อดีต ปัจจุบัน อนาคต กับอาจารย์สมยศ พุกกะณะสุต

9 ก.พ. 60

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งแล้วนะคะ กับคอลัมน์ "คุยกับคนคิว"

คอลัมน์ที่เราไปนั่งคุยแบบสบายๆ กับคนในแวดวงสอยคิว และฉบับนี้เรามาเคาะประตูบ้านขอคุยกับผู้ที่มีหน้าที่สำคัญ

ในการแข่งขันกีฬาสอยคิวในแต่ละครั้งอย่างยิ่ง และยังเป็นที่เคารพของใครหลายๆคนในวงวารกันนะคะ

ที่กล่าวมานั้น ท่านคือ "อดีตผู้ควบคุมการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์" ของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย

"อาจารย์สมยศ พุกกะณะสุต" ค่ะ

 

Q : สวัสดีค่ะอาจารย์ วันนี้ทีมงานคิวทองจะขอสัมภาษณ์อาจารย์เล็กๆ น้อยๆ นะคะ อาจารย์ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ

A : ผม “สมยศ พุกกะณะสุต” ผู้ควบคุมการแข่งขันสนุกเกอร์ของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยครับ

Q : อาจารย์เป็นกรรมการมากี่ปีแล้วคะ? แล้วเป็นกรรมการตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

A : เป็นกรรมการมาประมาณ 30 ปี เริ่มตอนนั้นไปสอบเป็นผู้ตัดสิน ได้รับประกาศนียบัตรเมื่อปี 1985 ครับ

Q : เริ่มต้นก่อนเป็นกรรมการ อาจารย์มีการสอบอะไรไหมคะ?

A : ไปสอบที่สมาคมอังกฤษครับ

Q : มีขั้นตอนอย่างไรบ้างคะ?

A : ก็ไปสมัครแล้วเจ้าหน้าที่ก็ให้สอบ ครั้งแรกให้สอบภาษาอังกฤษแล้วก็มีคนมายกเลิก ให้สอบเป็นภาษาไทย ผู้จบมาแล้วก็จะได้ตัดสินเฉพาะในประเทศ ต่อมาเราก็สอบอัพเกรดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะมันมีรายการแข่งขันเยาวชนโลกครั้งแรก เลยมีความจำเป็นต้องสอบภาษาอังกฤษ อัพเกรดเป็นเกรดบี แล้วต่อมามีแข่งชิงเเชมป์โลกที่โรงแรมแม่น้ำ ก็ไปสอบอัพเกรดเป็นเกรดเอ

Q : ก็ได้บรรจุเป็นกรรมการใช่มั้ยคะ?

A : บรรจุเป็นกรรมการตั้งแต่แรกแล้วครับ

Q : อาจารย์เคยเล่นสนุกเกอร์มาก่อนมั้ยคะ? แล้วแต่ก่อนชอบกีฬาสนุกเกอร์หรือเปล่า?

A : กีฬาสนุกเกอร์ชอบมากครับ เคยเล่นตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณพ่อเป็นอุปนายกสมาคมรถไฟ เลยตามพ่อไปที่ทำงาน แล้วข้างล่างนั่นก็มีโต๊ะสนุ้กเล็กๆ พวกลูกน้องพ่อก็ให้เล่นครับ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เล่นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ห้ามเด็กเล่น เลยเลิกไป ตอนนั้นชอบกีฬาสนุกเกอร์มาก ตอนหลังเลยมาเป็นนักกีฬาของการรถไฟ ก็ประมาณ 1 ใน 3 ของนักกีฬาที่มีฝีมือของสนุกเกอร์ เพราะชอบ ตอนนั้นก็เลยไปฝึกเป็นกรรมการ ก็นั่นแหละครับเลยได้เป็นกรรมการ

Q : ก่อนมาเป็นกรรมการ อาจารย์เคยทำอาชีพอะไรมาก่อนมั้ยคะ?

A : รับราชการครับ รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยครับ แล้วก็มาเป็นกรรมการเลย

Q : เราได้ข่าวมาว่าอาจารย์เคยไปตัดสินต่างประเทศ รายการอะไรคะ มีที่มาที่ไปอย่างไร?

A : ไปตัดสินต่างประเทศเพราะผมสอบได้เอเกรด สูงที่สุดของบรรดากรรมการผู้ตัดสินครับ มี 4 คน แต่เขาไม่ได้จัดแบบนั้น เขาจัดตามความเห็นของเขา เราก็ไม่ได้ร้องเรียนอะไร เราก็คิดว่าถ้าเขาไม่ตัดสินให้เราไป แสดงว่าเราก็ไม่เหมาะสมที่จะไป จนกระทั่งวันหนึ่ง กีฬาซีเกมส์ที่มาเลเซีย ปี 2001 เค้าต้องการกรรมการที่แม่นกติกาบิลเลียด คุณจุ้ย คิวทองก็เสนอชื่อผม นั่นละเป็นที่มาของผมที่ได้ไปตัดสินเป็นครั้งแรก

Q : อาจารย์มีความประทับใจอะไรมั้ยคะ ในการไปเป็นกรรมการตัดสินต่างประเทศในครั้งนั้น

A : มีครับ ประทับใจมากที่สุดก็ปี 2001 กีฬาซีเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย นายกสมาคมที่ประเทศมาเลเซียเนี่ย ยกย่องผมให้เป็น Best Service ให้เค้าเลยครับ (ยิ้ม) อีกรายการหนึ่ง ก็รายการคัดเลือกนักกีฬาอาชีพโลก ปีนั้นคนไทย แข่งกับมาร์โก้ ฟู ตอนนั้นมีปัญหา ซึ่งพอเราตัดสินไปแล้วเค้าก็ไม่ยอม เค้าบอกว่าไอ้นี่ต้องแพ้เเล้ว ผมก็บอกว่าเพิ่งสองครั้งเอง เค้าก็ไม่ยอม เค้าก็เดินหนีไป ไปคุยกับคุณพ่อเค้า คุณพ่อก็ไม่ยอม เสร็จแล้วบังเอิญมีคุณทวิทัฐที่ทำวีดิทัศน์ เฉพาะกฎกติกาตรงนี้ก็มาพูดคุยให้ เค้าก็ไม่เชื่อ คุณทวิทัฐขอร้องให้เชื่อ ขอรับรองด้วยเกียรติว่ากรรมการตัดสินถูกต้อง เช้าวันต่อมาเค้าก็ไปถามประธานผู้ตัดสินโลก ลอรี่ แอนนันเดล ลอรี่ก็เรียกผมมาบอกว่า “Excellent” คุณเก่งมาก เป็นครั้งแรกของโลกนั่นแหละ เป็นความภูมิใจมาก เพราะเรามุ่งมั่น ตั้งใจ ดูกติกาจนแม่นยำครับ

 

Q : อาจารย์เคยได้รับรางวัลอะไรมั้ยคะ?

A : เคยได้รับรางวัล โกลด์เบลเซอร์ (Gold Blaze) เป็นเสื้อทองผู้ตัดสินสูงสุด ได้มาจากการสอบ ส่วนคนอื่นได้มาจากการเก็บชั่วโมงบิน มันไม่เหมือนกัน มีผมคนเดียวได้มาจากการสอบ และเวลาทำการด้วย นอกนั้นก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว สอบได้ก็ไม่ได้ทำไร มีอยู่ 4 คนมั้ง ที่สอบของเอเกรด ของ WPBF ครับ

 

Q : ถามเรื่องสุขภาพค่ะ ได้ข่าวว่าอาจารย์เข้ารับการรักษา ไม่ทราบว่า อาจารย์เป็นอะไรคะ อาการเริ่มมาเป็นยังไง แล้วเข้ารับการรักษาที่ไหนคะ?

A : ครับ ผมเป็นโรคเส้นเลือดตีบในสมอง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองและอาการแย่สุด ครั้งแรกผมเป็นที่ จ.อุบลฯ ครับ ก็รักษาโรคนี้ไป หมอให้การรักษาดีมาก หมอดูแลดีมาก เราก็เลยหายได้ภายใน 4 วัน เดินได้แล้วครับ 15 วันผมก็กลับมาจัดทำโปรแกรมการแข่งขันให้สมาคมได้เลยครับ แต่ครั้งนี้เป็นโชคร้ายที่สุด พอวันศุกร์ทำงานวันสุดท้าย ผมยังไม่เป็นไรเลย พอกลับถึงบ้านมันมีอาการเหมือนกับเข่าจะทรุด ผมก็ลงมาทานยา เสร็จเเล้วเช้าขึ้นมาก็ไปซ่อมเครื่องปริ้นเตอร์ กับโน้ตบุ๊ก มันหนักราว 7-8 กิโล ผมเอาไปซ่อม ที่พันทิป พอเสร็จเอากลับขึ้นมา ชั้น 3 เหมือนจะทรุดอีก ผมก็ไปหาหมอที่ รพ.ผมบอกหมอว่าผมเป็นโรคเส้นเลือดตีบในสมอง หมอกลับบอกว่า ไม่ ไม่เป็น ไม่ได้มีการตรวจโดยละเอียด นอกจากให้น้ำเกลือ ตั้งแต่ตี 3 ของวันเสาร์จนกระทั่งเช้าวันอาทิตย์กว่าหมอจะมาตรวจอีกครั้งก็ 11 โมงครึ่ง ซึ่งผมถือว่าผิดจรรยาบรรณมากๆ  ที่ผมเป็นโรคนี้ ที่ผมต้องพิการแบบนี้ก็เพราะหมอที่ รพ.แห่งนี้ ผมกล้าพูดได้เต็มปากเลย (น้ำตาคลอ) เพราะว่าผมเคยมีอาการแบบนี้ตอนอยู่ที่อุบลฯ หมอของเขามาตรวจทุก 2 ชั่วโมง ขนาดเป็น รพ. บ้านนอกนะตอนนั้นผมจึงหายได้ แต่ครั้งนี่ รพ.หลวง ที่ใหญ่ที่สุดในถนนรามอินทรา วินิจฉัยอาการผมผิดพลาดแล้วสุดท้ายผมก็เป็นแบบนี้ ผมเสียใจจริงๆครับ

 

Q : แล้วนอกจากไป รพ.นี้แล้วไปรักษาที่อื่นอีกรึเปล่าคะ?

A : มีครับ ไปรับการรักษาแบบทางเลือก โดยการนวดเส้นแถวรังสิตคลอง 11 ซึ่งไกลมาก ไปมา 8 ครั้งแล้ว ที่นี่เพื่อนบ้านเค้าแนะนำ เพราะเขาไปมาแล้วเขาหาย แต่ผมคงวาสนาไม่ดี ไปหลายครั้งแล้ว ไม่หายซักที เดินทางไปก็ไกลและลำบาก 

Q : มีใครเข้ามาช่วยเหลืออาจารย์อย่างไรบ้างคะ?

A : มีครับ มีนักกีฬามาช่วยเหลือหลายท่านครับ ท่านที่ให้เมตตาสูงสุดก็คือ "ท่านเจ้าของไฮเอนด์" ครับ ถ้าไม่มีท่านผมคงหมด หมดไปหลายแล้วอ่ะครับ ช่วยเหลือเยอะฮะ เยอะมาก 

Q : อาจารย์มีกิจวัตรประจำวันยังไงบ้างคะ ได้กายภาพอย่างไรมั้ยคะ?

A : อ่อ กายภาพมีหลายอย่างครับ หนึ่งก็คือใช้ถุงทรายพันขาแล้วก็ยกขึ้นยกลง ประมาณ 40-50 ครั้ง แล้วก็เอาเข่ามาบีบกันเเล้วก็โยกซ้าย โยกขวา อีกอันใช้เข่าประกบกัน ถ่างออกหุบเข้าๆ แล้วก็มีนอนชันเข่าแล้วยกก้น เหมือนกัน ครั้งละ 10 ประมาณ 40-50 ครั้ง แล้วก็เอาขาไขว้เเล้วยกก้น แล้วก็มีเอาหมอนอิง ที่สูงๆ เอาขาพาดแล้วกระดกขึ้น แล้วก็บริหารแขนโดยการยกขึ้นอย่างเดียว พอดีขึ้นเเล้วเค้าก็ไม่รักษาให้ เค้าบอกเค้ารักษาให้แค่นี้ รักษาไปก็ไม่มีประโยชน์

 

Q : ได้ข่าวล่าสุดอาจารย์ไป จ.พิจิตร มา ไปเที่ยวพักผ่อนหรือว่าไปรับการรักษาคะ

A : ไปพักผ่อนครับ ทางฝ่ายจัดการแข่งขัน "คุณเมษา กับคุณติณภพ" เค้าเป็นฝ่ายจัดการแข่งขัน เขาเลยได้ขอให้ผมไป ไปพักผ่อน อยากพบผมด้วย เค้าเลยให้ "คุณสุชาติ แซ่เฮ้ง" มารับ-มาส่ง มาบริการ พาเดินพาอะไรนะครับ แล้วก็ได้ไปรู้จักเจ้าของ มีความสุขดี สถานที่สวยงาม

Q : อาจารย์วางแผนยังไงต่อจากนี้ อยากทำอะไร แล้วคิดว่าจะมีโอกาสกลับไปเป็นผู้ตัดสินอีกมั้ยคะ?

A : คิดว่าผู้ตัดสินคงไม่มีโอกาสครับ ความว่องไวที่สมเหตุสมผลคงไม่มี ส่วนถ้าเป็นไปได้คือ เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน กับเป็นผู้ทำโปรแกรมการแข่งขัน

 

Q : ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่าวงการสนุกเกอร์ไทย ควรจะพัฒนาส่วนไหนอีกมั้ยคะ?

A : ก็มีอยู่จุดเดียวนั่นแหละครับ ก็คือนักกีฬา นักกีฬาเนี่ยควรจะมุ่งมั่น ให้เต็มที่ เต็มความสามารถ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องเห็นใจนักกีฬา เค้าไม่ใช่เป็นคนมีฐานะ เล่นมาก็เสียค่าฝึกซ้อม ค่าอะไร แย่อยู่ เดี๋ยวจะมีกินยังไม่มีกินยังไม่รู้ ลูกเมียจะมีกินยังไงยังไม่รู้ ไม่เหมือนสมาคมวอลเลย์บอล เค้ามีการไฟฟาแห่งภูมิภาคมาดูแล ผมว่านักกีฬาไทยเก่งกว่าจีนอีก เพราะว่าเรายังไม่ได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ เท่าที่ผมดูนะครับ เรายังไม่มีกำหนดว่าจะทำอะไรยังไง ซ้อมแค่ไหน เราไม่มี

Q : อาจารย์ได้ติดตามการแข่งขันต่างประเทศบ้างมั้ยคะ?

A : ส่วนมากต่างประเทศไม่ได้ดูครับ ถ้ามีลงในยูทูปถึงจะได้ดู แต่ถ้าไปเปิดเว็บดู ไม่ได้เปิดครับ ส่วนของไทยดูทางฟรีทีวี ก็ได้ดูถ่ายทอดนัดชิงฯ ไรงี้ครับ

Q : สุดท้าย ท้ายสุดนะคะ อาจารย์อยากฝากอะไรถึงวงการสนุกเกอร์ไทย

A : อยากฝากถึงหลานๆ นักกีฬาสนุกเกอร์ทั้งเก่าใหม่นะครับ ช่วยขะมักเขม้นฝึกซ้อมให้เต็มที่ เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาวงการสนุกเกอร์ของเราให้ดียิ่งๆขึ้นครับ

 

ก่อนลากลับทาง "คิวทอง" ได้ฝากกระเช้าผลไม้เยี่ยม เพื่อบำรุงสุขภาพมามอบเพื่อเป็นกำลังใจให้ อ.สมยศ ได้มีสุขภาพดีขึ้นในเร็ววันด้วยค่ะ

 

สุดท้าย...ชีวิตคนเรา อดีตไม่สำคัญเท่าปัจจุบัน หากวันนี้ยังหายใจ ก็ต้องสู้ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งต่อไปนะคะ

 

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 411)