จากเซียน มาเป็น ผู้ว่าฯ
13 ต.ค. 58 |
จากเซียน มาเป็น ผู้ว่าฯ ตั้งแต่นิตยสาร “คิวทอง สนุกเกอร์” คลอดสู่สายตาแฟนๆ เมื่อกลางปี 2528 หากนับถึงวันนี้ก็ไม่หนี 30 ปี หน้าปกคิวทองหมุนเวียนนำ นักกีฬาขึ้นปกแบบไม่ซ้ำหน้า มีทั้งนักสอยคิว ทั้งเทศและไทย บางโอกาสก็นำเอาคนมีชื่อเสียงในวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็น เจ้าของอีมิเน้นแอร์ คุณณรงค์ศักดิ์ สุนทรวสุ หรือล่าสุด คุณสุทธิพงษ์ อัมพุช ทายาทห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ก็นำมาเป็นแบบอย่างให้แฟนๆ ได้เห็นกันชัดเจน จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการ ประกาศเกียรติคุณ ที่ทำให้วงการสอยคิวเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป 30 ปี ผมภูมิใจปกคิวทอง ฉบับประจำเดือนมกราคม 2556 โดยได้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย อนุญาตให้ คิวทอง นำภาพท่านมาขึ้นปกด้วยความเต็มใจ ก่อนอื่นขอเรียนให้ทุกท่านที่อ่านคิวทองรับรู้ถึงนโยบายการทำหนังสือ ไม่ใช่สักแต่ว่าจะเอาใครต่อใครมาขึ้นปกตามใจชอบ เพราะต้องมีที่มาและที่ไปอย่างสมเหตุสมผล อย่างกรณีของ ท่านผู้ว่าฯ สระแก้ว หากไม่บอกที่มาเชื่อว่าทุกท่านคงไม่ทราบ แต่ถ้าจะเขียนบอกอย่างโจ่งแจ้งเกรงว่าจะทำให้ ท่านผู้ว่าฯ เสียหาย เพราะอดีตของท่านคือ เซียนเก่าฝีมือระดับพระกาฬในนาม หนุ่ย ชุมแพ แต่เมื่อปรึกษากับผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นคนเปิดเผยและไม่สนอดีต จึงอนุญาตให้คิวทองนำภาพพร้อมประวัติของท่านเผยแพร่ให้แฟนๆ รับทราบ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็น สนุกเกอร์มิใช่สิ่งเลวร้ายที่ผู้ปกครองในอดีต เคยวิตกกังวล ถึงขนาดหากรู้ลูกหลานเข้าโต๊ะสนุ้กฯ เป็นถูกลงโทษสถานเดียว
สมัยก่อนต้องยอมรับสภาพโต๊ะสนุกเกอร์แย่มาก ไม่ได้ติดแอร์ ปูพรมเหมือนทุกวันนี้ ผู้ที่เข้าไปในโต๊ะบิลเลียดสมัยนั้นจะใส่กางเกงขาสั้น (บางคน) ไม่สวมเสื้อ ลากรองเท้าแตะหรือเกี๊ยะ ส่งเสียงโหวกเหวก ถ่มน้ำลายบนพื้น สูบบุหรี่ควันคลุ้งไปหมด เป็นสภาพที่ย่ำแย่จนเป็นจุดศูนย์กลางของพวกอาชญากรรม ดังนั้นผู้ปกครองยุคนั้นจึงกำชับห้ามลูกหลานเข้าโต๊ะบิลเลียดเด็ดขาด ตั้งแต่ปี 2525 ได้กำเนิดคอลัมน์ “คิวทอง” ในหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ และมีการแข่งขันสนุกเกอร์อย่างถูกวิธี จนสนุกเกอร์ของ “ชาวกุ๊ย” ขยับฐานะขึ้นเป็นกีฬา มีการแข่งขันระดับซีเกมส์-ระดับกีฬาแห่งชาติ รวมถึงเอเชี่ยนเกมส์ และชิงแชมป์เอเชีย-ชิงแชมป์โลก ซึ่งสนุกเกอร์นี่เองสามารถทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยโดย เซียนไทย สามารถครองแชมป์เอเชียถึง 17 ครั้งจากการแข่งขัน 27 ครั้ง และได้เป็น แชมป์สมัครเล่นโลกถึง 7 คน และเมื่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย ยอมรับสนุกเกอร์เข้าเป็นนักกีฬาโดยประกาศใน พระราชบัญญัติกีฬา พ.ศ. 2528 กีฬาสอยคิวเริ่มโด่งดังจนเป็นที่รู้จักทั่วโลกโดยเฉพาะนักกีฬาที่ชื่อ เจมส์ วัฒนา หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เป็นผู้จุดประกายให้ชาวโลกและเอเชียรู้จักความสามารถของ คนไทย จากกีฬาแขนงนี้ จนเป็นที่ยอมรับของ ผู้ปกครอง ในยุคปัจจุบันที่ยินยอมให้ลูกๆ เข้ามาเล่นสนุกเกอร์ หันมาที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ภัครธรณ์ เทียนไชย ต้องชื่นชมว่าฝีมือของท่าน ไร้เทียมทาน หากจบมหาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2526 แล้วเข้าสู่วงการสอยคิว ท่านต้องติดทีมชาติพันเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากดีกรีที่เคยเอาชนะเต็ก หัวหิน-ดำ คลองเตย อึ่ง ห้าดาว รวมถึงน้องๆ ทีมชาติอย่าง ป้อม เนาวรัตน์-เทพ มังกรหยก ไม่เว้นแม้แต่ยอดฝีมืออย่าง ต๋อง ศิษย์ฉ่อย-หนู ดาวดึงส์ อดีตเซียนเดินสาย หนุ่ย ชุมแพ ก็ปราบมาทุกคน คู่ปรับของ หนุ่ย ชุมแพ ที่ว่ากันว่าสูสี เจอกันเมื่อใดแฟนสนุกเกอร์แทบจะขี่คอกันดูคือ ตี๋หน้ำ พระโขนง และ จิ๋ว กิ่งเพชร ซึ่งบ่อยครั้งที่ทั้งคู่โคจรมาเจอกันที่โต๊ะเรือนไทย ไม่ก็หน้าโรงแรมมิโด สะพานควาย จะมีคนดูมากที่สุดในยุคนั้น และเกือบทุกครั้งเช่นกันที่ชัยชนะจะตกกับ หนุ่ย ชุมแพ
ที่มาของฉายา หนุ่ย ชุมแพ สืบเนื่องจากหลังจบธรรมศาสตร์ หนุ่ย ไปรับราชการเป็นปลัดอำเภอที่ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทั้งที่ตัวเองถือกำเนิดที่จังหวัดชัยนาท และช่วงนั้นยังเดินสายเล่นสนุกเกอร์ควบกับรับราชการและปักหลักอยู่ที่นั่นเป็นเวลายาวนานเกือบ 20 ปีนิคเนมนี้ฝังใจใครต่อใครจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2527 ปลัดอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2546 นายอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2547 นายอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. 2548 ผู้อำนวยการกองการสื่อสาร กรมการปกครอง พ.ศ. 2549 ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง พ.ศ. 2550 ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พ.ศ. 2552 รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พ.ศ. 2553 รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2555 เมื่อ 19 พ.ย. 2555 ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผมเขียนถึง หนุ่ย ชุมแพ อดีตนักสนุกเกอร์ฝีมือดีด้วยความภาคภูมิใจ ที่ทำให้คนทั่วไปพิสูจน์ได้ว่า การเล่นสนุกเกอร์จะดีชั่วอยู่ที่ตัวของตัวเอง หนุ่ย ชุมแพ เป็นคนรักสุขภาพเหล้าไม่ดื่มบุหรี่ไม่สูบ ปัจจุบันหันไปเล่นกอล์ฟจัดอยู่ในระดับ น้องๆ ทีมชาติ แฮนดิแคปเลขตัวเดียว และที่สำคัญเขาถูกเชิดชูเป็น ผู้ว่าราชการหนุ่มที่สุด อายุ 50 ต้นๆ เกิด 14 มิ.ย. 2505 จึงน่าจับตา กว่าจะเกษียณสงสัยจะไปตัน
ศักดา รัตนสุบรรณ ** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558 |