มาร์คเกอร์ไม่ใช่เสี่ยวเอ้อ
23 พ.ย. 59 |
สาวคิว (ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙) โดย อ๊อด หัวหิน ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ใครๆ ในแวดวงวรรณกรรมต่างก็นับถือท่านเป็น “กวีรัตนโกสินทร์” งานประพันธ์ชิ้นเอกของท่านที่เป็นวรรคทองมาถึงทุกวันนี้ โลกนี้ใช่อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง ปวงธาตุต่ำกลางมี ดุลยภาพ ภาคจักรวาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน
อยากจะคุยถึง “มาร์คเกอร์” หรือคนบันทึกคะแนน เป็นคนตัวเล็กที่สุดในวงจรของบรรดานักสนุกเกอร์ เจ้าของกิจการ ผู้ฝึกสอน ต้นสังกัด กรรมการตัดสิน เหล่านี้จะออกนอกหน้านอกตา แต่ “มาร์คเกอร์” กลับเป็นส่วนที่ถูกมองข้ามความสำคัญ ยิ่งในการแข่งขันระดับทางการทั้งหลาย กรรมการผู้ตัดสินเหมือนจะทำหน้าที่เบ็ดเสร็จหมด ควบคุมการแข่งขันให้เป็นไปตามกติกาแล้ว ยังทำหน้าที่นับแต้มขานแต้มด้วย จะมีทีมงานทำหน้าที่บันทึกคะแนนให้เป็นปัจจุบัน แล้วในจอมอนิเตอร์หรือในแถบส่วนล่างในจอทีวี หากมีการบันทึกภาพการแข่งขันหรือการถ่ายทอดสด มาร์คเกอร์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งการแข่งขันสนุกเกอร์ไปแล้ว แถมไม่ได้ออกจอทีวีด้วย เว้นเสียแต่การแข่งขันที่ไม่เป็นทางการ หรือไม่มีการถ่ายทอดสดในบางรายการ ที่อาจจะมีการตั้งป้ายคะแนน ตั้งเก้าอี้ ให้มาร์คเกอร์ทำหน้าที่ใส่คะแนน มาร์คเกอร์มีความสำคัญสำหรับโต๊ะสนุกเกอร์หลายแห่ง ทำหน้าที่เสร็จสรรพ ตั้งแต่ตั้งลูก ส่งเรสต์ ขานแต้ม ตัดสินข้อถกเถียง ใส่แต้ม เก็บเงินค่าเกมหรือค่าชั่วโมง มาร์คเกอร์สมัยก่อนที่ยังไม่มีผู้หญิง เป็นอะไรที่สำคัญมากในการเล่นสนุกเกอร์ จับคู่หรือเล่นหลายคนพนันกัน บางทีผู้เล่นก็ทำฟาวล์แต่ไม่ยอมรับ มาร์คเกอร์จะต้องเป็นคนตัดสิน ดังนั้น มาร์คเกอร์เก๋าๆ ในสมัยก่อน ไม่ใช่แค่นั่งประจำหน้าบอร์ดใส่คะแนน จะยืนถือเรสต์ในมืออยู่ขอบโต๊ะตลอดเวลา พร้อมจะส่งและรับจากนักสนุกเกอร์ ระหว่างเกมก็ต้องเอาลูกที่ลงหลุมไปแล้วไปใส่หลุมใกล้มือ เพื่อสะดวกเวลาล้วงขึ้นมาตั้งเกมใหม่ ลูกขี่โหย่งก็ต้องจ้องตาไม่กระพริบ ว่าฟาวล์หรือไม่ฟาวล์ ปากก็ต้องขานแต้มดังๆ ทุกไม้ คนเล่นต้องเชื่อฟังมาร์คเกอร์ หากเถียงกันแล้วไม่ยอมรับการตัดสินของมาร์คเกอร์ ก็หมายถึง ล้มกระดาน ยกเลิกกลางครัน อาจจะไม่มองหน้ากัน และไม่มีทางจะเล่นกันอีก บางทีบางคนก็เลิกเข้าโต๊ะนั้นไปเลย เพราะมาร์คเกอร์ก็เยอะครับ เวลาเปลี่ยน ความสำคัญก็เปลี่ยนตามไป มาร์คเกอร์เคยเป็นคนคุมกฎคุมเกมบนโต๊ะ ปัจจุบัน ลดบทบาทสิ้น กลายมาเป็นกรรมการเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินเกม และนับแต้มด้วย มาร์คเกอร์หายไป ยุคที่มีการจัดการแข่งขันสนุกเกอร์แพร่หลายไปตามสโมสรต่างๆ มีกรรมการตัดสิน และมีมาร์คเกอร์ทำหน้าที่ใส่คะแนน
จดจำได้ถึงมาร์คเกอร์ผูกขาดท่านหนึ่ง ตอนนั้นอายุอานามใกล้หกสิบแล้ว คงยังกระฉับกระเฉง ว่องไว คล่องแคล่ว เสียงดัง และทันเกม “ลุงพุ่ม” เป็นคนเก่าแก่ในวงการสนุกเกอร์ในกรุงเทพฯ หาใช่เล่นสนุกเกอร์เก่งไม่ หากคร่ำหวอดอยู่ในวงการสนุกเกอร์มานาน โต๊ะแห่งไหนเล่นกันสนุก มีการประกบคู่และเล่นเดิมพันวงนอกกัน “ลุงพุ่ม” ก็จะไปประจำที่นั่น ก่อนนั้นยามว่างงาน ลุงพุ่มขึ้นโต๊ะสนุกเกอร์ทุกวัน เป็นโต๊ะสุรวงศ์ซึ่งใกล้ที่ทำงาน หลังจากโต๊ะสุรวงศ์ย้ายมาอยู่ตึกริมถนนราชปรารภ หน้าทางเข้าโรงภาพยนตร์อินทรา ลุงพุ่มก็ตามมาเป็นขาหลักของที่นี่ หลายคนบนโต๊ะสนุกเกอร์เรียกลุงพุ่มว่า “นักข่าวรอยเตอร์” ไม่รู้ว่าเย้าหรือเรื่องจริง แต่เคยเห็นลุงพุ่มขึ้นโต๊ะทีไร เอาม้วนเอกสารยัดใส่กระเป๋ากางเกงด้านหลังทุกที บางทีถือหางพนันนอก คนที่ถูกถือหางแทงไม่ถูกใจ ลุงพุ่มเคยดึงเอาม้วนกระดาษมาขว้างลงกับพื้น เอกสารกระจุยกระจาย เป็นเอกสารรายงานข่าวจากสำนักรอยเตอร์ที่สำเนามาจากเทเล็กซ์ เพื่อนผมว่า ถึงลุงพุ่มจะไม่ใช่นักข่าวรอยเตอร์ แต่แกเป็นคนส่งข่าวรอยเตอร์ คือหลายสำนักที่ทำเกี่ยวกับข่าว จะต้องเป็นสมาชิกรับข่าวสารต่ออีกทีหนึ่ง ที่ทำงานของลุงพุ่มอาจเป็นเอเย่นต์ในการรับข่าวมาจากต่างประเทศโดยตรง แล้วเผยแพร่หรือขายข่าวให้ในประเทศอีกทอดหนึ่ง ลุงพุ่ม เป็นผู้ที่เดินสาร ซึ่งลุงพุ่มมีมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะคู่กาย ขี่มาจอดที่หน้าโต๊ะสนุกเกอร์ทุกวัน นั่นคงเป็นหลังจากลุงพุ่มเสร็จภารกิจการงาน ในการตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งข่าวรอยเตอร์ให้สำนักต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ลุงพุ่ม มีฝีมือสนุกเกอร์ประมาณแดงห้าใบ เซียนเซ้ง ปักธงชัย ต่อให้ซัก ๓๕ แต้ม หรือเซียนเป้า อินทรา หรือพระโขนง ต่อให้ประมาณ ๓๐ แต้ม แต่ไม่เล่นกัน เพราะสองคนนี้สาบานเป็นลุง-หลานกัน ขอกันกินบ้าง เป็นนายทุนถือหางบ้าง ลุงพุ่มเป็นสีสันบนโต๊ะสนุกเกอร์ ดังที่ว่าฝีมือสนุกเกอร์แค่เด็กประถม แต่ลีลาและชั้นเชิงการเล่นพนันนอก ต่อรองราคา ลุงพุ่มระดับปรมาจารย์เลย เมื่อลุงพุ่มอยู่ก็ไม่เงียบเหงา ใครประกบเล่นกับใคร มีราคาต่อรองรุมเล่นรอบโต๊ะเสมอ ในวงการสนุกเกอร์มักมีบุคคลที่มีลักษณะแบบลุงพุ่มแทบทุกโต๊ะ ถึงเล่นสนุกเกอร์ไม่ค่อยจะเก่งนัก แต่ก็เป็นคนสำคัญที่ทำให้วงการสนุกเกอรที่นั่นคึกคัก สนุกสนานได้ พอเล่าถึงลักษณะเยี่ยงนี้ ก็ขอเอ่ยถึงคนชื่อ “ทุย” อีกคนหนึ่ง ทุยบ้านอยู่ซอยจารุรัตน์ ถนนราชปรารภ ตรงข้ามสมาคมมิตรสัมพันธ์ ทุยเป็นขาเรียกแขกได้ชะงัด บางคนก็เรียก “เฮียทุย” แต่เห็นเขาจับคิวเล่นบ่อย คนดูรอบโต๊ะ แต่ไม่เคยมีใครเรียก “เซียนทุย” เขาเล่นสนุกเกอร์ไม่ค่อยเก่งนัก แต่ใครต่อใครอยากจะกินเงินจากเขา ขึ้นโต๊ะทีไรมีแต่คนรุมท้า และต่อแต้มให้จนกว่า “ทุย” จะพอใจ ก็มีการกำหนดเงินเดิมพันแต่ละเกม คนนอกก็เลือกข้างเล่นต่อรองกันอย่างสนุก เล่นเต็มฝีมือที่มี เพราะทุยเป็นคนมีเงินเต็มกระเป๋า เดิมพันด้วยเงินของตัวเอง การจะล้ม หรือมีงานโดยเล่นไม่เต็มที่ จึงไม่มี ก็โฉบเอา “ทุย” เข้ามาในคอลัมน์แค่เป็นกระสายยา หรือเกร็ดเสริมสำหรับคนรุ่นเก่า ที่อาจจะยังนึกถึงภาพและบรรยากาศเก่าๆ หันกลับมาถึงลุงพุ่มให้จบตำนานกันไป บางสัปดาห์ ลุงพุ่มแกสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวตราห่านฟ้า ที่คอของลุงพุ่มสวมสร้อยคอทองคำหนักไม่ต่ำกว่า ๒๐ บาท เห็นได้ชัดเจน บางช่วงก็อยู่บนคอได้หลายสัปดาห์ บางทีพอถึงวันจันทร์ก็เหลือแต่คอเปลือยเปล่า อยู่ที่ว่าดวงจะดีหรือจะซวย ลุงพุ่มมักจะพูดดังๆ เสมอ ... ยามจะรวย ขายขี้ก็ยังรวย ยามจะซวย เล่นมวยก็เสีย เล่นเมียก็ท้อง ขายทองก็เจ๊ง วันเสาร์มีม้าแข่งที่สนามม้านางเลิ้ง เรียกว่าสนามไทย วันอาทิตย์มีที่สนามปทุมวัน เรียกว่าสนามฝรั่ง การถือหางวงนอกสนุกเกอร์เป็นของเล่นจิ๊บๆ สำหรับลุงพุ่ม แต่ของจริงคือการเล่นม้า บางคนว่า ลุงพุ่มไม่ธรรมดา เป็นถึง “โต๊ด” อยู่สนามม้า บางเที่ยวก็ส่งผ่าน เอาค่าหัวคิว หลายเที่ยวก็รับเองหมด กะกวาดกระดานหมดเลย หากพลาดก็หมายถึงสร้อยคอทองคำเส้นเบ้อเริ่มหายไปจากคอ สมัย “คิวทอง” จัดการแข่งขันที่มิตรเดือนเด่นบ้าง ที่สโมสรแห่งหนึ่งใกล้โรงภาพยนตร์แถวซอยรางน้ำบ้าง ลุงพุ่มได้รับการวางตัวให้เป็นกรรมการบันทึกคะแนน ในยุคแรกๆ นั้น คนชมการแข่งขันก็จะเห็นลุงพุ่มนั่งมุมโต๊ะ และมีป้ายใส่คะแนนตั้งให้คนดูเห็นทั่วกัน ลุงพุ่มก็แต่งตัวเหมือนกรรมการตัดสิน เสื้อแขนยาวขาว สวมเสื้อกั๊กทับ ผูกหูกระต่าย ผิดแต่เพียงไม่ได้สวมสูทด้วยเท่านั้น นักสนุกเกอร์ แฟนสนุกเกอร์ในยุคนั้น ต้องรู้จักลุงพุ่มกันทุกคน ก็เขียนถึงคนทำหน้าที่เล็กๆ ในการแข่งขันสนุกเกอร์ แต่หากใครเคยรู้เคยเห็นเคยรู้จักลุงพุ่มมาก่อนหน้านี้ จะรู้ดีว่า ในวงการสนุกเกอร์ยุคนั้น “ลุงพุ่ม” ก็มีอดีต และวิถีชีวิตในวงการสนุกเกอร์ ที่ควรจะจดจำไว้เหมือนนักสนุกเกอร์มือดีๆ ทั้งหลาย
โลกนี้มิใช่อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
วันชัย เทียมทัด (ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 408)
|