ขุดกรุเซียนดังในอดีต "ลีลาพญาเซียนเดินสาย"

13 ก.พ. 62

พูดถึงเรื่องการพลิกแพลง  ดัดแปลงแก้ไขนี่ คนไทยเก่งที่สุด โดยเฉพาะถ้ามีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนิดๆด้วยแล้ว คนไทยเราถนัดมากในเรื่องที่จะหาเกมการพนันขันต่อแปลกๆ

ไพ่ป๊อกเพียง 52 ใบ คนไทยก้แตกแขนงออกเป็นไพ่อะไรต่อมิอะไรสารพัด ตั้งแต่ไพ่รัมมี่ ไพ่ยี่อิด หรือแบล็คแจ็คที่ฝรั่งรู้จักกันดีคนไทยยังดัดแปลงเอาไพ่ป็อกทั้ง 52 ใบมาตั้งกฎเกณฑ์และวิธีเล่นเสียใหม่ กลายมาเป็นไพ่ผสมสิบ ไพ่โกย ไพ่ม๊าเก๊า ไพ่ป๊อกเด้ง และไพ่อื่นๆ อีกหลายขนาน

 

เรื่องนี้ฝรั่งแพ้ไทยหลุดลุ่ย แม้กระทั่งในเรื่องของ “บิลเลียด”

ฝรั่งในยุคสมัยนี้นิยม “สนุกเกอร์” และ “พูล” ส่วนบิลเลียดนั้นหมายถึง “สามลูก” ชักจะหมดความนิยมลงไป

แต่คนไทยได้ดังแปลกกติกาการเล่นบิลเลียดเสียใหม่ ให้เพิ่มความตื่นเต้น และใช้สมองให้มากขึ้น จึงมี “ผี” เกิดขึ้นในวงการสนุกเกอร์และบิลเลียดของเมืองไทย

มีเหมือนกัน แต่เกิดคนไทยเองเล่นในหมู่คนไทยด้วยกัน มันไม่ห้ามและไม่ผิดกติกาอันใด ค่าเกมที่เมืองนอกเขาคิดเป็นชั่วโมง โดยใช้เหรียญหยอดใส่แล้วไฟก็เปิดและปิดลงเมื่อหมดเวลา

ฉะนั้นเราจะเล่นอะไรก็เรื่องของเรา ขอให้มีเงินหยอดเหรียญเป็นพอ

ฝรั่งมันเคยมานั่งดูคนไทยเล่นแล้วเกิดความสงสัย ถามไถ่ว่ามันคืออะไร มีกติกาอย่างไรพวกเราก็อธิบายให้มันฟัง และบอกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Ghost” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผี”

มันก็ทำหน้างุนงงมีชื่อของเกมการเล่นนี้มันช่างแปลกพิกล แต่พอพวกเราให้มันคอยนั่งสังเกตดูสัก 4 - 5 เกมและอธิบายในไปทุกขั้นตอน มันก็ร้องว่า “I see, I see” แปลเป็นไทยว่า “รู้แล้ว”

แถมท้ายมันยังบอกว่า ไม่น่าจะใช่ชื่อว่า “Ghost” น่าจะเปลี่ยนเป็น “Dracula” (แดรกคูลา)

นี่แหละหัวคิดของคนไทย ที่มีความคิดพิเรนทร์ๆ และพิลึกดีจัง และอยากจะรู้เสียจริงว่า ใครเป็นคนแรกที่คิดเกมเล่น “ผี” ขึ้นมา ใครพอจะรู้เบาะแส ที่มาที่ไป น่าจะเล่าสู่ให้กันฟังใน “คิวทอง” เพื่อเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้จดจำกันไว้บ้าง คงจะดีไม่น้อย

แต่ตำราในวงการสนุกเกอร์ ที่รู้จักคิดค้นหาวิธีการเล่นที่แปลกพิศดารออกไปน่าที่จะเล่าสู่ให้กันฟัง ก็มีมากอย่างเช่น เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

เป็นลูกเล่นและ “ลีลา” ของเซียนดังในอดีต ที่ได้วาดลวดลายบนพื้นสักหลาดเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้จวบจนในยุคสมัยนี้ ชีวิตของเขายังเวียนวนในแวดวงนี้ ถึงแม้ว่าฝีมือจะลดถอยลงไปตามสังขารและวันวาระที่ผ่านมา

สมัยแรกสุดของวงการบิลเลียดนั้น ผู้คนนิยมการเล่น “บิลเลียด”  หรือสามลูกกันมาก ต่อๆมาความนิยมสามลูกนี้ค่อยๆหมดไป หันมาสนใจและฝึกฝนการเล่น “สนุกเกอร์” กันมากขึ้น

ฉะนั้นเมื่อย้อนหลังไปยี่สิบถึงสามสิบปี ฝีมือของคนที่อยู่ในระดับเรียกว่า “เซียน” จึงเป็นผู้ที่เก่งทั้งทางด้านบิลเลียด (สามลูก) และสนุกเกอร์ควบคู่กันไป

ผิดแผกกับเซียนรุ่นใหม่ๆ ในสมัยนี้ จะมีความสันทัดในด้านสนุกเกอร์เพียงอย่างเดียว

และในการเดินสายต่างจังหวัดก็จะมีการท้าทายกันทั้งในเชิงบิลเลียดและสนุกเกอร์ และบางทีก็มี “ผี” พ่วงท้ายตามมา

แต่มีเกมการเล่นที่ประหลาดอยู่เกมหนึ่ง เป็นการเล่น “บิลเลียด”

โดยมีลูกเพียง 3 ลูก ลูกหนึ่งเป็น “แดง” อีกสองลูกเป็น “ขาว” เป็นอีตัวของแต่ละคนที่ต่อสู้กัน

ลีลาของเซียนเก่าที่จะเล่าขานนี้ ก็ใช้การเล่น “บิลเลียด” เป็นเกมเอกในฝีมือของตน ส่วนสนุกเกอร์นั่นรองลงมา

ในวันแรกและวันหลังๆที่เขาได้เดินสายและหาคู่ปะทะจนรู้เชิงและยอมรับในฝีมือกันแล้ว เขาก็จะใช้ “ลูกเล่น” ชนิดใหม่ที่เขาได้ฝึกฝนมาจนชำนิชำนาญ

ในการเล่นบิลเลียด เขาจะต่อคู่ต่อสู้โดย “เบรค 100 แต้ม” หมายถึงว่า ในไม้หนึ่งๆ หากได้ไม่ถึง 100 แต้ม ก็ไม่ต้องใส่แต้มลงไป เว้นเสียแต่ เบรคได้ตั้งแต่ 100 แต้มขึ้นไปถึงจะได้แต้มไม้นั้น นี่คือความหมายของคำว่า “ต่อเบรค 100 แต้ม”

แต่เขามีข้อต่อรอง หรือข้อแม้ว่า คู่ต่อสู้จะต้องยอมให้เขาใช้ลูกใดลูกหนึ่งในสามลูกนั้นเป็น “อีตัว” แทงก็ได้ แล้วแต่เขาจะเลือกใช้แทงในตอนไหน ไม้ไหน และที่สำคัญที่สุดเขาสามารถใช้ “แทงไม้ยาว” ได้โดยไม่ต้องฟาล์ว ส่วนคู่ต่อสู้ของเขาก็แทงและใช้กติกาตามปกติ และใครได้ครบ 150 แต้มก่อนเป็นผู้ชนะ

 

เมื่อเขาท้าใหม่ๆ ก็มีคนลังเลไม่กล้าที่จะลองด้วย ด้วยที่ถือภาษิตของวงการบิลเลียดว่า “ลูกเล่นใดๆที่คู่ต่อสู้เขาท้าทายมา อย่าได้ตอบรับ เพราะถ้าเขาท้ามาแสดงเขาต้องทำได้”

ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ที่ต้องการลองดี การประลองจึงเกิดขึ้นทุกบ่อยครั้งในเกมการเล่นที่แปลกๆ เช่น นี้ไม่ว่า เขาจะเดินสยไปเล่นที่ใด เกมแรกๆจะดูเหมือนว่าเขา จะเบรคได้ไม่เกิน 30 แต้ม และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คู่ต่อสู้แบบไม่มีทางสู้ แต่พอมาถึงเกมท้ายๆ ที่เดิมพันจะทวีสูงขึ้นไป เพราะคนนอกเล็งเห็นแล้วว่า เซียนแปลกหน้าที่มาท้าทายและต่อเบรค 100 ผู้นี้ไม่มีวี่แววที่จะสามารถทำแต้มให้ได้ครบ 100 สักไม้เดียว

เมื่อเดิมพันได้สูงขึ้นไปถึงราคาตามที่ต้องการ เขาก็จะใช้ลีลาและลูกเล่นที่ฝึกฝนมาโดยเฉพาะในเกมการเล่นแบบนี้ เบรคได้แต้มเกมไปก่อนทันที

และดูเหมือนว่า คู่ต่อสู้พ่ายแพ้นั้น ยังข้องใจว่า เขาจะทำได้อีกหรือจึงต้องเกิดการต่อสู้อีกเป็นเกมที่สอง และเขาก็สามารถทำเบรคได้อีก

ลีลาการเล่นแบบนี้ เขาสามารถจะใช้ได้เพียง 2 เกมเท่านั้น เกมแรกคู่ต่อสู้ยังไม่แน่ใจนัก ส่วนเกมที่สองเป็นการพิสูจน์ให้เห็นฝีมืออย่างแท้จริง แต่เพียงแค่สองเกมก้เหลือกินสำหรับเขาแล้ว

เพราะสองเกมสุดท้ายจะเป็นเกมที่มี “เดิมพันสูง” เท่าที่ตัวเขาต้องการ

เขาจะแทงโดยพยายามไล่ลุกทั้งสามลุกให้ไปรวมกัน ภาษาบิลเลียดเรียกว่า “ไล่ลูกไปกองกัน” และเขามีสิทธิ์ที่เลือกแทงใดเป็นอีตัวก็ได้ เมื่อทั้งสามลูกไปกองรวมกัน เขาก็จะแทงแคนนอนไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ทั้งสามลูกแตกออกจากกัน แคนนอนครั้งหนึ่งก็ได้ 2 คะแนน เขาแทงแค่ 75 ครั้งก้เท่ากับเบรคได้ 150 แต้ม

อย่าว่าแต่เขาสามารถเบรคได้ 150 แต้ม หรือแทงแคนนอนติดต่อกัน 75 ครั้งเลย หากเขาไล่ลูกมากองรวมกันได้แล้ว แทงแคนนอนไปเรื่อยๆ อีก 3 เดือนก็ยังไม่หมดไม้เบรค

นี่แหละลูกเล่นและลีลาของเซียนเดินสาย ที่มีลูกเล่นและเกมที่ประหลาดๆ และท้าทายความอยากรู้อยากเห็นทำให้ต้องกระโดดออกมาลองดูสักตั้ง และกว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้วที่เงินในกระเป๋าของตัวเองและพวกพ้องที่กองลงไปเป็นเดิมพันต้องสูงลับไปกับเซียนแปลกหน้าเดินสายคนนั้น

ลูกเล่นเพียงแค่นี้พอจะหากินได้หัวเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่กินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีฝีมือในการเล่นเกมจริงๆกันบ้าง จึงจะครบสูตรเซียนเดินสาย

ที่ใดที่ได้เดินสายไป หากสามารถจะตีสนิทและติดสินบนมาร์คเกอร์ได้ ที่นั่นย่อมหมายถึงเงินทองมานอนรอยู่แล้ว ขอให้ได้มีคู่เล่นเท่านั้นเป็นพอ เขาก็จะเล่นบิลเลียด (สามลูก) ตามกติกาตลาดทั่วไป

การเล่นบิลลียดนั้น จะมีลูกขาวสองลูก ลูกขาวแต่ละลูกเป็นอีตัวของแต่ละคน เรียกว่าอีตัวใครอีตัวมัน มาร์คเกอร์ที่มีหน้าที่ที่คอยใส่แต้ม และล้วงลุกออกจากหลุมกลิ้งมาให้แคนแทงต่อเบรคไปเรื่อยๆนั้น จะหวีผมเรียบใส่น้ำมัน “ไบร์คครีม” ซะมันเยิ้ม

พอคู่ต่อสู้ของเขาแทงกำลังจะเข้าไม้เบรค เปลี่ยนอีตัวลงรูไปนั้นมาร์คเกอร์ก็จะเอามือลูบผมที่เต็มไปด้วยน้ำมัน และเอามือข้างนั้นคว้าลูกอีตัวในหลุมและกลิ้งไปให้คู่ต่อสู้ ก็เป็นอันว่าต้องตัดไมเบรคหรือลูกกระโดดไปเสียฉิบ ทั้งนี้เพราะว่า อีตัวของเขาถูกน้ำมันไบร์คครีมชะโลมเสียจนลื่น

และเขาจะถือโอกาสที่คู่ต่อสู้เพี่ยงพล้ำนี้ ทำแต้มล่วงหน้าไปสุดกู่และไม่ต้องสงสัยหรอกว่า คู่ต่อสู้ของเขาจะแทงเบรคแทงกระโดดกี่ครั้งกี่คราวในเกมหนึ่งๆ แม้จะฝนหัวคิวเสียจนชอล์คแทบจะหมดแท่งก็ตามที

คุณอยากรู้ไหมว่า “เขาคนนี้คือใคร ผมจะบอกให้ทราบเดี๋ยวนี้เองครับว่า เขาคือ นันต์ ลำปาง”

 

ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 ปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2529