บ่ายๆ เล่นให้เขาดู เย็นๆ นั่งดูเขาเล่น

22 มี.ค. 60

มันเป็นอย่างไร “บ่ายๆ เล่นให้เขาดู เย็นๆ นั่งดูเขาเล่น” มันเป็นคำประชดประชันถึงนักสนุกเกอร์ขาประจำ ที่ชอบทำตัวเหมือนเซียน หรือมือดีประจำโต๊ะ

มีทั้งที่เป็นมือดี หรือบางคนฝีมือก็ยังไม่ถึงขั้น แต่ก็ชอบเล่น ชอบต่อแต้มให้คนนั้นคนนี้

ชนะ ก็เพิ่มระดับการต่อสูงไปเรื่อย ต่อจนแพ้

หากไม่ต่อให้คนอื่น ก็ไม่มีใครจะเล่นด้วย เพราะไปวางตัวเป็นนักสนุกเกอร์ชั้นสูงกว่า สมัยก่อนที่เรียกว่า “เซียน” ซึ่งโต๊ะสนุกเกอร์ทุกแห่งจะมีนักสนุกเกอร์ประเภทนี้อยู่

อาจเก่งที่สุดในที่นั้น หรือเป็นมือดีระดับแถวหน้าของที่นั่นที่มีหลายคน นอกจากจะลงเล่นกับนักสนุกเกอร์ที่อยู่ในแถวเดียวกันได้แล้ว จะเล่นกับมือระดับที่ต่ำกว่าก็ได้

แต่ต้องต่อให้เขาจนกว่าเขาจะพอใจ จับคิวมาเล่นด้วย

 

การต่อให้คู่ต่อสู้ในสมัยก่อนนั้น ที่มาตรฐานคือการต่อแต้มให้ ตกลงกันว่ากี่แต้ม ๗ แต้ม หรือ ๑๐ แต้ม หรือ ๑๕ แต้ม

หรืออาจเรียกว่า ๑ สนุ้ก หรือ ๒ สนุ้ก สนุ้กหนึ่งก็ ๗ แต้ม สำหรับโต๊ะตลาดในสมัยนั้นและเล่นกันมาตรฐานเหมือนกันทุกแห่ง แดง ๕ ลูก

สนุ้กหนึ่ง ตามกติกานั้นหากแก้สนุ้กผิดต้องเสียแต้ม ๗ แต้ม หากต่อ ๒ สนุ้กหมายถึงต่อให้คู่ต่อสู้ ๑๔ แต้ม แล้วก็เดิมพันกันแล้วแต่วงเงินที่ตกลง จบเกมใครชนะก็คว้าเงินเดิมพันไป

คนดูจะถือหางคนไหน หรือคาดว่าใครจะชนะก็เล่นพนันนอกกันกับคนที่เล็งฝ่ายตรงข้าม แบบที่ว่า ความเห็นไม่ตรงกัน การพนันก็เกิด

สมัยนี้เรียกว่า “เล่นเช็ง”

 

แต่ส่วนมากไม่ได้เน้นเดิมพันแพ้-ชนะอย่างเดียวเหมือนยุคเมื่อสี่สิบปีก่อน แต่เล่นสนุ้กกา หรือเรียกว่าไฟฟ้า ตบลูกสีไหนได้กี่กา บันทึกไว้ พอจบเกมก็มาหักลบและคิดสตางค์กัน คนถือหางนอกกี่เช็งก็เอาจำนวนเช็งไปคูณกับที่เขาได้เสียกันในเกมนั้น

ในเกมเสีย ๔๐๐ บาท ถือหางนอก ๓ เช็ง ก็เท่ากับ ๑,๒๐๐ บาท

หันกลับมาดูการต่อให้คู่ต่อสู้ ซึ่งไม่ใช่ต่อกันได้แค่แต้มดังเล่าแล้วเท่านั้น ยังมีการต่อให้ผู้ที่มีฝีมืออ่อนกว่าอีกหลายอย่าง

เรียกว่าคนต่อสรรหามาต่อ ตื๊อจนกว่าคนอื่นเขาจะยอมเล่นด้วย

ต่อจนกระทั่งคนต่อถูกกินเรียบนั่นแหละ จึงเข้าทำนอง “บ่ายๆ เล่นให้เขาดู เย็นๆ นั่งดูเขาเล่น” เพราะเสียจนหมดกระเป๋า

เซียนหรือมือดีประจำโต๊ะต่างๆ ชอบต่อให้นักสนุกเกอร์ที่ฝีมืออ่อนกว่า อย่างเช่น

ต่อให้ไม่มีการวางสนุ้ก หรือเปิดสนุ้ก คือทั้งเกมคนต่อไม่มีการวางสนุ้ก หากลูกวิ่งไปเข้าสนุ้กเองต้องเปิดให้ คือเขี่ยลูกที่บังให้พ้นทาง การต่อแบบนี้ คู่ต่อสู้ที่แก้สนุ้กไม่เก่ง แบบที่เรียกว่า “ท้องเปราะ” มักจะชอบ เพราะแก้สนุ้กผิดที เสียตั้ง ๗ แต้ม

ต่อแทงมือเดียวก็มี ใช้มือที่ถนัดจับด้ามคิวแทง มืออีกข้างบังคับให้ไขว้หลังเสียอีก หากลูกขาวไม่ไกลชิ่ง ก็ใช้คิวพาดชิ่งได้ หากกลางโต๊ะก็ต้อง “ป้ง” ที่หมายถึงใช้มือจับด้ามคิวลอยเล็งกลางอากาศ แล้วก็กระทุ้งลูกขาว

แบบนี้ หากไม่ถนัด ไม่ชำนาญ ก็จะบังคับทิศทางยาก ยิ่งลูกสกรู ลูกไซด์ จะทำลำบาก

ต่อแทงไขว้หลังก็มีนะครับ

เอามือที่จับด้ามคิวพาดไปข้างหลัง สอดใต้แขนอีกข้างหนึ่งที่วางมือบนสักหลาด ซอยๆ เล็งๆ แล้วก็ปล่อยคิวเหมือนแทงตามปกติ

กว่าจะหมดเกม เล่นเอาเซียนผู้ต่อยอกหลังเอาเลย

การต่อแบบนี้ ต้นตำรับที่แทงเก่งมาก และแทงไขว้หลังเหมือนคนอื่นแทงแบบธรรมดา คือ “ลุงปั้น” เคยเห็นเล่นที่โต๊ะไต้ฮวด แถวเฉลิมกรุงบ่อยๆ

ลุงปั้น แกไม่ธรรมดานะครับ เคยเดินสายเล่นไปทั่วกรุงเทพฯ ด้วย

ต่อแบบพิลึกพิเรนทร์กว่านี้ก็มีอีก ต่อใช้คิวยาว คิวยาวที่ใช้กับเรสต์ยาวนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะใกล้จะไกลใช้คิวยาวแทงหมด ห้ามใช้เรสต์ยาว

แทงทีเดียวหยุด ก็ต่อให้กันได้

 

คนต่อจะต้องไม่มีแทงต่อเนื่องช็อตต่อไป แทงทีเดียว ลงหรือไม่ลงก็ห้ามแทงต่อ คู่ต่อสู้เบรกได้ตามปกติ ต่อแบบนี้ บางทีคนต่อก็เผลอไผล ไปวางลูกขาวให้คู่ต่อสู้เสียนี่

ต่อให้คู่ต่อสู้แทงสองทีหรือสามที

คือให้คนที่ฝีมือด้อยกว่า แทงติดต่อกันได้สองครั้ง หรือสามครั้งแล้วแต่ต่อรองกันก่อน ผู้ที่ได้รับการต่ออาจแทงทีแรกไล่ลูกให้ไปอยู่ปากหลุม ไม้ต่อไปก็ตบลงง่ายๆ แล้วก็ต่อเบรกไปตามปกติ

ต่อจนไม่รู้จะต่อยังไง ต่อให้ปิดลูกกะตาข้างหนึ่งก็มี บางทีก็ต่อแต้มให้ไม่พอ ต่อให้คู่ต่อสู้เลือกคิวในราวมาให้แทงก็มี

แน่นอน ต้องเป็นคิวที่ห่วยที่สุดในโต๊ะ หัวโต หัวคิวแข็ง หนักกว่าปกติ ปลายคิวไม่เรียว แถมคดอีกตะหาก เวลาสาวก็ฝืด เพราะถูกเสียบตั้งอยู่ในราวชั่วนาตาปี ไม่มีใครใช้เอามาเล่น ผู้ถูกต่อก็รอบคอบ หรือเขี้ยวพอสมควร

ตกลงกันก่อนเล่นอีกว่า ห้ามเอาชอล์กมาทา ห้ามใช้แป้ง

เซียนที่ต่อสาวคิวแต่ละช็อต เล่นเอาหนังมือที่พาดคิวถูกสีแทบไหม้ แล้วจะมีมู้ด มีสมาธิ และมีความแม่นยำ ได้ยังไง

นี่คือการต่อให้กันในการเล่นสนุกเกอร์ในยุคก่อนๆ

คนต่ออยากเล่น คู่ต่อสู้ก็อยากลอง คนต่อชนะ ก็ต่อให้พิสดารขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อจนกระทั่งแพ้ ไม่ต่อก็ไม่มีใครจะเล่นด้วย

เซียนประเภทนี้ หรือมือดีประจำโต๊ะจำพวกนี้ หาคู่เล่นได้ไม่ยาก เพราะต่อให้อย่างเย้ายวนใจ จึงสามารถจับจองโต๊ะเล่นได้แต่หัววันก่อนใครอื่น

แต่เล่นได้ไม่กี่เกมไม่กี่ชั่วโมง ก็แพ้เสียเดิมพันจนหมดกระเป๋า แทบทุกครั้ง

บ่ายๆ จึงเล่นให้เขาดู พอตกเย็นต้องนั่งดูเขาเล่น

ไม่รู้ว่านักสนุกเกอร์ยุคนี้ ยังมีแบบนี้ไหมครับ

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 412)