บรรยากาศสนุกเกอร์รุ่นลุง

22 ต.ค. 61

จะว่าเป็นบรรยากาศ “รุ่นน้า” ให้ดูว่ายังผ่านไปไม่นาน และยังร่วมสมัยกันอยู่ ก็ว่าได้ไม่สนิทปาก เพราะหากเป็น “รุ่นน้า” ในตอนนี้ยังมีโลดแล่นอยู่ในวงการหลายคนอยู่ แถมยังเป็นนักสนุกเกอร์ที่ฝีมือรุ่นหลังยังวัดรอยเท้าไม่ได้ง่าย ก็มี อาทิ รมย์ สุรินทร์ ต่าย พิจิตร หนู ดาวดึงส์ ตัวเล็ก สำโรง

เมื่อใช้เวอร์ชั่นว่า “รุ่นลุง” ก็ประมาณการเอาว่าเป็นในยุคก่อนซิกตี้แล้วกัน การนับยุคนั้นเป็นของฝรั่ง แต่เราเอามาใช้จนกลายเป็นศัพท์แสงร่วมกัน การเรียกชื่อยุคเป็นตัวเลขนั้น ขออธิบายอีกทีก็แล้วกัน จะเอาตัวเลขสองตัวหลังของปี ค.ศ. มาใช้แบ่งสมัยกัน ช่วงหนึ่งก็ ๑๐ ปี อย่างเช่น ปี ค.ศ. ๑๙๖๒ เรียกว่ายุค ๖๐ หรือยุคซิกตี้ หากเป็น ค.ศ. ๑๙๘๓ ก็เรียกว่ายุค ๘๐ หรือยุคเอจตี้

จะเน้นให้แคบลงว่าเป็นต้นยุคหรือปลายยุค ก็ยึดครึ่งหนึ่งของเวลาโดยเอา ๕ เป็นตัวกึ่งกลาง ส่วนจะแปลง พ.ศ. ให้ตรงกับ ค.ศ. ให้เอา ๕๔๓ มาลบจากปี พ.ศ. ก็เป็น ปี ค.ศ. นั้น เช่น พ.ศ. ๒๕๐๐ เอา ๕๔๓ ลบออก ก็เท่ากับปี ค.ศ. ๑๙๕๗ หรือยุค ๕๐ หรือยุคฟิฟตี้ หรือปลายยุคฟิฟตี้ ดังนั้น เมื่อจับเอาเรื่องราวบรรยากาศในแวดวงสนุกเกอร์ “รุ่นลุง” เอาเป็นยุคก่อนซิกตี้ ก็หมายถึงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๓ หรือก่อน ปี ค.ศ. ๑๙๖๐

ทีนี้ ก็จินตนาการย้อนไปถึงบรรยากาศในตอนนั้นได้ หลายคนอาจยังไม่เกิด หลายคนอาจยังเป็นเด็ก หรือเพิ่งหนุ่ม ที่พอจะเห็นภาพทรงจำเก่า ๆ ได้ชัดเจน หรือเลือนรางก็แล้วแต่วัยของท่านในตอนนี้

ยุค “คุณลุง” นั้น พื้นสักหลาดสีเขียวของโต๊ะสนุกเกอร์ จะมีรอยขาวเป็นหย่อม ๆ ไปทั่วผืนสักหลาด เพราะการจดแต้มนั้นยังใช้กระดานดำ และใช้ชอล์คเขียน ดังนั้น ชอล์คจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญหนึ่งของการเล่นสนุกเกอร์ นอกจากใช้เขียนแต้มแล้ว ยังใช้แทนการหล่อลื่น คิวที่ฝืด ๆ สาวไม่ค่อยลื่น นักสนุกเกอร์ยุคนั้น ก็เอาชอล์คมาขูดตามลำคิว พอวางมือสาวแล้วปลายคิวก็สีกับร่องมือ ทำให้คล่องขึ้นมาก บางคนก็เล่นไปกวาดผงชอล์คจากกระดานจดแต้ม แล้วกำเอามารูดปลายคิว

บางแห่งมีระดับหน่อย ก็มีถุงผ้าใส่แป้งมัน ให้นักสนุกเกอร์เอามือไปตบ ๆ พอให้แป้งมันฟุ้งออกมาตามมือแล้วรูดปลายคิว ก็ช่วยให้ลื่นไม่ฝืด แต่จะเป็นผงจากชอล์ค หรือแป้งมัน มันก็ติดไม้ติดมือ เวลานักสนุกเกอร์วางมือกับสักหลาด มันก็ขาวโพลนไปตรงนั้น จบเกมทีก็มีสีขาวเปื้อนบนสักหลาดไปหลายแห่ง ตามชิ่งก็มี หลายคนเวลาแก้สนุ้กมักชอบไปยืนเล็งดูชิ่ง ว่าน่าจะแทงไปตรงไหน เพื่อไม่ให้พลาด ก็เอาชอล์คไปขีดตรงชิ่งไว้ เวลาก้มลงไปสาวคิว จะได้มองเห็นเป้าหมาย ไม่หลอกสายตา

ไม้คิวสมัยรุ่นคุณลุงก็ไม่เหมือนกับไม้คิวยุคนี้ ตามโต๊ะตลาดจะมี คิวราว” คือคิวธรรมดาตั้งไว้เป็นราว หรือเป็นแถวหน้ากระดาน ให้นักสนุกเกอร์เลือกตามถนัด น้ำหนักก็ ๑๖ ครึ่งจะมาตรฐาน แต่บางคนชอบแค่ ๑๖ หลายคนชอบ ๑๗ ว่ามันหนักดี แถมลำคิวหรือปลายคิวก็ต่างกัน มีอ้วน มีเรียว แล้วแต่ใครจะชอบอย่างไหน หัวคิวก็มาตรฐานเท่ากันหมด เพราะเจ้าของโต๊ะสนุกเกอร์เขาจะใช้หัวคิวแบบเดียวกันติดไม้คิวทุกอัน

นักสนุกเกอร์มีระดับหน่อย หรือมีฝีมือเข้าขั้นมือดี เกรดแถวหน้าของที่แห่งนั้น ก็อาจมีคิวเป็นของตัวเอง อาจหาซื้อเองเป็นสมบัติส่วนตัว หรือเจ้าของโต๊ะจัดหาให้ แล้วใส่กระบอกอลูมิเนียมแขวนไว้ที่ผนัง มีกุญแจล็อก มันดูดีชะมัด หากใครมีคิวส่วนตัว บางทีมีชื่อติดไว้ด้วย ใครต่อใครที่เข้าไปเล่น หรือไปนั่งดู ก็ชอบเดินไปดูกระบอกไม้คิวของนักสนุกเกอร์มือดี เห็นชื่อก็อัปเกรดได้เลยว่า เป็น เซียน” ประจำโต๊ะสนุกเกอร์แห่งนั้น

แต่มีไม่น้อยรายเหมือนกัน ที่ฝีมืออาจไม่ขั้นเซียน แต่มีสตางค์และชอบเล่นกับมือดี ๆ พยายามทำตัวให้คนอื่นมองดูเหมือนมีคลาส ก็มีคิวส่วนตัวใส่กระบอกเหมือนกัน คิวที่ใส่ในกระบอกเหล่านี้ จะเป็นคิวที่มีราคาแพงกว่าคิวราว ซึ่งคิวราวเป็นคิวที่ให้มากับโต๊ะ ว่ากันว่าเป็นคิวที่คนไทยทำ ส่วนคิวใส่กระบอกเป็นคิวนอก ที่ด้ามมีลวดลายสีสัน เป็นแฉก เป็นลวดลาย ส่วนปลายด้ามคิวมีแผ่นพลาสติกหรือแผ่นโลหะติดยี่ห้อเป็นภาษาอังกฤษ มองดูก็รู้ว่าเป็นคิวนอก ราคาแพงกว่าคิวทั่วไป และนักสนุกเกอร์ธรรมดาไม่อาจเป็นเจ้าของ นอกจากนักสนุกเกอร์มีระดับเท่านั้น

นักสนุกเกอร์ระดับเซียนประจำโต๊ะนั้น จะเป็นผู้ที่มีฝีมือแม่นยำกว่าคนอื่นแล้ว ยังต้องมีสมองอันล้ำลึก มีการวางแผนการเล่นที่เหนือชั้น มีจังหวะ มีชั้นมีเชิง หาใช่อาศัยความแม่นเบรกทีเดียวหมดโต๊ะแบบนักสนุกเกอร์ยุคนี้ไม่ ยุคคุณลุงนั้น เวลาดวลคิวปะทะกันตัวต่อตัว มักจะเล่นแบบล้มเดิมพัน ใครชนะเกมนั้นก็รับเงินตามที่ตกลงกันไป หากเล่นแบบสนุกเกอร์ไฟฟ้าในยุคนี้ ส่วนใหญ่จะเล่นหมู่ คือเล่นกันหลายคน แบบนั้นใช้ความแม่นยำใส่กัน

เมื่อนักสนุกเกอร์ยุคลุง ชอบเล่นเดิมพัน ความสำคัญคือแต้ม การจะทำแต้มได้ง่าย ก็คือการวางสนุ้ก คู่ต่อสู้แก้สนุ้กไม่ได้ ก็จะเสียแต้มให้ ๗ แต้ม เกมหนึ่ง ๆ วางสัก ๕-๖ ครั้ง หากคู่ต่อสู้แก้สนุ้กไม่เก่ง แบบที่เรียกว่า “เปราะท้อง” เกมหนึ่งเสียแต้มให้คู่ต่อสู้หรือสามสี่สนุ้ก ยี่สิบกว่าแต้ม เท่ากับต้องตบทำแต้มคืนหลายชุดทีเดียว

นักสนุกเกอร์ยุคนั้น จึงถนัดหรือเก่งแตกต่างกันไป มีลีลาเฉพาะตัว อาทิ บางคนถนัดดับเบิ้ลชิ่ง บางคนถนัดวางสนุ้ก บางคนถนัดฉากหนี บางคนถนัดสกรูถอยหลัง บางคนถนัดไซด์โค้ง บางคนถนัดเช็ดลูกบาง ๆ หลายคนถนัดตบลูกสั้น หลายคนถนัดการวางลูกขาว

ซึ่งคู่เล่นแต่ละคนต่างก็รู้จุดอ่อนจุดแข็งกัน วางหมากวิธีการเล่นกัน ที่เรียกว่าต้อง “แก้เกม” จะเห็นว่าลีลาการเล่น และมีฝีมือมีความถนัดต่างกับนักสนุกเกอร์ยุคนี้มาก ที่จะต้องมีความแม่นยำเป็นพื้นฐาน แต้มถูกนำไปเท่าไรไม่สำคัญหากยังไม่ขาดลอย พอเข้าเบรกได้ไม้เดียวก็กวาดหมดโต๊ะ เอาชนะกันไปได้ในแค่ไม้เดียว นักสนุกเกอร์รุ่นลุง จึงเก่งในด้านชั้นเชิง การวางสนุ้ก การกัน การรอจังหวะ ถึงมีความแม่นยำแต่ไม่ชอบแทงเบรกยาวมาก แทงไปสามชุด เจอลูกที่ไม่แน่ใจนัก ก็แทงกัน หรือฉากหนีไปก่อน แล้วรอสอยในไม้หลัง เวลาคู่ต่อสู้พลาด

บรรยากาศสนุกเกอร์ที่ยุคนี้ไม่มี ก็คือในยุคคุณลุงนั้น โดยเฉพาะตามโต๊ะสนุกเกอร์ในต่างจังหวัด กำลังเล่นกันไป อาจมีคุณป้าคุณน้ามายืนถลกผ้าถุง ตะโกนตามผัวกลับบ้านกลับช่องไปกินข้าวกินปลา บางรายการเดิมพันกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม คุณป้าคุณน้าก็ตรงเข้าไปเอามือกวาดลูกบนโต๊ะกระเด็นกระดอน จนต้องยกเลิกไปโดยปริยาย บางรายเผลอกำลังก้มสาวคิว ถูกเมียแอบเอาไม้เรสต์ตีหัวก็มี หนักขึ้นตามกลับบ้านถึงเที่ยวที่สอง ก็ถูกลูกสนุกเกอร์ขว้าง หรือเอาที่โกยขยะฟาดหัว ก็เคยเห็น

 

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 431)