป็นตัวอย่างอันดีให้เห็นถึงความสำเร็จ ความมีชื่อเสียง และการขึ้นชั้นไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ

อุดร ก็หันมาฝึกเล่นบิลเลียดอย่างจริงๆ จังๆ

อาจด้วยพื้นฐานของเขาที่หัดเล่นสนุกเกอร์ใหม่ๆ นั้น มีประสบการณ์มาบ้างในการเล่น ๓ ลูก หรือบิลเลียด เพราะตามต่างจังหวัดนั้น มือดีเก่าๆ มักจะมาจากเซียนบิลเลียดก่อน

พอกระแสบิลเลียดลดหายไป พวกเขาเหล่านั้นก็หันมาเล่นสนุกเกอร์กันบ้าง

ดร เมืองชล ก็ไม่ผิดกัน นอกจากเคยเห็นการเล่นบิลเลียดมาชั่วนาตาปีแล้ว เซียนที่สอนให้เขาจับคิวเล่นสนุกเกอร์นั้น ก็เป็นนักบิลเลียดมือดีมาก่อน

จึงสอนทางบิลเลียดควบคู่ด้วย

ครั้นเมื่อ “ดร เมืองชล” หันกลับมาเอาดีทางบิลเลียด เขาจึงใช้เวลาฝึกจริงๆ ไม่ถึงปี ก็ผ่านการคัดเลือกเป็นทีมชาติได้ ส่วนการเล่นสนุกเกอร์นั้น ฝีมือเขาก็ยังคงสม่ำเสมอ ลงแข่งขันให้กับจังหวัดต่างๆ ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ

อุดร ไข่มุกด์ มีลักษณะท่าทาง และหุ่นไม่เหมือนเซียนสนุกเกอร์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสูงโปร่ง ประกอบกับเขาเข้ามาอยู่ในวงการสนุกเกอร์ในกรุงเทพฯ หลังคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ผู้คนจึงยังไม่รู้จักหน้า ไม่คุ้นกับชื่อเสียงเท่าไรนัก

เขาเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ เป็นนักสนุกเกอร์ตัวเล็ก ผอมเกร็ง ไม่เหมือนปัจจุบันที่ดูอ้วนท้วมสมบูรณ์ไปตามวัย และอาจฤทธิ์ของยีสต์จากฟองเบียร์

ดร เมืองชล จึงหาคู่เล่นด้วยไม่ยากนัก และฝีมือก็ไม่ได้แข็ง ไม่ได้เหนือชั้นกว่าเขาเลย

ดร จึงเป็นฝ่ายชนะ ล้มเดิมพันมาเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงสร้างความฮึกเหิม มีขวัญกำลังใจดี ชนะบ่อยๆ กระดูกก็เริ่มแข็งขึ้นไปเรื่อย

จนมีฝีมือและชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าในตอนนั้น

จังหวะตอนที่เซียนสนุกเกอร์รุ่นเก๋า เริ่มที่จะแพ้สังขาร ถอดใจถอยหลังให้กับวงการไปบ้าง และมิติใหม่ของลีลาการเล่นสนุกเกอร์ก็ปรับเปลี่ยนไป

กลายเป็นอาศัยความแม่นยำ และเข้าเบรกยาวม้วนเดียวจบ

เปลี่ยนไปจากการอาศัยชั้นเชิง ตบชุดสองชุดแล้วก็หนี พอได้จังหวะก็ใส่อีกชุดสองชุด จนแต้มขาดลอย จนคู่ต่อสู้ไล่ไม่ทัน

แถมพยายามมีการวางสนุ้กเพื่อทำแต้มทำคะแนนอีก

ยุค “ผีลาย” และยุค “ไฟฟ้า” นี่แหละ ที่สร้างมิติแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเล่นสนุกเกอร์ไปโดยสิ้นเชิง อาศัยความแม่นยำ กล้าบ้าบิ่น และเดินหน้าลุยกันเป็นหลัก

นักสนุกเกอร์รุ่นเก๋าจะเอาแต่มัวปิดป้องตามถนัดตามลีลาเหมือนเก่าไม่ไหว จึงกลายเป็นยุคของเด็กรุ่นใหม่ที่แม่นยำกว่า กล้าได้กล้าเสี่ยงกว่า และสายตาดีกว่า เข้ามาแทนที่

ก็มี “ดร เมืองชล” ที่เป็นนักสนุกเกอร์รุ่นรอยต่อระหว่างรุ่นเก๋ากับรุ่นใหม่ และมีนักสนุกเกอร์อีกหลายๆ คนที่เป็นรอยต่อของยุคนี้ และหลายคนยังมีชั้นอยู่ อาทิ

หนู ดาวดึงส์ - ต๋อง ศิษย์ฉ่อย - รมย์ สุรินทร์ - เต่า หลังสวน - ตี๋ พีทีเอส. - ต่าย พิจิตร - เป้า ศิษย์ฉ่อย - ศุข วิเศษฯ

ล่าสุด ดร เมืองชล ประสบชะตากรรมถูกโรคร้าย มะเร็งเฮงซวย มาเยือนได้หลายเดือนจนร่างกายซูบโทรม ต้องไปมาระหว่างที่พักกับโรงพยาบาล โดยก่อนหน้านี้ก็เป็นโรค ไทรอยด์ โดยลำคอปูดบวมเหมือนมีลูกโป่งขนาดใหญ่อยู่ใต้คาง แรกๆ ก็ยังมองไม่ออก แต่นานเข้าเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีคนบอกให้ไปผ่าตัดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะ ดร เมืองชล เป็นนักกีฬาทีมชาติและเป็นผู้ฝึกสอนของ กกท. แต่ก็ปล่อยปละละเลยถึงขนาด “คิวทอง” ต้องใช้มาตรการเด็ดขาด หากไม่ไปให้หมอผ่าตัด อย่าเหยียบมาที่ ทีบีซี. ซึ่งเหมือนกับตัดการทำมาหากินเนื่องจาก ดร เมืองชล ช่วงหลังขึ้นชั้นไปเป็น ผู้ตัดสิน มีการแข่งขันของสมาคมฯ ก็จะมาตัดสิน โดยได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 1,000 บาท ช่วยประทังความเดือดร้อนได้ระยะหนึ่ง แต่ใครจะนึกว่าบั้นปลายชีวิต ดร เมืองชล จะประสบชะตากรรมในขณะที่อายุแค่ 50 เศษ

จึงได้แต่ภาวนาขอให้ ดร เมืองชล พ้นภัยจากโรคร้าย เพราะหากไม่กลัวมัน มีกำลังใจที่แน่วแน่ มะเร็งเฮงซวยก็ยากที่จะเอาชนะ ซึ่งปรากฎให้เห็นหลายต่อหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ทอม มอร์แรน หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษอดีตผู้จัดการส่วนตัวของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ซึ่งหมอคาดจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทอม มอร์แรน อยู่มากว่า 20 ปี จนวัยจะแปดสิบแล้ว จึงได้แต่หวัง ดร เมืองชล จะเอาชนะโรคร้าย

หากใจสู้ซะอย่างไม่มีอะไรหยุดยั้งได้

 

“อ๊อด หัวหิน”

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 401)