“ไอ้ลูกระเบิด” แผลงฤทธิ์ พิชิตแชมป์ 6 แดงโลก
5 ต.ค. 59 |
ศึกสอยคิวรายการใหญ่ในเมืองไทย จบลงท่ามกลางความตื่นเต้น!!! ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “แสงโสม สนุกเกอร์ 6 แดงชิงแชมป์โลก” หรือ “แสงโสม ซิกซ์เรด เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2016” ที่บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นสถานที่ใหม่ใหญ่กว่าเดิม และเสียงตอบรับมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก แม้ว่านัดชิงชนะเลิศปีนี้จะไม่มีคนไทย แต่คนดูยังล้นสนาม!!! ด้วยเกมที่สุดสูสีบี้กันแบบแพ้ชนะได้ในไม้เดียว ก่อนที่สุดท้ายคู่ชิงจะได้ “บิ๊กเนม” เข้ามาล่าท้าแชมป์ เป็นการโคจรมาปะทะกันระหว่าง “ไอ้ลูกหิน” สจ๊วร์ต บิงแฮม แชมป์ 15 แดงโลก ปี 2015 และมือ 2 โลก ดวลกับ “ไอ้ลูกระเบิด” ติง จุ้นฮุย รองแชมป์โลกจากจีน ที่ผ่านมาเจอกันในศึก 15 แดง บิงแฮม เหนือกว่าด้วยการชนะ 10 ติง ชนะ 4 แต่นี่คือศึก 6 แดง นัดชิงดำ ระบบแข่งขัน 8 ใน 15 เฟรม ปรากฏว่า บดกันอย่างสูสี ติง ขึ้นนำ 7-5 ก่อนจะโดน บิงแฮม ไล่ตามตีเสมอเป็น 7-7 เฟรม ทำให้ต้องมาตัดสินในเฟรมที่ 15 เฟรมสุดท้าย บิงแฮม เป็นฝ่ายเปิดและเปิดได้ดี บีบให้ ติง ต้องแทงกันยาก และกันบาง ทำให้แดงจ่อ บิงแฮม ออกมาแทง 24 วางสนุ้กหลังน้ำเงิน ติง แก้แดงไม่โดน ทำให้ บิงแฮม ตบแดงแต่กินชมพูไม่ลง นำ 29-0 หลายคนแซวว่า จังหวะนั้นเหมือนมีพลังงานบางอย่างทำให้ บิงแฮม ตบไม่ลง!!!! จังหวะเลยออกมาให้ ติง ออกมากินชุดน้ำเงิน ก่อนจะแทงเหลือง, เขียว และกินน้ำตาลพร้อมเตะดำออกมาจากมุม ต่อด้วยเช็ดน้ำเงินหลุมกลาง แต่กินชมพูเบาไป ต้องหักคอหลุมกลาง ซึ่ง ติง ทำได้ไม่พลาด พลิกกลับมากำชัยสุดมันส์ 8-7 เฟรม ด้วยสกอร์ 26-34, 57(57)-14, 72(72)-0, 46-0, 0-70(70), 67(67)-0, 25-35, 0-40, 56-0, 56-0, 0-65(65), 52-8, 0-39, 0-49 และ 33-29 ใช้เวลาแข่งขัน 2 ชั่วโมง 35 นาที ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ ติง จุ้นฮุย ครองแชมป์พร้อมเงินรางวัล 2.5 ล้านบาท และมีสถิติที่ดีหลายสถิติ อาทิ.............. เป็นนักกีฬาของทวีปเอเชียคนที่ 2 ที่ได้แชมป์ 6 แดงโลกต่อจาก “เอฟ นครนายก” เทพไชยา อุ่นหนู พร้อมกับครองแชมป์ระดับโลกที่เมืองไทยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยได้แชมป์เวิลด์ทีม คิงส์คัพ ที่เซ็นทรัล เวิลด์ เมื่อปี 2011 ส่วน บิงแฮม รับ 1 ล้านบาท พร้อมกับอกหักในนัดชิงชนะเลิศ 6 แดงเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยได้รองแชมป์เมื่อปี 2008 ยังผลให้แชมป์ 15 แดงโลก และได้แชมป์ 6 แดงโลก ยังมีในบันทึกแค่คนเดียวคือ มาร์ค เซลบี้ ภายหลังเกมจบ น่าสนใจว่า เกม 6 แดงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังจะก้าวต่อไปมากกว่าคำว่า “ชิงแชมป์โลก”
เจสัน เฟอร์กูสัน ประธานสหพันธ์บิลเลียด-สนุกเกอร์โลก หรือ WCBS และประธานสนุกเกอร์อาชีพโลก ที่เดินทางมาชมการดวลคิวครั้งนี้ ชื่นชมการดวลคิว 6 แดงอย่างมาก เพราะมีแฟนสนุกเกอร์เข้าชมเต็มเกือบทุกรอบ, สถานที่แข่งขันก็ยอดเยี่ยมมากๆ อีกทั้งเกมก็เป็นระดับโลกอย่างแท้จริง ยิ่งในนัดชิงชนะเลิศ ยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมอย่างมาก มร.เจสัน บอกว่า เรตติ้งการชมครั้งนี้ที่จีนถือว่าสูงมาก และการแข่งขันก็สนุกทุกรอบ รวมถึงสถานที่แข่งขันที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งตั้งอยู่กลางใจเมือง ทำให้เราดูแล้วน่าจะจัดการแข่งขันที่บีซีซี ฮอลล์ ต่อไป ให้เหมือนกับเป็นที่ประจำอย่างเช่นที่อังกฤษ มีครูซิเบิ้ล เธียเตอร์ ใช้ในการแข่งขัน 15 แดงชิงแชมป์โลก แต่ที่น่าสนใจก็คือ รอบทิศอยากได้รายการไปอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน นั้นพร้อมทุ่มเต็มที่ อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่า เราจะต่อกรและสู้กับเม็ดเงินของพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน กีฬาที่คนไทยเป็นเจ้าของ ยังไงซะการดวลคิวรายการสำคัญที่สุดในแต่ละปีควรอยู่ที่เมืองไทย ดังนั้นด้วยกำลังที่มีอยู่ตอนนี้ทั้ง สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย, แสงโสม, การกีฬาแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะได้กำลังเสริมอย่างแรงจากภาครัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้ามาดูแลกีฬานี้ให้ดีกว่านี้ หากปล่อยปละละเลยไป หากหลุดมือไปเหมือนกับเมื่อ ไทยแลนด์ มาสเตอร์ส จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะการถ่ายทอดสดนั้นได้บอกถึงประเทศ, สถานที่ของเจ้าภาพไปทั่วโลกทุกครั้งก่อนเกมจะเริ่มต้นขึ้น ภาพลักษณ์ตรงนี้ช่วยเหลือทุกส่วนได้แน่ ดังนั้นวอนขอและร้องขออีกสักครั้ง 6 แดงชิงแชมป์โลกต้องอยู่ในเมืองไทย...เท่านั้น!!!
สรุปผลการแข่งขันแสงโสม 6 แดงชิงแชมป์โลกรอบน็อคเอาท์
รอบ 32 คน แข่งระบบ 6 ใน 11 เฟรม มาร์ค เดวิส (อังกฤษ) แพ้ ติง จุ้นฮุย (จีน) 4-6 เฟรม ไรอัน เดย์ (เวลส์) ชนะ สุชาครีย์ พุ่มแจ้ง (ไทย) 6-3 เฟรม นพพล แสงคำ (ไทย) ชนะ แมทธิว เซลท์ (อังกฤษ) 6-3 เฟรม เหลียง เวนโบ (จีน) ชนะ เบน วูลลาสตัน (อังกฤษ) 6-4 เฟรม ปันกาจ แอดวานี่ (อินเดีย) ชนะ ลูคัส เคล็คเกอร์ส (เยอรมัน) 6-0 เฟรม หยวน ซีจุน (จีน) ชนะ รัชพล ภู่โอบอ้อม (ไทย) 6-0 เฟรม มาร์ค เซลบี้ (อังกฤษ) แพ้ ไมเคิล ไวท์ (เวลส์) 4-6 เฟรม เดวิด กิลเบิร์ต (อังกฤษ) แพ้ ไมเคิล โฮลท์ (อังกฤษ) 2-6 เฟรม สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ) ชนะ มาร์ค วิลเลี่ยมส (เวลส์) 6-5 เฟรม จันทรา ซิงห์ (อินเดีย) แพ้ โดมินิค เดล (เวลส์) 0-6 เฟรม อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ (ไทย) ชนะ กฤษณัส เลิศสัตยาทร (ไทย) 6-3 เฟรม โจ แพร์รี่ (อังกฤษ) ชนะ บุญญฤทธิ์ เกียรติกุล (ไทย) 6-5 เฟรม สตีเฟ่น แม็คไกวร์ (สกอตแลนด์) ชนะ ดาร์เรน มอร์แกน (เวลส์) 6-0 เฟรม โรเบิร์ต มิลกินส์ (อังกฤษ) แพ้ เทพไชยา อุ่นหนู (ไทย) 2-6 เฟรม ริกกี้ วอลเด้น (อังกฤษ) ชนะ มาร์ติน กูลด์ (อังกฤษ) 6-2 เฟรม ลูก้า เบรเซิ่ล (เบลเยี่ยม) ชนะ อีวาน คาคอฟสกี้ (รัสเซีย) 6-1 เฟรม
รอบ 16 คน แข่งระบบ 6 ใน 11 เฟรม สตีเฟ่น แม็คไกวร์ (สกอตแลนด์) ชนะ เทพไชยา อุ่นหนู (ไทย) 6-2 เฟรม ติง จุ้นฮุย (จีน) ชนะ ไรอัน เดย์ (เวลส์) 6-3 เฟรม นพพล แสงคำ (ไทย) แพ้ เหลียง เวนโบ (จีน) 5-6 เฟรม ปันกาจ แอดวานี่ (อินเดีย) ชนะ หยวน ซีจุน (จีน) 6-4 เฟรม ไมเคิล ไวท์ (เวลส์) แพ้ ไมเคิล โฮลท์ (อังกฤษ) 1-6 เฟรม สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ) ชนะ โดมินิค เดล (เวลส์) 6-1 เฟรม อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ (ไทย) ชนะ โจ แพร์รี่ (อังกฤษ) 6-1 เฟรม ริกกี้ วอลเด้น (อังกฤษ) แพ้ ลูก้า เบรเซิ่ล (เบลเยี่ยม) 5-6 เฟรม
รอบ 8 คน แข่งระบบ 7 ใน 13 เฟรม ติง จุ้นฮุย (จีน) ชนะ เหลียง เวนโบ (จีน) 7-2 เฟรม ปันกาจ แอดวานี่ (อินเดีย) ชนะบาย ไมเคิล โฮลท์ (อังกฤษ) สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ) ชนะ อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ (ไทย) 7-4 เฟรม สตีเฟ่น แม็คไกวร์ (สกอตแลนด์) ชนะ ลูก้า เบรเซิ่ล (เบลเยี่ยม) 7-6 เฟรม
รอบรองชนะเลิศ แข่งระบบ 7 ใน 13 เฟรม สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ) ชนะ สตีเฟ่น แม็คไกวร์ (สกอตแลนด์) 7-1 เฟรม ติง จุ้นฮุย (จีน) ชนะ ปันกาจ แอดวานี่ (อินเดีย) 7-4 เฟรม
รอบชิงชนะเลิศ แข่งระบบ 8 ใน 15 เฟรม สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ) แพ้ ติง จุ้นฮุย (จีน) 7-8 เฟรม
(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 407)
|