บี แหลมสิงห์ มาเยือน - 6 แดงชิงแชมป์โลก

1 ก.ย. 60

เกมการดวลคิวระดับโลก มาเคาะประตูบ้านกันอีกครั้ง

เกม 6 แดงที่เมื่อก่อนแทงเฉพาะในหมู่คนไทย ตอนนี้แรงไปในระดับโลก ซึ่งปีนี้จะจัดการแข่งขันระดับโลกเป็นครั้งที่ 9

พร้อมกับเป็นการชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7

จากครั้งแรกที่แทบจะขี่คอกันดู เพราะ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ทะลุเข้าถึงรอบตัดเชือก ปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ เพราะรถทะลักโรงแรมออกมา ต้องมาจอดกันยาวจนเกือบถึงสะพานกรุงเทพ

การดวลคิวค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา พร้อมกับตำนานต่าง ๆ มากมาย ทั้งการแทงสุดมาราธอนในนัดชิงฯ ก่อนที่ จิมมี่ ไวท์ จะได้แชมป์

แล้วก็มีการดวลคิวชิงแชมป์โลกเป็นหนแรก

เกมการดวลคิวเหมือนกับถูก “คนอังกฤษ” กลืนกินและเขมือบแชมป์ไปหมด เพราะแชมป์สลับสับเปลี่ยนเวียนมามีแต่คนอังกฤษทั้งนั้น

เริ่มจาก อินเตอร์เนชันแนล ที่เป็น ริกกี้ วอลเด้น คว้าแชมป์ ต่อด้วยศึกเวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ที่ จิมมี่ ไวท์ ทำได้ จากนั้นมาเป็นศึกชิงแชมป์โลก ปี 2010 กับแชมป์ที่ชื่อ มาร์ค เซลบี้

เว้นวรรคไป 1 ปี ในปี 2011 ที่จัดศึกเวิลด์คัพ ก็กลับมาดวลเพลงคิวอีกครั้งในปี 2012 มาร์ค เดวิส ครองแชมป์ได้สำเร็จ เท่ากับว่าจัดมา 4 ครั้ง แชมป์ไม่ซ้ำหน้ากันเลย

แถมยังเป็นการชิงกันเองของคนอังกฤษทั้งหมด

มาถึงปี 2013 เป็นหนแรกที่มีนักกีฬาจากชาติอื่นทะลุเข้าชิง นั่นคือ นีล โรเบิร์ตสัน จากออสเตรเลีย แต่คนที่เป็นแชมป์คือ มาร์ค เดวิส อีกครั้ง ทำสถิติเป็นคนแรกที่ป้องกันแชมป์เอาไว้ได้

สถิติรายการนี้เปลี่ยนแปลงสู่บันทึกหน้าใหม่ เมื่อ “วิสกี้ขี้ยั๊วะ” สตีเฟ่น แม็กไกวร์ กลายเป็นคนสกอตแลนด์ และคนชาติอื่น คนแรก ที่คว้าแชมป์ หลังจากเชือด ริกกี้ วอลเด้น สุดมันส์ในเฟรมตัดสิน

จนถึงปี 2015 การแข่งขันยกไปแข่งกันที่ห้างสรรพสินค้าเป็นครั้งแรก ที่แฟชั่น ไอส์แลนด์ และก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อ “เอฟ นครนายก” เทพไชยา อุ่นหนู คว้าแชมป์อย่างสะใจแฟน เมื่อปราบ เหลียง เหวินโป จากจีนไปแบบขาดลอย 8-2

เป็นคนแรกของไทยที่ทำได้สำเร็จ พร้อมกับทำให้ศึก 6 แดงโลก ยิ่งโด่งดังมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

มีแฟนสนุกเกอร์เข้าชมเต็มเกือบทุกรอบ ยิ่งนัดชิงฯ ยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมอย่างมาก รวมถึงเรตติ้งการถ่ายทอดสดก็ดีมากเช่นกัน เมื่อ ติง จุ้นฮุย คว่ำ สจ๊วร์ต บิงแฮม ในเฟรมตัดสิน ก่อนจะวิ่งเข้าป้าย 8-7 เฟรม

เท่ากับว่าเป็นคนเอเชียคนที่ 2 ที่ครองแชมป์รายการนี้

แล้วปีนี้ล่ะ??? จะเป็นใครที่ครองแชมป์

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ปีนี้มีการปรับเปลี่ยนการจัดการแข่งขันให้กระชับยิ่งขึ้น ชิงเงินรางวัลมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าจะต้องเข้มข้นขึ้นแน่

จากเดิม 48 คน มาเป็น 32 คน มีนักสนุกเกอร์อาชีพโลก 16 คน, สหพันธ์บิลเลียดสนุกเกอร์นานาชาติ (IBSF) 3 คน, สมาพันธ์กีฬาบิลเลียดเอเชีย (ACBS) 3 คน, ไวลด์การ์ด 4 คน และนักกีฬาไทย 6 คน พร้อมกับเพิ่มเงินรางวัลรวมเป็น 10 ล้านบาท แชมป์จะได้รับถึง 3.5 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ ติง จุ้นฮุย แชมป์เก่าชาวจีนนำทัพมือโลกมาพร้อมป้องกันแชมป์

ไม่มีหมูให้เถือ ไม่มีของง่ายตั้งแต่รอบแรก

ทีนี้การออกคิว 6 แดงน่าสนใจ ตรงที่ว่า หากคุณออกได้ดี ตบไป 4 ชุด ก็น่าจะจบสบายในเฟรมนั้น ผิดกับ 15 แดง ถ้าหากแทงไป 6 ชุดแล้วพลาด อาจจะโดนแซงกลับมาได้

ดังนั้นเกมนี้อยู่ที่หัวใจล้วน ๆ

เมื่อแพ้ชนะกันได้ทุกวินาทีทุกมือแบบนี้ โอกาสที่หวยจะออกที่ใคร ถือว่ายังเลือกยาก

แต่กลุ่มที่อันตรายไม่แพ้ ติง จุ้นฮุย, เหลียง เหวินโป รวมไปถึง มาร์ค เดวิส ที่ตั้งใจทุกนัด และอีกคนที่น่าจับตามองคือ ลูกา เบรเซล ที่เพิ่งครองแชมป์ไชน่า แชมเปียนชิพ มาหมาด ๆ

เขาบอกว่า แชมป์ที่จีนน่าจะปลุกให้ประเทศของเขาตื่นตัวเรื่องสนุกเกอร์ และอยากจะได้ทุกแชมป์ที่ลงเล่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เล่นสนุกเกอร์กันเยอะ ๆ

มองย้อนกลับมาที่เรา ถ้าหากนักกีฬาของไทยเกิดเป็นแชมป์ขึ้นมา น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน

โดยเฉพาะในยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ไม่ว่าทำอะไร มันไปไวกว่าไฟลามทุ่ง และหากเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นจริง

คนในวงการสอยคิวคงมีความสุขไม่น้อยเช่นกัน

 

 

สรุปการแบ่งกลุ่มรอบแรก

กลุ่ม เอ – ติง จุ้นฮุย (จีน), นพพล แสงคำ, หลิว หัวเทียน (จีน), ลูกา เบรเซล (เบลเยียม)

กลุ่ม บี – แอนโธนี แม็คกิลล์ (สกอตแลนด์), ภาสกร สุวรรณวัฒน์, โมฮัมเหม็ด ซัจจาด (ปากีสถาน), ไรอัน เดย์ (เวลส์)

กลุ่ม ซี – ไคเรน วิลสัน (อังกฤษ), เทพไชยา อุ่นหนู, คริสต์ยาน เฮลกาสัน (ไอซ์แลนด์), ริกกี้ วอลเด้น (อังกฤษ)

กลุ่ม ดี – เหลียง เหวินโป (จีน), อรรถสิทธิ์ มหิทธิ, มาร์ค เดวิส (อังกฤษ), ไมเคิล โฮลท์ (อังกฤษ)

กลุ่ม อี – สจ๊วร์ต บิงแฮม (อังกฤษ), อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์, คามาล เชาว์ลา (อินเดีย), สตีเฟ่น แม็กไกวร์ (สกอตแลนด์)

กลุ่ม เอฟ – มาร์ค วิลเลียมส์ (เวลส์), รัชพล ภู่โอบอ้อม, โซฮัล วาฮีดี้ (อิหร่าน), มาร์ค คิง (อังกฤษ)

กลุ่ม จี – มาร์ติน กูลด์ (อังกฤษ), แกรม ด็อตต์ (สกอตแลนด์), ลี ชุน เหว่ย (ฮ่องกง), เดวิด กิลเบิร์ต (อังกฤษ)

กลุ่ม เอช – มาร์โก้ ฟู (ฮ่องกง), เบน วูลลาสตัน (อังกฤษ), ดาร์เรน มอร์แกน (เวลส์) และไมเคิล ไวท์ (เวลส์)

 

บี แหลมสิงห์ มาเยือน

(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 418)