“ปิดตำนาน” นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรกและฉบับเดียวของไทย ถึงเวลา “คิวทอง” อำลาแฟน ๆ ต้น ม.ค. 2562 พบกันทาง “เว็บไซต์”
6 ธ.ค. 61 |
ยืนหยัดตามแผงหนังสือทั่วประเทศเป็นเวลายาวนาน นิตยสารสนุกเกอร์ฉบับแรกและฉบับเดียวของไทยประกาศปิดตำนานอันเก่าแก่กว่า 33 ปี ตามเพื่อนรัก ดำรง พุฒตาล ที่วางมือจากการผลิตนิตยสารที่ขายดีที่สุดในประเทศ คู่สร้าง คู่สม เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่อาจต้านกระแสโลกโซเชียล นายศักดา รัตนสุบรรณ ผู้อำนวยการนิตยสารสนุกเกอร์ “คิวทอง” ที่เก่าแก่กว่า 30 ปีเปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 จะไม่มีหนังสือคิวทองออกวางตามแผงทั่วประเทศที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทสยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยวางตามแผงทั่วประเทศตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 รวมเวลาอันยาวนาน 33 ปีเศษ สาเหตุในการหยุดทำนิตยสารคิวทองเนื่องมาจากปัจจุบันโลกโซเชียลมาแรง ทุกคนสามารถเสพข่าวทั่วไปทั้งการเมือง-บันเทิง-กีฬา ด้วยโทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว ก็รู้ข่าวสารได้ทั่วโลก และทุกคนต้องมีมือถือส่วนตัวจึงส่งผลให้ หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทีวี.หลายช่อง รวมถึงนิตยสารทั่วไปต้องเลิกกิจการโดยปริยาย ซึ่งเมื่อปีกลายนิตยสาร “คู่สร้าง คู่สม” ที่วางขายมากที่สุดในประเทศของ ดำรง พุฒตาล ยังต้องปิดตัวเองเพราะผู้เสพหันไปให้ความสนใจทางโซเชียล ซึ่ง คิวทองก็มีทีท่าจะเลิกกิจการตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่ได้รับการขอจากนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย นายสุนทร จารุมนต์ ขอให้ยืนหยัดสู้ต่อไปจนกระทั่งฉบับเดือนธันวาคม 2561 นายศักดา รัตนสุบรรณ หรือ “คิวทอง” ที่บุกเบิกสนุกเกอร์โดยเปิดคอลัมน์ “นินทาเซียน” ในหนังสือพิมพ์รายวัน “เดลินิวส์” ตั้งแต่ปี 2526 จนเป็นที่รู้จักของแฟนสนุกเกอร์ทั่วประเทศ ถึงเวลาต้องประกาศปิดตำนานอันยาวนานตั้งแต่ฉบับประจำเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป หนังสือคิวทองถือกำเนิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2528 โดยช่วงแรกออกเป็นรายปักษ์ (ทุก 15 วัน) โดยมีสำนักงานอยู่ที่อาคารมิตรเดือนเด่น ประตูน้ำ และเมื่อปี 2540 ได้ออกเป็นรายสัปดาห์ซึ่งอยู่ได้แค่ 2 ปีก็ต้องขยับเป็นรายเดือน จนกระทั่งปิดตัวเอง สำหรับใครที่เป็นแฟนสนุกเกอร์และอยากรู้รายละเอียดในวงการสามารถติดตามได้ทาง “เว็บไซต์คิวทอง” ซึ่งจะมีข่าวสารทั้งนอกและในประเทศรวมถึง ตำนานสอยคิวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งในฉบับส่งท้ายปี กองบรรณาธิการได้รวบรวมข่าวสารเรื่องราวในอดีตมาเปิดเผยเพื่อคนรุ่นหลังได้ทราบถึงความเป็นมาของ อดีตเซียนดัง โดยระบุเดือนที่นำลงซึ่งเรื่องราวอันยาวนานถึง 30 ปี ถูกบันทึกไว้ในฉบับนี้อีกครั้ง
(ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทอง ฉบับที่ 433) |