ภาษาตามประสานักสนุกเกอร์

19 พ.ย. 61

ในแต่ละวงการต่างก็มีภาษาที่ใช้เฉพาะในแวดวงเดียวกัน เป็นการสื่อสารที่เข้าใจความหมายตรงกัน อาจเกิดจากอารมณ์ขันบ้าง การเลียนสภาพบ้าง ประชดประชันบ้าง ให้สะใจบ้าง เช่น ภาษาวงการมวย ภาษาวงการการกีฬา ภาษาวงการนักเลง ภาษาวงการนักเที่ยว ภาษาวงการนักวิชาการ ภาษาวงการการเมือง ฯลฯ สารพัดที่ทุกวงการจะต้องมีศัพท์แสงบางคำใช้ในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

วงการสนุกเกอร์มีภาษาใช้หลายคำ บางคำหรือบางวลี หรือบางประโยคก็ไปซ้ำซ้อนกับวงการอื่นก็มี ไม่รู้ว่าใครเอาของใครไปใช้ เพราะคนในวงการสนุกเกอร์ ก็มาจากหลากหลายวงการ และมีแทบทุกวิชาชีพ

อย่างเช่น “เปราะท้อง” อันนี้ในวงการสนุกเกอร์ก็มีใช้ สื่อไปถึงนักสนุกเกอร์ที่จุดอ่อน แก้สนุ้กไม่เก่ง คำนี้เอามาจากภาษามวยแน่ชัด เพราะการชกมวยนั้น มีกลเม็ดในการตุ๊ยท้อง เอาเข่ากระทุ้งท้องคู่ชก หากรู้ว่าท้องเปราะ

ภาษามวยมีคำว่า “ติ๊ดชิ่ง” หมายถึงทำคะแนนนำไปเยอะ ยกท้ายก็หลบเลี่ยง ไม่ปะทะด้วย กลัวจะพลาดไปถูกนับ ภาษาสนุกเกอร์ใช้คำว่า “ชิ่ง” ในลักษณะการแทงกัน หรือฉากหนีเอาลูกขาวลงไปอยู่ไกลจากลูกสี

“น้ำหนักมือช่างทอง” นี่เอามาเปรียบกับนักสนุกเกอร์ที่น้ำหนักการปล่อยคิวเชื่อถือได้ ว่าจะให้ลูกวิ่งไปอยู่ตรงไหน แค่ไหน

ที่เอาภาษาการพนันมาใช้ก็มี “ไฮโลว์” หมายถึงตั้งใจจะวางสนุ้กเอาลูกข้างไปบังหลังลูกหนึ่ง แต่น้ำหนักอาจเบาหรือแรงเกินไป กลับมีช่องทางแทงให้ผ่านระหว่างสองลูกที่ตั้งใจเอาบังไว้

ในวงการนักเลง หากใครถูกนับถือว่าเป็น “ขาใหญ่” ก็แสดงว่าต้องเป็นที่เกรงอกเกรงใจต่อผู้คน ขาใหญ่ในวงการสนุกเกอร์ อาจไม่ใช่เป็นนักสนุกเกอร์ฝีมือดี หรือนักเลงก็ได้ หากเป็นผู้ที่นักสนุกเกอร์ในที่นั่นยอมรับนับถือว่าเป็นผู้ใหญ่

คำว่านักสนุกเกอร์ “ใจดี” ก็ไม่ใช่เป็นคนอ่อนโยน มีเมตตา และชอบให้สตางค์เพื่อนฝูงยืม หรือชอบทิปมาร์คกี้ หาก “ใจดี” หมายถึงหัวใจเต็มร้อย ห้าวหาญ จับคิวเล่นเดิมพันไม่มีสั่นไหว ใจสู้นั่นเอง

พวกอาจารย์ก็เยอะ สมัยก่อนไม่มีการสอนเล่นสนุกเกอร์เป็นกิจจะลักษณะ จะเรียกพวกเซียนข้างโต๊ะว่า “อาจารย์” เวลามีการจับคู่เล่นเดิมพันกัน พวกนี้จะชอบสอนอยู่ข้างโต๊ะ กระซิบให้ตีกันบ้าง ตบสู้บ้าง บางทีก็บอกชิ่งให้แก้สนุ้ก คู่เล่นฝ่ายตรงข้ามมักรำคาญ บางทีก็ถือว่าเอาเปรียบกัน ก่อนจับคิวก็กำหนดกติกาว่า ห้ามสอน หากใครถูกสอนใครถูกบอกจะถูกหักแต้ม ๗ แต้ม หรือหากแต้มนำอยู่ ก็ล้มกระดานไปเลย

ที่ดูเหมือนเป็นคำที่ไม่ค่อยสุภาพเลย แต่ตามโต๊ะตลาดในยุคซิกตี้ถือว่าเป็นคำพื้น ๆ ธรรมดา ก็คือ “อีตัว” ที่ฝรั่งเรียกว่า Cue ball หรือลูกขาว ตอนใครเป็นฝ่ายแทง ลูกขาวก็เหมือนเป็นมือไม้ของเขา ที่ตั้งใจจะให้วิ่งไปไหนบนโต๊ะ จะหยุดตรงไหน หรือจะไปกระทบโดนลูกใด โดนหนาโดนบางเพียงใด เรียกว่า ใช้ได้สั่งได้วานได้

แบบนี้กระมัง ที่ทำได้ตามสั่ง ไม่รู้ใครเป็นคนบัญญัติเป็นคนแรกที่ไปเรียกว่า “อีตัว” อาจเลียนแบบการละเล่นของเด็กไทย ที่เล่นหมากกระโดด ขีดเส้นเป็นช่วงบนพื้น แต่ละคนมีแผ่นกระเบื้องตัดเป็นสี่เหลี่ยม หรือวงกลมเล็ก ๆ หรือใช้ฝาเบียร์ โยนไปให้ตกช่อง อย่าไปคาบเส้น แล้วเจ้าตัวก็กระเถก หมายถึงกระโดดขาเดียว ข้ามเส้นไปก้มหยิบแผ่นกระเบื้อง แล้วหันกระเถกกลับ แล้วก็โยนไปใหม่ให้ลงในช่องที่สูงกว่าเก่า แล้วก็กระเถกแบบเดิม หากโยนไปทับเส้น หรือกระเถกแล้วเสียหลักล้มลง ถือว่าฟาวล์ คนอื่นก็มาเล่นต่อแทน

แผ่นกระเบื้องหรือฝาเบียร์ของใครของมันต่างก็เรียกว่า “อีตัว”

ภาษาร้านขายของชำก็มีเอามาใช้ “เชื่อขนมกินได้” ใช้กับคนที่มีฝีมือสนุกเกอร์ล้ำเลิศ หรือถนัดอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น บางคนถนัดแก้ชิ่ง บางคนถนัดแทงดับเบิ้ลชิ่ง คนดูข้างโต๊ะมักจะชมว่า ลูกแบบนี้เชื่อขนมกินได้เลย

การเล่นสนุกเกอร์นั้นเป็นการใช้ชั้นเชิง ประกอบฝีมือ ทั้งอาศัยหัวใจ บางทีเดิมพันมาก ๆ หรือบางไม้กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มตัดสินแพ้ชนะได้เลย มือไม้กลับสั่นปล่อยคิวผิดเหลี่ยมผิดคูไปเลย ต่อให้มีเงินแค่ไหนก็ไม่เกี่ยว มันขึ้นอยู่กับหัวใจของนักสนุกเกอร์คนนั้น ว่าจะเป็นคน “ขี้ปอด” หรือใจสู้

หลายคนใจร้อนมาเจอคู่ต่อสู้รู้ทัน พยายามกันไปกันมา ให้คู่ต่อสู้รุ่มร้อน กระทั่งถึงไม้พอจะเสี่ยงได้ ก็ยังไม่สู้กลับฉากลูกขาวหนีอีก แบบนี้เรียกว่า “ใจเย็นเป็นน้ำแข็ง”

นักสนุกเกอร์มือดีที่สามารถออกคิวได้ครบเครื่อง ไม่ว่าจะไซด์โค้ง สกรู ฟอลโลว์ สตัน อีกทั้งกะน้ำหนักให้ลูกไปวิ่งหยุดตรงที่ใดได้ ยิ่งตอนเข้าไม้เบรก จะดึงลูกขาวถอยหลัง หรือปล่อยให้ลูกขาวกระทบชิ่ง หรือหยุดลูกขาวอยู่กับที่ ทำให้เล่นไม้ต่อไปง่ายขึ้น ทำได้เหมือนดังใจคิด

นักสนุกเกอร์ที่เห็นฝีมือ จะอุทานว่า “เหมือนลูกขาวมีชีวิต”

นักสนุกเกอร์ที่แก้สนุ้กได้เก่ง ตามโต๊ะตลาดมักชอบโชว์แก้สองชิ่งสามชิ่ง ให้คนดูฮือฮา และยกนิ้วให้ว่า “เหมือนชิ่งอยู่ในกระเป๋า”

นักสนุกเกอร์ประเภทที่ไม่ใช่ประเภท ไฟเตอร์ หรือไม่ตบหรือบุกแหลก เป็นเหมือนนักมวยสากลประเภท บ็อกเซอร์ ที่ชอบเต้นฟุตเวิร์คหลอกล่อ แล้วก็ออกหมัดแย็ปรบกวนคู่ต่อสู้ พอคู่ต่อสู้เผลอก็เข้าถลุงสามสี่หมัด ก็ถอยฉากออกมา

นักสนุกเกอร์ประเภทนี้ ไม่ค่อยมีใครชอบเล่นด้วย คนดูก็ไม่ชอบ เพราะชักช้า น่าเบื่อหน่าย แต่ภาษาสนุกเกอร์ว่า “เหนียว” ไม่ใช่ขี้เหนียว หรือหนังเหนียว แต่หมายถึงเหนียวแน่น รัดกุม ไม่เสี่ยงไม่แลก ในวงการสนุกเกอร์มีคำหยอกเย้าหรือคำขู่หรือคำเตือน “เดี๋ยวก็โดนด้ามคิว”

“ปิดเกม” ก็เป็นภาษาในวงการสนุกเกอร์

 

อ๊อด  หัวหิน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 432)