บันทึกนัดประวัติศาสตร์ ต่าย ชนะ เฮนดรี้ ต๋อง โค่น สตีฟ เดวิส
5 ต.ค. 58 |
บันทึกนัดประวัติศาสตร์ ต่าย ชนะ เฮนดรี้ ต๋อง โค่น สตีฟ เดวิส โดย ทวิทัฐ วรินทราคม กว่า 22 ปีของการเข้าสู่วงการสนุกเกอร์ของผม นับตั้งแต่การแข่งขันรายการ Nescafe Asian Open 1993 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ที่มีการนำนักสอยคิวอาชีพโลกมาแข่งขันรายการสะสมคะแนนในเมืองไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 64 คน ที่ผมได้ถูกทาบทามจาก World Snooker ให้ทำหน้าที่พิธีกรสนามเป็นครั้งแรก ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค อยู่ในขณะนั้น หลังจากได้ทำหน้าที่พิธีกรในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้แข่งขันร่วมกับ คุณศักดา รัตนสุบรรณ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้นเพียง 1 วัน ซึ่งหน้าที่หลักของผม นอกจากการเป็นพิธีกรสนามและถ่ายทอดสดแล้ว ยังต้องเป็นล่ามในการสัมภาษณ์นักกีฬาทุกรอบแข่งขันให้กับคณะผู้สื่อข่าวไทย ที่ยกทีมมาทำข่าวกันที่สนามแข่งขันกันแทบทุกฉบับ ทั้งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้สื่อข่าวทีวี แล้วยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงแรมกับคณะผู้จัดการแข่งขัน ทั้งสมาคมสนุกเกอร์ฯ (ชื่อเดิมในสมัยนั้น ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นสมาคมกีฬาบิลเลียดฯ) World Snooker, บริษัท IMG และ บริษัท อินเตอร์สปอร์ต-ทีม จำกัด ซึ่งเป็นโปรโมเตอร์ในยุคนั้นด้วย นับตั้งแต่นั้นมา ชีวิตการเป็นผู้บริหารโรงแรมของผม ที่ยึดเป็นอาชีพมากว่า 10 ปีในเวลานั้น ก็เริ่มถูกกีฬาสนุกเกอร์ครอบงำเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยความที่มีใจรักในกีฬาชนิดนี้ ทั้งยังได้รับความไว้วางใจและโอกาสจาก ท่านนายก สินธุ พูนศิริวงศ์ ให้ทำหน้าที่พิธีกรประจำในการแข่งขัน World Ranking อย่างต่อเนื่องมาทุกปีนับจากนั้น จนกลายมาเป็นพิธีกรสนุกเกอร์ที่คุ้นหน้าคุ้นตาแฟนสอยคิวชาวไทยมาจนทุกวันนี้ ถ้าจะถามผมว่า ตลอดเวลา 22 ปีของการเป็นพิธีกร มีรายการไหนที่ประทับใจผมที่สุด และอยู่ในความทรงจำของผมตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ความทรงจำที่ดีกับการเข้ามาคลุกคลีกับกีฬาสนุกเกอร์นั้นมีมาโดยตลอด แต่ถ้าจะต้องเลือกรายการใดมารายการหนึ่ง คงไม่มีรายการไหนที่จะสร้างรอยยิ้ม ความตื่นเต้น ความทรงจำ และความประทับใจได้เท่ากับรายการที่กำลังจะพูดถึงในคอลัมน์ย้อนรอย ฉบับครบรอบ 30 ปี นิตยสารคิวทองฉบับพิเศษนี้ไปได้ ถูกต้องแล้วครับ รายการที่ผมกำลังจะพูดถึง ก็คือรายการ Kloster Thailand Open 1994 เป็นปีที่ 2 ที่ผมรับทำหน้าที่พิธีกรสนาม พร้อมถ่ายทอดสดในการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพโลก รวมทั้งการเป็นล่ามให้กับผู้สื่อข่าว และการประสานงานให้กับทางโรงแรม ซึ่งเป็นต้นสังกัดของผมในเวลานั้นด้วย ต้องขอบอกว่า กระแสความแรงของ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย หรือ James Wattana ในยุคนั้น กำลังเป็นที่นิยมของแฟนสอยคิวชาวไทยอย่างมาก บัตรเข้าชมที่จำหน่ายใบละ 300 บาท ขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว แฟนๆ มายืนเข้าคิวรอกันตั้งแต่บ่าย บัตรผีขยับราคาขึ้นไปถึงใบละ 1,500 หรือ 2,000 บาท จนทางโรงแรมต้องนำโทรทัศน์วงจรปิดมาตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งหน้าห้องแข่งขัน ห้องอาหาร รวมทั้งในล็อบบี้ ในปี 1994 ไม่ได้แข่งขันตั้งแต่รอบ 64 คนแล้วนะครับ จะเริ่มแข่งขันกันตั้งแต่รอบ 32 คนเลย แต่มี Wild Card ร่วมลงแข่งขันด้วย 4 คน เป็นนักกีฬาไทย 3 คน คือ ต่าย พิจิตร, รมย์ สุรินทร์ และ นกแล มหาสิน หรือชื่อจริงคือ ณัฐ เวียงชัย และนักกีฬาจีนอีก 1 คน คือ โก๊ะ หัว ซึ่งเป็นนักสอยคิวมือ 1 ของจีนในยุคนั้น สำหรับนักสนุกเกอร์โลกระดับต้นๆ ที่กำลังมาแรงในขณะนั้น แน่นอน นอกจาก สตีเฟ่น เฮนดรี้ และ สตีฟ เดวิส ซึ่งเป็นมือ 1 และ 2 ของโลกแล้ว ก็ยังมีเจ้าหนูมหัศจรรย์ รอนนี่ โอ’ซุลลิแวน ที่มีอายุเพียง 19 ปี แล้วก็ยังมี จอห์น แพร์รอตต์, ปีเตอร์ เอ้บด้อน, เคน โดเฮอร์ตี้, เดนนิส เทย์เลอร์, จิมมี่ ไวท์, เดฟ แฮโรลด์ (แชมป์ Asian Open 1993) ดาร์เรน มอร์แกน (รองแชมป์ Asian Open 1993), อลัน แมคมานัส, วิลลี่ ธอร์น, นีล โฟลส์, โทนี่ เดรโก้, ดีน เรย์โนลส์, โจ สเวล, เทอรี่ กริฟฟิทธิ์, อแลง โรบิดูซ์, โทนี่ โนวส์, คลิฟ ธอร์เบิร์น, สตีฟ เจมส์, โทนี่ โจนส์, มาร์ติน คล้าก, ไนเจล บอนด์, สตีเฟ่น เมอร์ฟี่, คอลิน มอร์ตัน, เดฟ ฟินโบว์ และ สตีฟ จัดด์ ที่ผ่านเข้ารอบ 32 คนมาในรายการนี้ด้วย ในรอบ Wild Card สามทหารเสือของไทยคู่แรก รมย์ สุรินทร์ ลงสนามพบ สตีฟ จัดด์ จากอังกฤษ ซึ่ง รมย์ ถูก จัดด์ นำไปก่อนในเฟรมแรก แล้วมาเก็บ 5 เฟรมรวด พร้อมกับทำเบรก 104 และ 65 ในเฟรมที่ 5 และ 6 เข้ารอบ 32 คนไป ด้วยสกอร์ 5-1 เฟรม เฟรมสกอร์ 46-67, 70-43, 91-0, 75-26, 104(104)-1 และ 95(65)-10 ไปพบกับ จอห์น พาร์รอตต์ ซึ่ง รมย์ ต้านไม่อยู่ แพ้ พาร์รอตต์ ไปถึง 0-5 เฟรมแบบไม่มีเบียด ด้วยคะแนน 35-87(64), 5-89, 50-65, 23-95 และ 14-75 คู่ที่สอง ณัฐ เวียงชัย หรือ นกแล มหาสิน พลาดท่าแพ้ จิมมี่ มิกกี้ จากอังกฤษ หลังจากที่เราโดนนำไปก่อน 0-3 แล้วไล่มา 2-3 จิมมี่ ขึ้นแท่นไป 4-2 นกแล ไล่มา 3-4 ก่อนจะแพ้ไป 3-5 เฟรม ตกรอบไวล์การ์ดไปเป็นคนแรก ด้วยคะแนน 32-68, 61-72, 11-72, 85(77)-12, 60-57, 0-96, 62-42 และ 6-72 คู่ที่สาม ต่าย พิจิตร ลงสนามพบ คอลิน มอร์ตัน จากอังกฤษ ปรากฏว่า ต่าย สามารถเล่นได้อย่างสุขุม ค่อยๆ กินค่อยๆ เก็บ นำไปก่อนใน 2 เฟรมแรก แล้วมาเข้าเบรก 55 แต้มในเฟรมที่สาม เก็บชัยขึ้นหน้าไปก่อน 3-0 เฟรม ในเฟรมที่ 4 ต่าย เข้าเบรกนำไปก่อนไม้เดียว 61 แต้ม แต่มาโดน คอลิน ปล้น ตีไข่แตกไล่ตามมาเป็น 1 ต่อ 3 เฟรม ต่าย มาทำเบรกได้อีก 54 แต้มในเฟรมที่ 5 ขึ้นนำ 4 ต่อ 1 เฟรม คอลิน ไล่มา 2-4 จากเบรก 53 แต้มในเฟรมที่ 6 ก่อน ต่าย พิจิตร จะเก็บชัยชนะได้ในเฟรมที่ 7 ด้วยเบรกอีก 56 แต้ม เอาชนะ คอลิน มอร์ตัน ไป 5-2 เฟรม เข้ารอบไปพบกับ สตีเฟ่น เฮนดรี้ ในรอบ 32 คนต่อไป ด้วยสกอร์ 77-39, 70-24, 72(55)-0, 72(61)-81, 76(54)-24, 15-81(53) และ 83(56)-42 ในรอบ 32 คน ระหว่าง ต่าย พิจิตร กับ สตีเฟ่น เฮนดรี้ มืออันดับ 1 ของโลก นับเป็นคู่ที่สร้างความฮือฮา เสียงเฮ และความประทับใจอย่างที่สุด ซึ่งก่อนการแข่งขัน ต่าย พิจิตร ตั้งความหวังไว้เพียงแค่ไม่แพ้เกมศูนย์เท่านั้น โดยลงแข่งขันที่โต๊ะ 1 ซึ่งเป็นโต๊ะที่มีการถ่ายทอดภาพทางกล้องวงจรปิด มีทัพผู้สื่อข่าวของไทย นักกีฬาไทย คณะผู้บริหารของสมาคมฯ รวมทั้งทีมงานผู้จัดการแข่งขัน นั่งชมการถ่ายทอดทางกล้องวงจรปิดอยู่ในห้องผู้สื่อข่าว ที่อยู่ติดกับห้องแข่งขันแบบแน่นขนัดไปหมด เปิดมาเฟรมแรก เฮนดรี้ ซึ่งไม่เคยรู้จัก ต่าย พิจิตร มาก่อน ก็ต้องเจอกับเซอร์ไพรส์ เมื่อ ต่าย อาศัยความเฉียบคม และเหนียวแน่น ไม่เปิดโอกาสให้ เฮนดรี้ ได้สู้ เอาชนะไปก่อน 53-5 คะแนน แล้วมาเข้าเบรกอีก 62 คะแนนในเฟรมที่ 2 เอาชนะไปอีก 69-22 คะแนน ขึ้นนำไปก่อน 2-0 เฟรมทันที มาถึงตรงนี้ บรรดากองเชียร์ชาวไทยในห้องผู้สื่อข่าว ถึงกับเป็นอันนั่งไม่ติด เรียกว่าลุ้นกันทุกไม้ ไซด์กันทุกเม็ด เฮกันแบบชอตต่อชอต จนเสียงเชียร์ดังเข้าไปถึงโต๊ะแข่งขัน ไม่ว่า ต่าย จะตบลง เช็ดลง กันดี หรืออะไรก็แล้วแต่ เสียงเฮจากห้องผู้สื่อข่าว จะดังลั่นมาเป็นระยะ จนบรรดานักสนุกเกอร์โลกคนอื่นๆ ก็เริ่มหันมานั่งชมการแข่งขันทางจอทีวีในห้อง Tournament Office กันมากขึ้น เพราะ ต่าย เล่นได้อย่างเข้าตาผู้ชมเหลือเกิน ไม่ได้มีอาการเกรงกลัวศักดิ์ศรีแชมป์โลก 3 สมัยเลยแม้แต่น้อย จบเฟรมที่สาม ต่าย ขึ้นนำไปอีกเป็น 3-0 เฟรม จากเบรก 53 แต้ม แม้จะไม่ใช่เป็นเบรกใหญ่ที่พอจะเอาชนะได้ในไม้เดียว แต่ก็เพียงพอ ที่จะกลับมาปล้นชัยชนะไปในเฟรมนี้ หลังจากตามอยู่ 30-44 คะแนน เอาชนะเฮนดรี้ ไปอีกด้วยสกอร์ 83-44 เก็บชัยชนะ 3 เฟรมติดได้สำเร็จ เฟรมที่สี่ ต่าย เครื่องติดแล้ว กลายเป็น “สนุ้กฯ ได้ใจ” หลังจากเก็บชัยไป 3 เฟรมแรก ยังออกนำไปก่อน 32-0 คะแนน เฮนดรี้ มาเข้าเบรกไปได้แค่ 2 ชุด 13 แต้ม แล้วโดน ต่าย เบรกยาวไม้เดียวไปอีก 84 แต้ม เรียกเสียงเฮกระหึ่มโรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค จน แอน เยตส์ ซึ่งเป็น Tournament Director ของ World Snooker ต้องเดินเข้ามาขอร้องให้เชียร์กันเบาๆ หน่อย เพราะเสียงดังเข้าไปถึงที่โต๊ะแข่งขัน จบ 4 เฟรม พัก 15 นาที ต่าย พิจิตร ขึ้นแท่นนำ เฮนดรี้ ไปก่อนถึง 4 ต่อ 0 เฟรม บรรยากาศเวลานั้น บอกได้คำเดียวครับ ว่ามันสุดจะบรรยายจริงๆ ใครจะไปคิดว่า ต่าย พิจิตร จะสามารถสะกดมัจจุราชผมทอง อย่าง สตีเฟ่น เฮนดรี้ แชมป์โลก 3 สมัยในขณะนั้น และเป็นแชมป์โลก 2 ปีติดได้ถึง 4 ต่อ 0 เฟรม ต้องการอีกเพียงเฟรมเดียวเท่านั้น ก็จะกลายเป็นนักสนุกเกอร์โนเนม ที่สามารถโค่นมือ 1 ของโลกอย่าง สตีเฟ่น เฮนดรี้ ได้อย่างราบคาบถึง 5 ต่อ 0 เฟรม ในการแข่งขันรายการที่มีการสะสมคะแนนอาชีพโลกเสียด้วย ผมไม่ทราบว่า ระหว่างพัก 15 นาที มีใครพูดอะไรกับ ต่าย พิจิตร บ้าง ไม่ว่า ต๋อง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตลอดกาลของ ต่าย หรือ คุณศักดา คิวทองของไทย แม้กระทั่ง นายกสินธุ จะได้มีโอกาสเข้ามาให้กำลังใจ ต่าย กันหรือไม่ วินาทีนั้น ในสมองของ ต่าย คงมึนตึ้บไปหมด ถ้าเป็นมวยก็คงหาทางกลับมุมไม่เจอกันเลยทีเดียว กลับมาเฟรมที่ห้า เฮนดรี้ เริ่มกลับมาเล่นรัดกุมยิ่งขึ้น รูปเกมออกสูสี โดยหมด 15 แดง ต่าย เป็นต่ออยู่เล็กน้อย มาชิงกันที่น้ำเงิน โดย ต่าย นำ เฮนดรี้ อยู่ 45-42 แต้ม ต่าย มีโอกาสได้ตบน้ำเงินหลุมยาว ถ้าลงจะเป็นต่อทันที เพราะทางขาวมาหาชมพูไม่ยาก ผมนั่งอยู่กับ พอล คอลลิเออร์ ผู้ตัดสินชื่อดังของ World Snooker ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน แต่มาเป็นช่างเทคนิค พอล พูดกับผมว่า ถ้าน้ำเงินลูกนี้ลง จะเป็นการพลิกล็อคที่มโหฬารที่สุดอีกครั้งหนึ่งในวงการสนุกเกอร์โลก ปรากฏว่า ต่าย พลาด ทำให้ เฮนดรี้ เก็บน้ำเงินถึงดำ เอาชนะไป 60-45 คะแนน ตีไข่แตกไล่มาเป็น 1 ต่อ 4 เฟรม เสียงกองเชียร์ของไทยในห้องผู้สื่อข่าวถึงกับส่งเสียงร้องอย่างสุดเสียดายดังมาถึงด้านนอก หลังจากเสียเฟรมที่ห้าไป เฮนดรี้ เริ่มฟื้น มีความมั่นใจมากขึ้น แล้วเก็บเฟรมที่สองให้กับตัวเองได้ไม่ยาก ด้วยสกอร์ 65-37 คะแนน ไล่ตามมาเป็น 2 ต่อ 4 เฟรม หลังจบเฟรมที่หก ต่าย เดินออกมาตั้งสติด้วยการเข้าห้องน้ำอีกครั้ง พร้อมกับบอกตัวเองว่า ต้องเก็บชัยชนะในเฟรมต่อไปให้ได้ เพราะหากปล่อยให้ เฮนดรี้ ไล่มาเป็น 3 ต่อ 4 เฟรม โอกาสที่จะชนะแชมป์โลก 3 สมัยก็จะยากขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน เริ่มเฟรมที่เจ็ด เฮนดรี้ ยังคงรักษามาตรฐานการเล่นได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีเบรกยาวเกิน 50 แต้ม แต่ก็ออกนำไปก่อนพอสมควร มาถึงตรงนี้ พอล คอลลิเออร์ พูดกับผมว่า ถ้า เฮนดรี้ เก็บเฟรมนี้ไปอีกได้ เขาเชื่อว่า เฮนดรี้ จะกลับมาเอาชนะในแมตช์นี้ได้ 5-4 เฟรม แต่ ต่าย ไม่ยอมปล่อยให้ทิ้งห่าง ไล่เบียดมาสูสี ต้องมาชิงกันที่ลูกสีอีกครั้ง ปรากฏว่า ต่าย เก็บแดงลูกสุดท้าย แล้วไล่เก็บสี เอาชนะไปได้ในสุดด้วยสกอร์ 81-51 คะแนน ล้มแชมป์โลก 3 สมัยจากสกอตแลนด์ สตีเฟ่น เฮนดรี้ สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการสอยคิวไทยไปได้ในที่สุด ท่ามกลางกับเสียงเฮลั่นสนาม โดยเฉพาะจากห้องผู้สื่อข่าวของไทย ที่รอสัมภาษณ์ผู้เล่นทั้งสองอย่างใจจดใจจ่อ หลังจบการแข่งขัน ผลพวงจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ของ เฮนดรี้ ทำให้เขาขอเลื่อนตั๋วเครื่องบิน เพื่อเดินทางกลับสกอตแลนด์ในคืนวันนั้นทันที ในขณะที่ ดาร์เรน มอร์แกน ซึ่งอยู่ในเส้นทางของ ต่าย พิจิตร ในรอบ 16 คน ยืนดูอยู่ข้างๆ พูดกับผมว่า เขาต้องเอาชนะ มิก ไพรซ์ ในรอบ 32 คนให้ได้ เพื่อเข้าไปพบกับต่ายในรอบ 16 คนต่อไป เป็นที่น่าเสียดายว่า ต่าย พิจิตร ไม่สามารถผ่าน ดาร์เรน มอร์แกน ในรอบ 16 คนไปได้ พ่ายต่อ ดาร์เรน ไปแบบเฉียดฉิว 4 ต่อ 5 เฟรม ทั้งๆ ที่ ต่าย ขึ้นนำไปก่อน 1-0 ดาร์เรน มาเก็บ 2 เฟรมรวด กลับขึ้นนำ ต่าย 2-1 ต่าย มาตีเสมอได้ 2-2 หลังจบ 4 เฟรมแรก แล้วมาขึ้นแท่นนำ ดาร์เรน ไป 4-3 แต่โดน ดาร์เรน ใช้ความเก๋าบวกความแม่น เก็บ 2 เฟรมสุดท้าย เบียดเอาชนะ ต่าย ไป 5-4 เฟรมอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ทำผลงานในรายการนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการเอาชนะ รอนนี่ โอ’ซุลลิแวน ไปแบบขาดลอย 5-0 เฟรมในรอบ 32 คน ด้วยสกอร์ 90-26, 55-21, 110(106)-0, 63(55)-50 และ 77(77)-0 มีเซ็นจูรี่และเบรกเกิน 50 แต้มในเฟรมที่ 3, 4 และ 5 ในรอบ 16 คน ต๋อง เอาชนะ เทอรี่ กริฟฟิทธิ์ อดีตแชมป์โลกจอมเก๋าชาวเวลส์ไป 5-1 เฟรม ด้วยสกอร์ 97(97)-0, 59-50, 66(56)-33, 5-66(66), 93(71)-24, และ 104(55)-4 เข้ารอบ 8 คน ไปเจอ โจ สเวล จากไอร์แลนด์เหนือ ที่เอาชนะ เดฟ แฮโรลด์ แชมป์รายการนี้เมื่อปีที่แล้วมา 5-1 เฟรม ในรอบ 8 คน ต๋อง ก็ปราบ โจ สเวล ลงได้อย่างราบคาบด้วยสกอร์อีก 5-1 เฟรมเช่นกัน มีเบรก 62, 109 และ 69 ในเฟรมที่ 2, 5 และ เฟรมที่ 6 ด้วยสกอร์ 0-76(63), 63(62)-0, 83-16, 94-2, 109(109)-0 และ 81(69)-5 เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ พบ จิมมี่ ไวท์ ที่เอาชนะ โทนี่ เดรโก้ มา 6-5 เฟรมในรอบเดียวกัน เข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ต่อหน้าแฟนสนุกเกอร์ที่รอคิวเข้าชมกันตั้งแต่กลางวัน ต๋อง ลงสนามพบ จิมมี่ ไวท์ ที่ไม่ปรากฏตัวสู่สนามแข่งขันในช่วงการถ่ายทอดสดทางช่อง 7 เนื่องจากเสื้อกั๊กที่ส่งไปซักกับทางโรงแรมเกิดหาไม่เจอ จากการที่ไม่ได้ส่งแบบเร่งด่วน ทำให้เกิดโกลาหลกันไปครู่ใหญ่ จน จิมมี่ ไวท์ ต้องไปขอยืมเสื้อกั๊กของนักกีฬาคนอื่นใส่ลงสนาม แล้วแพ้ ต๋อง ไปด้วยสกอร์ 1-5 เฟรม จิมมี่ ไวท์ ตีไข่แตกได้ในเฟรมที่ 2 ด้วยสกอร์ 96(74)-8, 19-97(97), 120(120)-1, 92(57)-0, 94-40, 100(100)-7 และ ต๋อง ทำถึง 2 เซ็นจูรี่ 120 กับ 100 คะแนนในแมตช์นี้ด้วย ในนัดชิงชนะเลิศ ต๋อง ต้องลงสนามพบ แชมป์โลก 6 สมัย สตีฟ เดวิส ที่เอาชนะ อลัน แมคมานัส ในรอบรองชนะเลิศมา 5-4 เฟรม นัดนี้ต้องบอกว่า “สนามแทบแตก” บัตรผีเพื่อชมการแข่งขันราคาพุ่งกระฉูดถึงใบละ 2,500 บาท ยังมีผู้ยอมควักกระเป๋าซื้อ การแข่งขันใช้ระบบ 9 ใน 17 เฟรม แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกแข่ง 8 เฟรมแล้วพัก กลับมาแข่งช่วงที่ 2 ต่ออีก 9 เฟรมที่เหลือ จนกว่าจะมีผู้ชนะ 9 เฟรมก่อน ก็จะคว้าแชมป์ไปครอง จบ 4 เฟรมแรก ต๋อง ออกคิวได้อย่างคมกริบ หลังจากแบ่งกันไปก่อนคนละเฟรมใน 2 เฟรมแรก ต๋อง มาทำเบรก 106 และ 142 ซึ่งเป็นเบรกสูงสุดของการแข่งขันได้ในเฟรมที่ 3 และเฟรมที่ 4 นำไปก่อน 3-1 เฟรม กลับมาเล่นอีก 4 เฟรมที่เหลือในช่วงแรก ต๋อง ยังเก็บไปได้อีก 3 เฟรม ขึ้นนำ 6-2 เฟรม หลังจบเซสชั่นแรก เมื่อกลับเข้าสู่เซสชั่นที่สอง ต๋อง เข้าเบรกประเดิมชัยไปอีก 123 แต้มในเฟรมที่ 9 ขึ้นนำโด่งไป 7-2 เฟรม ต้องการอีกเพียง 2 เฟรมเท่านั้น แต่ สตีฟ ก็ไม่ยอมให้ ต๋อง คว้าชัยชนะไปง่ายๆ เก็บ 4 เฟรมรวดไล่ตามมาที่ 6-7 เฟรม ต้องมาลุ้นกันในช่วงสุดท้าย ต๋อง มาเก็บชัยชนะในเฟรมที่ 14 ด้วยสกอร์ 79-28 คะแนน ขึ้นนำไป 8-6 สตีฟ ฮึดเฮือกสุดท้ายเข้าเบรก 85 แต้มในเฟรมถัดมา ไล่ตามมาเป็น 7-8 เฟรม ยังต้องเก็บอีก 2 เฟรมที่เหลือให้หมด ในขณะที่ ต๋อง ต้องการอีกเพียงเฟรมเดียว และในที่สุด ต๋อง ก็เก็บชัยชนะ ปิดแมตช์ได้สำเร็จในเฟรมที่ 16 แม้ สตีฟ จะเข้าเบรกนำไปก่อน 53-0 คะแนน แต่ ต๋อง ก็สวมใจสิงห์ เก็บเบรกไม้เดียว 76 แต้ม เอาชนะไปแบบสุดประทับใจ 76-53 สกอร์รวม 9-7 เฟรม คว้าแชมป์สะสมคะแนนรายการที่ 2 ให้กับตนเองได้ในที่สุด พร้อมกับเงินรางวัล 32,500 ปอนด์ สกอร์รวม: 73-27, 22-70, 106(106)-16, 142(142)-0, 60-57, 79-28, 59(58)-71, 62-45, 123(123)-0, 36-80, 39-61, 30-73, 0-73(69), 79-28, 1-101(85), และ 76(76)-53(53) และนี่แหล่ะครับ คือการแข่งขันที่สุดประทับใจ ทั้งผู้เล่น ผู้ชม และวงการสนุกเกอร์ไทยมาตลอด 20 กว่าปี เพราะนอกจาก ต่าย พิจิตร จะสามารถโค่น สตีเฟ่น เฮนดรี้ ได้อย่างราบคาบแล้ว ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ก็ยังเอาชนะ ทั้ง รอนนี่ โอ’ซุลลิแวน, เทอรี่ กริฟฟิทธิ์, โจ สเวล, จิมมี่ ไวท์ และ สตีฟ เดวิส คว้าแชมป์ Kloster Thailand Open 1994 ได้อย่างสมความตั้งใจเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมาป้องกันแชมป์ไว้ได้อีกครั้งในปีถัดมา ด้วยการเอาชนะ รอนนี่ โอ’ซุลลิแวน ได้อีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ นับเป็นหนึ่งในสุดยอดของตำนานสนุกเกอร์โลกในเมืองไทยรายการหนึ่ง ที่สมควรจารึกไว้ก็ว่าได้นะครับ...!
ทวิทัฐ วรินทราคม |